xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เรือดำน้ำ” ติดสันดอน“เกมการเมือง” เดินหน้าซื้อต่อแต่ขอ “ชะลอจ่ายเงิน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วินาทีนี้ดูเหมือนว่า “กองทัพเรือ”  จะประสบปัญหาในการเดินหน้าจัดซื้อ  “เรือดำน้ำ”  ชั้นหยวนคลาสจากจีน โดนเฉพาะปัญหา  “ทางการเมือง” ที่ แม้ทางกองทัพเรือจะยกขบวนมาชี้แจงและอธิบายด้วยเหตุด้วยผลก็ตาม

แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า การจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” จะยังคงเดินหน้าต่อไป ยิ่งเมื่อพิจารณาความเห็นจาก  “ผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาล”  รวมทั้งดูเกมในรัฐสภาแล้วเห็นชัดเจนว่า “ยื้อสุดกำลัง”  โดยคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2564 เลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพียงแต่สุดท้ายแล้ว บทสรุปจะออกมาเช่นไรเท่านั้น

และดูเหมือนว่าจะดำเนินไปในลักษณะ  “ชะลอการจ่ายเงิน” ออกไปเสียมากกว่า

ความจริงต้องบอกว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นโครงการที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ในยุคที่ “บิ๊กลือ-พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์”  ผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือและเป็นประธานในโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ โดยมีวงเงินทั้งหมด 36,000 ล้านบาท

ในครั้งนั้น  “เสียงค้าน” ก็กระหึ่มแผ่นดินไม่น้อย แต่สุดท้ายรัฐบาล คสช. ของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  ที่มี  “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็อนุมัติ “แบบเงียบๆ” ให้จัดซื้อลำแรกได้ในราคา 13,500 ล้านบาท

“เอกสารนี้เป็นเอกสารลับ เขาไม่เปิดเผยกัน ทุกเรื่องที่เป็นเอกสารลับ ไม่ว่าจะเป็น ครม.ไหนก็เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นเอกสารทางด้านยุทธศาสตร์ เรื่องยุทธวิธีเป็นเอกสารลับทั้งหมดอยู่แล้ว ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีเอกสารลับทั้งหมด” พล.อ.ประวิตร ผู้เสนอวาระเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เอง ที่ว่าไว้ในคราวนั้น

จากนั้นในปีงบประมาณ 2563 กองทัพเรือก็เจรจาซื้อเพิ่มอีก 2 ลำตามยุทธศาสตร์เดิมที่กำหนดเอาไว้ในราคารวม 22,500 ล้านบาทและถึงกำหนดการที่จะต้องจ่ายเงิน ดังนั้น เรื่องจึงนำเข้าสู่การพิจารณาของ “รัฐสภา” และนำมาซึ่งการถกเถียงครั้งใหญ่ เมื่อกระแสสังคมส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางที่ว่า ยังไม่เหมาะสมที่ประเทศไทยจะจัดซื้อเรือดำน้ำ เนื่องเพราะขณะนี้กำลังวิกฤตครั้งใหญ่อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ  “โควิด-19” ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเดือนร้อนและยากลำบากกับประชาชนในทุกหย่อมหญ้า

และลุกลามลามบานปลายเมื่อ  “ฝ่ายการเมือง” โดยเฉพาะ “พรรคฝ่ายค้าน”  รวมถึงการบรรดา “ม็อบ”  ที่ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญใหม่หยิบยกไปเป็นประเด็นในการโจมตีรัฐบาล ซึ่งก็ได้ผลเพราะกระแสค้านแผ่กระจายไปในวงกว้าง

ขณะที่  “พรรคร่วมรัฐบาล”  อย่าง “ประชาธิปัตย์”  ที่มักจ “ทำหล่อ”  สร้างภาพดีให้กับตัวเองก็ไม่เว้นที่จะกระโดดมาเล่นเกมกับเขาด้วย โดยมีมติคัดค้านการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 และประกาศโหวตสวนในการลงมติของ “กรรมาธิการงบประมาณ”
นายชัยชนะ เดชเดโช รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จากสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีมติขอให้รัฐบาลชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ออกไปก่อน เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และภัยการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงควรนำงบประมาณส่วนนี้มาช่วยเหลือประชาชนเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ และเบื้องต้นได้แจ้งมติพรรคประชาธิปัตย์ไปยังผู้ประสานงานของพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว


 เรียกว่า เป็นท่าทีที่สมกับเป็นพรรคประชาธิปัตย์จริงๆ 

ขณะที่  “กองทัพเรือ”  เองหลังจากที่ออกมาแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดโครงการและความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ พร้อมสวนกลับพรรคเพื่อไทยโดยยืนยันในเรื่องความถูกต้องในการดำเนินงาน ทั้งเรื่องการมอบอำนาจในการเซ็นสัญญาและเรื่องจีทีจูที่ถูกต้อง มิใช่  “เก๊” เหมือนเรื่องการรับจำนำข้าวในยุค  “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ประกาศยุติการตอบโต้และให้ข้อมูลในทุกเรื่องๆ
ดังนั้น คำถามสำคัญในเวลานี้ จึงไม่ใช่เรื่องซื้อหรือไม่ซื้อ หากแต่เป็นเรื่อง  “ความเหมาะสม”  กับสถานการณ์ และหยุดอยู่ตรงประเด็นที่ว่า รัฐบาลไทยจะสามารถ  “ยกเลิก ชะลอการจัดซื้อ หรือชะลอการจ่ายเงินได้หรือไม่”  และคำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะมีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์และการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคที่กำลังคุกรุ่น โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ย้อนกลับมาที่กองทัพเรืออีกครั้ง ในการแถลงข่าวที่ผ่านมานั้นต้องบอกว่า เป้าหมายสำคัญอยู่ที่ “พรรคเพื่อไทย  โดยเฉพาะ “เสี่ยโจ้-นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ที่ผู้แทนกองทัพเรือจวกแรงๆ ว่า เอาเรือดำน้ำไปเล่นการเมือง เห็นแก่ตัว และเป็นวิธีทางการเมืองที่สกปรก 
 
“เราพบว่า มีการหวังผลทางการเมือง เพื่อให้กระทบต่อรัฐบาล” พลเรือเอก สิทธิพร มาศเกษม เสธ.ทร.กล่าวพร้อมยืนยันว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ ในปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาประเด็นเรือดำน้ำจะถูกโยงเป็นเรื่องทางการเมือง ทำให้กองทัพเรือถูกเข้าใจผิด ถูกใส่ร้าย 
 
ด้าน พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และโฆษกกองทัพเรือ ซัด ส.ส.โจ้ว่า “การบอกว่าสัญญาเก๊ ก็เป็นการให้ข่าวที่เห็นแก่เรื่องทางการเมืองเป็นหลัก เอาประโยชน์ทางการเมืองเมือง อย่างเห็นแก่ตัวที่สุด ... เราจะยอมให้นักการเมือง เอาเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ให้ประชาชนเกลียดชังกองทัพเรือ ขอร้องนักการเมือง ว่า อย่าเอามาเป็นเรื่องการเมือง ถ้าหมดมุข แล้ว ไม่รู้จะเอาอะไรสู้กับรัฐบาล สู้รัฐบาลไม่ได้ ขอให้หามุขอื่นเถอะ อย่าเอามุขเรือดำน้ำมาใช้อย่ามาสร้างความเกลียดชังกองทัพเรือเลย อย่าเอาวิธีการทางการเมืองที่สกปรก วิธีทางการเมืองที่เก่าๆ”

ขณะเดียวกันกองทัพเรือก็พยายามอธิบายให้เห็นว่า การจัดซื้อใช้วงเงินของกองทัพเรือเอง โดยมิได้จ่ายทีเดียวสองหมื่นล้าน หากแต่ทยอยจ่ายปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท และถ้าหากงบประมาณไม่ผ่านสภาก็จะถูกยึดไปเลย ไม่สามารถโอนย้ายไปทำอย่างอื่นได้
 ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำนี้จะใช้งบประมาณผูกพัน7 ปี 2563 – 2569 โดยในปี 2563 ใช้งบผูกพัน 3,375 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 2,640 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 2,500 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 3,060 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน3,500 ล้านบาท ปี 2569 จำนวน 3,500 ล้านบาทและปี 2570 จำนวน 3,375 ล้านบาท 

สำหรับเรื่องการยกเลิกการจัดซื้อนั้น ถ้าหากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือยืนยันได้ว่า สามารถทำได้ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ การจัดซื้อเครื่องบิน F-18 จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำนวน 12 ลำ แต่ ณ เวลานั้น ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง รัฐบาลนายชวน หลีกภัย จึงเจรจาขอยกเลือกสัญญาซื้อเพื่อจะได้มีเงินมาฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติ และได้รับความยินยอมจาก “ประธานาธิบดีบิล คลินตัน” โดยระบุว่า  “ไทยเป็นประเทศเดียวที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือในลักษณะนี้ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยให้ความช่วยเหลือการยกเลิกสัญญาในลักษณะนี้กับประเทศใดมาก่อน จึงขอให้เป็นประเทศแรกและประเทศสุดท้าย” พร้อมทั้งคืนเงินมัดจำจำนวน 70 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย

 “ต้องไปศึกษาข้อมูลแต่ละเรื่อง เพราะสมัยนั้นเป็นข้อมูลที่ต่างกัน ซึ่งกรณีนั้นได้ขอให้ทางสหรัฐอเมริกาซื้อแทนเรา และสหรัฐฯขอให้เราเป็นประเทศแรกและประเทศสุดท้ายที่ทำเช่นนี้ เพราะสมัยนั้นไทยไม่มีเงินจ่าย ค่าเงินเปลี่ยน สมัยนั้นทำสัญญาเอาไว้ และได้ทำสัญญาผูกมัดเอาไว้พอสมควร ซึ่งต่างกับเหตุการณ์ปัจจุบัน คนละอย่างคนละแบบ สมัยนั้นสหรัฐฯ ยอมยกเลิกสัญญาและไม่คิดค่าปรับ เพราะมีเจตนาจะช่วย รวมทั้งวันสุดท้ายผมได้ขอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นขอคืนมัดจำประมาณ 3,000 ล้านบาท จากราคานับหมื่นล้านบาท ไม่มีเงินจ่ายก็บอกไปตรงๆ ว่าเราไม่มีเงินจ่าย ตอนนั้นเขาช่วยเหลือเราที่เจอปัญหาแบบนี้”นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอธิบายเมื่อถูกถามถึงกรณีดังกล่าว 

ประเด็นก็คือ ถ้ามีการยกเลิกการจัดซื้อลำที่ 2 และลำที่ 3 แล้วเรือดำน้ำลำที่ 1 จะทำอย่างไร จะสามารถยกเลิกการจัดซื้อได้หรือไม่ เพราะจากการที่กองทัพเรือนำข้อมูลมาแสดง การดำเนินการของฝ่ายจีนก็มีความคืบหน้าไปพอสมควร นั่นหมายความว่า กองทัพเรือไทยจะมีเรือดำน้ำเพียงแค่ 1 ลำ ซึ่งก็เกิดคำถามว่า การมีแค่ 1 ลำไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและไม่มีประสิทธิภาพการใช้การที่เพียงพอ หรือไม่ อย่างไร

ดังนั้น ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้แบบไม่โลกสวยก็คือ ไม่ยกเลิกการจัดซื้อ แต่  “เลื่อนการจัดซื้อ”  โดย  “ชะลอการจ่ายเงิน”  ออกไปก่อน รอให้สภาพการเงินการคลังของประเทศพลิกฟื้นกลับมาเสียก่อนถึงค่อยดำเนินการจัดซื้อ ซึ่งก็จะเกิดคำถามอีกเช่นกันว่า แล้วจะสอดรับกับการใช้งานหรือไม่ อย่างไร
โดยข้อเท็จจริงจากการที่กองทัพเรือนำข้อมูลมาเสนอก็คือ มีหลายประเทศในอาเซียนที่ ณ เวลานี้มีเรือดำน้ำเพียงแค่ลำเดียวหรือ 2 ลำ ยกตัวอย่างเช่น เมียนมาร์ที่มี 1 ลำ มาเลเซียที่มี 2 ลำ เพราะฉะนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่กองทัพเรือจะซื้อเพิ่มอีกแค่ 1 ลำ เป็นต้น 
 
ขณะเดียวกัน กองทัพเรือก็เหมือนจะยอมรับว่า ในการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐที่เคยตกลงกันไว้นั้น ถ้ายกเลิกอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของไทย ซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า  สามารถยกเลิกได้ 

เรื่องจึงมาหยุดอยู่ตรงที่ว่า แล้วรัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะเอาอย่างไร จะ “อุ้มเรือดำน้ำ” ให้เดินหน้าต่อไป หรือจะมีมติไม่ผ่าน ซึ่งก็คือยุติการจัดซื้อเรือดำนำลำที่ 2-3 หรือจะมีมติให้ผ่าน แต่ให้ชะลอการจ่ายเงินออกไปก่อน 
 
และคำถามก็วนลูปกลับมาที่เดิมว่า ผู้คนลำบากกับเศรษฐกิจ ทำไมต้องเอาเงินไปลงกับเรือดำน้ำ? เพราะรัฐบาลเองก็ยอมรับว่า เงินไม่มีพอ และกู้เงินเพิ่ม 2.14 แสนล้านบาทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ทำไมถึงต้องเอาเงิน 22,500 ล้านบาท ไปลงกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดนั้น 
 
หรือหมายความว่า ด้วยสภาพการณ์ของประเทศและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ถ้าจะเว้นวรรคการจัดซื้อไปก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยหยิบยกมาพิจารณาก็ไม่น่าจะปัญหาอะไร 
 
ที่สำคัญคือ จีนก็ไม่มีเงื่อนไขใดบังคับให้ไทยต้องซื้อเรือดำน้ำลำที่สอง และสาม ภายในปีนี้ 

ทั้งนี้ คำตอบว่าจะ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” จะอยู่ที่ “กรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ชุดใหญ่” จำนวน 72 คน ที่โหวตตัดสินในวันพุธที่ 26 สิงหาคม โดย หากได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง กระบวนการซื้อเรือดำน้ำก็จะเดินหน้าต่อ แต่ถ้ามีเสียงคัดค้านเกินกึ่งหนึ่ง กระบวนการซื้อก็จะถูกระงับไป 

โดยในกรรมาธิการชุดใหญ่ ทั้งหมด 72 คน เป็นคนจากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 48 คน และเป็นคนจากฝั่งฝ่ายค้าน 24 คนเท่านั้น 
 
และขณะนี้ก็มีความชัดเจนแล้วว่ามีกำหนดการพิจารณาในวันที่ 31 สิงหาคม 
 
อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจท่าทีจาก  Deep State  ตัวจริง ซึ่งก็คือ “ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”  รองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นชอบกับการจัดซื้อเรือดำน้ำเมื่อครั้งที่นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็พอจะเห็น  “แนวโน้ม” ว่า ทางออกจะดำเนินไปอย่างไร

 “มันเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ และถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง .... ชะลอเรื่องการจ่ายเงินอย่างเดียว เพราะเรื่องยุทธศาสตร์กองทัพเรือเขาเตรียมการมานานแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็มี กันทั้งนั้น”  
 
เฉกเช่นเดียวกับ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เปิดเผยออกมาชัดเจนว่า  “ในความรู้สึกส่วนตัว ผมคิดว่าอะไรก็ตามที่จะต้องสร้างความมั่นคงปลอดภัยของพวกเรา ตรงนี้ไม่ใช่เพื่อใครทั้งสิ้น แต่เพื่อประเทศไทยและคนไทย ทรัพยากรของชาติ ของแผ่นดิน จะทำอย่างไรและโลกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ความขัดแย้งอะไรต่างๆ มีเยอะหรือไม่ ไม่ได้มีไว้ไปรบหรือสู้กับใคร แต่เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ คงเข้าใจกันว่ามันเป็นอย่างไร” 

จบข่าวแต่เพียงเท่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น