ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กระแสม็อบ#เยาวชนปลดแอกซึ่งยกระดับขึ้นสู่ม็อบการเมืองเต็มรูปแบบเพิ่มอุณหภูมิร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ กำลังถูกลากเข้าสู่เกมการเมืองระหว่างประเทศและกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ด้วยต้องไม่ลืมว่าบทเรียนการประท้วงที่ฮ่องกง ซึ่งมีหัวหอกสำคัญอย่าง โจซัว หว่อง และ จิมมี่ ไล นั้นก็เป็นที่รู้กันดีว่าสหรัฐอเมริกา ให้การหนุนหลังม็อบฮ่องกงประท้วงรัฐบาลจีน และที่สุดแล้วฮ่องกงเองมีราคาที่ต้องจ่ายเมื่อความเชื่อมั่นนักลงทุนถดถอย เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูกลายเป็นอดีตที่ยากหวนกลับในเวลาอันใกล้
สลับฉากมาที่ม็อบ#เยาวชนปลดแอก ที่เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นม็อบประชาชนปลดแอกที่ประเทศไทย ซึ่งผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนสมาทานความคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านทาง เพจ สสจ.- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และอีกหนึ่งคือ เพจ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งก่อตั้งโดย นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต
การที่เฟซบุ๊ก ปล่อยให้มีการใช้แพลตฟอร์มแพร่กระจายแนวคิด ปั่นป่วน จาบจ้วงสถาบันฯ จึงมีคำถามว่าใช่เป็นวาระซ่อนเร้นของเฟซบุ๊กที่มีนัยแฝงไปด้วยการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ ใช้แทรกแซงประเทศไทย และกำลังทำตัวอยู่เหนืออธิปไตยของไทยอยู่เบื้องหลังหรือไม่?
ใช่เป็นการดัดหลังที่รัฐบาลไทยอี๋อ๋อกับจีน ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นแล้วขุ่นในอารมณ์ในช่วงเวลาที่ทรัมป์ กำลังหาเรื่องกับจีน อย่างที่กำลังไล่บี้แพลตฟอร์ม Tik Tok หรือไม่? เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้กับผู้นำอย่างทรัมป์ที่ไม่มีความคงเส้นคงวาและมุ่งแต่ความต้องการของตนเองเป็นใหญ่
ศึกการขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีหลายหลายรูปแบบ และต่างช่วงชิงแนวร่วมเพื่อเข่นอีกฝ่าย ทั้งสงครามการค้า อาวุธยุทโธปกรณ์ สงครามเทคโนโลยี ที่จีนหายใจรดต้นคอพญาอินทรี อย่างกรณีหัวเหว่ย หรือ Tik Tok เป็นตัวอย่าง
หากมองเบื้องหลังโมเดลม็อบฮ่องกงมาถึงไทย จึงต้องมองให้ลึกสลับซับซ้อนหลายชั้น ก่อนที่ความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย เศรษฐกิจของประเทศไทยจะพังพินาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องลอกคราบ “เฟซบุ๊ก” ออกมาให้เห็นกันทีละขดเพื่อให้เห็นกันอย่างจะแจ้งว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังและเต็มไปด้วยผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
เฟซบุ๊กอ้าง “เสรีภาพ” แต่คุกคามอธิปไตยไทย
ท่าทีแข็งกร้าวของ Facebook –เฟซบุ๊ก ของ “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” แพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกัน ที่มีผู้ใช้ในไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งตั้งท่าเตรียมจะฟ้องรัฐบาลไทย ก่อนจะปรับท่าทีโอนอ่อนหาทางลง หลังจากที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส ) ส่งคำสั่งศาลขอให้เฟซบุ๊กสำนักงานใหญ่ บล็อกเพจหรือบัญชีผู้ใช้ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายไทย หรือพาดพิงสถาบันฯ เช่น “กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ต เพลส” กลายเป็นกระแสร้อนแรงในระดับโลกไปแล้ว
อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดีอีเอสขอความร่วมมือไปที่เฟซบุ๊ก และแพลตฟอร์มข้ามชาติอื่นๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและกระทบความมั่นคง ตามที่ รมว.ดีอีเอส แถลงยืนยันว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่ถูกต้องทุกประการ
รมว.ดีอีเอส ยังว่า เมื่อกระทรวงดีอีเอส แจ้งให้ลบพร้อมแนบคำสั่งศาลทุกแพลตฟอร์มให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งยูทูบ ติ๊กต็อก หรือแม้กระทั่งเฟซบุ๊กเอง ที่กระทรวงดีอีเอสแจ้งให้ปิดตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2563 จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล ตามคำสั่งศาล 33 คำสั่งของช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 ให้ปิดภายใน 15 วัน โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 เฟซบุ๊ก ได้ดำเนินการปิดกั้นครบแล้วในเวลาประมาณเกือบ 23.00 น. ของวันดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการฟ้องร้องจากเฟซบุ๊ก
งานนี้ ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงดีอีเอสมิได้กระทำตามอำเภอใจ หากแต่กระทำภายใต้คำสั่งของ “ศาล” ด้วยมีความชัดเจนว่า กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ต เพลส ที่ก่อตั้งโดยนายปวินกระทำผิดกฎหมายไทย ดังที่ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Nantiwat Samart” ว่า “มันคืออำนาจอธิปไตยทางศาลของกฎหมายไทย ตราบใดที่เฟซบุ๊กจัดตั้งสำนักงานในไทยเพื่อทำธุรกิจ ต้องเคารพกฎหมายไทย หากไม่เคารพกฎหมายไทยต้องยกเลิกการทำธุรกิจในประเทศไทย ไม่เคยเห็นแอมเนสตี้และองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ออกมาต่อต้านเหตุการณ์รุนแรงที่ผู้นำมหาอำนาจหรือตำรวจในประเทศตะวันตกกระทำต่อพลเมืองของประเทศตัวเองจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย สงสัยศรีษะหายไปไหน”
อย่างไรก็ตาม แม้เฟซบุ๊กจะยอมบล็อกกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ในคืนวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ก็มีแถลงการณ์ออกลวดลายอย่างไว้เชิงว่า “การดำเนินงานของ Facebook ต้องการปกป้องและรักษาสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต การแทรกแซงนี้บั่นทอนการลงทุนในไทย และการดำเนินงานของสำนักงานในไทยด้วย
“หลังจากที่ Facebook ได้พิจารณาอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนแล้ว เราตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยระบุว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินงานของ Facebook มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน
“และขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้ การแทรกแซงที่เกินขอบเขตของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของ Facebook ในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการดำเนินงานของสำนักงานในประเทศไทย การคุ้มครองดูแลพนักงานของบริษัทฯ และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม Facebook”
ขณะที่นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงกรณีเฟซบุ๊กแถลงการณ์จะฟ้องรัฐบาลไทยประเด็นบังคับให้เฟซบุ๊กปิดกั้นเพจไม่เหมาะสมตามคำสั่งศาลเพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลว่า ทางกระทรวงดีอีเอสยังไม่ได้รับจดหมายอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่ทราบกระบวนการทางกฎหมาย ทีมกฎหมายกำลังศึกษาเรื่องดังกล่าวด้วยว่าต้องขึ้นศาลที่ประเทศไทยหรือต่างประเทศ แต่ขอยืนยันว่า ไม่เคยรังแกใคร เป็นการดำเนินการกฎหมายที่ถูกต้องทุกประการ เป็นการปกป้องอธิปไตยไซเบอร์ที่มาเร็วและน่ากลัว โดยหลังจากนี้จะดำเนินการตามกฎหมายของไทย
“หากมีกรณีเช่นนี้อีกก็จะฟ้อง อะไรที่ผิดกฎหมายเราก็ไม่เคยเพิกเฉยและนี่เป็นครั้งแรกที่เราดำเนินการไปถึงเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลไทย เราส่งคำสั่งศาลไปให้ลบเนื้อหาต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องภายใน 15 วัน หากเขาไม่ดำเนินการเราก็ดำเนินการกับแพลตฟอร์ม ถือเป็นการกดดันและทำตามกฎหมาย แต่หากเขาลบให้เราก็ไม่ดำเนินคดีไม่ว่าเป็นคนไทยหรือคนต่างประเทศเมื่อมาดำเนินธุรกิจต่างๆในประเทศไทยก็ต้องเคารพในกฎหมายไทยด้วย และที่เราทำก็ทำภายใต้กฎหมายไม่ได้รังแกใครเลยเพราะเป็นคำสั่งศาลทั้งสิ้น หากต่อไปมีอะไรผมก็ดำเนินการตามคำสั่งศาลกับทุกแพลตฟอร์มไม่ใช่แต่เฉพาะเฟซบุ๊ก ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เขาก็ลบให้ นี่ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เราเรียกว่าอธิปไตยของไทย ซึ่งเป็นมิติใหม่ในระบบไซเบอร์ที่จะปกป้องคุ้มครองคนไทยภายใต้กฎหมายไทยอธิปไตยไทยที่เราจะต้องทำ และเชื่อว่าหากเราไม่ทำ ไม่บังคับใช้กฎหมายในอนาคตจะยิ่งหนักกว่านี้”
ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์เชื่อมั่นและไม่กังวลว่าเรื่องนี้จะทำให้กระทบความเชื่อมั่นการลงทุนของต่างชาติ เป็นคนละเรื่องกัน เพราะไม่ได้เกิดกับประเทศไทยประเทศเดียว ในสหรัฐอเมริกาก็ฟ้องกันเอง แม้แต่ตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยังฟ้องร้องเครือข่ายมีการบล็อก มีการปิด และมีผู้นำบางประเทศถูกสั่งปิดทวิตเตอร์เพราะใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จออกมา เขาดำเนินการตามกฎหมายของเขา ไทยก็เช่นเดียวกัน เพราะไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็สวนกลับเฟซบุ๊กเช่นเดียวกันว่า ทุกคนต้องเคารพกฎหมายของแต่ละประเทศ “ผมเองไม่เคยไปก้าวล่วงต่างประเทศเพราะเป็นกฎหมายของเขา กฎหมายของใครก็คือของใคร เพราะฉะนั้น ใครจะทำอะไรก็แล้วแต่ก็ขอให้ระมัดระวังด้วยในเรื่องเหล่านี้
“ผมอยากจะบอกและจำเป็นต้องเอ่ยชื่อไม่ว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ทั้งหมดก็มาจากเพจกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า royalist marketplace ซึ่งก็รู้ว่าใครเป็นผู้ขับเคลื่อนเพจดังกล่าว คนเหล่านี้ทุกคนก็รู้อยู่ว่าเป็นอย่างไร แล้ววันนี้อยู่ที่ไหน แล้วเขารับผิดชอบความเสียหายกับประเทศชาติของเราหรือเปล่า นี่คือสิ่งสำคัญคนไทยที่เหลือต้องเข้าใจตรงนี้เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เขาทั้งสองคนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น แต่คนที่เดือดร้อนที่สุดคือประเทศไทย และการที่เรามีการดำเนินการในเรื่องของเพจต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องการดำเนินการตามกฎหมายไทยทั้งสิ้น