ในช่วงนี้มีข่าวการรื้อทำลายอาคารเก่าแก่ที่เป็นอาคารประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการซ่อมแซมโบราณสถานอย่างขาดความรู้ความเข้าใจ เป็นผลให้สิ่งก่อสร้างทรงคุณค่าหลายแห่งต้องพังทลาย หรือเปลี่ยนโฉมไปแบบไม่เหลือเค้าเดิม ทำให้เศร้าเสียดายที่คนบางกลุ่มจึงไม่เห็นความเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ของเก่า
แต่ขณะเดียวกันก็น่ายินดีที่มีอาคารสถาปัตยกรรมอีกหลายแห่งที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จนได้รับรางวัลระดับโลกอย่างรางวัล UNESCO Asia-Pacific Heritage Awards for Culture Heritage Conservation โดยองค์การยูเนสโกได้คัดเลือกและมอบรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้แก่โครงการอนุรักษ์ต่างๆ จากทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูและซ่อมแซมสถานที่ประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ให้คงอยู่กับชุมชนแต่ละประเทศ
ประเทศไทยได้ส่งโครงการอนุรักษ์เข้าร่วมการประกวดรางวัลดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2545-2562 ประเทศไทยได้รางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโกถึง 14 รางวัลด้วยกัน ดังนี้
รางวัลชมเชย (Honourable Mention)
“โครงการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารอนุรักษ์หน้าพระลาน” กรุงเทพมหานคร (รางวัลชมเชย ปีพ.ศ. 2554) ตึกแถวริมถนนหน้าพระลานก่อสร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น จำนวน 29 ห้อง ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก แบบนีโอคลาสสิคซึ่งเป็นที่นิยมในทวีปยุโรปช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 18 จุดเด่นของอาคารกลุ่มนี้คือมุขยื่นที่คูหาหัวมุมและคูหากลาง มีหน้าบันโค้งกลม ที่ปลายหน้าบันทั้งสองข้างเป็นปูนปั้นรูปผอบ บริเวณทับหลังตกแต่งด้วยลวดลายพวงดอกไม้ เสาระเบียงชั้นบนเป็นแบบไอโอนิค ส่วนเสารองรับเฉลียงชั้นล่างเป็นแบบดอริก สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2452 เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับเป็นที่พักแขกเมือง รวมทั้งใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
“โครงการอนุรักษ์ศาลาเรียน วัดคูเต่า” จ.สงขลา (รางวัลชมเชย ปีพ.ศ. 2554) วัดคูเต่า ถือได้ว่าเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลาที่ยังคงอนุรักษ์ความเก่าแก่ของโบราณสถานไว้หลายจุดด้วยกัน โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และศาลาท่าน้ำ ซึ่งมีอายุหลายร้อยปี
“โครงการอนุรักษ์ชุมชนอัมพวา” จังหวัดสมุทรสงคราม (รางวัลชมเชย ปีพ.ศ. 2551) ประสบความสำเร็จในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการคุ้มครองโครงอาคารที่มีคุณค่าในฐานะที่เป็นมรดกของประเทศไทย โครงการฯดังกล่าวสามารถอนุรักษ์อาคารสำคัญๆทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีคุณค่าสำคัญทางท้องถิ่นหลายอาคารไว้ได้เป็นอย่างดีและยังได้รักษาลักษณะการตั้งถิ่นฐานริมฝั่งคลองแบบดั้งเดิม ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงทั่วประเทศเอาไว้อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการฯยังแสดงถึงคุณค่าของความสำคัญทางวัฒนธรรมบริเวณคลองอัมพวาและการตระหนักถึงมรดกทางสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งคลองประวัติศาสตร์แห่งนี้
"โครงการอนุรักษ์ตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์" กรุงเทพมหานคร (รางวัลชมเชย ปีพ.ศ. 2548) วังเทวะเวสม์เป็นอาคารโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นวังของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ทรงได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการต่างประเทศของไทย” โดยสำหรับตำหนักใหญ่ ก่อสร้างด้วยด้วยเทคโนโลยีและวัสดุสมัยใหม่ในขณะนั้น การตกแต่งก็เป็นรูปแบบศิลปะนีโอคลาสสิค โดยเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ
“โครงการอนุรักษ์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” จังหวัดฉะเชิงเทรา (รางวัลชมเชย ปีพ.ศ. 2551)
รางวัลดี (Awards of Merit)
“โครงการอนุรักษ์บ้านหลวงราชไมตรี" จ.จันทบุรี (รางวัลดี ปี 2558) เป็นการปรับปรุงบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีสของขุนนางเก่าในท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นบ้านพักเชิงอนุรักษ์และพิพิธภัณฑ์ ได้จุดประกายความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนจันทบูร ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในวงกว้างที่จะฟื้นฟูชุมชนริมน้ำอายุ 150 ปีแห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเสื่อมโทรม
“โครงการอนุรักษ์เรือนพระยาศรีธรรมาธิราช” กทม. (รางวัลดี ปี 2557) อาคารหลังนี้เป็นอาคารสมัยต้นศตวรรษที่ 20 เป็นตัวอย่างสำคัญของความมุ่งมั่นร่วมมือกันระหว่างผู้มีส่วนร่วมหลายหน่วยงานในการปกป้องคุ้มครองอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาทิ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เจ้าของอาคาร และผู้เช่าคือมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมไทย-จีน ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ให้วิจัยประวัติศาสตร์ของอาคาร ทำให้ทราบถึงบริบทของแหล่งมรดกที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเผยให้เห็นมัณฑนศิลป์อันล้วนเป็นงานช่างฝีมือ เช่น ห้องจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตร และสิ่งตกแต่งต่างๆ
“โครงการอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกวัดเทพธิดารามวรวิหาร” กรุงเทพมหานคร (รางวัลดี ปีพ.ศ. 2554) หอไตรแห่งนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีตามแบบอิทธิพลจีนซึ่งเป็นพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ ลักษณะอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ปิดทองล่องชาด มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันปิดทองประดับกระจกสี มีงานศิลปะลายรดน้ำที่มีอยู่ทุกบานประตู และหน้าต่าง สร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาพระคัมภีร์ใบลาน ซึ่งจารึกพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ การอนุรักษ์นั้นเน้นการปฏิสังขรณ์ดูแลร่วมกับชุมชน และมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง
“โครงการอนุรักษ์ชุมชนสามชุก” จ.สุพรรณบุรี (รางวัลดี ปี 2552) “ตลาดสามชุก” เป็นตลาดสำคัญในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญในอดีต ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี แต่เมื่อถนนเข้ามาแทนที่การเดินทางทางน้ำ ความสำคัญของตลาดริมน้ำเริ่มลดลง บรรยากาศการค้าขายในตลาดสามชุกเริ่มซบเซา แต่ชาวชุมชนตลาดสามชุกได้รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ ระดมความคิด หาทางอนุรักษ์ตลาดและที่อยู่ของตนไว้ และหาทางฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง โดยยังคงรูปแบบอาคารไม้ดั้งเดิมของตลาดเก่า จนเป็นที่มาของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ใช้การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นเครื่องมือการพัฒนา จนทำให้ตลาดสามชุก แห่งนี้ได้รับขนานนามว่าตลาด 100 ปี พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
“โครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกด้านเหนือ" จ.ลำปาง (รางวัลดี ปีพ.ศ.2551) เป็นต้นแบบโครงการอนุรักษ์ที่นำโดยคนในชุมชน ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจในการสงวนรักษาวัดแบบล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก่อให้เกิดการฟื้นฟูองค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมโบราณและเทคนิคการตกแต่งประดับประดาแบบดั้งเดิม วิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่รวบรวมไว้ทั้งงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน พม่า ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวของประเทศก็ว่าได้
“โครงการอนุรักษ์พระราชวังเดิม” กรุงเทพมหานคร (รางวัลดี ปีพ.ศ.2547) พระราชวังเดิมหรือพระราชวังกรุงธนบุรี ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในกองทัพเรือ ยังคงสภาพสมบูรณ์แสดงถึงความรุ่งเรืองของยุคสมัยกรุงธนบุรีที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้นับเป็นเวลายาวนานกว่า 2 ศตวรรษแล้ว กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานที่ใช้พื้นที่ของพระราชวังเดิมกรุงธนบุรีจึงได้ริเริ่มโครงการบูรณะโบราณสถานในบริเวณพระราชวังเดิม เพื่อให้คงสภาพเป็นโบราณสถานที่สมบูรณ์ของชาติสืบไป
“โครงการอนุรักษ์วัดสระทอง" จังหวัดขอนแก่น (รางวัลดี ปีพ.ศ.2545) สิม (โบสถ์) วัดสระทองบ้านบัว เป็นวัดโบราณอายุกว่า 170 ปี เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม แสดงลักษณะเด่นชัดของถิ่นอีสาน มีการแต้มสีภาพภายนอกอาคารประดับแว่นแก้วฐานชุกชี ภายในยังคงประดิษฐานพระประธานศิลาทรายรูปแบบอีสานที่หาได้ยาก และยังถือเป็นสถานที่แห่งแรกของไทยที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโกอีกด้วย
รางวัลยอดเยี่ยม (Award of Excellence)
ในไทยมีเพียงโครงการเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ คือ “โครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร” กทม. รางวัลยอดเยี่ยม ปี 2556 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์พระประธานและพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ได้ธำรงรักษาปูชนียสถานที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของกรุงเทพมหานคร ผสานความศรัทธาทางศาสนากับความท้าทายทางวิศวกรรม และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาทางสังคมในย่านกะดีจีน ย่านประวัติศาสตร์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจลึกซึ้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัวของยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยการเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างภายใน ขณะที่ยังคงรูปลักษณ์ภายนอกของเจดีย์ที่ทรุดเอียงนี้ อีกทั้งยังมีการบูรณะซ่อมแซมที่บูรณาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และวิถีการก่อสร้างแบบดั้งเดิม ได้สื่อสารขนบโบราณและสุนทรีย์แห่งยุคเก่า ความร่วมมือร่วมใจที่น่ายกย่องระหว่างพระสงฆ์ ผู้เชี่ยวชาญ และชาวบ้านเป็นประจักษ์พยานถึงความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างวัดและชุมชน ในการธำรงรักษาพุทธศาสนสถานให้ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชุมชน
รางวัลพิเศษ รางวัลสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ออกแบบในบริบทของแหล่งมรดก
“โครงการเก๊าไม้ เอสเตท” จ.เชียงใหม่ ได้รางวัล Award for New Design in Heritage Contexts หรือรางวัลสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ออกแบบในบริบทของแหล่งมรดก ปี 2561 โครงการนี้เป็นพื้นที่โดยรวมเอารีสอร์ท คาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และลานอเนกประสงค์กลางแจ้งซึ่งรายล้อมไว้ด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ไว้ด้วยกัน โดยเจ้าของปรับปรุงมาจากโรงบ่มใบยาสูบเก่า ของบริษัทแม่ปิงยาสูบ ซึ่งก่อตั้งโดยเจ้าชื่อ สิโรรส ผู้ริเริ่มและส่งเสริมให้ปลูกใบยาสูบในภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้เกิดการก่อสร้างกลุ่มอาคารโครงสร้างไม้ไผ่สานแตะฉาบด้วยดินโคลนจำนวนหลายหลัง เพื่อเป็นโรงบ่มใบยาสูบ ต่อมาทายาทได้นำโรงบ่มใบยาสูบและพื้นที่โดยรอบ มาปรับปรุงและดัดแปลงให้กลายเป็นบูติกรีสอร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Community Based Resort หรือ รีสอร์ตที่ชุมชนมีส่วนร่วม
................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR