มีคนถามผมว่าทำไมคนที่เคยชุมนุมกับพันธมิตรฯ กปปส. อดีตฝ่ายซ้ายและเอ็นจีโอหลายคนจึงไปร่วมกับม็อบปลดแอก พวกเขาเปลี่ยนอุดมการณ์หรือ
ถ้าจะให้ผมตอบ ผมคิดว่า เขาไม่ได้เปลี่ยนอุดมการณ์ แต่พวกเขาปรับเปลี่ยนไปตามภววิสัย พวกเขาเป็นพวกทนไม่ได้ต่อเสียงปี่เสียงกลองเมื่อมีการชุมนุม และมีความคิดว่า ต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่เป็นซ้ายเก่าหลายคนที่เติบโตมากับการชุมนุมของนักศึกษาในอดีต คนที่ผมรู้จักหลายคนเมื่อเห็นนักศึกษาออกมาเลือดของพวกเขาก็พลุ่งพล่านราวกับวัยเยาว์กลับมาอีกครั้ง
แน่นอนพวกเขาไม่ชอบเผด็จการอยู่แล้ว และยิ่งม็อบมีแนวคิดที่จะท้าทายสถาบันด้วย ความฝันวันเก่าของพวกเขาก็บรรเจิด แม้ว่าจะต้องเป็นแนวร่วมกับระบอบทักษิณก็ยอมรับได้ เพราะศัตรูของศัตรูก็คือมิตร ซึ่งเป็นคำอธิบายว่า ทำไมพวกเขาเข้าร่วมม็อบเสื้อเหลืองซึ่งเป็นม็อบยืนข้างสถาบัน เพราะตอนนั้นเขามองว่า ทักษิณน่ากลัวกว่า ศัตรูของศัตรูก็คือมิตรเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ฝ่ายซ้ายบางคนที่เข้าร่วมกับทักษิณก็เคยมีความคิดว่า พลังของทักษิณสามารถลิดรอนอำนาจของสถาบันได้ เขาจึงยอมเข้าร่วมกับทักษิณ แล้วพูดกันว่าค่อยกำจัดทักษิณทีหลัง
ตอนนี้เป้าหมายใหญ่ของพวกเขาคือฝ่ายขวาเผด็จการทหารและสถาบัน เขาจึงไม่ลังเลที่จะร่วมหัวจมท้ายกับม็อบนักศึกษาที่เป็นแนวร่วมของเสื้อแดงของทักษิณที่เคยเป็นศัตรูกัน
ลึกๆ แล้วฝ่ายซ้ายในยุคอดีตหลายคนยังมีความปวดร้าวเจ็บแค้นกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ต้องการจะเปลี่ยนระบอบแต่กระทำไม่สำเร็จ พวกเขามองว่า นักการเมืองก็ยังดีกว่าเผด็จการและสถาบัน เพราะถ้ามีนักการเมืองเลวเขาก็ออกมาร่วมไล่แบบไล่ทักษิณได้
ตอนนี้พวกเขาต้องสามัคคีกับนักศึกษาจับมือแนวร่วมของทักษิณตีฝ่ายขวา และเผด็จการทหารก่อน เพราะจะส่งผลกระทบต่อสถาบันที่พวกเขาชิงชังอยู่ในเบื้องลึก
ถ้าจะว่าไปแล้วพวกนี้พร้อมจะเข้าร่วมกับฝ่ายไหนก็ได้ที่พวกเขาได้แสดงจิตวิญญาณของนักต่อสู้ออกมา โดยเขาจะจัดลำดับความสำคัญออกไป เช่น ถ้าเขาจัดลำดับศัตรูตามความสำคัญไปหาน้อยจาก 1 ถึง 5 ถ้าเขาเป็นมิตรกับ 2 โค่น 1 ได้เขาก็พร้อมจะจับมือ แล้วเขาก็พร้อมจะเป็นมิตรกับ 3 เพื่อโค่น 2 ที่เปลี่ยนเป็นศัตรูหลังจากนั้น
จะว่าคนพวกนี้ไม่ได้เปลี่ยนอุดมการณ์ก็คงจะได้ หรือจะบอกว่าคนพวกนี้ไม่มีอุดมการณ์แต่ยึดเอาภววิสัยมากกว่า
ส่วนเด็กนักเรียน นักศึกษาวันนี้ ก็มีคนรุ่น 14 ตุลาฯ 2516 กับ 6 ตุลาฯ 2519 เป็นไอดอล วัยของคนเหล่านี้เป็นวัยที่กำลังพลุ่งพล่านมีความคิดต่อต้านกับระบบ และกติกาสังคมที่แข็งตึง สวนทางกับบุคลิกแบบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เติบโตมาในโรงเรียนทหาร เป็นผู้บัญชาการทหารบกที่มีแนวคิดชอบสั่งการบังคับบัญชา มีระเบียบวินัยเคร่งครัด โลกของประยุทธ์กับเด็กรุ่นนี้จึงเป็นโลกคู่ขนานกัน
โดยธรรมชาติของเด็กนั้นดื้อแพ่งแม้กระทั่งพ่อแม่ของตัวเองอยู่แล้ว อย่าว่าแต่ครูบาอาจารย์เลย ผู้ใหญ่อย่างเราก็เคยเป็นเด็กมาก่อน เมื่อเขาเห็นประยุทธ์มาจากกติกาที่ไม่เป็นธรรม (ต้องแยกแยะให้ได้นะครับว่า แม้จะมาจากประชามติ แต่เนื้อหามันไม่เป็นธรรม) เพราะ 250 ส.ว.ที่ประยุทธ์ตั้งขึ้นมาเอง สามารถยกมือเลือกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ นี่ต่างหากที่คนรุ่นใหม่เขาเห็นว่า เป็นเผด็จการ แม้จะมีการกระทำพิธีกรรมเลือกตั้งก็ตาม
สำหรับเด็กแต่ละยุคหากคนรุ่นเดียวกันนิยมอะไร ถ้าจะให้ทันยุคสมัยก็ต้องนิยมชมชอบแบบที่คนส่วนใหญ่เขานิยม ยุคนี้เป็นยุคที่นิยมชูสามนิ้ว ต่อต้านเผด็จการ ใครไม่อยู่ในแนวนี้ก็จะกลายเป็นพวกไม่ทันกระแสและตกยุคไป ไม่เช่นนั้นจะถูกบูลลี่ว่าเป็นสลิ่ม พวกเขาจึงต้องแห่กันมาไล่เผด็จการและชูสามนิ้วกันพร้อมหน้า
