นอกจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อ 13 ส.ค. จะไฟเขียว ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ใช้งบประมาณ 2.2 หมื่นล้าน ทำแผนแม่บทอนุรักษ์พัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับใหม่ จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 บริเวณ คือ
1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน 2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และ 3.บริเวณฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มเป็น 4 บริเวณ
“โดยเพิ่มพื้นที่ส่วนขยายบริเวณที่ 4 คือ พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และยังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์”เป็น แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ จัดทำขึ้นตามข้อ 9 (1) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์ และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตพื้นที่ กรุงรัตนโกสินทร์และยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นกรอบแนวทาง การดำเนินงานให้แก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
โดยคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนา กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มี.ค.61 และเสนอให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้เป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.60
การประชุมในวันนั้น หลายหน่วยงานได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจ แม้ที่สุดแล้วจะไม่ขัดข้องกับแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับนี้
มีความเห็นของ "ธนาคารแห่งประเทศไทย" (ธปท.) แม้จะเห็นไม่ขัดข้องกับแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ในส่วนการขยายขอบเขตพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากจะทำให้ครอบคลุมแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกรุงรัตนโกสินทร์ ชั้นนอก รวมถึง "วังบางขุนพรหม" และ "วังเทวะเวสม์" ภายในพื้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในการนี้ การดำเนินการเพื่ออนุรักษ์แหล่งมรดกวัฒนธรรมดังกล่าว ควรให้ความสำคัญกับการออกแบบ และบริหารจัดการภูมิทัศน์ที่ดี เพื่อให้รักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ที่สำคัญจะตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ถึงตรงนี้ ความเห็นของ "แบงก์๋ชาติ" สรุปว่า ดังนั้น"จึงไม่ควรพัฒนาระบบการสัญจรริมแม่น้ำเจ้าพระยา" อาทิ ทางเดินหรือทางจักรยานริมฝั่งแม่น้ำ ที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์และการรักษาความปลอดภัยของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าว ตลอดจนสถานที่สำคัญและหน่วยงานราชการที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ล่าสุดข้อมูลของ กทม. และกระทรวงมหาดไทย "การก่อสร้างทางเดินทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา" จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความกว้าง 10 เมตร ทั้ง 2 ฝั่งที่เป็นหนึ่งใน "โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา" ระยะ 14 กม.แรก
พื้นที่ "ก่อสร้างในสัญญาช่วงที่ 1 (ฝั่งพระนคร) คือ จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน และ ช่วงที่ 3 (ฝั่งธนบุรี) ช่วงจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด งบทั้งหมด 8,200 ล้านบาท กำลังอยู่ในขั้นตอน รองบประมาณปี 2564
แม้ต้นปี จะมีข่าวว่า ศาลฯได้สั่ง “กทม.”ระงับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาชั่วคราว เหตุส่อเค้ามิชอบด้วยกฎหมาย ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ปรากฏว่า กทม.ได้มีการแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนฯให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2528)
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ ต้องตัดผ่านพื้นที่ผ่าน "ธนาคารแห่งประเทศไทย"แน่ ๆ
ขณะที่ "กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)" แม้จะเห็นด้วยกับ "แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์" ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่สำคัญ และการพัฒนาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การดำเนินงานควรให้ความสำคัญในหลายประการ อาทิ การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม
พม.ให้ความเห็นข้อสุดท้ายว่า การกำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความครอบคลุม กับแผนแม่บทฯ โดยเฉพาะ "กลุ่มคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ" ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว
ข้อมูลของ "มูลนิธิอิสรชน" เปิดเผยตัวเลขคนไร้ที่พึ่ง (กลุ่มเร่ร่อน) ปี 2562 พบว่า ในเขตพระนคร พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ มีคนกลุ่มนี้ ถึง 687 คน ขณะที่การจัดระเบียบเมืองส่งผลให้คนเร่ร่อนหายไปจากพื้นที่เดิม โดยกระจัดกระจายไปแหล่งอื่นๆ แทน
ขณะที่ปีที่แล้ว สภากทม.ลงไปดู คนกลุ่มนี้พื้นที่เขตพระนคร เช่นกัน พบคนไร้ที่พึ่งเพียง 146 คน ก่อนจัดทำประวัติส่งไปยังบ้านมิตรไมตรี อีกหน่วยงานหนึ่ง "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า โดยที่การดำเนินการตามแผนผังแม่บทดังกล่าว กำหนดให้รื้อถอนอาคารของสำนักงานฯ และส่วนราชการบางแห่งด้วย
ซึ่งกรณีสำนักงานฯนั้น ได้กำหนดค่ารื้อถอน 3 ล้านบาท และก่อสร้างอาคารใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสมในวงเงิน 140 ล้านบาท “ในพื้นที่ที่เหมาะสม”เองนั้น "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" เห็นว่า เป็นข้อเสนอที่ "ขาดความรอบคอบและสร้างภาระ" ให้แก่สำนักงานฯ รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่ต้องถูกรื้อถอนในอันที่จะต้องจัดหาสถานที่ตั้งสำนักงานฯ แห่งใหม่เอง
