xs
xsm
sm
md
lg

แค่ขอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเป็นความขัดแย้งเชิงระบอบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


ดูเหมือนว่า การตื่นตัวของคนหนุ่มสาวตั้งแต่นักศึกษาและนักเรียนกำลังได้รับการขานรับแน่นอนแล้วด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งจากร่างของพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล สาระสำคัญคือ การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น และการเพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

โดยทั้งสองร่างมีความแตกต่างกันบางจุด แต่มีจำนวนสมาชิกส.ส.ร.เท่ากันคือ 200 คน ร่างของรัฐบาลให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน 150 คน โดยใช้จังหวัดเป็นเขต 20 คนมาจากการคัดเลือกโดยสมาชิกรัฐสภาตามสัดส่วนที่นั่ง อีก 20 คนมาจากนักวิชาการสาขาต่าง ๆ โดยให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยดำเนินการคัดเลือก และ 10 คนสุดท้ายมาจากตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาโดยให้ก.ก.ต.ดำเนินการคัดเลือก
ในขณะที่ร่างของฝ่ายค้านนั้นต้องการให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้ง 200 คน


นั่นเท่ากับว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประเด็นหลัก 3 ข้อคือ หยุดคุกคาม ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา กำลังได้รับการตอบสนองในระบบ และในร่างของรัฐบาลยังได้รับการเสนอให้สามารถส่งตัวแทนของนักเรียนนักศึกษาเข้าไปนั่งในส.ส.ร.ได้ถึง 10 คน เพียงแต่อาจจะไม่รวดเร็วทันใจแบบข้อเสนอของผู้ชุมนุมที่บอกว่า สมาชิกสภาพของ ส.ว.250 คนจะต้องพ้นไปภายในเดือนกันยายน

แต่หลายฝ่ายมองว่าข้อเสนอดังกล่าวของผู้ชุมนุมไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 นั้นกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียง ส.ว.1ใน3 คือ 84 คนในวาระ 1 และ 3 ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ตั้งส.ส.ร.ก็ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.ตามจำนวนดังกล่าว หากส.ว.พ้นไปจากตำแหน่งเสียก่อนรัฐธรรมนูญก็จะไม่สามารถแก้ไขได้


ทั้งนี้ ระยะเวลาไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากเป็นไปตามร่างฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลถ้าไม่นับการยุบสภาเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นอย่างน้อยที่สุดเร็วที่สุดก็ 16 เดือน และอาจจะถึง 19 - 20 เดือน นั่นเท่ากับว่า จะต้องอยู่ไปกับรัฐบาลประยุทธ์ไปตามระยะเวลาดังกล่าว เว้นเสียแต่ว่ามีเหตุให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องยุบสภาจากปัญหาความขัดแย้งในเวลานี้ 

ถามว่า ถ้ารัฐบาลยอมถอยด้วยการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ชุมนุมยังคงเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้าไม่ถอยจะมีความชอบธรรมที่จะอ้างเป็นเหตุผลในการชุมนุมอยู่อีกหรือไม่ ในขณะที่ข้อเรียกร้องปลีกย่อยของนักเรียนเองเกี่ยวกับเรื่องในโรงเรียนก็ได้รับการขานรับอย่างดีจากกระทรวงศึกษาธิการ

แต่ต้องไม่ลืมว่า นอกจาก 3 ข้อเรียกร้อง 2 เงื่อนไข คือไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และไม่เอารัฐประหารแล้ว ยังมีเงื่อนไข 10 ข้อที่พวกเขาบอกว่าคือ 1 ความฝัน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ถูกถ่ายทอดมาจากความคิดของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และสอดรับกับการเคลื่อนไหวเพื่อลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ถ่ายทอดในนิตยสารฟ้าเดียวกัน และความเห็นที่ซ่อนอยู่ในคราบวิชาการของปิยบุตรเสมอมา

ใน 10 ข้อนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิดที่มีคนออกมาเปิดเผยในยุคของทักษิณเรื่อง ปฏิญญาฟินแลนด์ แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงความมีอยู่จริงหรือไม่ของแนวความคิดนี้ในขณะนั้นก็ตาม

ในตอนนั้นมีผู้อธิบายถึงแนวคิดปฏิญญาฟินแลนด์ใน 5 ข้อดังนี้

1. ยุทธการมวลชน ต้องเข้าถึงระบบรากหญ้าให้ทั่วถึง โดยให้ข้อมูลและกระทำในสิ่งที่หัวหน้าชุมชนรับนโยบายจากรัฐบาลไปถ่ายทอดสู่ระบบรากหญ้าซึ่งเป็นมวลชนอันยิ่งใหญ่ของประเทศ

2. ระบบพรรคเดียว ในทางปฏิบัติ ให้มีพรรคการเมืองพรรคเดียวในการเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ

3. ระบบทุนนิยม ต้องให้ประชาชนบริโภคมากๆ มีทั้งของอุปโภคและบริโภค ให้ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ของฟุ่มเฟือยต่างๆ เสมือนยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน และการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ

4. สถาบันสูงสุด สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยใช้วิธีปฏิบัติในข้อ 5

5. ปฏิรูประบบราชการ เป็นการปรับรื้อระบบราชการเดิมให้หมด มีแนวทาง มอบนโยบายระบบทางราชการใหม่ทุกส่วน รวมถึงเข้าไปกำกับ (ในทางปฏิบัติ) การทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ ให้ขึ้นตรงกับหัวหน้ารัฐบาลเพียงคนเดียว

จะเห็นได้ว่า ข้อ 5 เกือบจะสำเร็จแล้ว แต่สุดท้ายระบอบทักษิณก็ถูกกำจัดด้วยการออกมาขับไล่ของมวลชนและเกิดการรัฐประหารสองครั้งในปี 2549 และ 2557 เพียงแต่ตอนนี้พรรคที่สืบทอดมาจากระบอบทักษิณยังคงอยู่และยังคงเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุดแม้ในการเลือกตั้งล่าสุดที่รัฐธรรมนูญเอื้อให้กับรัฐบาลเพื่อสืบทอดอำนาจก็ตาม

และไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไรข้อเสนอ 10 ข้อที่เป็นความฝันของนักศึกษาบนเวทีชุมนุมก็คือ การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์อันสอดคล้องกับปฏิญญาฟินแลนด์ และเชื่อว่า เป็นการไขประตูบานแรกไปสู่การเปลี่ยนระบอบเป็นสาธารณรัฐนั่นเอง ไม่ใช่เพียงการทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะจริงๆแล้วพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2475

แม้ว่าความเห็นทางการเมือง การเชื่อมั่นอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การอ้างเสรีภาพของทุกรัฐก็มีข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย เพราะทุกรัฐย่อมจะต้องมีระบบปกป้องระบอบของรัฐจากฝ่ายที่ต้องการโค่นล้มเปลี่ยนแปลง

จะเห็นได้ว่า เดิมข้อเสนอ 3 ข้อของผู้ชุมนุมนั้นได้รับการขานรับมาก ผมเองก็ยอมรับว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะผมไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจตั้งแต่ต้น และเห็นแต่แรกแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

แต่เมื่อมีการทะลุเพดานไปสู่ข้อเสนอ 10 ข้อของนักศึกษา ก็เห็นได้ว่า เบื้องหลังของผู้ชุมนุมนั้น มีมือที่พอจะมองเห็นอยู่บางคนว่า ต้องการให้เปลี่ยนแปลงไปสู่การลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ ซึ่งประเด็นนี้จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งของคนในชาติเสียยิ่งกว่าความขัดแย้งกว่า 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นเพียงความขัดแย้งของฝักฝ่ายทางการเมือง เพราะความขัดแย้งต่อไปจะเป็นเรื่องของความศรัทธาที่ไม่มีใครยอม ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นความรุนแรง

และนี่เป็นคำถามว่า ผู้ชุมนุมจะหยุดเคลื่อนไหวเพื่อรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีเงื่อนไขของเวลาที่อาจจะนานถึง 20 เดือน หรือจะยังคงขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เป็นความฝัน ซึ่งมีร่างรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลที่จะให้แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการสานต่อแนวคิด เพราะตอนนี้แกนนำผู้ชุมนุมและผู้อยู่เบื้องหลังต่างเชื่อว่าม็อบสามารถจุดติดแล้ว ก็อาจทำให้มีความเชื่อมั่นที่จะเดินหน้าเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าก็ได้

ต้องยอมรับนะครับว่า มวลชนส่วนใหญ่เข้าร่วมชุมนุมนอกจากคนหนุ่มสาวแล้ว ส่วนใหญ่ก็คือมวลชนคนเสื้อแดงที่เคยเป็นมวลชนของทักษิณและแม้ว่าวันนี้อาจจะเปลี่ยนมาเป็นมวลชนของธนาธรก็ตาม และเวทีหลายแห่งในต่างจังหวัดก็ได้รับการหนุนเนื่องจากคนเสื้อแดงนี่เอง

สำหรับคนรุ่นใหม่ ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้รับอิทธิพลความคิดมาจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธ์ จนกล่าวได้ว่า ทั้งสองเป็นศาสดาองค์ใหม่ของคนเหล่านี้ ข้อมูลความเชื่อที่ไม่ได้พูดถึงในทางสาธารณะมาก่อนทั้งจริงหรือเท็จถูกทั้งสองนำมาเรียงร้อยในโลกโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยและโดยเฉพาะในห้องเสียงสะท้อนอย่างโลกทวิตเตอร์ที่ตอกย้ำด้วยข้อมูลเดิมซ้ำๆ มีเสียงตัวเองที่ตะโกนออกไปแล้วสะท้อนกลับมาในถ้ำ

แต่ถ้าฟังเสียงของสังคมส่วนใหญ่ คนจำนวนมากเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานมาเกือบ 2 ทศวรรษ และแม้จะเลือกตั้งใหม่ไปแล้วก็ไม่สามารถพบกับความสงบได้ หลายคนจึงต้องการทางออกที่แท้จริงที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเราลดลง ในขณะที่ยังมีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสกำลังส่งผลความเสียหายที่รุนแรงหนักขึ้นทุกวัน

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า รัฐบาลเองก็เป็นปัญหา ซึ่งสะท้อนจากประสิทธิภาพในการทำงานตั้งแต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาดสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมายด้วยมาตรา 44 แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับไม่ได้ทำอะไรที่เป็นทางออกที่จะแก้ปัญหาวิกฤตในประเทศเลย วางแผนเพียงเพื่อจะสืบทอดอำนาจต่อผ่านการเลือกตั้งจนมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ก่อวิกฤตซ้ำซ้อน และกลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยในวันนี้

ว่าไปแล้วสถานภาพของรัฐบาลในขณะนี้นี่เองที่ทำให้ชนชั้นกลางจำนวนมากที่เคยเกลียดกลัวระบอบทักษิณหันไปสนับสนุนผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง เพราะเขามองไม่เห็นความหวังจากรัฐบาลชุดนี้นั่นเอง

อย่างไรก็ตามกลับมาสู่คำถามว่า ความพยายามแก้วิกฤตทางการเมืองด้วยการเปิดทางให้แก้รัฐธรรมนูญจะสามารถสยบความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมได้หรือไม่ จะหยุดก็เคลื่อนไหวของนักศึกษาทั่วประเทศได้หรือไม่

ในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนต้องดูว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ฝันหรือถอยมารอการแก้รัฐธรรมนูญที่จะได้มีส่วนร่วมเข้าไปแก้ไขด้วย การตัดสินใจหลังจากนี้นี่แหละที่จะสะท้อนความต้องการจริงๆของผู้ชุมนุมและคนที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังออกมาว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไร

และจะเป็นเครื่องตัดสินที่แท้จริงว่า ขณะนี้ประเทศของเรากำลังก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องตัวบุคคล ไปสู่ความขัดแย้งเชิงระบอบที่รุนแรงและแตกหักยิ่งกว่า เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนอนาคตของพวกเขาเองหรือไม่

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น