“ข่าวลึก ปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2563 ตอน เจาะกลยุทธ์แบ่งงาน ครม.ตู่ 2/2 จับแยก “สุพัฒนพงษ์-สุริยะ” ปมแผลเก่า2
การแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี กับการแบ่งงานให้กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ใน ครม.ประยุทธ์ 2/2 มองเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่หากเพ่งลึกลงไป เป็นการจัดทัพที่น่าสนใจ
เริ่มตั้งแต่การมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี หรือเข้าใจง่ายๆ คือ เป็นการจัดลำดับรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งหาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หรือ สร.1 ไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ใครคือ รักษาการนายกฯ อันดับ 1
โดยครั้งนี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 หรือรหัส สร.2 เหมือนกับใน ครม.ประยุทธ์ 2/1
รองนายกรัฐมนตรีอันดับ 2 หรือ สร.3 จากเดิมคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่เมื่อวันนี้ไม่มีสมคิดแล้ว จึงขยับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ ครม.ประยุทธ์ 2/1 เป็น สร.4 ขึ้นมาเป็น สร.3แทน
ส่วนรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 3 หรือ สร.4 ครั้งนี้มีการขยับแบบมีนัยยะสำคัญ เพราะแต่เดิมเป็นของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่จะอยู่ข้างหน้า อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข
แต่หนนี้ ขยับอนุทินมาอยู่ข้างหน้าจุรินทร์แทน
จุรินทร์ ถูกลดลงไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 4 หรือ สร.5 เท่านั้น
ด้าน ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 5 หรือ สร.6 และสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 6 หรือ สร.7
สำหรับ พล.อ.ประวิตร ที่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่างประเทศ หรือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ นอกจากเป็นคีย์แมนคนสำคัญของรัฐบาลแล้ว การอยู่ตรงนี้ก็สืบเนื่องมาจาก การที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 1 ของรัฐบาล
ในส่วนของวิษณุ แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แต่ถือเป็นมือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาลมาตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือว่าอยู่มานานและมีความอาวุโส
แต่ในรายของ อนุทิน กับ จุรินทร์ ที่สลับกันนี้ น่าจะมีผลมาจากที่ปัจจุบันพรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.ในสภาฯ มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว จึงมีการขยับให้
ขณะที่ ดอน แม้จะเป็นคนเก่าแก่ แต่เพิ่งจะขึ้นมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ประกอบการเป็นโควตาคนนอก ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จึงทำให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 5
ส่วน สุพัฒนพงษ์ แม้ดูเหมือนจะได้เข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจ เพราะดูกระทรวงพลังงาน แต่ด้วยความเป็นน้องใหม่ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จึงทำให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในอันดับสุดท้าย
ดังนั้น จะไล่เรียงกันดังนี้ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ในประเทศ หรือปฏิบัติภารกิจไม่ได้ พล.อ.ประวิตรจะรักษาการนายกฯทันที
หาก พล.อ.ประวิตร ไม่อยู่อีกคน วิษณุจะเป็นรักษาการนายกฯทันที และหากวิษณุยังไม่อยู่อีกคน อนุทินจะขึ้นเป็นรักษาการนายกฯทันทีเช่นกัน เรียงตามลำดับแบบนี้
ในแง่ความสำคัญ จึงจะเห็นว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ได้เป็นทีมรองบ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในรัฐบาลและรัฐสภาอีกแล้ว
ขณะที่การแบ่งงานรองนายกรัฐมนตรีก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมีการนำกระทรวงที่มีรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐกำกับดูแล ไปให้กับ วิษณุ ดูแลเพิ่ม โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ
แต่เดิมที่มีเพียงกระทรวงยุติธรรม ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เท่ากับว่า รัฐมนตรีในกลุ่มสามมิตร คือ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และ อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะอยู่ภายใต้การดูแลของ รองฯวิษณุ
ซึ่งมีความเก๋าเกม และเท่าทันความคิดอ่านนักการเมือง แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก็ตาม
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร นั้นเลือกดูเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเหมือนเดิม คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน
ทุกกระทรวงที่ พล.อ.ประวิตร ดูแล ยกเว้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด
ส่วน สุพัฒนพงษ์ แม้จะเหมือนเป็นรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายได้กำกับดูแลเพียง 2 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง ที่มี ปรีดี ดาวฉาย เป็น รมว.คลัง และกระทรวงพลังงานที่ตนเองเป็น รมว.พลังงานเท่านั้น
แต่เดิมสมัย สมคิดเป็นรองนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สุพัฒนพงษ์ ด้วย
แต่การเอากระทรวงอุตสาหกรรมไปอยู่กับ วิษณุ นั้น เป็นที่ชัดเจนว่า นอกจากการแยกให้คนนอกพรรคพลังประชารัฐอย่างสุพัฒนพงษ์และปรีดีไปอยู่ด้วยกันแล้ว ยังเป็นการจัดสมดุลความรู้สึก ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการทำงานในอนาคต
เพราะต้องไม่ลืมว่า เก้าอี้กระทรวงพลังงานนั้นเป็นที่หมายปองของ สุริยะ แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยกให้กับ สุพัฒนพงษ์ ซึ่งเป็นคนนอก สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มสามมิตรเป็นอย่างมาก
ดังนั้น การจะให้ สุริยะ ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สุพัฒนพงษ์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำบาดแผล และสุริยะเองคงไม่แฮปปี้
การให้ สุริยะ ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ วิษณุ ที่เคยทำงานร่วมกันมา และไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร จึงเป็นทางออกที่ดี ยังไงกว่าจะวางคนที่สมหวังในเกมมานั่งคุมคนแพ้