xs
xsm
sm
md
lg

คลองเปรมประชากร 150 ปี รับน้ำหลาก-ลดน้ำท่วม ถ.วิภาวดีฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คลองเปรมประชากร ความยาว 50.8 กิโลเมตร มีอายุครบ 150 ปีในปี 2563 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ รับสั่งให้ขุดเพื่อลดระยะเวลาการเดินทางทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา
คลองเปรมฯ ตัดตรงลงมาจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่าน อ.เมืองปทุมธานี และเข้าสู่กรุงเทพฯ เชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือบริเวณวัดเทวราชกุญชร เทเวศร์ กับแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้บริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา

รัชกาลที่ ๔ รับสั่งให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองชั้นที่ 3 ถัดจากคลองคูเมืองและคลองโอ่งอ่าง เพื่อขยายเขตพระนคร ในขณะคลองเปรมฯ ขุดเป็นคลองสายแรกในรัชกาลที่ ๕ ทั้งเพื่อการขนส่งสินค้าจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาลงมา และเปิดขยายพื้นที่นาสองฝั่งคลอง นับเป็นสายพระเนตรที่กว้างไกลมาก พระราชทานชื่อคลอง คล้องจองกับชื่อคลองที่พระราชบิดาทรงขุดไว้ เป็น “ผดุงกรุงเกษม-เปรมประชากร”

เท่ากับคลองผดุงฯ ที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาด้านบนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านคลองเปรมฯ

ยุคที่มีถนนแทนที่ คลองเปรมฯ ถูกบุกรุกก่อสร้างบ้านเรือนสองฝั่งคลอง รัฐบาล คสช.พยายามจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่ พร้อมกับปรับปรุงคลองเปรมฯ ให้ช่วยระบายน้ำพื้นที่โดยรอบในฤดูฝน และมีคุณภาพน้ำดีพอใช้หล่อเลี้ยงในฤดูแล้ง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.กอนช. ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการขุดลอกเปิดทางน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองเปรมฯ บริเวณ ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร (พ.ศ. 2562-2570) มีวัตถุประสงค์บริหารจัดการน้ำ ทั้งการระบายน้ำและการจัดการคุณภาพน้ำในพื้นที่คลองเปรมฯ และโครงข่ายเชื่อมต่อกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสีย รวมทั้งฟื้นฟูและพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำตามโครงข่ายต่างๆ

สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา มีคลองเปรมฯ ผ่าน ความยาว 8.8 กิโลเมตรนั้น ทางจังหวัดได้ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสองฝั่งคลอง ทั้งการรื้อถอนสิ่งปลูกล้ำลำน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำและขุดลอกตะกอนดินคลองบางกระสั้นที่เป็นสันดอนกีดขวางทางน้ำ ทำให้เชื่อมต่อและระบายน้ำเข้าคลองเปรมฯ ได้โดยสะดวก โดยมีเป้าหมายขุดลอกคลองกว้าง 40 เมตร ลึก 4 เมตร ความยาว 450 เมตร มีปริมาณดิน 70,000 ลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทันในวันที่ 30 เมษายนนี้

แผนงานโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รวม 6 โครงการ ได้แก่ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมฯ งานขุดลอกคลองเปรมฯ จากคลองเชียงรากน้อย-สถานีสูบน้ำบางปะอิน งานขุดลอกคลองเปรมฯ จากคลองรังสิตฯ-คลองเชียงรากน้อย งานติดตั้งตะแกรงพร้อมเครื่องคราดขยะ ปตร.เปรมใต้รังสิต งานก่อสร้างเขื่อน คสล.คลองเปรมฯ จากเทศบาลประชาสงเคราะห์ถึงสุดเขต กทม. และงานก่อสร้างเขื่อน คสล.คลองปรมฯ จากคลองบ้านใหม่-คลองรังสิตฯ

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ยังมีโครงการเพิ่มเติม คืองานพัฒนาคูริมน้ำวิภาวดี ระยะที่ 2 แก้ไขปัญหาการระบายน้ำถนนวิภาวดี โดยสูบน้ำจากคูริมน้ำฯ ออกสู่คลองเปรมฯ และแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จบางส่วน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมถนนวิภาวดีในฤดูฝน ส่งผลให้การจราจรติดขัดมาก

จากการพัฒนาคลองเปรมฯ อย่างต่อเนื่องพบว่าคุณภาพน้ำด้านเหนือดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ส่วนด้านล่างในเขต กทม.อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก เนื่องจากมีบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำจำนวนมาก ทิ้งน้ำเน่าเสียและสิ่งปฏิกูลลงคลอง ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กทม. ร่วมกับกรมชลประทานสูบน้ำดีจากคลองรังสิตฯ ที่สถานีสูบน้ำเปรมใต้มาช่วยเจือจางน้ำเสีย

“คลองเปรมฯ อาจไม่ใช่คลองระบายน้ำสายหลัก แต่ทำหน้าที่ระบายน้ำในพื้นที่โดยรอบในฤดูฝน และให้มีน้ำคุณภาพดีไหลหมุนเวียนในฤดูแล้งที่มักมีปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาปรับปรุงตามแผนแล้ว จะทำให้คลองเปรมฯ เป็นคลองที่มีศักยภาพในการช่วยระบายน้ำ และมีคุณภาพน้ำที่ดี มีความสวยงาม ดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสามารถนำมาใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้อีกด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น