ถ้าไม่ปิดบังความจริงข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ก่อการชุมนุมบนท้องถนนนั้นประกอบด้วยข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ การหยุดคุกคามประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การยุบสภาฯ 2 จุดยืน คือไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และไม่เอารัฐประหาร 1 ความฝันคือ ข้อเสนอ 10 ข้อที่เป็นการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์
กล่าวถึงเรื่องข้อเสนอที่เป็นความฝัน หากจะทำให้เป็นความจริง สำหรับฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยด้วยแล้ว ย่อมจะต้องถามว่า ประชาชนอีกฝั่งนั้นเขายินดีที่จะให้ความฝันนั้นเป็นความจริงหรือไม่
ว่ากันตามจริงแล้วพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2475 แล้ว และอำนาจตกอยู่ในมือของประชาชนผ่านทางรัฐสภามาตั้งแต่นั้น แม้ช่วงแรกหลังการรัฐประหารของคณะราษฎรจะมีสภาพเป็นคณาธิปไตยก็ตาม
อำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัยเป็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือรัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนของประชาชน
หลัง 2475 พระมหากษัตริย์ไม่มีฐานะที่จะทรงใช้อำนาจปกครองด้วยตัวเอง การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์จะมีผลบังคับใช้ ก็ต่อเมื่อมีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการรับผิดชอบแทน แม้แต่อำนาจในทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ก็ไม่มี ดังที่กล่าวว่า พระมหากษัตริย์จึงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง หรือหลัก the king can do no wrong นั่นเอง
จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมวันนี้จึงยังมีการพูดกันว่า ต้องให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญกันอีก
แต่การที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจและมีอิทธิพลในทางสังคมซึ่งเกิดจากพระบารมีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจห้ามกันได้ พระมหากษัตริย์ที่ทรงทำพระราชกรณียกิจนานัปการย่อมจะอยู่ในหัวใจประชาชนที่ไม่มีใครสามารถบังคับให้ประชาชนลดความศรัทธาลงได้ ดังนั้นบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงขึ้นกับศรัทธาของประชาชนที่ยอมรับพระมหากษัตริย์ในฐานประมุขของประเทศ
ส่วนความคิดของประชาชนที่ไม่นิยมระบอบกษัตริย์ และต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์นั้น ก็ไม่ใช่จะทำเอาแต่ตามอำเภอใจฝ่ายเดียวได้ ถ้าเราไม่พูดถึงข้อห้ามทางกฎหมาย พูดถึงเรื่องความพึงพอใจก็อาจจะเป็นสิทธิที่จะไม่รักหรือศรัทธา แต่ในระบอบประชาธิปไตยย่อมจะไม่ได้หมายความว่า เราจะทำอะไรตามใจเพียงฝ่ายเดียวได้ แต่ต้องฟังความเห็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ในระบอบประชาธิปไตยนั้นการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทำได้โดยผ่านตัวแทนของประชาชน ดังนั้นหากต้องการทำให้ความฝันทั้ง 10 ข้อเป็นความจริง ก็ต้องมีตัวแทนที่มีเสียงข้างมากในสภาฯ นั่นเอง
เป็นที่ทราบกันว่า ข้อเสนอ 10 ข้อนี้มาจากความคิดของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แกนนำคนสำคัญของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ เขาพูดเรื่องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์มานาน เพียงแต่ตอนอยู่ในประเทศเขาพยายามใช้ชั้นเชิงทางภาษาในการนำเสนอความคิดเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดตามกฎหมาย และเมื่ออยู่ต่างประเทศเขาสามารถแสดงความคิดออกมาได้โดยไม่ต้องซ่อนเร้น
ฝ่ายต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น อ้างเอาว่า ภารกิจของคณะราษฎรยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวถึงคุณูปการของปรีดี พนมยงค์ บนเวทีหัวข้อ “อภิวัฒน์สยาม 2562 ความหวังและอนาคตประเทศไทย” ว่า
“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปแล้ว และมีความสำคัญอย่างมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ผมอ้างตามคำพูดของอาจารย์ณัฐพล ใจจริงนะครับว่า 2475 คือสัญญาประชาคมใหม่ ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ถ่ายโอนอำนาจสูงสุดนั้นไปสู่พลเมืองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการรองรับสิทธิและเสรีภาพที่ว่าของประชาชน สัญญาที่ว่านี้หลักใหญ่ใจความคือ กษัตริย์คืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ผ่านมา 86 ปี เรารู้กันว่าจนถึงปัจจุบันประชาชนก็ยังไม่ได้รับ ผมคิดว่านี่คือเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดให้ชัดว่าหลักการ ความเป็นพลเมืองในประเทศไทยยังไม่ได้ถูกสถาปนา หลักการที่เป็นเสาค้ำยันการอภิวัฒน์ 2475 อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายยังไม่ได้ถูกสถาปนาให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย”
“การเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีจริงในปี 2562 จำเป็นจะต้องนำภารกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ทำไม่เสร็จมาทำให้เสร็จ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดด้วยโอหัง หรือทระนงตน แต่พูดด้วยความเข้าใจถึงสภาพการในปัจจุบันที่ไร้สิทธิ ไร้เสรี และไร้เสรีภาพ พูดด้วยความเข้าใจดีว่าสังคมไทยไม่มีความหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หากการเลือกตั้ง 2562 มีจริง ธงที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งหน้า คือการเอาหลักหมุดหมายของการอภิวัฒน์ 2475 เอาจิตวิญญาณของการปฏิวัติ 2475 กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง นั่นคือ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
อะไรที่ธนาธรคิดว่า กษัตริย์ยังไม่คืนอำนาจให้กับประชาชน อะไรที่ภารกิจของคณะราษฎรยังไม่สำเร็จ
แต่ชัดเจนว่า พรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบันนั้นมีจุดยืนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร
ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนอาจจะมีสิทธิคิดและฝัน แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้เรื่องนี้ไม่มีใครหยิบยกมาพูดในที่สาธารณะ แม้มีความพยายามจะกระตุ้นให้คนออกมาพูดของสมศักดิ์ เจียมฯ มาโดยตลอด กระทั่งความฝันของเขาเป็นความจริงผ่านปากของทนายอานนท์ นำภา ผ่านปากของเด็กสาวนามว่า “รุ้ง” และผ่านปากอย่างคึกคะนองในเวทีต่างๆ ของ “เพนกวิน”
แต่เราจะเห็นว่า เรื่องที่กระทบไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์กระทั่งนำมาพูดต่อสาธารณะนั้น เกิดขึ้นมาพร้อมกับข้อกล่าวหาที่มีที่มาไม่ชอบธรรมของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรัฐบาลที่ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองอื่นๆ จึงกลายมาเป็นเรื่องที่ลามไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง
5 ปีในอำนาจรัฐประหารและ 1 ปีกว่าในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ที่ไม่ได้เข้ามาสะสางปัญหาของบ้านเมือง ไม่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤตความขัดแย้งของประเทศนี่ต่างหากที่ทำให้ปัญหาของประเทศบานปลายออกไป จนกระทั่งทำให้การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้มีความชอบธรรมจนสามารถสร้างแนวร่วมได้เป็นจำนวนมาก
ดูเหมือนวิกฤตที่เกิดขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์ จะยิ่งกว่าวิกฤตในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องนำกองทัพเข้ามาทำการรัฐประหารเพื่อไม่ให้ประเทศกลายเป็นรัฐล้มเหลวเพราะกำลังเกิดมิคสัญญีในประเทศ ต่างกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตรงที่วันนี้พล.อ.ประยุทธ์มีกองทัพเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก
คนเขาเลยคิดกันว่า ถ้าจะมีรัฐประหารอีกก็จะมีรัฐประหารเพื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์นั่นแหละ เพียงแต่การรัฐประหารในสถานการณ์เช่นนี้ก็อาจจะไม่ง่ายดังที่พล.อ.ประยุทธ์เคยทำ
แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมได้ แต่ถามว่ามีหนทางที่จะหยุดยั้งไหม คำตอบก็น่าจะมีอยู่ ต้องยอมรับนะครับว่า ความพยายามของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมนั้นจะกลายเป็นความขัดแย้งและแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ จะเกิดสงครามกลางเมือง ต้องแลกกันด้วยชีวิต ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น หากมีทางออกที่ทุกคนทุกฝ่ายพอจะยอมรับกันได้ เพื่อหยุดยั้งความฝันของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยม
ถ้าถามผมว่าจะต้องทำอย่างไร คำตอบเหมือนที่เคยย้ำมาหลายครั้งว่า ต้องรีบทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อกลับไปสู่การเลือกตั้งกันใหม่ แล้วให้เสียงข้างมากของประชาชนตัดสินว่า เราจะนำพาประเทศไปสู่หนทางใด
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan