เพจ “โบราณนานมา” ร่ายยาวประวัติศาสตร์ “วัดกุฎีดาว” จ.พระนครศรีอยุธยา หลัง อ.เรนนี่ ช่องส่องผี บิดเบือนประวัติศาสตร์ ว่า เจดีย์ประธาน วัดกุฎีดาว ที่พังทลายลงมา เพราะพม่ายิงปืนใหญ่ใส่วัด คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ซึ่งทางเพจเผย พบหลักฐาน ประธานวัดหักลงเมื่อกว่า 100 ปี รวมถึงบิดเบือนผู้ที่สร้างวัดแห่งนี้อีกด้วย
จากกรณี “แหม่มโพธิ์ดำ” โพสต์ข้อความเตรียมเปิดศึกกับรายการผีลวงโลก “ช่องส่องผี” จี้หลายจุด ตั้งแต่พิธีกรอ้างมีสัมผัสพิเศษ ปล่อยบูชาวัตถุราคาแพง เปิดรับบริจาคอ้างนำไปช่วยเหลือวัดในชื่อบัญชีของ บ๊วย เชษฐวุฒิ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ ย้ำเตรียมขยี้ชุดใหญ่
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. แชแนล “The Real Ghosts ช่อง-ส่อง-ผี” ได้อัปคลิปวิดีโอ โดยมีชื่อตอนว่า “อาถรรพ์ !!! ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ วัดกุฎีดาว” ซึ่งบางช่วงบางตอน ผู้ดำเนินรายการหญิง หรือที่เรียกกันว่า อาจารย์เรนนี่ ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ ของ “วัดกุฎีดาว” ที่ตั้งอยู่ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีประวัติเกี่ยวกับเรื่องราวของปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ทั้งนี้ ในรายการ อ.เรนนี่ ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ของ “วัดกุฎีดาว” โดยอ้างอิงจากญาณวิเศษจองตนเองว่า
“เจดีย์ประธาน วัดกุฎีดาวที่พังทลายลงมา เพราะพม่ายิงปืนใหญ่ใส่วัด เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 และผู้สร้างวัด คือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ)”
ทำให้เมื่อวันที่ 1 ก.ค. เพจ “โบราณนานมา” ต้องออกมาโพสต์ข้อความเพื่อเล่าถึงประวัติศาสตร์ของ “วัดกุฎีดาว” เนื่องจาก อ.เรนนี่ ได้พูดให้ความรู้บิดเบือนประวัติศาสตร์ โดยได้ระบุข้อความว่า
“1. สาเหตุที่เจดีย์ประธานพังทลายลงมา เพราะอะไร ?
2. พระเจ้าเอกทัศ คือผู้สร้าง “วัดกุฎีดาว” จริงหรือ ?
1. สาเหตุที่เจดีย์ประธานพังทลายลงมา
มีหลักฐานชัดเจนว่า “ปล้องไฉน” ของเจดีย์ประธานวัดกุฎีดาว เพิ่งจะหักมาไม่นานสักร้อยปีมานี่เอง โดยวัดนี้อยู่ในเขตเมืองเก่าอโยธยา และใน “รายงานการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์วัดกุฎีดาว เมื่อปี 2543” ก็กล่าวถึงปัญหาของโครงสร้างวัดกุฎีดาว ที่เป็นสาเหตุให้ “ปล้องไฉน” ของเจดีย์ประธานวัดกุฎีดาว พังทลายลงมา ในรายงานระบุว่า
“เจดีย์ประธานวัดกุฎีดาว เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานประทักษิณย่อ มุมไม้ยี่สิบ โดยองค์เจดีย์มีความสูงทั้งหมด (เท่าที่เหลือ) 14.50 เมตร ฐาน ประทักษิณทุกด้านจะมีรอยแตกเป็นแนวยาวแสดงถึงการทรุดตัวของเจดีย์ ลวด ลายขาสิงห์ที่ประดับฐานประทักษิณขององค์เจดีย์ แข้งสิงห์มีการทํารอยหยัก 2 หยัก ซึ่งมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น
บนลานประทักษิณพบหลักฐานการปูพื้นด้วยแผ่นหินสีเขียวอ่อน-เทา เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาคต่างๆ กัน มีระเบียงล้อมรอบลานประทักษิณ ปัจจุบันพังหมดแล้ว เหลือเพียงเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ตรงมุม ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศ ตะวันตกเฉียงใต้ และมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่บนลานประทักษิณด้านทิศเหนือ องค์เจดีย์ประธานมีบันไดทางขึ้น ๒ บันได อยู่ทางด้านทิศตะวันออกอยู่ในสภาพชํารุด
ถัดจากลานประทักษิณเป็นชั้นฐานย่อเก็จรองรับองค์ระฆังอยู่ในสภาพ ชํารุคปูนฉาบหลุดร่วงออกเกือบหมด ถัดจากฐานย่อเก็จขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถา ๒ ชั้น อยู่ในสภาพชํารุดเหลือเพียงบางส่วนมีวัชพืชขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดได้พังทลายลงมาหมดเหลือเพียงด้านทิศใต้เท่านั้นที่ยังเหลือมากกว่าด้านอื่นๆ
นอกจากนี้ บนลานประทักษิณยังมีเจดีย์ทิศจํานวน 8 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ ประธาน มีลักษณะเป็นทรงระฆังกลมบนฐานแปดเหลี่ยม ซึ่งเหลือให้เห็นเพียง ด้านทิศตะวันออก ส่วนด้านอื่นเหลือเพียงฐานแปดเหลี่ยม”
เพียงแค่นี้ก็น่าจะสรุปได้แล้วว่า “ปล้องไฉน” ของเจดีย์ประธานวัดกุฎีดาว พังทลายลงมา เพราะปัญหาด้านโครงสร้าง ไม่ใช่เพราะพม่ายิงปืนใหญ่ใส่วัดตามที่รายการกล่าวอ้าง และ “วัดกุฎีดาว” นี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองอยุธยาไปทางทิศตะวันออก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะโดนพม่ายิงปืนใหญ่ถล่มใส่ เพราะเป้าหมายหลักตอนนั้น คือ ทำลายค่ายของอยุธยาและยิงปืนใหญ่เข้าไปในกำแพงเมืองอยุธยา
2. พระเจ้าเอกทัศ คือ ผู้สร้าง “วัดกุฎีดาว” จริงหรือ ?