แน่นอนว่า เมื่อมีทำม็อบทุกม็อบจะต้องมีคนเข้ามาแทรกแซงชักใยอยู่ข้างหลัง ให้ทำโน่นทำนี่ ม็อบที่ไม่มีแกนนำที่แข็งพอก็จะหลงไปตามคำยุยง กระทั่งเราเห็นม็อบที่ธรรมศาสตร์เอาข้อเสนอที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยัดใส่ปากมาพูดบนเวที เปลี่ยนสถานะจากม็อบไล่เผด็จการมาเป็นม็อบลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ตามที่สมศักดิ์เรียกร้อง
ในฐานะเคยทำม็อบ เมื่อยื่นข้อเสนอไปแล้วแรงกดดันก็จะกลับมาอยู่ที่แกนนำเอง เพราะถ้าฝ่ายที่ถูกยื่นข้อเสนอไม่ตอบสนอง ก็จำเป็นที่ต้องขยับเงื่อนไขให้สูงขึ้น
ขยับเงื่อนไขสูงขึ้นแล้ว เขาไม่ตอบสนองก็ยิ่งกดดัน เพราะไม่สามารถทำอะไรได้เลยถ้าเขาเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง ต่อให้มีคนออกมาเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน อย่างที่เห็นมาแล้วในการชุมนุมของพันธมิตรฯ กปปส. และ นปช.อย่างไรคนถืออำนาจรัฐก็ได้เปรียบ
และไม่ว่าผลจะจบลงอย่างไร แต่คดีความก็ยังอยู่ ข้อเท็จจริงที่ทำลงไปก็ยังอยู่ เขาเก็บหลักฐานไว้หมด จากนั้นก็เดินขึ้นศาลสู้คดีเป็น 10 ปีกันทุกฝ่าย เวลานั้นมันว้าเหว่ หดหู่อย่างบอกไม่ถูก ไม่ฮึกเหิมเหมือนตอนพูดบนเวทีแล้วมีเสียงโห่ฮาห้อมล้อม
เห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จต้องมาจากปากกระบอกปืน เราปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยปากไม่ได้ 2475 ก็ต้องใช้กำลังทหาร แม้จะหลอกลวงทหารออกมาก็ตาม ตราบเท่าที่เรายึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้ ก็ไม่มีวันสำเร็จ นั่นหมายความว่า อยากเปลี่ยนแปลงให้ได้ดังใจก็ต้องยึดอำนาจรัฐมาให้ได้
แต่ก็นับว่าคนหนุ่มสาววันนี้มีความกล้า แม้จะหยิบยืมข้อเสนอของคนที่หลบหนีไปต่างประเทศที่หลายคนไม่กล้าพูดมาประกาศข้อเสนอ 10 ข้อ แต่ความกล้านี้ก็จะต้องรับผลพวงที่ตามมา อย่าไปหลงเชื่ออาจารย์ 105 คน (มีมาเพิ่มอีกหลังจากนั้น) ว่า จะไม่ขัดต่อกฎหมาย อ่านมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่เรียกร้องให้ยกเลิกก็รู้แล้วว่าผิดไหม กฎหมายอื่นอีกสารพัด ไม่ใช่มีเพียงบางมาตราที่อาจารย์หยิบมาหลอกให้เราฮึกเหิม ดูรายชื่อแล้วไม่มีอาจารย์คนไหนเคยนำม็อบมาลงถนนสักคน เก่งแต่ปลุกปั่นในห้องเรียนและยุยงคนอื่น
ถ้าข้อเสนอ 10 ข้ออยู่บนพื้นฐานที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ทำไม 105 อาจารย์ไม่เคยพูดต่อสาธารณะมาก่อน
เมื่อถึงวันเวลาต้องเดินขึ้นศาลตามลำพังนั่นแหละจะประจักษ์ว่าโลกมันโหดร้าย และน่าเศร้าเพียงใด ถามรุ่นพี่ๆ เขาดู ดังนั้นถ้ามั่นใจว่าจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้โดยยอมให้ใครเข้ามายืมมือเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบก็ต้องยอมรับผลพวงที่จะตามมา
ถ้าตัดเรื่องสถาบันออกไปเพราะดูเหมือนการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมจะกลับมายึดที่แนวคิด 3 ข้อ เวลานี้ศัตรูของคนหนุ่มสาวคือ รัฐบาลเผด็จการ แล้วรัฐบาลเผด็จการคือฝ่ายตรงข้ามของระบอบทักษิณ ที่มีพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นแนวร่วม และหนึ่งในนั้นคือ อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เขาคิดว่าเป็นพรรคตัวแทนของคนรุ่นเขา และกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพ่อแม่ลุงป้าน้าอาของตัวเองที่เคยออกมาขับไล่ระบอบทักษิณ
ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วฝ่ายไหนจะชนะ แต่เห็นได้ว่ารอยร้าวและความแตกแยกก็จะกลายเป็นบาดแผลของสังคมไปอีกนาน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan