xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประชาธิปัตย์ ขย่มเรือดำน้ำ ทำหล่อ เจาะยางกองทัพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประชาธิปัตย์สไตล์ หลังที่ประชุมส.ส.พรรคมีมติไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยให้กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 สัดส่วนของพรรคจำนวน 7 คน ลงมติไม่เห็นชอบเรื่องดังกล่าวในชั้นคณะกรรมาธิการฯ

ขณะเดียวกันยังให้ลูกพรรคหลายคน โดยเฉพาะบรรดาตัวจี๊ดออกมาขย่มในลักษณะแทงกั๊กเรื่องการลงมติใน วาระที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นการวอล์กเอาต์ หรือลงมติตรงข้ามกับแกนนำรัฐบาล

ถือว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการในลักษณะแบบนี้ เพราะก่อนหน้านี้สมัยจัดตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ลูกพรรคสายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยพยายามผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบการใช้ มาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มาแล้ว

สุดท้ายพรรคร่วมรัฐบาลต้องจัดมิตติ้งเคลียร์ใจกัน ก่อนที่จะผ่านไปได้ ผ่านมาไม่กี่เดือนส.ส.พรรคสีฟ้า ยังสวมบทเด็กดื้อ ออกมาขวางโปรเจกต์ใหญ่ของ 3 ป. และกองทัพ อย่างเรื่องเรือดำน้ำ

แน่นอนว่า พรรคประชาธิปัตย์นอกจากสร้างความปั่นป่วนตามประสาตัวเองแล้ว ยังต้องการเกาะกระแสสังคมที่ต่างพร้อมใจกันคัดค้านการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศตอนนี้ไม่สู้ดีนัก เป็นช่วงเวลาที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสมหากจะจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารในตอนนี้

และอย่างที่รู้กัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รู้สึกยินดีกับการต้องสวมบทผู้ตามในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่แล้ว ต้องการกลับไปถือธงนำเหมือนในอดีต

เพียงแต่ว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจจะประเมินพลาดที่ตัดสินใจกระโจนเข้ามาคัดค้านโปรเจกต์ดังกล่าว ในช่วงที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญมรสุมหลายลูก ไม่ว่าจะเป็นม็อบเยาวชน สภาพเศรษฐกิจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำอย่างนี้ไม่ต่างอะไรกับการผสมโรง ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

เจตนาของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้จะต้องการคัดค้านอย่างเดียว แต่มีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาผสมปนเป โดยเฉพาะเรื่องกระแสสังคม

พรรคประชาธิปัตย์ จำใจอาศัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของพรรค หลังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ทั้งการสูญพันธุ์ใน กทม. หรือปรากฏการณ์เสาไฟฟ้าล่มในพื้นที่ภาคใต้

ทว่า การกระทำแบบนี้ยิ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์สุ่มเสี่ยงที่จะกอบกู้ตัวเองขึ้นมาได้ยาก นั่นเพราะมวลชนในประเทศขณะนี้ถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กับฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย

หรือถ้าจะให้เห็นภาพคือ การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับฝ่ายหัวก้าวหน้า ดังนั้นการที่พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านโดยขู่ว่า จะไม่ลงมติให้ในครั้งนี้ เหมือนเป็นการทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ย่ำแย่ลง ซึ่งบรรดามวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมย่อมต้องไม่แฮปปี้

ขณะเดียวกัน คะแนนเห็นใจจะยิ่งไหลไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง ที่"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่าจะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จนคะแนนสวิงเข้าไปหาพรรคพลังประชารัฐ อย่างท่วมท้น

คนที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ จะยิ่งไหลไปหาพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะด้วยความเห็นใจ หรือความอึดอัดที่มีต่อพฤติกรรมของพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม

เช่นเดียวกัน หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะดึงคะแนนจากบรรดาคนรุ่นใหม่ จากการที่ร่วมคัดค้านการซื้อเรือดำน้ำ ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะอย่าลืมว่า คนกลุ่มนี้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ตรงกันข้ามยังโกรธเคืองพรรคสีฟ้าที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการรัฐประหาร ในวันที่ 22 พ.ค.57

คนกลุ่มนี้ยากจะปันใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์ การทำแบบนี้กลายเป็นพรรคย่านสามเสน ที่มีแต่เสียกับเสีย

ความเป็นพรรคประชาธิปัตย์เองยังทำให้กอบกู้ชื่อเสียงยากด้วย เพราะในการประชุมส.ส.ของพรรค บรรดาแกนนำพรรคที่เป็นรัฐมนตรีไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่ไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือครม.สัญจร กันอยู่ที่จ.ระยอง

เรื่องที่เกิดขึ้นมันมีเรื่องการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ปนอยู่ โดยเฉพาะส.ส.สายอภิสิทธิ์ ที่ไม่ได้ให้ความเคารพหรือเกรงใจ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค และ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค

การขย่มผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบันเกิดขึ้นมาเสมอ เพราะคนเหล่านี้ตกขบวน ไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเลยสักคน รวมถึงยังมองว่าพวกที่ได้เป็นรัฐมนตรี พอได้ดิบได้ดี แล้วไม่สนใจคนในพรรค

มันเป็นเรื่องที่บั่นทอนแกนนำรัฐบาลอยู่เสมอ ซึ่งผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์หลายคนก็อึดอัดกับความเป็นประชาธิปัตย์

  เรื่องนี้ต้องจับตาดูให้ดีว่า สุดท้ายพรรคสีฟ้าจะกล้าโหวตสวนพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การเขย่าธรรมดาเพื่อหวังเกาะกระแส หรือขย่มรัฐบาลเท่านั้น


แต่ที่แน่ๆ แผลนี้มันได้สร้างความโกรธ ถึงขั้นเกลียดชังให้กับบรรดาท็อปบูตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกองทัพเรือ เพราะโปรเจกต์เรือดำน้ำ ถือเป็นโครงการที่หมายมั่นปั้นมือมาหลายสิบปี เพิ่งจะมาสำเร็จในยุคของคสช.

หากต้องเป็นอัมพาตอีกรอบเพราะฝีมือพรรคประชาธิปัตย์ที่เกเร ย่อมต้องฝังใจ

การโหวตคว่ำเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 ไม่ต่างอะไรกับการประกาศศัตรูกับกองทัพ กระทรวงกลาโหม เพราะนี่ถือเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีที่บรรดาท็อปบูตหวังจะมีเรือดำน้ำไว้ใช้อีกครั้ง

เอาว่า งานนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถอย ไม่เบรก กับการคัดค้าน จนทำให้ฝันของกองทัพเรือล่ม ดูแล้วความไม่พอใจของกองทัพ จะฝังใจไปอีกยาวนาน ยากที่จะประสานกันได้

บอกได้คำเดียวว่า แผลใหญ่ แผลลึก จำไม่ลืม


กำลังโหลดความคิดเห็น