ใน “พงศาวดารฉบับต่างๆ” ก็สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) มิได้เป็นผู้สร้างหรือแม้แต่บูรณปฏิสังขรณ์ “วัดกุฎีดาว” เลยด้วยซ้ำ
“วัดกุฎีดาว” นี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ช่วงแผ่นดิน “พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ” ผู้เป็นพระบรมเชษฐาธิราชของ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” (เวลานั้นดํารงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า))
มาดูหลักฐานกัน พงศาวดารสมัยอยุธยาฉบับต่างๆ ได้กล่าวถึงวัดกุฎีดาวว่า ปฏิสังขรณ์โดยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้งยังดํารงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในปี พ.ศ. 2254 ใช้เวลา 3 ปีเศษจึงสําเร็จ
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวง และฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวว่า
“สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้ช่างปฏิสังขรณ์ วัดกุฎีดาวอันใหญ่ ในปีเถาะตรีศก เสด็จไปทอดพระเนตรการที่วัดนั้น เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง เหมือนพระเชษฐาธิราช สามปีเศษ วัดนั้นจึงสําเร็จแล้วบริบูรณ์”
และอีกตอนหนึ่ง กล่าวถึงการสมโภชวัดกุฎีดาวคราปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จว่า
“ในปีมะแมสัปตศกนั้นพระมหาอุปราชให้ฉลองวัดกุฎีดาว บําเพ็ญพระราชกุศลให้ทานสักการะบูชาแก่พระรัตนตรัยเป็นอันมาก ให้เล่นงานมหรสพสมโภชเจ็ดวัน การฉลองนั้นสําเร็จบริบูรณ์”
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน กล่าวว่า
“สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ให้ช่าง ปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวอันใหญ่, ในปีเถาะ ตรีศก. เสด็จไปทอดพระเนตรการที่วัดนั้น, เดือนหนึ่งบ้าง, สองเดือนบ้างเหมือนพระเชษฐาธิราช. สามปี เศษ วัดนั้นจึงสําเร็จแล้วบริบูรณ์”
เพียงแค่นี้ก็สรุปได้แล้วว่า “สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ)” มิได้เป็นผู้สร้างหรือแม้แต่บูรณปฏิสังขรณ์ “วัดกุฎีดาว” เลยด้วยซ้ำ เพราะผู้ที่บูรณปฏิสังขรณ์ คือ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ผู้เป็นพระบรมชนกนาถของ “พระเจ้าเอกทัศ” จึงไม่มีทางที่ “พระเจ้าเอกทัศ” จะเป็นผู้สร้าง “วัดกุฎีดาว”
ส่วนการก่อสร้าง “วัดกุฎีดาว” นั้นไม่ชัดเจน ปรากฏในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า “พระยาธรรมิกราชซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างเมื่อจุลศักราช 671 ปีเถาะ เอกศก และพระอัครมเหสีของพระองค์ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้นคู่กัน ”
ส่วนในคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวว่า “พระมหาบรมราชาทรงสร้างวัดกุฎีดาว (กุฎิทวา) และพระภูมิน ทราธิบดีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์”
แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หลายฉบับกล่าวความต้องกันว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้างวัด มเหยงคณ์และไม่มีฉบับใดกล่าวถึงวัดกุฎีดาว จนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”
จึงสันนิษฐานได้ว่า “วัดกุฎีดาว” อาจจะสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับวัดมเหยงคณ์ หรือหลังจากวัดมเหยงคณ์เล็กน้อย และคงเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญวัดหนึ่งทางบริเวณที่เรียกว่า “อโยธยา"