จับตากองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ได้สำเร็จ แม้รัฐมนตรีพรรคร่วมไม่ต้องการแต่ต้องรักษาสปิริต วงในแจง ‘จุรินทร์-เฉลิมชัย’ ใช้วิชาเทพหรือมาร ‘หักดิบ’ มติพรรค ปชป.โหวตสวนไม่เอาเรือดำน้ำ ชี้กลุ่มไม่เอาเรือดำน้ำฟังเสียงประชาชน พร้อมเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรค เหตุ ‘จุรินทร์’ สนใจแต่กลุ่มทุน-ส.ส.ก๊วนตัวเอง ส่วนพวกสอบตกไร้การดูแล เชื่อจะมีประเด็นอื่นๆ เขย่าต่อไป หวังเตะจุรินทร์ ดึง ‘อภิสิทธิ์’ นั่งแทน วงในชี้ ‘ชวน-จุรินทร์-เฉลิมชัย’ กุมบังเหียนพรรค เก้าอี้รัฐมนตรี ปชป.มั่นคงแน่นอน
ในที่สุดกองทัพเรือก็จะสามารถจัดซื้อเรือดำน้ำได้สำเร็จ? แม้ว่าเรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงและถูกหยิบยกมาโจมตี พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลยังใช้งบประมาณไปจัดซื้อเรือดำน้ำท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและประชาชนกำลังจะอดตาย แม้ว่ากองทัพเรือได้ออกมาชี้แจงถึงความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ในการจัดวางกองกำลังทางทะเลแล้วก็ตาม แต่กระแสคัดค้านก็ยังขยายวงต่อไป
โดยเฉพาะการที่พรรคประชาธิปัตย์ แถลงมติพรรคเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งวันนั้นรัฐมนตรีของพรรค ปชป.ไม่มีใครได้เข้าร่วมประชุมพรรค เนื่องจากติดประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดระยอง ในวันที่ 24-25 ส.ค.ว่า กมธ.งบประมาณในส่วนของพรรค 6 เสียง จะโหวตสวนไม่เห็นด้วยที่จะให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ส่งผลให้การประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ต้องยื้อวาระการพิจารณาด้านครุภัณฑ์ในการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไปและจะมีการประชุมพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ซึ่งหากลงมติได้ก็ถือว่าจบ แต่ถ้ายังไม่ได้ข้อยุติก็อาจจะลงมติในวันที่ 31 ส.ค.ต่อไป
สำหรับสัดส่วน กมธ.ฝ่ายรัฐบาลมีทั้งหมด 48 เสียง ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี 18 เสียง และพรรคร่วมอีก 30 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมี 24 เสียง รวมทั้งหมด 72 เสียง
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจะจัดซื้อเรือดำน้ำหรือไม่เป็นเรื่องของ กมธ.งบประมาณที่มีหลายพรรคการเมืองร่วมเป็น กมธ.จะเป็นผู้พิจารณา ส่วนความจำเป็น เหตุผลก็ได้มีการอธิบายไปหมดแล้วและงบที่จะซื้อก็เป็นงบฯ ของกองทัพเรือ ก็สุดแล้วแต่จะพิจารณาอย่างไร ซึ่งวันหน้าทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่บิ๊กตู่เพียงคนเดียว
“พรรคร่วมก็มีการหารือกัน และเวลานี้ก็เคลียร์กันชัดเจนแล้วว่า ปชป.ในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่มีการโหวตสวนแน่นอน เพราะงบจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นงบผูกพัน จ่ายกันเป็นงวดๆ ไม่ได้จ่ายทั้งก้อน ซึ่งสภาก็ได้มีการอนุมัติไปแล้วเมื่องบประมาณปี 2563 ผูกพันไปจนถึงปีงบประมาณ 2570 ซึ่งในปี 2564 จะต้องใช้งบจัดซื้อ 3,925 ล้านบาท”
อย่างไรก็ดี ในการประชุม กมธ.งบประมาณ ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ก็น่าจะสามารถลงมติได้เป็นผลให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำเพิ่มขึ้น 2 ลำเพื่อใช้ปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย!
“ถ้าจะพูดกันตรงๆ แล้ว หากจะถามว่ารัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการพูดคุยกันนั้นอยากซื้อเรือดำน้ำหรือไม่? ก็น่าจะไม่มีใครอยากซื้อในช่วงสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจแบบนี้ แต่รัฐมนตรีทุกคนก็ต้องมีสปิริต เพราะในวาระแรกทุกพรรคก็มีการโหวตรับงบประมาณดังกล่าวกันไปแล้ว ก็น่าจะรักษากติกาในการร่วมรัฐบาลไว้ด้วย”
ด้านแหล่งข่าวจากพรรค ปชป. ระบุว่า ภายในพรรค ปชป.มีคลื่นใต้น้ำไม่ต่างจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะกรรมการบริหารพรรคจำนวน 39 คน แต่มีเกือบครึ่ง รวมทั้งสมาชิกพรรค บรรดา ส.ส.สอบตก ต้องการจะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเพราะเห็นว่าการบริหารงานของหัวหน้าพรรคจะยึดโยงอยู่กับกลุ่มพวกของตัวเองเท่านั้น จึงมีการหยิบเรื่องการจัดซื้อเรือดำ
“นายจุรินทร์ จะให้ความสำคัญกับสมาชิกที่ นายทุนของพรรค รัฐมนตรีพรรค และ ส.ส.ที่สอบได้ที่เป็นพวกตัวเอง ส่วนพวกที่สอบตก ไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลก็มีสมาชิกถามนายจุรินทร์ แล้วว่าต้องการให้ ปชป.รักษาฐานเสียงไว้แค่นี้หรือ ไม่คิดจะทำให้พรรคโตขึ้นมาอีกหรอ แต่ก็ไม่มีคำตอบ”
ส่วนการที่สมาชิกพรรคต้องการให้คว่ำการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น ก็เป็นเรื่องที่รับฟังได้เนื่องจากสมาชิกได้มีการออกไปรับฟังข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ต่างก็เห็นว่าวันนี้พวกเขามีชีวิตที่ยากลำบาก ทำมาค้าขายก็ยาก บางคนรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะอดตาย แต่ทำไมรัฐบาลไม่เหลียวแล กลับเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำ ทั้งที่เมื่อเทียบความจำเป็นแล้ว ปากท้องของประชาชนน่าจะสำคัญกว่าหรือไม่?
อีกทั้งถ้าคว่ำการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ได้รัฐบาลบิ๊กตู่ ก็จะไม่ให้ ปชป.ร่วมรัฐบาลแน่นอน ซึ่งโดยมารยาท ปชป.ก็ต้องถอนตัวออกมาจากการร่วมรัฐบาล ซึ่งสมาชิกพรรคก็รู้ว่าโอกาสที่จะเป็นไปตามที่แถลงนั้นเป็นไปได้ยาก
“เรารู้ว่าเดี๋ยวหัวหน้าจุรินทร์ กับเลขาฯ เฉลิมชัย ก็จะใช้อำนาจหักดิบ สั่งให้ กมธ.ซึ่งพวกเขาเลือกเข้าไปนั่งเป็น กมธ.โหวตให้ซื้อเรือดำน้ำ และก็จะสั่งให้ ส.ส.ในสภาที่พวกเขาดูแลกันอยู่ยกมือสนับสนุน ถ้าใครไม่ทำตาม ก็อย่าหวังจะได้รับการดูแลเพราะนี่เป็นวิธีการที่จะร่วมรัฐบาลได้นานที่สุดเรื่องนี้ท่านชวน หลีกภัย ก็รู้และเข้าใจ”
ขณะที่ ส.ส.พรรค ปชป. บอกว่า การจะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคในเวลานี้ เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงของนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และยังมีฐานเสียงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ซึ่งวันนี้สมาชิกที่อยากเปลี่ยนจะอยู่ในขั้วของนายอภิสิทธิ์เท่านั้น
“สมาชิกส่วนใหญ่ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเชื่อว่าในยุคของนายอภิสิทธิ์ สมาชิกจะมีความยึดโยงกันมากกว่า ไม่ถูกแบ่งแยกเหมือนยุคนี้ ใครมีเงิน ใครมีทุน ได้รับการจัดสรรตำแหน่งกันไปหมด แม้จะเพิ่งเข้ามาสังกัด ปชป.ก็ตาม แต่เมื่อจะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคก็ต้องใช้เสียงกรรมการบริหารพรรคเกินกึ่งหนึ่งถึงจะทำได้ถ้าไม่มีเสียงพอ นายจุรินทร์ ก็จะนั่งจนครบวาระ”
ดังนั้น การแถลงมติเพื่อโหวตสวนซื้อเรือดำน้ำของ ปชป.จึงเป็นเพียงการเขย่าเพื่อให้เกิดการสั่นคลอนเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.ไปเรื่อยๆ เหมือนเรื่องของการทุจริตจัดซื้อหน้ากากอนามัย แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และต้องจับตาดูว่าจะมีการเปิดประเด็นใหม่ อะไร อย่างไร ต่อไป
แต่ที่แน่ๆ เก้าอี้รัฐมนตรี ปชป.ทุกคนยังคงเหนียวแน่น ตราบใดที่ ปชป.ยังมี ‘ชวน หลีกภัย-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และเฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เป็นผู้กุมบังเหียนพรรค!