รองนายกฯ เรียก ป.ป.ท.แจกงานตามคดี “บอส” ประสานหน่วยงานต้นสังกัด 8 กลุ่ม ส่วนคดีอาญามอบดีเอสไอ ดำเนินการ โยนกฤษฎีกาเขียนคู่มือข้อปฏิบัติการมอบอำนาจให้ชัดเจน รับเรื่องแก้อายุความใช้กับคดีนี้ไม่ได้
วันนี้ (3 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วานนี้ (2 ก.ย.) ตนได้เชิญเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ชุดของ นายวิชา มหาคุณ มาพบเพื่อตกลงแบ่งงานกัน เนื่องจากคณะกรรมการชุดนายวิชามีเสนอข้อเสนอแนะเร่งด่วนมา 5 ข้อ ที่ประกอบด้วย การเร่งให้รื้อฟื้นคดีและดำเนินคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะคดีขับรถขณะเสพยาเสพติด ซึ่งยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหานี้มาก่อน โดยจะให้ ป.ป.ท.ทำเรื่องส่งไปยังตำรวจ ข้อเสนอที่ 2 การดำเนินการบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบทางอาญาและวินัย ซึ่งมี 8 กลุ่มที่จะแจ้งไป กลุ่มไหนเป็นตำรวจก็จะแจ้งไปยังสํานักงานตํารวจแห่งชาติดำเนินการ ส่วนอัยการก็จะแจ้งคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลหรือนายกฯเป็นผู้บังคับบัญชาและสั่งการ ยืนยันส่งไม่ได้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่เป็นทนายความก็จะส่งให้สภาทนายความ นอกจากนี้ กลุ่มไหนเป็นบุคคลธรรมดาให้ ป.ป.ท.มีอำนาจในการสอบและเรื่องใดที่คิดว่ามีมูลก็จะส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบ และเรื่องใดเป็นคดีอาญาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งคาดว่า วันนี้ ป.ป.ท.จะออกหนังสือประสานไปยังหน่วยงานเหล่านี้ สำหรับข้อ 3 ข้อเสนอแนะว่าบางครั้งไม่ใช่เรื่องความรับผิด แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบ ที่ไม่สามารถเอาเข้าคุกได้ เพราะไม่ใช่คดีอาญา ซึ่งเกี่ยวกันกับคนที่เป็นนักการเมือง ที่เป็น กรรมาธิการ ซึ่งยังไม่รู้ใครเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว โดยจะส่งเรื่องไปให้ประธานสภาฯ พิจารณาว่าเรื่องใดดำเนินการได้หรือไม่ได้
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่ 4 เป็นเรื่องการมอบอำนาจ ที่เราได้บทเรียนเรื่องนี้ว่าข้าราชการรู้จักการมอบอำนาจดี แต่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการมอบอำนาจและความรับผิดชอบ สังเกตจากคดีนายวรยุทธ ที่ระบุว่า เมื่อมอบอำนาจแล้วเป็นการมอบขาด แต่ความจริงไม่ไม่มีการมอบอำนาจขาด แต่ความหมายคือมอบให้ไปทำ แต่ผู้มอบอำนาจยังต้องกำกับดูแลและติดตาม หากผิดก็เรียกมาสั่งใหม่ได้ ไม่ใช่มอบแล้วตัดขาดหายไปเลย ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นมาหลายคดี ไม่ใช่แค่คดีบอส ดังนั้น เรื่องนี้จะมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเขียนเป็นคู่มือระบุให้ชัดถึงการมอบอำนาจว่าผู้มอบหรือผู้รับมอบจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร
นายวิษณุ กล่าวว่า สุดท้ายข้อเสนอที่ 5 การปรับปรุงแก้ไขระเบียบบางอย่าง เช่น อัยการสูงสุดมอบให้รองอัยการสูงสุดคนหนึ่งเป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์ แต่ก็มอบรองอัยการสูงสุดอีกคนหนึ่ง ทำหน้าที่สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแทนอัยการสูงสุด เรื่องนี้ไม่ได้ว่าอะไรแต่คนสองคนนี้ไม่ควรเป็นคนเดียวกันเหมือนที่เกิดขึ้นในคดีนี้ที่เป็นคนเดียวกัน จึงไม่มีการคานอำนาจ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่ดีต้องแก้ รวมถึงการใช้ดุลพินิจของอัยการซึ่งเป็นเรื่องของเขา ถือเป็นองค์กรอิสระ แต่ตำรวจที่จะแย้งหรือไม่แย้งต้องมีเหตุผลและหลักเกณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหลักเกณฑ์นี้
“ส่วนที่มีการเสนอให้คดีอาญาที่ผู้ต้องหาหลบหนีไม่มีการขาดอายุความนั้น ฟังดูเผินๆ เป็นเรื่องดี และเมื่อดีก็ได้แก้ในคดีทุจริตไม่ให้ขาดอายุความไปแล้ว ซึ่งคดีของนายวรยุทธ ก็ยังเห็นประโยชน์ แต่ถ้าต้องให้ใช้ในทุกคดีต้องมาคิดอีกที เพราะคณะกรรมการชุดนายวิชา สนใจแค่ในคดีนายวรยุทธ แต่ถ้าให้คดีอาญาอื่นๆ ไม่มีอายุความเลยจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ต้องส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไปศึกษาทั้งระบบต่อไป โดยจะให้ ป.ป.ท.ติดตามทั้งหมด หากมีรายละเอียดอะไรก็จะรายงานให้นายกฯ รับทราบ ส่วนอะไรที่ต้องแก้ระเบียบทันที หรืออะไรต้องปฏิรูปก็ต้องดำเนินการ” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า คดีที่ให้ ป.ป.ท. แจ้งไปยังกลุ่มต่างๆ นั้น ได้วางกรอบเวลาไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า บางเรื่องมีและบางเรื่องไม่มี เช่น การปฏิรูปกฎหมายที่ให้ชุดนายวิชาไปทำต่อ ส่วนคดีที่กำหนดเวลาเป็นเรื่องการสอบบุคคลทั้ง 8 กลุ่ม เพราะจะมีปัญหาการขาดอายุความได้อีก ซึ่งทั้ง 8 กลุ่มนั้นไม่ทราบว่าจะหมดอายุความเมื่อใด เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นความผิดทางอาญาหรือวินัย และแต่ละคดีก็มีกำหนดระยะเวลาที่ต่างกัน และบางคนอาจผิดตามมาตรา 157 แต่ถ้าเป็นคดีทุจริตเรียกรับเงินต้องส่งเรื่องใช้ ป.ป.ช.ไม่มีอายุความ อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายเรื่องอายุความคงไม่สามารถใช้กับคดีนายวรยุทธ ได้ แต่จะใช้สำหรับอนาคต เพราะกว่ากฎหมายแก้ผ่านสภาคงต้องใช้เวลาอีกนาน