xs
xsm
sm
md
lg

หึ่ง“อัยการ น.”เผ่น เชื่อนายกฯเอาจริงคดีบอส มอบ“ป.ป.ท.-DSI”ลุย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"วิชา" ยัน "บิ๊กตู่" ระบุหนักแน่นจัดการคดี “บอส อยู่วิทยา” ต่อ หึ่ง “อัยการสั่งคดี” เผ่นไปนอกแล้ว "วิษณุ" เรียก ป.ป.ท.แจกงานติดตามคดี ประสานหน่วยงานต้นสังกัด 8 กลุ่ม ส่วนคดีอาญามอบ “ดีเอสไอ” ดำเนินการ

วานนี้ (3 ก.ย.) นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กล่าวภายหลัง แถลงสรุปข้อเท็จจริงกรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า เมื่อส่งรายงานสรุปให้นายกฯ ไปแล้ว จากนี้แล้วแต่นายกฯ จะนำข้อสรุปทั้ง 8 ข้อไปดำเนินการ ซึ่งนายกฯ ยืนยันหนักแน่นว่า จะรับไปทำอย่างแน่นอน ซึ่งก็คงต้องใช้เวลา โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล จะเป็นผู้จัดการ และดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการได้มีข้อเสนอแนะไว้ ส่วนภาระของตนและคณะกรรมการ คือการศึกษา และเสนอแนะเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากความเสื่อม หรือความไม่แน่นอนที่ผู้คนไม่เชื่อถือ จึงต้องอาศัยการถอดบทเรียนนี้ มาแก้ไขกฎหมายในอนาคต กฎหมายใดล้าสมัยหรือจะต้องมีข้อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก็จะรีบนำเสนอภายใน 30 วัน

เมื่อถามถึงการตั้งเรื่องส่งฟ้องใหม่ จะเริ่มต้นอย่างไร นายวิชา กล่าวว่า ต้องเริ่มจากตำรวจที่จะต้องเป็นผู้สอบสวนใหม่ แต่ผบ.ตร. จะเป็นผู้สั่งเพียงคนเดียวไม่ได้ คาดว่าจะเป็นภาระของ ผบ.ตร.คนใหม่ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป โดยตำรวจจะต้องปรึกษาหารือกับ ป.ป.ท. และนายวิษณุ ที่เป็นผู้กำกับดูแล ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)

ส่วนกรณีที่ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ให้ข้อมูลว่า อัยการคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ ได้หลบหนีออกนอกประเทศไทยแล้ว นายวิชา กล่าวว่า ไม่ทราบเหมือนกัน ป.ป.ท.ต้องนำประเด็นนี้ไปตรวจสอบต่อไป ส่วนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเปิดเผยรายงานฉบับนี้ดูไม่ชัดเจนในรายละเอียด ทำให้มีความกังวลว่า จะมีแต่ทฤษฎีหรือไม่นั้น 90% คิดว่าทำจริงก็พอแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงผลการตรวจสอบฯของนายวิชา เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงพฤติกรรมในชั้นอัยการของ “นาย น.” หลายครั้ง โดยระบุถึงขบวนการร้องขอความเป็นธรรมที่มีทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่ 13 อัยการสูงสุด หรือรองอัยการสูงสุด ที่มีอํานาจสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละครั้ง ได้สั่งยุติ แต่ในการร้องขอครั้งที่ 14 ที่มีรองอัยการสูงสุด (นาย น.) กลับมารับเรื่อง และนำพยานที่ถูกปฏิเสธ มาเป็นพยานหลัก ทั้งที่คนในสำนักงานอัยการหลายคนไม่เห็นด้วย

“นาย น. อธิบดีอัยการ สํานักงานคดีศาลสูง รักษาการในตําแหน่งรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด มีความเห็นเมื่อวันที่ 11 พ.ย.62 ให้มีการสอบพยานเพิ่มเติม โดยเจาะจงให้มีการสอบเพิ่มเติมเฉพาะพลอากาศโท จ. และนาย จ. เท่านั้น ซึ่งพยานทั้งสองปากนี้เคยถูกสอบ ไปแล้วในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก่อนหน้า โดยที่ผู้พิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละครั้ง อันได้แก่รองอัยการสูงสุดหรืออัยการสูงสุดได้เคยพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ ภายหลังที่อธิบดีอัยการ สํานักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ได้มีการสั่งให้พนักงานสอบสวนทําการ สอบปากคําเพิ่มตามคําสั่งของนาย น. และนาย น. ในฐานะรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด มีคําสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นข้อหาเดียวที่เหลืออยู่ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.63” รายงานสรุปของคณะกรรมการฯชุดของนายวิชา ระบุ

ทางด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้เชิญเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบฯ ชุดนายวิชา มาพบเพื่อตกลงแบ่งงานกัน เนื่องจากคณะกรรมการฯชุดนายวิชา มีเสนอข้อเสนอแนะ เร่งด่วนมา 5 ข้อ ที่ประกอบด้วย การเร่งให้รื้อฟื้นคดีและดำเนินคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะคดีขับรถขณะเสพยาเสพติด ซึ่งยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหานี้มาก่อน โดยจะให้ ป.ป.ท.ทำเรื่องส่งไปยังตำรวจ