แล้วก็ไม่เคยไปใช้อำนาจที่เรียกว่าเผด็จการ ซึ่งผมไม่ได้มีแล้ว ไปปิดมันไม่ใช่ เป็นการขอคำสั่งศาลในทุกตัว เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าในทางกฎหมาย เราสามารถที่จะยืนยันได้ตรงนี้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายไทย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เรื่องนี้นับเป็นกรณีล่าสุดที่เฟซบุ๊กต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเมื่อเร็วๆ นี้เฟซบุ๊กก็เพิ่งถูกรัฐสภาอินเดียเพ่งเล็ง หลังจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่านักการเมืองจากพรรครัฐบาลอินเดียคนหนึ่งยังคงใช้บัญชีเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความได้ตามปกติ ทั้งที่ละเมิดกฎห้ามเผยแพร่ข้อความส่งเสริมความเกลียดชัง (hate speech)
ไม่ว่าสุดท้ายเฟซบุ๊กจะสู้กับคำสั่งศาลหรือยินยอมปฏิบัติตาม ก็เชื่อว่า บรรดาคนกลุ่มนี้ก็ต้องสร้างเพจใหม่เพื่อโจมตีสถาบัน รัฐก็คงต้องตามปิดกันต่อไป หากเฟซบุ๊ก หรือทวีตเตอร์ หรือองค์กรสื่อโซเชียลอื่นๆ จะเลิกทำธุรกิจในไทย คนไทยก็ไม่เดือดร้อน เรายังทางเลือกอื่นๆ ในการติดต่อกัน จำไว้ ไม่มีองค์กรเอ็นจีโอใดๆ จะมีอำนาจเหนือกฎหมายภายในของเจ้าของประเทศ" อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระบุ
เฟซบุ๊ก ตีสองหน้า ตัวแม่ “ปวิน” เปิดเพจใหม่
คล้อยหลังเฟซบุ๊กบล็อกเพจ “กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ต เพลส” ที่มีสมาชิกร่วมล้านคนเพียงชั่วค่ำคืน นายปวิน ได้เปิดเพจใหม่ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ดึงดูดผู้สนใจติดตามหลายแสนคนในเวลาอันรวดเร็ว และเชื่อกันว่า หากบล็อกกลุ่มที่เปิดใหม่นี้อีก กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะเปิดบัญชีใหม่ในเฟซบุ๊ก เป็น V3, V4 ...ไปเรื่อยๆ โดยเฟซบุ๊ก ยังคงย่อมปล่อยผ่าน ซึ่งสะท้อนว่าเรื่องนี้คงไม่ธรรมดา
แต่ทว่า รมว.ดีอีเอส ก็ย้ำชัดว่า ”รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส-ตลาดหลวง”ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาใหม่นั้น เป็นสิทธิ์ของแอดมินที่สามารถตั้งขึ้นได้ แต่หากกระทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการเหมือนเดิม ส่วนประชาชนทั่วไปหากโพสต์หรือแชร์ข้อมูลที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่หากเป็นเพียงสมาชิกในกลุ่มดังกล่าว ยังไม่ถือว่ามีความผิดแต่อย่างใด
คำถามมีว่า ทำไมเฟซบุ๊ก จึงยอมให้เครือข่ายเหล่านี้อหังการใช้เฟซบุ๊กเป็นสื่อของเครือข่ายป่วนสถาบันฯ !!? ตามมาตรฐาน “เฟซบุ๊ก” ที่ตรากฎไว้ ถ้าจริงใจ ยึดถือตามกฎ ไม่สนับสนุนและเข้มงวด โดยเคารพต่อกฎหมายไทย โอกาสของคนกลุ่มนี้ที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางสื่อสารก็จะน้อยลง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
พูดง่ายๆ “เฟซบุ๊ก” ก็กำลังให้ท้ายกลุ่มคนเหล่านี้ไปด้วย โดยอ้างสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกทางทางคิด เปิดพื้นที่ให้เข้ามาเปิดบัญชี เปิดเพจ โดยไม่ปิดกั้น แต่ไม่ได้คิดว่าสิทธิเสรีภาพนั้นๆ สร้างความเกลียดชัง สร้าง social bully สร้างความแตกแยกให้สังคม บ่อนทำลายประเทศไทย หรือหากมโนกันไปไกลถึงขั้นที่ว่า เฟซบุ๊กถูกมองสมคบคิดกับ “ขบวนการล้มเจ้า” ก็อาจเป็นได้ที่จะมีผู้คนบางส่วนในสังคมไทยขบคิดเช่นนี้ !!
