xs
xsm
sm
md
lg

คุณสมบัติของประยุทธ์ กับความคาดหวังที่อยากให้เป็น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”


เมื่อ 6 ปีก่อนที่ประเทศกำลังเป็นมิคสัญญี ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่า ทหารมีความจำเป็นต้องเข้ามายึดอำนาจก่อนที่ประเทศจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว ประชาชนฝ่ายหนึ่งออกมาชุมนุมปิดประเทศขับไล่รัฐบาลที่กำลังสิ้นสภาพเพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนพ้นจากตำแหน่ง มีประชาชนอีกกลุ่มออกมาต่อต้านผู้ประท้วง และมีกลุ่มคนบางคนขนเอาอาวุธสงครามมายิงถล่มผู้ชุมนุม

เงื่อนไขสำคัญของการรัฐประหารก็คือ ความรุนแรงที่ฝ่ายหนึ่งเอาอาวุธสงครามมาใช้ แม้แต่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เคยมีความเห็นทำนองนี้

และแม้รัฐบาลขณะนั้นจะประกาศยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่มีการจัดการเลือกตั้ง แต่ประชาชนกลุ่มหนึ่งก็ไม่ยอมรับ เพราะเชื่อว่า ภายใต้กติกาแบบเดิม การเมืองก็ยังคงเป็นแบบเดิม

อย่างไรก็ตามการเห็นด้วยของผมเกิดขึ้นกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้นเท่านั้น ผมหวังว่า รัฐบาลทหารจะเข้ามาจัดการร่างกติกาที่เข้ารูปเข้ารอยนำประเทศไปสู่การปฏิรูปที่สังคมเรียกร้องจนเป็นเหตุให้ทหารเข้ามามีอำนาจ แต่เมื่ออำนาจกลายเป็นสิ่งหอมหวลมีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่า การกระทำเช่นนั้นจะนำประเทศไปจมปลักของความขัดแย้งไม่รู้สิ้น

แล้วผมก็ไม่เชื่อว่า ความสงบที่เกิดขึ้นช่วงรัฐประหารที่สาวกของรัฐบาลนำมาเป็นเครื่องมืออวดศักยภาพของรัฐบาลทหารว่าเป็นความสงบที่แท้จริง เพราะมันถูกกดทับเอาไว้ด้วยปากกระบอกปืนเท่านั้นเอง ขณะที่สภาพของคลื่นใต้น้ำนั้นยังกรุ่นอยู่ภายในแม้ภายนอกจะดูสงบราบเรียบก็ตาม

วันนี้มันพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริง เพราะประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลสืบทอดอำนาจกำลังจะลุกฮือขึ้นอีกครั้ง

อีกด้าน ผมก็ไม่หัวสี่เหลี่ยมที่คิดว่า ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้เราได้ผู้นำที่ดี เพราะสำหรับผมแล้วการเลือกตั้งไม่ใช่การตัดสินคนที่ดีให้เข้ามาปกครองประเทศ แต่เป็นการเลือกคนที่มีพวกมากที่สุดเท่านั้นเอง เราอาจได้คนดีคนเก่ง คนดีแต่ไม่เก่ง คนเก่งแต่ไม่ดี ระบอบคอมมิวนิสต์แบบจีนก็สามารถได้ผู้นำที่เก่งและดีได้ แต่ก็ไม่มีหลักประกันเช่นกันว่า ระบอบคอมมิวนิสต์จะได้ผู้นำที่ดีเสมอไป เพียงแต่ของจีนเขามีระบบที่ดีเพราะการขึ้นสู่ผู้นำของเขานั้นต้องผ่านการทดสอบผ่านด่านตั้งแต่ระดับล่างที่สุดเพื่อพิสูจน์ตัวเองค่อยๆไต่เต้าขึ้นไป

แต่เมื่อยังไม่มีระบอบการปกครองแบบไหนที่มนุษย์สามารถคิดค้นเพื่อสร้างหลักประกันว่า เราจะต้องได้คนดีคนเก่งมาปกครองประเทศแน่ๆ ก็คงต้องยอมรับไปก่อนอย่างที่ใครๆต่อใครกล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่เลวน้อยที่สุด ส่วนระบอบที่ดีที่สุดและไม่เลวเลยนั้น ผมคิดว่ายากเกินกว่าจินตนาการของมนุษย์จะคิดค้นวิธีการขึ้นมาได้

กระทั่งรัฐบาลประยุทธ์ แม้จะถือโอกาสปกครองประเทศเหยียบไว้ใต้ท็อปบู้ทยาวนานถึง 5 ปี ก็รู้ดีกว่า ไม่สามารถปกครองประเทศแบบนี้ไว้ได้ตลอดไป สุดท้ายก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนกลับไปสู่การเลือกตั้ง

แต่นอกจากเข้ามาไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง ขจัดอุปสรรคที่นำไปสู่ความขัดแย้งของคนในประเทศแล้ว รัฐบาลประยุทธ์กลับฉวยโอกาสของความแตกแยกของประชาชนมาเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกและปกครอง แม้ว่าประชาชนบางคนจะชื่นชอบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยรสนิยมส่วนตัวไม่มีใครบังคับก็ตาม

นั่นหมายความว่าการแบ่งแยกแล้วปกครองอาจจะไม่ได้มาจากเจตนาของรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ แต่ความแตกแยกจากความคิดทางการเมืองของคนในประเทศอาจจะลงตัวพอดีกับพยายามจะอยู่ในอำนาจของรัฐบาลรัฐประหารต่อเนื่องมาจนเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ อาจจะเรียกว่าได้ประโยชน์โดยบังเอิญก็ได้ หรือไม่ก็มองเห็นว่า ความแตกแยกนั้นเองที่เป็นเกราะกำบังที่ดี เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งให้กับสนับสนุนเสมอๆ

แน่นอนว่าในฐานะที่ผมเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนมีคดีติดตัวมาจนถึงวันนี้ ผมรู้ว่าระบอบทักษิณนั้นเป็นภยันตรายต่อชาติบ้านเมือง วันนี้ความนิยมของทักษิณยังอยู่ แรงเฉื่อยของระบอบทักษิณยังอยู่อันเห็นได้จากพรรคเพื่อไทยของทักษิณยังคงเป็นพรรคอันดับ 1 และเห็นได้ชัดว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสืบทอดอำนาจนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นแนวร่วมกับระบอบทักษิณ แต่ผมก็ไม่ได้เห็นดีด้วยที่ใครจะใช้ข้ออ้างตรงนี้มาเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจจนเกินความจำเป็น

สำหรับผมถ้าเราจะชนะระบอบทักษิณเราต้องชนะด้วยความชอบธรรม

ก็อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า ผมเห็นความจำเป็นที่ทหารต้องเข้ามายึดอำนาจ แต่ผมไม่เห็นด้วยที่ทหารเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขของความขัดแย้งในประเทศ

บางคนพยายามจะบอกว่า ถ้าไม่ออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ ระบอบทักษิณก็กลับมาอีก ผมถามกลับว่า เรากลัวอะไร ถ้ารัฐบาลที่ใช้อำนาจแบบระบอบทักษิณกลับมาอีก เราก็ออกมาขับไล่รัฐบาลอีกเท่านั้นเอง แต่เราอย่าไปกลัวระบอบทักษิณแต่ยอมรับสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่ทำอย่างเดียวกับทักษิณเราก็แกล้งหรี่ตาเสีย ถ้าอย่างนั้นเรากลัวระบอบทักษิณแบบไหนกัน

บางคนบอกว่า รัฐธรรมนูญนี้มาจากประชามติของประชาชน เราตอบตัวเองสิว่า ถ้าเรารักความเป็นธรรม เราต่อสู้เพื่อความชอบธรรม เราเกลียดทักษิณเพราะทักษิณฉ้อฉล เราเชื่อว่า การทำประชามตินั้นมันเป็นธรรมไหม การเลือกตั้งที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่า รัฐธรรมนูญร่างมาเพื่อพวกเรา แล้วมีส.ว.ที่ตัวเองแต่งตั้งมา 250 คนรอยกมือให้อยู่แล้วมันยุติธรรมไหม

วันนี้เราเห็นองคาพยพของรัฐบาลชุดนี้แตกต่างจากรัฐบาลของทักษิณไหม เราเห็นความเท่าเทียมในสังคมไหม เราขจัดความเหลื่อมล้ำให้หมดไปไหม เราขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไปไหม เราไม่มีอภิสิทธิ์ในสังคมไหม กระบวนการยุติธรรมของเราเป็นธรรมอย่างแท้จริงไหม ทำไมคนรอบตัวรัฐบาลคนในรัฐบาลจึงรอดพ้นจากความผิดด้วยข้อแก้ตัวที่พิลึกพิลั่นในหลายเรื่อง หรือเรายอมเพราะรัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลทักษิณเท่านั้นเอง

แม้ว่า ในการเลือกตั้งผมจะไม่มีวันเลือกพรรคของทักษิณและแนวร่วมของทักษิณ แต่ผมก็ไม่ได้เลือกพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่เชื่อไหมว่า ถ้ารัฐธรรมนูญมีความเป็นธรรมมีกติกาที่เท่าเทียมกันไม่มี 250 ส.ว.ที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์คอยยกมือรอท่าอยู่แล้ว ผมก็คงเลือกพล.อ.ประยุทธ์เพราะผมคิดว่า น่าจะเป็นทางเลือกเดียวที่จะต่อกรกับระบอบทักษิณได้

