xs
xsm
sm
md
lg

ไทยไม่มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 วัน แต่ศึกไวรัสโควิดยังไม่จบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

สถิติ ณ วันที่ 2 กันยายน ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด จากในประเทศ ติดต่อกันเป็นวันที่ 101 และไม่มีคนเสียชีวิตเลย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นมา ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตหยุดนิ่งอยู่ที่ 587 คน ในขณะที่ยังมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 93 คน เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทั้งหมด

นิวซีแลนด์ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกัน 102 วัน ก่อนที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ เช่นเดียวกับเวียดนามที่มีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ต่อเนื่องกัน 99 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ก่อนที่จะเกิดการระบาดที่เมืองดานัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 คนแล้ว

ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ว่า มีประสิทธิภาพดีมากในการรับมือกับโควิด-19 Global COVID-19 Index หรือ GCI จัดอันดับให้ไทยเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์ระบาดได้ดีที่สุด จากจำนวน 184 ประเทศทั่วโลก

ถึงวันนี้ ไวรัสโควิดยังระบาดไม่หยุด และไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงเมื่อไร ล่าสุดวันที่ 2 กันยายน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกทะลุ 25 ล้านคนแล้วคือ มีจำนวน 25.9 ล้านคน 24.91 ล้านคน เสียชีวิต 861,251 คน สหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 6.25 ล้านคน รองลงมาคือ บราซิล 3.95 ล้านคน และอินเดีย 3.76 ล้านคน

ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 121 มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,425 คน

หลายๆ ประเทศมีการระบาดรอบที่ 2 แล้ว โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน รอบบ้านเรา เวียดนามซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่ควบคุมการระบาดได้ดี มีผู้ติดเชื้อหลักสิบคน และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยนานถึง 99 วัน แต่เมื่อเจอกับการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของโควิด ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นทะลุพันแล้ว และมีผู้เสียชีวิตภายในเดือนเดียว 30 คน

อีกประเทศหนึ่งคือ เมียนมาร์ ที่เกิดการระบาดครั้งใหม่ ที่รัฐยะไข่ จนรัฐบาลต้องลั่งปิดเมือง และไทยต้องสั่งควบคุมชายแดนด้านตะวันตก ห้ามคนพม่าข้ามแดนเข้ามา

การระบาดระลอก 2 ที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ บางประเทศประสบความสำเร็จในการรับมือรอบแรก อย่างเช่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม เป็นสัญญาณเตือนให้เราคนไทยรู้ว่า อย่าการ์ดตก ถึงแม้ว่า จะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเกิน 100 วันแล้ว แต่ดูเวียดนามเป็นตัวอย่าง คุมเข้ม เอาอยู่มาได้ 99 วัน ยังต้องมาพลาดท่าเสียทีกับการระบาดรอบ 2 ที่มีศูนย์กลางการแพร่ระบาดอยู่ที่เมืองดานัง

101 วันที่เราไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเลย และไม่มีคนตาย ต้องถือว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในสงครามโควิดยกที่ 1 ปัจจัยสำคัญคือระบบการควบคุมป้องกันทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์โดยตรง ไปจนถึงบุคลากรในท้องถิ่นทั่วประเทศ คือ อสม. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และการร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ

การตัดสินใจของรัฐบาล ที่มีภาพของเผด็จการสืบทอดอำนาจ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่พลิกสถานการณ์ เมื่อเดือนมีนาคม ที่ทำท่าว่าจะคุมไม่อยู่ ให้กลับมาอยู่ในการควบคุมได้ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจทำตามคำแนะนำของบรรดาผู้อาวุโส ในวงการแพทย์ ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศคบ. ดึงอำนาจการตัดสินใจการดำเนินมาตรการกลไกต่างๆ มารวมศูนย์ที่ ศคบ.เพียงแห่งเดียว และดำเนินมาตรการอย่างทันท่วงที มีปัญหาวุ่นวายบ้างในระยะแรก ก็ขอโทษ และแก้ไขทันที

การตัดสินใจของผู้นำ มีความสำคัญแค่ไหนกับการแก้ไขปัญหาการระบาด ก็ลองดู สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก มีระบบสาธารณสุขที่ดีเยี่ยม มีทรัพยากรด้านการเงิน บุคลากรเพียบพร้อมเต็มที่ แต่เพราะตัวผู้นำประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าความปลอดภัยของประชาชน ระบบการเมือง ราชการที่ยอมคล้อยตามผู้นำ เพราะเป็นคนที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน จึงทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำในเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิต แม้ว่า อัตราการติดเชื้อ และเสียชีวิตจะลดลงแล้ว แต่สถานการณ์การระบาด เลยจุดที่ควบคุมได้ไปแล้ว

อีกประเทศหนึ่งคือ อังกฤษ ต้นแบบประชาธิปไตยที่ในตอนแรกนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ดูเบาความรุนแรงของการระบาด ไม่มีมาตรการควบคุม ปล่อยให้คนที่ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อแล้วค่อยรักษา และรอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยธรรมชาติเอง กว่าจะกลับลำได้ ก็สายไปเสียแล้ว การระบาดลามไปทั่ว จนมีผู้เสียชีวิตเฉพาะในอังกฤษ 36,00 คน ถ้ารวมทั้งสหราชอาณาจักร 41,000 คน มีผู้ติดเชื้อ 3 แสนคน

ชัยชนะของประเทศไทย ในศึกโควิดระลอกที่หนึ่งนี้ เป็นประจักษ์พยานที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง ไม่ใช่เฉพาะด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ในภาพรวม คือ พื้นฐาน และโครงสร้างสังคม เพราะความเข้มแข็งเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพื้นฐานโดยรวมของประเทศไม่มั่นคง



กำลังโหลดความคิดเห็น