xs
xsm
sm
md
lg

แฉรายการลวงโลก? “ช่องส่องผี” ขายของปลุกเสก-เรี่ยไรเงินบริจาค-ไร้ความโปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดรามาสนั่น! “แหม่มโพธิ์ดำ” ถล่ม “ช่องส่องผี” ปมบิดเบือนประวัติศาสตร์ หลอกขายเหรียญปลุกเสก แถมยังเรี่ยไรเงินบริจาคไม่โปร่งใส เหตุเงินเข้าบัญชีพิธีกร ด้านรายการผีสวนกลับ ใครพูดให้เสียหายจะฟ้องให้หมด ส่วนกูรูกฎหมายเผย “ถ้าแสดงความบริสุทธิ์ใจ ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ จะเข้าบัญชีใครมันก็ไม่ใช่ปัญหา”
“ควีน” ลั่น จะขุด “ช่องส่องผี” ถึงแกนโลก!


กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นดรามาสุดร้อนแรง ที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ ณ ตอนนี้ กับกรณีของ “ช่องส่องผี” รายการผีชื่อดัง ที่มี “บ๊วย-เชษฐวุฒิ วัชรคุณ”, “เรนนี่-สุระประภา คำขจร” และ “เจมส์-ศราวุฒิ วรพัทธ์ทีวีโชติ” เป็นพิธีกร

หลังจากที่เพจสายดาร์กอย่าง “แหม่มโพธิ์ดำ” ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่องจากรายการนี้ ทั้งการนำเสนอของรายการที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ แอบอ้างว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับสิ่งลี้ลับได้ ติดต่อกับบูรพกษัตริย์หลายพระองค์ สร้างความเชื่อพิสดาร หลอกขายเหรียญปลุกเสก การจัดพิธีบวงสรวงตามวัด หรือโบราณสถาน



สำหรับใจความที่เพจสายดาร์กได้ออกมาขุดรายการผีนั้น มีการแจกแจงเป็นข้อๆ ตามบรรทัดต่อจากนี้

อาจารย์เรนนี่ พิธีกรหญิง ผู้รู้ทุกอย่างเว้นเรื่องจริง แอบอ้างเคยประสบอุบัติเหตุ คอหัก แขนหัก ขาหัก ตายไปแล้วฟื้นมาได้ เลยเห็นผี สามารถติดต่อกับบูรพกษัตริย์หลากหลายพระองค์ บิดเบือนประวัติศาสตร์ สร้างความเชื่อพิสดาร จนประชาชนนำของประหลาดไปบูชาที่วัด หรือโบราณสถาน จนหลายแห่งเดือดร้อน หลอกขายเครื่องรางปลุกเสกบูชาผี



การให้คนบูชาเหรียญกอร์กอน หรือเมดูซ่า ในราคาที่สูงลิ่ว เมื่อมีคนหลงชื่นชมก็เปิดบัญชีรับบริจาค โดยอ้างมหาบุญ ระหว่างเรี่ยไร โดยแหม่มโพธิ์ดำตั้งคำถามว่า การเปิดรับบริจาคนั้น ขออนุญาตให้ถูกต้องไหม ทำไมไม่โอนเข้าวัดโดยตรง จะช่วย COVID-19 ทำไมไม่โอนเข้าโรงพยาบาลโดยตรง ทำไมต้องให้บ๊วย ซึ่งเป็นพิธีกรของรายการ เปิดบัญชีหลายบัญชี แล้วให้ประชาชนโอนหา แบบนี้เข้าข่ายฟอกเงินหรือไม่ เพราะไม่มีการนำหลักฐานเส้นทางการเงินมาเปิดเผย

โดยเพจสายดาร์กได้ทิ้งท้ายการแฉไว้สุดแซ่บว่า “ใครท้วงติง รายการมึงฟ้องหมด คนแบบมึงต้องเจอคนแบบกู กูจะขุดให้ถึงแกนโลกเลย”



นอกจากนี้ ยังมีเพจ “Anti สื่อรายการโทรทัศน์ที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติ” ออกมาสนับสนุนการแฉครั้งนี้ โดยระบุว่า ถึงเรื่องราวของการรับบริจาคเงินที่ถูกต้อง ข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมสรรพากร ให้มาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

สำหรับความเคลื่อนไหวจากฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ก็ได้ออกมาแถลงผ่านแฟนเพจ “ช่องส่องผี Fanpage” ในเวลาต่อมาว่า ยืนยันเจตนารมณ์ในการทำความดีและทำบุญ พร้อมกับพูดถึงการกล่าวอ้างด้านประวัติศาสตร์ต่างๆ ว่า เป็นการพูดไปตามที่ผีบอก

ยืนยันว่า สิ่งที่ทำ เป็นเรื่องที่อาจารย์เรนนี่เห็น กล้องเห็น ไม่มีการตัดต่อ ไม่มีสคริปต์ หากใครไม่เชื่อก็อยากจะให้มาพิสูจน์ และมีหลักฐานเรื่องเงินบริจาคครบถ้วน ถ้ายังไม่หยุดพูดความไม่จริงที่ทำให้เสียหาย ก็พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึง บ๊วย เชษฐวุฒิ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ ก็เปิดเผยว่า จะออกมาชี้แจงประเด็นดรามาต่างๆ ทีเดียวในวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคมนี้ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)


รับบริจาคง่ายๆ เพราะช่องโหว่ทางกฎหมาย!?!

เพื่อความชัดเจนของเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการเปิดรับเงินบริจาคที่สังคมตั้งคำถาม โดยก่อนหน้านี้ ฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชชื่อดัง ก็ถูกทวงถามไปแล้ว จากการเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ จนมาถึงรายการช่องส่องผีที่มารับไม้ต่อจากประเด็นเดียวกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงได้ขอความรู้ด้านข้อกฎหมายจาก เกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง โดยเขาให้ข้อมูลว่า พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร ยังเป็นกฎหมายเก่า ที่อาจยังไม่ครอบคลุมถึงการขออนุญาตเพื่อเรี่ยไรผ่านโลกโซเชียลฯ อย่างในปัจจุบัน



[ เกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง ]

“เรื่องของการเรี่ยไรมันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็คือ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร ซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้าจะมีการเรี่ยไรในสาธารณะ ส่วนราชการ ทางหลวง หรือใช้เครื่องกระจายเสียง วิทยุสื่อสารต่างๆ จะต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ท้องที่นั้น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แล้วแต่ท้องที่ที่เราไปเรี่ยไร

และการเรี่ยไรจะต้องมีหลักฐาน ถ้าหากมีการรับเงินบริจาค ต้องมีต้นขั้วใบเสร็จ และต้องแสดงบัญชีเปิดเผยอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่นั่นหมายถึงการเรี่ยไรตามกฎหมาย ปัจจุบันนี้ก็คือเรี่ยไรกันผ่านออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านอินสตาแกรม ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังเข้าไปไม่ถึงเรื่องนี้ มันเป็นช่องว่างว่าไม่ต้องขออนุญาตก็ได้

เมื่อไม่มีกฎหมายคอยควบคุม ก็เกิดปัญหาว่า ผู้ที่ขอเรี่ยไรนั่นเป็นผู้มีชื่อเสียง อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจของคน มันก็เกิดปัญหาว่า มันตรวจได้มั้ย มันโปร่งใสมั้ย อย่างกรณีคุณฌอนก็มีคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่เปิดบัญชีสเตทเมนท์ให้ดู หรือช่องส่องผีพฤติการณ์ในการเรี่ยไรหรือจำหน่ายวัตถุมงคล เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือเปล่า”

ส่วนประเด็นการบริจาคบัญชีส่วนตัวของคนกลาง แทนที่จะโอนเข้าหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ทนายเกิดผลให้เหตุผลว่า เป็นประเด็นรอง ส่วนสำคัญอยู่ที่เจตนาของคนกลางคนนั้นว่าต้องการช่วยจริงๆ หรือไม่


“การบริจาคแล้วเอาเงินเข้าบัญชีของใคร ผมมองว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก ยกตัวอย่าง พี่บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ก็เข้าบัญชีพี่บิณฑ์ แต่ใครต้องการตรวจสอบเขาก็ให้ตรวจสอบได้ กรณีช่องส่องผีก็เข้าบัญชีคุณบ๊วย คุณฌอนก็เข้าบัญชีคุณฌอน ถ้าทำให้คนอื่นคลางแคลงใจหรือสงสัย ขอให้แสดงความบริสุทธิ์ใจ เปิดบัญชีชัดเจน ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ จะเข้าบัญชีใครมันก็ไม่ใช่ปัญหาหรอก

ประเด็นหลักที่มีปัญหา คือ รับบริจาคแล้วไม่มีคณะกรรมการคอยควบคุมเหมือนการเรี่ยไร ก็เกิดการตรวจสอบยาก มันก็เป็นปัญหาว่า การเรี่ยไรชอบด้วยกฎหมายมั้ย เอาเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคมั้ย ถ้าเป็นการเอาเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็อาจจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนก็ได้

ข้อความที่โฆษณา หรือข้อความที่เชิญชวน ไม่ได้เป็นไปตามนั้นจริง ก็อาจจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือ นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็ได้ ซึ่งเป็นกรณีที่สังคมกำลังตั้งคำถามต่อคุณฌอนและรายการช่องส่องผี”



และเนื่องด้วย พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร เป็นลหุโทษ จึงอาจเป็นเครื่องมือให้บางคนใช้ช่องโหว่ตรงนี้หากินได้ โดยส่วนตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ถ้านำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หลอกลวงคน มันก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทครับ ยอมความไม่ได้

ส่วน พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร เป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ ปี 2487 ซึ่งมันไม่ทันยุคทันสมัย เป็นการเรี่ยไรลักษณะประกาศตามรถเร่ ตามโทรโข่ง หรือทางวิทยุ แต่ปัจจุบันมันมีการเรี่ยไร หรือการรับบริจาคผ่านโลกอินเทอร์เน็ต มันยังไม่ครอบคลุมเพราะเป็นกฎหมายเก่า คือ มีโทษปรับแค่ 200 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน เป็นความผิดลหุโทษ

ถ้าเทียบกับกรณีที่กลุ่มมิจฉาชีพไปหลอกคนแล้วได้เงินเป็นล้าน มาเสียค่าปรับแค่ 200 บาท คดีจบ อันนี้ผมว่าไม่คุ้ม ไม่ถูกต้อง ควรจะมีสังคายนา หรือแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้มีโทษสูงขึ้น ตามยุคตามเหตุการณ์ เพื่อให้ลงโทษมิจฉาชีพที่อาศัยความไว้วางใจของประชาชนในการหลอกลวง และรับบริจาคนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองครับ”



สุดท้าย ทนายชื่อดังได้ฝากถึงการบริจาคเงินที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ว่า แม้คนกลางที่ทำหน้าที่รับบริจาคจะมีชื่อเสียง แต่หากไม่มีความโปร่งใส ก็ไม่ควรไว้วางใจ อยู่ที่วิจารณญาณของผู้บริจาคเอง

“สำหรับประชาชนทั่วไป บางทีเรามีจิตใจที่เป็นกุศล แต่เราไม่สามารถบริจาคด้วยตนเองได้ อาจจะต้องผ่านคนกลาง ก็ต้องเอาคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจจริงๆ ถึงคนกลางนั้นจะเป็นคนมีชื่อเสียง แต่ถ้ามีลักษณะปกปิด ไม่สามารถตรวจสอบได้ ก็ไม่แสดงหลักฐาน แบบนี้ไม่ควรไว้วางใจนะครับ อย่าเป็นเครื่องมือของคนร้าย ถ้าแม้จะมีชื่อเสียงก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่าจะเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตเสมอไป เพราะบางคนอาจจะทำดี แต่เมื่อเห็นเงินก็อาจเปลี่ยนแปลงก็ได้ครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live

ขอบคุณภาพและข้อมูล : แฟนเพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” และ “ช่องส่องผี Fanpage”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น