xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ วอนหน่วยงานตรวจสอบรายการผีลวงโลก บิดเบือนประวัติศาสตร์ ผลประโยชน์ทางการเงิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบรายการผี "ช่อง ส่อง ผี" หลังมีการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนอยู่หลายครั้ง อีกทั้งการเปิดรับเงินบริจาคการเช่าวัตถุมงคล - บูรณะวัด มีผลประโยชน์ทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

จากกรณี เพจสายดาร์ก “แหม่มโพธิ์ดำ” โพสต์ข้อความแฉรายการ “ช่องส่องผี” โดยมีพิธีกรอย่าง อ.เรนนี่ ญาณเทพ อ้างว่ามีสัมผัสพิเศษ ปล่อยบูชาวัตถุราคาสูง และสามารถติดต่อสื่อสารกับสิ่งลี้ลับได้ ยังบิดเบือนประวัติศาสตร์ สร้างความเชื่อพิสดาร นอกจากนี้ เปิดรับบริจาคเงินโดยอ้างนำไปช่วยเหลือวัดในชื่อบัญชีของ บ๊วย เชษฐวุฒิ เป็นบัญชีส่วนตัวให้ผู้ที่มีความศรัทธาบริจาคเงิน อ้างว่าเพื่อนำไปบำรุงรักษาศาสนสถาน

ล่าสุด วันนี้ (3 ก.ค.) นายวรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม ได้โพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงรายการ "ช่อง ส่อง ผี" ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "วรา จันทร์มณี" โดยให้เหตุผลที่จำเป็นต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับรายการนี้ว่า

"เหตุที่เราต้องตั้งคำถามกับรายการช่องส่องผี เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณะ กล่าวคือ มีการนำเสนอข้อมูลแบบเลื่อนลอย บิดเบือนประวัติศาสตร์ เข้าไปดำเนินการในวัดหรือโบราณสถาน อันเกี่ยวข้องกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ส่งผลถึงศรัทธาความเชื่อ และผลประโยชน์ของประชาชน โดยผมมีข้อสังเกต 3 ประการ เกี่ยวกับรายการนี้ คือ

ประการที่ 1 มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์
การบอกว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม เป็นการพูดเพื่อหลบเลี่ยง วิจารณญาณนั้นต้องมีพื้นฐานคือปัญญา ความรู้ การอ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์นอกตำรา ค่อนข้างไม่ผิดชอบไปหน่อย ประวัติศาสตร์ต้องมีหลักฐาน เอกสาร ข้อมูล รองรับ เช่น มีอยู่ในศิลาจารึก บันทึก จดหมายเหตุ พงศาวดาร หรือตำนานมุขปาฐะ มิอย่างนั้นใครจะตู่มโนอะไรขึ้นมาเองก็ย่อมได้

ประการที่ 2 มีการกระทำย้อนแย้งกับหลักพุทธศาสนา
อ้างว่าชวนคนเข้าวัดทำบุญ สอนให้เกรงกลัวต่อบาป แต่กลับโกหก บิดเบือนประวัติศาสตร์, การสร้างเหรียญกอร์กอนอสุรกายในตำนานกรีก มีการปลุกเสกวัตถุมงคลในวัด แถมยังอ้างว่ามีบรรดาบูรพกษัตริย์ เช่น พระนเรศวร พระเจ้าตาก ท่านบุญมา วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9 มาร่วมพิธี เห็นเทพเจ้าต่างๆ พระศิวะ พระอุมา พระพรหม พระนารายณ์ พระวิษณุกรรม การอัญเชิญพระเกจิอาจารย์ หลวงพ่อทวด หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อเปิ่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฤาษีลิงดำ พระสังฆราชแพ รวมถึงหลวงปู่ฤาษีร้อยแปด แม้ผมเองก็เชื่อในพลังเหนือธรรมชาติ แต่พฤติกรรมเล่นใหญ่หลายครั้งหลายหนในรายการดังกล่าว ไม่สอดคล้อง จนชวนตั้งคำถามว่าเป็นการจัดฉากแสดงละครเพื่อหลอกลวงมอมเมาประชาชนหรือไม่ ชวนเข้าวัดเพื่อให้หลุดพ้นหรือหลงงมงายเข้าไปอีก

ประการที่ 3 มีการเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางการเงิน ในช่องทางต่างๆ คือ
3.1) การทำเหรียญกอร์กอน ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตระบุว่ามีราคาตั้งแต่ 299 บาท ถึง 12,999 บาท
3.2) มีการดูดวง จริงหรือไม่ว่าการดูดวงเคยเริ่มต้นที่ราคา 500 บาท จนปัจจุบันราคา 3,000 บาท และมีประชาชนจำนวนมากไม่ได้ดู และไม่ได้รับเงินคืน
3.3) จริงหรือไม่ว่ามีการสะเดาะห์เคราะห์ โดยคิดค่าครู 5,000 บาท ถ้าถอนของเกี่ยวกับวิญญาณเด็กด้วย ค่าครู 5,999 บาท
3.4) มีการเรี่ยไรเงิน

สรุปจากทั้ง 3 ประการข้างต้น รายการช่องส่องผี มีการดำเนินรายการที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ พูดถึงสิ่งเร้นลับที่พิสูจน์ไม่ได้ โน้มน้าวให้ประชาชนศรัทธาหลงเชื่อคล้อยตาม จนเป็นเหตุที่เราต้องตั้งคำถามว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวง มอมเมาประชาชน หรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ กล่าวคือ

1. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
หากมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การหลอกลวงมอมเมาประชาชน กสทช. ควรพิจารณาถอดออกจากรายการโทรทัศน์ทางช่อง 8

2. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
หากมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การหลอกลวงมอมเมาประชาชน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

3. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
หากมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การหลอกลวงมอมเมาประชาชน กรมการศาสนาควรพิจารณากำหนดมาตรการห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัด

4. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
หากมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่การหลอกลวงมอมเมาประชาชน กรมศิลปากรควรพิจารณาห้ามเข้าไปทำรายการในเขตโบราณสถาน

เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะแต่รายการช่องส่องผี หากในปัจจุบันมีรายการในโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก ที่ กสทช. กระทรวงดิจิทัลฯ กรมการศาสนา ควรสอดส่องดูแล และทำงานในเชิงรุก อย่าปล่อยปละละเลย เช้าชามเย็นชาม เป็นเสือนอนกิน แล้วปล่อยให้ประชาชนถูกหลอกมอมเมา ทั้งนี้ในส่วนของพี่น้องประชาชน แม้ว่าเรื่องของความเชื่อความศรัทธาจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล ห้ามกันไม่ได้ แต่เพื่อความรอบคอบ และด้วยความปรารถนาดี พี่น้องประชาชนเองก็ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อ หรือหลงไปร่วมกิจกรรมใดๆ เพื่อปกป้องประโยชน์ของตัวท่านเอง เพราะมีอยู่หลายครั้งหลายหนที่เราได้ยินข่าวว่าบุคคลต่างๆ ถูกหลอก เพราะด่วนเชื่อโดยไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ

อนึ่ง ขอยกตัวอย่างที่รายการช่องส่องผีบิดเบือนประวัติศาสตร์ 8 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 พระเจ้าตากทรงช้างไม่เป็น
ในตอนหนึ่งของรายการบอกว่า “...พระเจ้าตากท่านไม่ได้ทรงช้าง ท่านทรงช้างไม่เป็น ท่านทรงม้าอย่างเดียว...”
ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหมอบรัดเล บันทึกไว้ว่าชัดเจนว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก) ทรงประทับช้างหลายครั้ง เริ่มจากการเดินทัพไปทางภาคตะวันออก ถึงบ้านนาเกลือพบกับกองกำลังของนายกลม ซึ่งคอยสกัดอยู่ จึงขึ้นทรงช้างเข้าไปหานายกลม นายกลมและพวกเกรงกลัว ยอมอ่อนน้อมโดยดี
ต่อมา ในการรบกับเมืองจันทบุรี พระองค์ทรงประทับบนหลังช้างพังคีรีบัญชรขับเข้าชนทำลายประตูเมืองจันทบุรี
ในคราวยึดเมืองนครศรีธรรมราช ทัพหน้าของพระองค์สามารถขับไล่เจ้าเมืองนครออกจากเมืองได้แล้ว พระองค์จึงทรงช้างพลายเพชรเข้าเมือง
อีกคราว หลังจากขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่แล้ว ทรงช้างพลายคเชนทรเยียรยงเข้าไปตรวจความเรียบร้อยในเมือง
เป็นต้น

กรณีที่ 2 วัดกุฎีดาว
2.1) อ้างว่าวัดกุฎีดาว (ต.ไผ่ลิง จ.พระนครศรีอยุธยา) สร้างในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์
ไม่จริง เพราะวัดกุฎีดาวสร้างก่อนนานมาก โดยมีปรากฏในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระยาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างเมื่อจุลศักราช 671 หรือ พ.ศ.1852 ก่อนก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา (1893) หรืออย่างน้อยก็มีการบันทึกว่าวัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ใน พ.ศ. 2254 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ก่อนเจ้าฟ้าเอกทัศ (พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ประสูติด้วยซ้ำ (ประสูติ พ.ศ. 2275)
2.2) การกล่าวว่าเจดีย์วัดกุฎีดาวพังเพราะถูกพม่ายิงปืนใหญ่ใส่ ไม่จริง เพราะเจดีย์เพิ่งพังถล่มลงมาราว 100 ปีนี่เอง

กรณีที่ 3 ขุนแผนกับขุนวรวงศาธิราช
การพูดที่วิหารวัดป่าเลไลยก์ เชื่อมโยงว่าขุนแผนจากวรรณกรรมเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เป็นญาติกับคุณวรวงศาธิราช (ชื่อเดิมบุญศรี) บอกว่าเป็นคนสุพรรณเหมือนกัน ขุนแผนเป็นคนพาบุญศรีเข้าวัง จึงได้เจอกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ทั้งๆ ที่ขุนแผนเป็นแค่ตัวละครในวรรณคดี ส่วนขุนวรวงศาธิราช บางทฤษฎีเชื่อว่าเป็นบุตรหรือมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเจ้าเมืองศรีเทพ หรือสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง

กรณีที่ 4 พระปีย์
มีการทักผู้ร่วมรายการว่าในอดีตชาติเป็นพระปีย์ โอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ และพระปีย์เสียใจมากที่พระนารายณ์สิ้นพระชนม์ ทั้งที่ความจริงพระปีย์เสียชีวิตก่อนพระนารายณ์ โดยในขณะที่พระปีย์กำลังล้างหน้าอยู่ที่ริมหน้าต่างตอนเช้าก็ถูกขุนพิพิธรักษา คนของหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) ผลักตกหน้าต่าง ก่อนที่จะถูกพระเพทราชาจับไปสำเร็จโทษ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2231 แล้วทิ้งศพไว้ที่วัดซาก ส่วนพระนารายณ์ ซึ่งประชวรอยู่ เมื่อฟื้นคืนพระองค์ก็ได้ตรัสบริภาษสาปแช่งพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ นับแต่วันนั้นก็ทรงเศร้าซึม และเสด็จสวรรคตในวันที่ 11 กรกฎาคม 2231

กรณีที่ 5 สุนทรภู่
บอกว่าสุนทรภู่ตายที่เมืองแกลง จ.ระยอง ไม่จริง เพราะมีหลักฐานบันทึกว่าสุนทรภู่ตายที่กรุงเทพฯ ไม่ที่วัดสมอแครงหรือวัดเทวราชกุญชร ปากคลองผดุงกรุงเกษม, ก็ที่บ้านในสวนริมวัดเรไร เยื้องวัดป่าเชิงเลน (คนละฝั่งคลองชักพระ) เขตตลิ่งชัน หรือที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

กรณีที่ 6 นายจันทร์หนวดเขี้ยว
มีการทักผู้ร่วมรายการว่ามีอดีตชาติเป็นลูกชายนายจันทร์หนวดเขี้ยว มีกล้องจับเห็นนายจันทร์หนวดเขี้ยวมายืนลูบหัวอยู่ด้วย และยังอ้างว่านายจันทร์หนวดเขี้ยวสั่งให้ลูกชายไปหาพระเจ้าตากที่จันทบุรี ซึ่งเวลาไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือบางระจันแตกเมื่อกลางปี 2309 แต่พระเจ้าตากไปจันทบุรีในเดือนมิถุนายน 2310 เวลาห่างกันเป็นปี (หรือนายจันทร์หนวดเขี้ยวจะมีโดเรม่อนมาบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า?)

กรณีที่ 7 พระยาวิเศษฤาชัย (ช้าง) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา
การบอกว่าพระยาวิเศษฤาชัย (ช้าง) ถูกอั้งยี่แทงตาย ไม่จริง เพราะท่านแก่ตาย, บอกว่าเมียพระยาช้างชื่อนางหุ่น ทั้งที่จริงชื่อนางมี หนำซ้ำยังบอกว่าลูกหลานตายหมดไม่มีใครทำบุญให้ ทั้งที่ความจริงลูกหลานของพระยาช้างมีนับร้อยหลายสายกระจายอยู่ทั่ว จ.ฉะเชิงเทรา อาทิ ที่บางคล้า สนามชัยเขต พนมสารคาม และวัดเกาะจันทร์ ฯ

กรณีที่ 8 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร)
การไปพบดวงวิญญาณของพระองค์เจ้าไกรสร (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 กับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ต้นราชสกุลพึ่งบุญ และอนิรุทธเทวา) ที่ศาลารูปปั้นวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งพระองค์ทรงสร้าง และบอกว่าหม่อมไกรสรเคยมาปราบอั้งยี่ด้วย ซึ่งไม่จริง พระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนที่อั้งยี่จะมายึดเมือง โดยถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 ส่วนรูปปั้นท่านเพิ่งมีคนเอามาตั้งราว พ.ศ.2530-2532

สุดท้าย ในส่วนของการเรี่ยไรเงิน หากตรวจสอบรายการนี้ ก็ควรตรวจสอบทุกกรณีที่มีการเรี่ยไรเงิน ไม่ควรเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 ที่มีอายุถึง 76 ปีแล้ว อาจมีบางประเด็นล้าสมัยและต้องพิจารณาแก้ไข ยกตัวอย่าง การที่ประชาชนเรี่ยไรกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ หรือการปกป้องทรัพยากรที่มีคู่กรณีอยู่ในฝ่ายราชการหรืออยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เป็นต้น"




กำลังโหลดความคิดเห็น