ข้อเสนอที่ 2 การดำเนินการบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบทางอาญาและวินัย ซึ่งมี 8 กลุ่ม ที่จะแจ้งไป กลุ่มไหนเป็นตำรวจ ก็จะแจ้งไปยังสํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการ ส่วนอัยการ ก็จะแจ้งคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่า รัฐบาลหรือนายกฯเป็นผู้บังคับบัญชาและสั่งการ ยืนยันว่าสั่งไม่ได้ ส่วนกลุ่มที่เป็นทนายความ ก็จะส่งให้สภาทนายความ นอกจากนี้กลุ่มไหนเป็นบุคคลธรรมดาให้ ป.ป.ท.มีอำนาจในการสอบ และเรื่องใดที่คิดว่ามีมูลก็จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบ และเรื่องใดเป็นคดีอาญาให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ ป.ป.ท.จะออกหนังสือประสานไปยังหน่วยงานเหล่านี้

สำหรับข้อ 3 ข้อเสนอแนะว่าบางครั้งไม่ใช่เรื่องความรับผิด แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบ ที่ไม่สามารถเอาเข้าคุกได้ เพราะไม่ใช่คดีอาญา ซึ่งเกี่ยวกันกับคนที่เป็นนักการเมือง ที่เป็นกรรมาธิการ ซึ่งยังไม่รู้ใครเกี่ยว หรือไม่เกี่ยว โดยจะส่งเรื่องไปให้ประธานสภาฯ พิจารณาว่า เรื่องใดดำเนินการได้ หรือไม่ได้

ข้อเสนอที่ 4 เป็นเรื่องการมอบอำนาจ ที่เราได้บทเรียนเรื่องนี้ว่า ข้าราชการรู้จักการมอบอำนาจดี แต่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการมอบอำนาจ และความรับผิดชอบ สังเกตจากคดีนายวรยุทธ ที่ระบุว่า เมื่อมอบอำนาจแล้วเป็นการมอบขาด แต่ความจริงไม่ ไม่มีการมอบอำนาจขาด แต่ความหมายคือ มอบให้ไปทำ แต่ผู้มอบอำนาจ ยังต้องกำกับดูแลและติดตาม หากผิดก็เรียกมาสั่งใหม่ได้ ไม่ใช่มอบแล้วตัดขาดหายไปเลย ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นมาหลายคดี ไม่ใช่แค่คดีบอส ดังนั้นเรื่องนี้จะมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนเป็นคู่มือ ระบุให้ชัดถึงการมอบอำนาจว่าผู้มอบหรือผู้รับมอบจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

ข้อเสนอที่ 5 การปรับปรุงแก้ไขระเบียบบางอย่าง เช่น อัยการสูงสุดมอบให้รองอัยการสูงสุดคนหนึ่งเป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์ แต่ก็มอบรองอัยการสูงสุดอีกคนหนึ่งทำหน้าที่สั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง แทนอัยการสูงสุด เรื่องนี้ไม่ได้ว่าอะไร แต่คนสองคนนี้ไม่ควรเป็นคนเดียวกันเหมือนที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ที่เป็นคนเดียวกัน จึงไม่มีการคานอำนาจ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่ดีต้องแก้ รวมถึงการใช้ดุลยพินิจของอัยการ ซึ่งเป็นเรื่องของเขา ถือเป็นองค์กรอิสระ แต่ตำรวจที่จะแย้ง หรือไม่แย้ง ต้องมีเหตุผลและหลักเกณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหลักเกณฑ์นี้

"ส่วนที่มีการเสนอให้คดีอาญาที่ผู้ต้องหาหลบหนีไม่มีการขาดอายุความนั้น ฟังดูเผินๆ เป็นเรื่องดี และเมื่อดีก็ได้แก้ในคดีทุจริตไม่ให้ขาดอายุความไปแล้ว ซึ่งคดีของนายวรยุทธ ก็ยังเห็นประโยชน์ แต่ถ้าต้องให้ใช้ในทุกคดีต้องมาคิดอีกที เพราะคณะกรรมการชุดนายวิชา สนใจแค่ในคดีนายวรยุทธ แต่ถ้าให้คดีอาญาอื่นๆ ไม่มีอายุความเลยจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ต้องส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไปศึกษาทั้งระบบต่อไป โดยจะให้ป.ป.ท.ติดตามทั้งหมด หากมีรายละเอียดอะไรก็จะรายงานให้นายกฯ รับทราบ ส่วนอะไรที่ต้องแก้ระเบียบทันทีหรืออะไรต้องปฏิรูปก็ต้องดำเนินการ" นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า คดีที่ให้ ป.ป.ท. แจ้งไปยังกลุ่มต่างๆนั้น ได้วางกรอบเวลาไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า บางเรื่องมีและบางเรื่องไม่มี เช่น การปฏิรูปกฎหมายที่ให้ชุดนายวิชา ไปทำต่อ ส่วนคดีที่กำหนดเวลาเป็นเรื่องการสอบบุคคลทั้ง 8 กลุ่ม เพราะจะมีปัญหาการขาดอายุความได้อีก ซึ่งทั้ง 8 กลุ่มนั้น ไม่ทราบว่าจะหมดอายุความเมื่อใด เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นความผิดทางอาญา หรือวินัย และแต่ละคดีก็มีกำหนดระยะเวลาที่ต่างกัน และบางคนอาจผิดตาม มาตรา 157 แต่ถ้าเป็นคดีทุจริตเรียกรับเงินต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไม่มีอายุความ อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายเรื่องอายุความคงไม่สามารถใช้กับคดีนายวรยุทธ ได้ แต่จะใช้สำหรับอนาคต เพราะกว่ากฎหมายแก้ผ่านสภาคงต้องใช้เวลาอีกนาน


กำลังโหลดความคิดเห็น