แต่ถ้าเลือกก็ไม่ได้หมายความว่า ผมจะทำตัวเป็นหนังหน้าไฟแทนพล.อ.ประยุทธ์ คอยปกป้องรัฐบาลประยุทธ์เพียงเพราะกลัวพรรคของทักษิณและแนวร่วมของทักษิณ ผมจะตีค่ารัฐบาลประยุทธ์เป็นเพียงรัฐบาลที่ต้องรับใช้ประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตด้วยความรู้ความสามารถที่แท้จริง และวิพากษ์วิจารณ์ติติงในสิ่งที่เห็นว่าไม่ควร

ถามว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความจำเป็นไหมที่ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีกองทัพหนุนหลัง ผมคิดว่า อาจจะมีความจำเป็นระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะยอมให้รัฐบาลใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ หรือยอมรับเงื่อนไขที่รัฐบาลใช้ในการเข้าสู่อำนาจอย่างไรก็ได้ เพราะความชอบธรรมนั้นไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้ด้วยความไม่ชอบธรรม และไม่มีอำนาจที่ไม่ชอบธรรมไหนที่จะอยู่ได้ตลอดไป มันมีบทเรียนในประวัติศาสตร์มากมายให้เราเรียนรู้

คุณสมบัติแบบพล.อ.ประยุทธ์อาจเป็นความต้องการของคนจำนวนหนึ่ง ขณะที่คนจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับคุณสมบัติแบบนี้ และเราเห็นว่าความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้กลายมาเป็นปัญหาของชาติที่เพิ่มขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ เราสร้างกติกาที่เป็นธรรมขึ้นมา แล้วให้ทุกคนซึ่งมีสิทธิมีเสียงเท่ากันในประเทศนี้เป็นผู้ตัดสิน แล้วผลที่ออกมาก็ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับไปโดยปริยาย ความเกลียดชังแม้จะยังคงอยู่ก็จะไม่มีใครมีความชอบธรรมพอที่จะออกมาสร้างความขัดแย้งในชาติ หากว่ารัฐบาลนั้นไม่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลแบบที่ประชาชนเคยออกมาขับไล่มาแล้ว

ต้องยอมรับว่า ตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์มีศักยภาพที่จะกำหนดชะตากรรมของชาติ เพียงแต่ว่าคิดว่าจะปกครองประชาชนภายใต้อำนาจนิยมหรือจะคลี่คลายความขัดแย้งโดยลดเงื่อนไขของความขัดแย้งต่างๆให้หมดไป ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่า เงื่อนไขของความขัดแย้งในชาติคืออะไร แต่จะลงมือแก้ไขหรือไม่เท่านั้นเอง

เราเห็นพล.อ.ประยุทธ์มาแล้วใน 5 ปีของรัฐบาลที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เราเห็นพล.อ.ประยุทธ์ใน 1 ปีของรัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้ง เราเห็นได้ว่า แม้พล.อ.ประยุทธ์จะมีความจริงใจที่จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่เราก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากศักยภาพของพล.อ.ประยุทธ์เช่นเดียวกัน เราเห็นปัญหาต่างๆไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณที่ออกมาขับไล่เลย เว้นเสียแต่ว่าความกลัวทักษิณความรักต่อพล.อ.ประยุทธ์จะทำให้เราหลงลืมความนึกคิดไป

ถ้าอ่านมาแต่ต้นก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ทางออกแรกที่จะพาประเทศออกจากความขัดแย้งในความหมายของผมก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม

ขณะที่ตอนนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะกรรมาธิการ แถลงว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิและมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น ซึ่งน่ายินดีที่พล.อ.ประยุทธ์ให้การขานรับ

และเมื่อพล.อ.ประยุทธ์กำลังเดินสายรับฟังความเห็นของสื่อมวลชน ผมคาดหวังว่าความเห็นนี้เป็นความเห็นหนึ่งที่ผมต้องการสะท้อนออกมา เพราะเห็นแล้วว่า ความขัดแย้งในชาติถลำลึกลงไปทุกวัน และนานวันจะกระทบต่อสถาบันของชาติในทุกๆด้าน และทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ไข

แม้จะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์บ่มเพาะมาจากโรงเรียนทหาร และติดการบังคับบัญชาสั่งการมาตามปกติวิสัยของคนเป็นทหารทั้งชีวิตก็ตาม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan

กำลังโหลดความคิดเห็น