หรืออาจไปไกลในระดับที่วิเคราะห์กันว่าวาระซ่อนเร้นของเฟซบุ๊กครั้งนี้ แฝงไปด้วยการเมืองระหว่างประเทศ “Deep State” ที่สหรัฐฯ ใช้แทรกแซงประเทศไทยอย่างที่ว่าคล้ายฮ่องกงโมเดล
และอาจมีรายการเชื่อมโยงมาถึงนักการเมืองไทยบางกลุ่ม อย่างคู่หู “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล” ของคณะก้าวหน้า ซึ่งมีแนวคิดคล้ายคลึงกันกับสองหัวหอกนำขบวนม็อบที่ฮ่องกง ทั้งสองคนที่ฮ่องกง ขณะที่ “ปิยบุตร” เองก็ยอมรับว่าหนุนหลังข้อเรียกร้องอ่อนไหว 10 ข้อ ของเยาวชน หรือพรรคก้าวไกล ที่พยายามเสนอแก้รัฐธรรมนูญ หมวด1-2 หมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์
อาการของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เปิดพื้นที่ให้ตัวแม่-ตัวพ่อเครือข่ายขบวนการล้มเจ้าครั้งนี้ จึงชวนให้มีคนในสังคมบางส่วนมองว่ามีเบื้องหลังน่าคิดจริงๆ
ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก กอบโกยผลประโยชน์จากธุรกิจไทย ทั้งรายได้จากค่าโฆษณา ค่าโปรโมตโพสต์ เอาเงินออกโดยไม่ต้องเสียภาษี มิหนำซ้ำเวลาที่มีวิกฤตโควิด พิษเศรษฐกิจทำให้คนไทยต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดียขายของ เป็นโอกาสของนักบุญคนบาปอย่างเฟซบุ๊กที่มักอ้างสิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นเป็นคัมภีร์ แต่กลับจำกัดสิทธิพ่อค้าแม่ค้า บล็อกการเข้าถึงของเพื่อน แม้แต่ในยามปกติ การรีวิวไลฟ์สดขายของ ก็โดนปิดกั้นการมองเห็น เพียงเพื่อต้อนให้พวกเขาจ่ายเงินค่าโปรโมต ค่าบูธโพส ขูดเลือดขูดเนื้อผู้ใช้บริการ
ต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยใช้งานโซเชียลมีเดีย เป็นอันดับ9 ของโลก โดยใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย 2.55 ชั่วโมง เป็นอันดับ14 ของโลก จากค่าเฉลี่ย 2.24 ชั่วโมง และคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในเฟซบุ๊ก เป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งในจำนวนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลกเมื่อปี 2562 มีอยู่ราวๆ 2,300 ล้านบัญชี มีประชาชนคนไทยใช้เฟซบุ๊กถึง 48 ล้านบัญชี ถือเป็นตลาดใหญ่ที่เติบโตพรวดๆ ในแต่ละปี โดยติดอันดับท็อปเท็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลก
กระทั่งเฟซบุ๊กบินตรงจากสหรัฐอเมริกามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ชื่อบริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 108 ล้านบาท โดยมี นายเดวิด วิลเลี่ยม คลิง, น.ส.ซูซาน เจนนิเฟอร์ ซิโมน เทย์เลอร์ และนายไมเคิล ลี จอห์นสัน เป็นคณะกรรมการ
แม้ว่ารายได้ของเฟซบุ๊กที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายได้รวมทั่วโลกที่เฟซบุ๊กทำได้กว่า 2 ล้านล้านบาท โดยผลประกอบการของเฟซบุ๊กในไทยที่รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และการเก็บสถิติจำนวนบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยของเว็บไซต์ Statista พบว่าในปี 2558 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 35 ล้านบัญชี มีรายได้ 7,133,944 บาท และรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปี 2559 มีรายได้สูงกว่าปี 2558 ถึง 482% จนปี 2562 มีรายได้ถึง 348,741,888 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 48.88 เท่าจากปี 2558
ในด้านของกำไร ปี 2558 ยังมีกำไรในหลักแสน อยู่ที่ 382,836 บาท พอถึงในปี 2562 มีกำไรพุ่งสูงถึง 15,350,505 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 40 เท่า รายได้ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของเฟซบุ๊กในไทย ที่ส่วนใหญ่มาจากโฆษณา เป็นไปตามการเติบโตของเฟซบุ๊กทั่วโลก ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กทั่วโลกมีรายได้รวม 70,697 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท จากปี 2558 มีรายได้ 17,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 537,840 ล้านบาท
สุภาษิตไทยมีว่า “กินบนเรือน ขี้บนหลังคา” งานนี้คนไทยต้องจดจำว่าเพื่อเม็ดเงินโฆษณาอันมหาศาล เฟซบุ๊กทำได้ทุกอย่าง และที่ร้ายกาจกว่านั้น คือวาระซ่อนเร้น Deep State ที่แฝงมาด้วย !! ใช่หรือไม่?
ขณะที่ในต่างประเทศก็เคยมีคดีฟ้องร้องระหว่างเฟซบุ๊กกับหน่วยงานด้านภาษีของฝรั่งเศส โดยสำนักงานสรรพากรของฝรั่งเศสกล่าวหาเฟซบุ๊กว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการโยกย้ายรายรับโฆษณาที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสไปยังสาขาอื่นในยุโรป จนกระทั่งในปี 2018 เฟซบุ๊กยอมเปลี่ยนวิธีบันทึกรายได้ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ให้เป็นรายได้ที่จะต้องเสียภาษีในฝรั่งเศสตามความเป็นจริง และนั่นก็ทำให้ปีนี้เฟซบุ๊กต้องจ่ายภาษีให้ฝรั่งเศสจำนวน 8.46 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 50%
เรียกว่า ถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เฟซบุ๊กของ “เสี่ยมาร์ค” ก็มุ่งหน้ากอบโกยผลประโยชน์โดยไม่คำนึงอะไรทั้งสิ้น
นี่ไม่รวมถึงแผนการใหญ่ก่อนหน้านี้ที่เฟซบุ๊กเขย่าโลกการเงินดิจิทัลสร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วทั้งโลก ด้วยการประกาศผลักดันสกุลเงินดิจิทัล Libra เป็นสกุลเงินใหม่ของโลก ซึ่งไม่อาจมองเป็นอื่นได้ว่า ต้องการคุมระบบการเงินการธนาคารของโลก ทว่า สุดท้ายก็หยุดชะงัก เพราะผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ราย ประกอบด้วย Visa, Mastercard, eBay, Stripe และ Mercado Pago พากันถอนตัวออกจากสมาคมลิบรารวดเดียวพร้อมๆ กัน
Tik Tok - Facebook ภาพสะท้อนความสับปลับมะกัน
วาระซ่อนเร้น Deep State ของสหรัฐฯ ที่ปั่นป่วนระบบการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลกผ่านสงครามเทค ฉายผ่านกรณี TikTok เทียบเคียงกับกรณี Facebook ขับเน้นให้เห็นถึงความสับปลับสองมาตรฐานของสหรัฐฯกันชัดๆ อีกครั้ง
นั่นคือ ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหา ไบต์แดนซ์ (ByteDance; 字节跳动) เจ้าของแพลตฟอร์มแชร์คลิปวิดีโอยอดนิยมอย่าง ติ๊กต็อก (TikTok) ที่มีคนใช้ทั่วโลกถึง 1,000 ล้านคน ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง จารกรรมข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันนับล้านคนให้หน่วยข่าวกรองจีน จึงต้องแบนแอพติ๊กต๊อก แต่ตอนหลังได้บีบให้ขายกิจการโดยต้องปิดดีลให้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ พร้อมสำทับว่ากระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ต้องได้ส่วนแบ่งจากการขายกิจการด้วยเนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้จัดการให้เกิดดีลนี้ขึ้น โดยมีไมโครซอฟท์ และโอราเคิล สนใจที่จะเข้าซื้อปฏิบัติการของ TikTok ในสหรัฐฯ
แต่ทว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กลับปล่อยให้แพลตฟอร์ม Facebook สัญชาติอเมริกัน ถูกใช้เป็นเครื่องมือของ “สศจ.-ปวิน” ป่วนสถาบันฯ ป่วนการเมือไทย ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ และสร้างความแตกแยกในสังคมไทย กลายเป็นสองมาตรฐานที่สหรัฐฯ ไม่ได้ละอายแม้แต่น้อย กระทั่งรัฐบาลไทย ต้องงัดกฎหมายขึ้นมาจัดการสยบปัญหา
กล่าวสำหรับกรณีของ TikTok ล่าสุด บริษัทแม่เตรียมตอบโต้กลับด้วยการยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ โดยสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของแอปดังกล่าว ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา
“ช่วงปีที่ผ่านมา เราแสวงหาการสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯ และจัดแจงวิธีแก้ไขข้อวิตกกังวลต่าง ๆ อย่างจริงใจ แต่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ กลับเมินเฉยข้อเท็จจริง ไม่ยึดมั่นกระบวนการทางกฎหมายที่จำเป็น และพยายามแทรกตัวเข้าวงเจรจาระหว่างธุรกิจเอกชน
“เพื่อรับรองว่าหลักนิติธรรมมิถูกละทิ้ง และเพื่อปฏิบัติต่อบริษัทและผู้ใช้งานอย่างยุติธรรม เราขอประกาศว่าเราจะยื่นฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของเรา” ไบต์แดนซ์ระบุ โดยในตอนท้ายแถลงการณ์ระบุด้วยว่า การฟ้องร้องดังกล่าวจะดำเนินการในวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา หรือ วันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563 ตามเวลาของกรุงปักกิ่ง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งผู้บริหารห้ามไม่ให้บุคคลหรือหน่วยงานใดในสหรัฐฯ ทำธุรกรรมกับ ‘ไบต์แดนซ์’ เจ้าของแอปฯ ติ๊กต็อก ซึ่งมียอดดาวโหลดในสหรัฐฯ มากกว่า 175 ล้านครั้ง โดยมีผลบังคับใช้ภายใน 45 วัน นอกจากนี้ ยังมีการออกคำสั่งผู้บริหารที่คล้ายคลึงกันสำหรับ ‘วีแชท’ (WeChat) ซึ่งเป็นแอปส่งข้อความและโซเชียลมีเดียของ ‘เทนเซนต์’ (Tencent) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนด้วย
มาตรการต่างๆของสหรัฐฯมีขึ้นก่อนหน้าศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งทางทรัมป์ ที่มีคะแนนนิยมตามหลังคู่แข่งอย่าง โจ ไบเดน ในผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนัก กำลังมุ่งเน้นอย่างเข้มข้นในยุทธศาสตร์หาเสียงต่อต้านจีนทั้งในด้านการค้า, การทหาร และเศรษฐกิจ
เพจ “บูรพาไม่แพ้” รายงานเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาว่าเจ้าพ่อเฟซบุ๊กอยู่เบื้องหลังการเล่นงาน TikTok ของทรัมป์ โดยเฟซบุ๊กเริ่มตระหนักว่าบริษัทเทคโนโลยีจากจีนเริ่มท้าทายอิทธิพลของตน โดยเฉพาะ #TikTok และ #WeChat แอพลิเคชันยอดนิยมจากแดนมังกรที่ขยายฐานผู้ใช้ไปทั่วโลก
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้พูดถึง TikTok ในงานเลี้ยงอาหารค่ำส่วนตัวกับผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งเดินสายให้ข้อมูลกับ สว.พรรครีพับลิกัน จนมีข้อร้องเรียนไปยังสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติว่า TikTok เข้ามาแทรกแซงอธิปไตยของสหรัฐอเมริกา แลได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ต่อมาประธานาธิบดีทรัมป์ ก็มีคำสั่งให้ TikTok ต้องขายกิจการให้กับบริษัทของสหรัฐอเมริกา
เควิน เมเยอร์ อดีตผู้บริหารของดิสนีย์ ที่ไปเป็นซีอีโอของ TikTok ตอบโต้ว่า เฟซบุ๊กเลียนแบบ TikTok โดยเปิดบริการที่เหมือนกันเปี๊ยบ และบอกด้วยว่า เฟซบุ๊กได้อ้างความรักชาติ เพื่อหวังกำจัด TikTok ออกจากตลาดในสหรัฐอเมริกา
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กพูดมาตลอดว่า เฟซบุ๊กเป็นเวทีเสรี หนุน #ประชาธิปไตย ทว่าแม้แต่ในสหรัฐฯ เองก็มีเสียงวิจารณ์ว่า เฟซบุ๊กปล่อยให้ความเห็นที่ก้าวร้าวจากฝ่ายของทรัมป์ เผยแพร่ได้อย่างเสรี แต่ข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามกลับถูกลดการเข้าถึง และเมื่อเผชิญกับคู่แข่ง เฟซบุ๊กก็กลับไม่ยอมแข่งขันอย่างเสรีเหมือนที่เคยพูดไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “มาร์ค ซัคเตอร์เบิร์กกับทรัมป์” มีนอกมีในกันอย่างไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ และ “ย้อนแย้ง” กับคำประกาศเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเฟซบุ๊ก
และทั้งหมดนั้นคือความร้ายกาจของเฟซบุ๊กที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม และผู้คนน่าจะเห็นชอบกับการเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ตามความจริงที่ปรากฏว่า FAKEBOOK