ทั้งที่ ควรพิจารณาไปพร้อมกับด้วยว่าจะให้สำนักงานฯ และหน่วยงานอื่นที่ต้อง ถูกรื้อถอนย้ายไปตั้งอยู่ที่ใดเป็นการทดแทน เพื่อมิให้กระทบต่อความต่อเนื่องในการปฏิบัติภารกิจ ของทางราชการ
นอกจากนี้ การเสนอให้รื้อถอนอาคารของสำนักงานฯในครั้งนี้ เป็นการเสนอที่แตกต่างไปจากแผนการใช้ที่ดินของหน่วยงานของรัฐในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามมติครม. เมื่อวันที่ 12 ก.ค.31 ด้วย
ที่แน่ๆ เป็นเกาะรัตนโกสินทร์ ที่รื้อไปแล้ว ก็จะมี "สนามม้านางเลิ้ง สวนสัตว์ดุสิต กรมแผนที่ทหาร" ก็ย้ายและรื้อถอน ออกไปแล้ว
ในอนาคตกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่อยู่ในถนนราชดำเนินใน ถัดจากกระทรวงคมนาคม มีแผนย้ายที่ทำการกระทรวงเช่นกัน ทางกระทรวงได้จัดทำแผนการใช้พื้นที่เบื้องต้นเสนอกรมธนารักษ์ไปเรียบร้อยแล้ว ใช้พื้นที่รวม 30,000 ตร.ม. คาดว่าแผนทั้งหมดน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยจะใช้พื้นที่อาคารโซนซี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
เช่นเดียวกับ กระทรวงคมนาคม มีแผนจะย้ายจากถนนราชดำเนินไปอยู่ย่านพหลโยธิน บนถนนกำแพงเพชร ใกล้สถานีกลางบางซื่อ โดยเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 11 ไร่ ก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่สูง 30 ชั้น 1 อาคาร รองรับหน่วยงานที่เพิ่มขึ้น อาทิ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย, สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน และศูนย์ปลอดภัยคมนาคม
โดยขอผูกพันงบประมาณจากครม.แล้ว วงเงิน 3,710 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 จำนวน 741.61 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 1,484.22 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 148.22 ล้านบาท
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีสถานที่ใหม่มารองรับ คาดว่าจะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามกอล์ฟกรมชลประทาน กับพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีแผนจะย้าย ออกจากเกาะรัตนโกสินทร์เช่นกัน ก็เพิ่งได้เอกชน ที่ชนะประกวดราคาก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ วงเงิน 5,574,500,000 บาท
นอกจากการรื้อถอนหน่วยงานรัฐแล้ว เมื่อปีที่แล้ว กทม.และกระทรวงมหาดไทย ยังมีแนวทางความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กว่า 180 ครัวเรือน ได้แก่ ชุมชนราชผา 1 (ศาลเจ้าแม่ทับทิม) ชุมชนราชผา 2 (โรงไอติม)
หลังจากชาวบ้านเรียกร้องให้ภาครัฐกำหนดเวลาเวลารื้อถอนและการเยียวยาที่ชัดเจน โดยตั้งงบประมาณ "เยียวยา" ไว้ที่ 270 ล้านบาท ซึ่งครม. ก็มีมติเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ ไว้แล้ว
มติ ครม. 13 ส.ค. จึงถือเป็นการขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องจากปัจจุบันมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เช่น โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม และโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน รวมทั้งการท่องเที่ยวในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น
ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในชุมชนพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ รวม 9 ครั้ง และคณะกรรมการการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีมติเห็นชอบแล้วเป็นการเพิ่ม “พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก”ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,335.9 ไร่ ตั้งแต่แนวกึ่งกลางคลองรอบกรุง (คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง) แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหนือและทิศใต้ และแนวคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น คลองผดุงกรุงเกษม วัดบางขุนพรหม(ธนาคารแห่งประเทศไทย) และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ รายสาขา รวมวงเงิน 22,022.04 ล้านบาท ประกอบด้วย 8 สาขา 18 แผนงาน เช่น สาขามรดกวัฒนธรรม มี 2 แผนงาน คือ การคุ้มครองและบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งมรดก และการส่งเสริมฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม วงเงิน 4,182 ล้านบาท รับผิดชอบโดย กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ในส่วนของงบประมาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงานเอง
2.ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์รายพื้นที่ เป็นการนำยุทธศาสตร์ฯ รายสาขา มาบูรณาการใน 12 พื้นที่ โดยไม่ใช้งบประมาณเพิ่มเติม ประกอบด้วย 12 พื้นที่ เช่น บริเวณพระบรมมหาราชวัง (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน) บริเวณ ย่านบางลำพู บริเวณวัดดุสิตาราม-บางยี่ขัน เป็นต้น
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการการทำงานทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการหลัก
แผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนและจะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน สำนักวางแผนและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายด้านผังเมืองและการควบคุมอาคารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถนำสาระสำคัญของแผนแม่บทฯ ในส่วนที่จำเป็นไปบังคับใช้ต่อไป จึงไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบต่อประชาชน เพราะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านก่อน.