วันนี้ (10 ก.ค.) เวลา 10.00 น. นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณย่านคลองบางหลวง และโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่โดยรอบสะพานพระปกเกล้า รวมถึงโครงการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อนำเสนอให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาต่อไป โดยมี สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา สำนักพัฒนาสังคม สำนักการระบายน้ำ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักงานเขต กลุ่มประชาคมและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานปกครองและทะเบียน ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องด้วยประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมี พล.ต.ท โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะกรรมการ มีนโยบายให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณย่านคลองบางหลวง และโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่โดยรอบสะพานพระปกเกล้า รวมถึงโครงการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณานั้น จากมติที่ประชุมพบว่า กรุงเทพมหานครมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย ทั้งที่เป็นโครงการเดิมและโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าจากประชาชนในชุมชนต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล กรุงเทพมหานครได้พิจารณาโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านคลองบางหลวง โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านเดินเพลินกรุงรัตนโกสินทร์ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านคลองผดุงกรุงเกษม โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านหัวตะเข้ (วัดลานบุญ-ตลาดหัวตะเข้-วัดสุทธาโภชน์) และโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านวัดกระทุ่มเสือปลา-วัดมหาบุศย์ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนัก สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานถึงปัญหาของการท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวย่านต่างๆ รวมถึงนำเสนอถึงวิธีแก้ปัญหาเพื่อนำปัญหาทั้งหมดมารวบรวมวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การมอบหมายให้หน่วยงานคิดค้นโครงการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านต่างๆ ให้สะอาด ปลอดภัย และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยากมาท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวย่านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร
สำหรับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านคลองบางหลวง ระยะทาง 18 กม. เป็นโครงการที่มีจุดเด่นเป็นการท่องเที่ยวทางน้ำเชิงอนุรักษ์ ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำดำเนินการในการจัดระบบการระบายน้ำ การถ่ายเทน้ำเสียเพื่อรักษาสภาพน้ำให้มีความสะอาด พร้อมทั้งรักษาระดับน้ำในคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่) ให้พร้อมรองรับกิจกรรมทางน้ำ การสัญจรทางน้ำ และการท่องเที่ยวทางน้ำ ที่พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับการรองรับเรือนักท่องเที่ยวที่จะมาท่องเที่ยว ส่วนสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ให้ดำเนินการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำให้ครอบคลุมบริเวณย่านคลองบางหลวงในรูปแบบ One Day Pass โดยประสานกับผู้ประกอบการและประชาคมในพื้นที่ ด้านสำนักการโยธาให้ดำเนินการสำรวจเส้นทางเพื่อติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ในส่วนของสำนักการจราจรและขนส่งให้กำหนดเส้นทางเดินเรือสาธารณะครบวงจรเพื่อบริการขนส่งนักท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคมให้ดำเนินการประสานงานทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่คลองบางหลวง เพื่อร่วมกันจัดทำโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านคลองบางหลวงอย่างต่อเนื่องในรูปแบบประชาคม ส่วนสำนักงานเขตในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานเขตธนบุรี สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ สำนักงานเขตบางกอกน้อย สำนักงานเขตตลิ่งชัน และสำนักงานเขตภาษีเจริญ ให้ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือ ท่าน้ำ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้มีความสะอาด สะดวก ปลอดภัย รวมถึงการดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เขตของตน โดยสอดคล้องกับย่านคลองบางหลวงในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านคลองบางหลวงในภาพรวมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต้องมาเยี่ยมชมเมื่อมาเยือนกรุงเทพมหานครต่อไป
ในส่วนของโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (Chao Phraya Sky Park) ซึ่งเป็นสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่กำลังได้รับความสนใจค่อนข้างสูง และได้มีพิธีเปิดโครงการโดยนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น มีการตั้งเป้าหมายในการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวภายใต้หลักการสะอาด สะดวก และปลอดภัย เพื่อดึงดูดนักท่องท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวสวนลอยฟ้าดังกล่าวซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวย่านต่างๆ ในพื้นที่ 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานในพื้นที่ เขตคลองสาน เขตพระนคร เขตธนบุรี และเขตสัมพันธวงศ์ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักวางผังและพัฒนาเมืองดำเนินการจัดทำเส้นทางเดินทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสะดวกและสามารถเดินทางไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย และให้ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น อาคารไปรษณียาคาร รวมถึงประสานงานกับกรมเจ้าท่าในการพัฒนาท่าเรือที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านดังกล่าว ในส่วนของสำนักการจราจรและขนส่งให้ดำเนินการสร้างความปลอดภัยให้กับเส้นทางการท่องเที่ยวและเพิ่มเติมเส้นทางจักรยาน พร้อมจัดระบบการให้บริการยืมจักรยานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในบริเวณท่องเที่ยว ในส่วนของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ให้ดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านดังกล่าว ในรูปแบบ New Normal สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะบริเวณใกล้เคียงให้มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะบริเวณดังกล่าว จัดหาสถานที่จอดรถเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว พัฒนาเส้นทางที่สะดวกเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น คลองโอ่งอ่าง ย่านเยาวราช กุฎีจีน คลองถม สะพานหัน พาหุรัด ปากคลองตลาด เป็นต้น รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยด้านจราจรให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มความสะดวกของระบบสื่อสารรูปแบบดิจิทัลในระบบ 5G การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวด้วย QR CODE รวมถึงการให้บริการ WIFI ฟรี ในพื้นที่ท่องเที่ยวย่านสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม ในส่วนของโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านอื่นๆ ให้มุ่งเน้นเรื่องของการปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยวให้มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย และสวยงาม เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร และให้ประสานกับประชาคมในพื้นที่ร่วมมือกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ เช่น การพัฒนาจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การส่งเสริมพัฒนาการเกษตรชุมชน การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน รวมถึงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและการเดินทางในพื้นที่ย่านต่างๆ ให้สามารถเดินทางได้สะดวก ปลอดภัย โดยให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำเสนอสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลพิจารณานำเสนอเข้าคณะกรรมการระดับกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป