(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
UK immigration gesture more charade than reality
by Ken Moak
16/06/2020
เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่สหราชอาณาจักรเคยทำเอาไว้ในฮ่องกงสมัยที่ยังเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองนครแห่งนี้ การที่พวกเขาแสดงทีท่าจะอนุญาตให้ชาวฮ่องกง 3 ล้านคนอพยพไปตั้งถิ่นฐาน ก็ดูเป็นเรื่องที่สมควรอยู่ ทว่ามันไม่น่าจะกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้หรอก
สหราชอาณาจักรเสนอที่จะอนุญาตให้ชาวฮ่องกง 3 ล้านคนซึ่งเป็นผู้ถือหนังสือเดินทางสัญชาติสหราชอาณาจักร (โพ้นทะเล) (British National (Overseas) passports เรียกกันย่อๆว่า BNO) เดินทางเข้าไปพำนักยังประเทศนั้นได้ ถ้าหากจีนบังคับใช้ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในนครแห่งนี้ (ซึ่งฝ่ายตะวันตกอ้างว่าอาจมีผลเป็นการทำลาย “ค่านิยมแบบประชาธิปไตย” ของฮ่องกง) ทว่านี่อาจเป็นเพียงคำมั่นสัญญาที่ว่างเปล่าเท่านั้น
แท้ที่จริงแล้ว เนื่องจากสหราชอาณาจักรเองหวาดกลัวว่าจะมีผู้คนจำนวนมหาศาลจากฮ่องกงอพยพไปอยู่ประเทศของตนนั่นแหละ ที่ทำให้สหราชอาณาจักรเริ่มต้นเสกสร้างหนังสือเดินทางประเภท BNO นี้ขึ้นมา เพื่อกำหนดให้เป็นทางการชัดเจนว่า พวกผู้พำนักอาศัยของอดีตอาณานิคมแห่งนี้คือคนที่อยู่ในการปกครองของสหราชอาณาจักร (British subjects) แต่ไม่มีสิทธิที่จะพำนักตั้งถิ่นฐานภายในสหราชอาณาจักร
และกระทั่งสมมุติว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรในเวลานี้ มีความจริงใจในเรื่องการอนุญาตให้ชาวฮ่องกงเป็นจำนวนมากมายขนาดนั้นเข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศของตน กระแสต่อต้านภายในสหราชอาณาจักรที่จะก่อตัวขึ้นมาก็น่าจะดุเดือดรุนแรง จากการที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเวลานี้กำลังหดตัวลงอย่างน่าใจหาย และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับเลวร้ายอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนภายหลังจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ของทศวรรษ 1930 (the 1930s Great Depression) สหราชอาณาจักรย่อมไม่มีความสามารถในการรับรองช่วยเหลือสนับสนุนการหลั่งไหลเข้ามาของผู้คนมากมายขนาดนั้น รวมทั้งสาธารณชนก็ย่อมไม่ยินดียินยอมในเรื่องนี้ เมื่อพิจารณาจากสภาพฉากหลังเช่นนี้แล้ว การที่รัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดของสหราชอาณาจักรจะยินยอมอนุญาตให้ผู้คนอพยพเข้ามาอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเป็นผู้คนจากอดีตอาณานิคมที่ไม่ใช่คนผิวขาว มันจึงอาจจะหมายถึงการฆ่าตัวตายทางการเมืองนั่นเอง
นอกจากนั้น กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ อาจจะไม่ได้เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการทรยศหักหลังจุดยืนว่าด้วย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ฮ่องกงสามารถธำรงรักษาสถานะเดิมของตนเอาไว้เป็นระยะเวลา 50 ปีภายหลังอังกฤษส่งมอบอธิปไตยของดินแดนแห่งนี้คืนให้แก่จีนในปี 1997 โดยมีข้อยกเว้นในเรื่องกิจการกลาโหมระดับชาติ และกิจการด้านการต่างประเทศ จริงๆ แล้วสามารถที่จะหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งอย่างควรรับฟังได้ว่า กฎหมายนี้ทั้งมีความจำเป็นและทั้งสมควรที่จะออกมาตั้งนมนานมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความเสียหายที่การประท้วง “สนับสนุนประชาธิปไตย” ครั้งแล้วครั้งเล่าได้สร้างความทุกข์ยากลำบากให้แก่อดีตอาณานิคมแห่งนี้
ตัวอย่างเช่น ตามรายงานข่าวของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/news/hong-kong/politics/article/3087926/hong-kong-protests-one-year-national-security-law-looming) กลุ่มที่สนับสนุนผู้ทรงอำนาจของฮ่องกงกลุ่มหนึ่ง สามารถรวบรวมรายชื่อผู้คนเกือบๆ 3 ล้านคนซึ่งระบุว่าให้การหนุนหลังกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ โดยที่ใช้เวลาในการระดมหาลายเซ็นเพียงแค่ 8 วัน นอกจากนั้นตามรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ระบุว่า กว่า 60% ของธุรกิจต่างๆ ในฮ่องกง รวมทั้ง 2 ธนาคารใหญ่ของสหราชอาณาจักรอย่าง เอชเอสบีซี และ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุว่ากฎหมายนี้จะส่งผลกระทบในทางบวกต่อเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ถึงแม้อาจจะ “ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้ง” หรือมีผลด้านกลับในระยะสั้น สืบเนื่องจากความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะดำเนินมาตรการแซงก์ชั่น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้คนส่วนข้างมากในฮ่องกงสนับสนุนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าเซอร์ไพรซ์อะไร เพราะการประท้วง “สนับสนุนประชาธิปไตย” ครั้งต่างๆ ที่ผ่านมา คือข้ออ้างคำแก้ตัวสำหรับการก่อกวนสร้างความวุ่นวายให้แก่สถาบันต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และสังคมของเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการสั่นคลอนเสถียรภาพของประเทศจีน
พวกสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่อยู่ในฝ่ายรวมประชาธิปัตย์ (Pan-democrat) ได้เที่ยวขัดขวางสกัดกั้นข้อเสนอของรัฐบาลในการถมทะเลเพื่อให้ได้พื้นที่ใหม่ๆ สำหรับการสร้างอาคารเคหะสงเคราะห์ ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มทวีวิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัย ที่มีสาเหตุใหญ่จากการที่พวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายยักษ์ไม่มีความปรารถนาที่จะสร้างที่พักอาศัยซึ่งผู้คนส่วนใหญ่สามารถผ่อนจ่ายไหว การที่บรรดานักเคลื่อนไหวทางสังคมและพลเมืองสามัญธรรมดาทั้งหลายเข้าร่วมการประท้วง “ขบวนการร่ม” (umbrella movement) ปี 2014 นั้น พวกเขาเรียกร้องต้องการให้มีอาคารเคหะสงเคราะห์ ตลอดจนโอกาสในการได้รับการจ้างงานอย่างเพียงพอ มากกว่าการหนุนหลังขบวนการ “สนับสนุนประชาธิปไตย”
ยิ่งไปกว่านั้น พวกมหาอำนาจต่างชาติยังถูกกล่าวหาว่าทั้งยุยงปลุกปั่น, รวบรวมจัดกลุ่มจัดองค์กร, และให้เงินทุนหนุนหลังการประท้วงเหล่านี้ เว็บไซต์ Chinadaily.com.cn รายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2019 โดยอ้างอิง MintPress News เว็บไซต์ข่าวของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า มูลนิธิแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Endowment for Democracy ใช้อักษรย่อว่า NED) ที่ได้รับเงินทุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้ “เงินทุนก้อนโตทีเดียว” แก่พวกกลุ่ม “สนับสนุนประชาธิปไตย” บางกลุ่มในฮ่องกง
ทางด้านรัฐมนตรีความมั่นคง (secretary of security) ของฮ่องกง ก็กล่าวหาเช่นกัน (ในรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ของเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์) ว่า สหรัฐฯกับไต้หวัน เป็นผู้ปลุกปั่นยุยงให้เกิดการประท้วง “ขบวนการร่ม” ปี 2014 และการประท้วงคัดค้าน “กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน” (extradition law) ปี 2019 ซึ่งทั้ง 2 ระลอกนี้ต่างทำให้เขตบริหารพิเศษฮ่องกงตกอยู่ในภาวะเป็นอัมพาต พฤติการณ์อันอุกอาจในการเข้าโจมตีบรรดาอาคารทรัพย์สินทั้งของรัฐบาลและของภาคเอกชน รวมถึงธุรกิจต่างๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่ และพวกนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงอยู่ในวงโคจรขาลง ขณะที่การโจมตีทำร้ายประชาชนซึ่งไม่เห็นด้วยกับพวกผู้ประท้วงก็แปรเปลี่ยนฮ่องกงให้กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนทางสังคม, ทำให้เหล่าสมาชิกภายในครอบครัวเดียวกัน ตลอดจนผู้ที่เคยเป็นเพื่อนมิตรและเพื่อนร่วมงานกันมา กลับกลายเป็นศัตรูกัน
อดีตผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง เป็นต้นว่า ต่ง เจี้ยนหวา (ชื่อของเขาในภาษาอังกฤษ ออกเสียงตามสำเนียงภาษาท้องถิ่นว่า Tung Chee-hwa –ผู้แปล), เหลียง เจิ้นอิง (ชื่อของเขาในภาษาอังกฤษ ออกเสียงตามสำเนียงภาษาท้องถิ่นว่า Leung Chun-ying –ผู้แปล) ต่างกล่าวหามหาอำนาจต่างประเทศ (ซึ่งเห็นชัดเจนว่าหมายถึง สหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร) คือผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงรุนแรงเหล่านี้ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายและทักษะความชำนาญในการจัดองค์กรของการประท้วงเช่นนี้ อยู่ระดับห่างไหลนักหนากว่าที่พวกผู้ประท้วงจะสามารถรวบรวมดำเนินการขึ้นมาได้
การประท้วงเหล่านี้ทั้งก่อให้เกิดความหายนะและไม่มีความจำเป็น อดีตอาณานิคมแห่งนี้ไม่ได้สูญเสีย “ค่านิยมแบบประชาธิปไตยใดๆ” ของตนไปเลย ภายหลังหวนกลับคืนสู่จีนในปี 1997 แท้จริงแล้วสามารถที่จะหยิบยกเหตุผลข้อเท็จจริงขึ้นมาโต้แย้งได้ว่า ฮ่องกงปัจจุบันกำลังมีเสรีภาพอย่างมากมายพอๆ กัน ถ้าหากไม่ใช่มากมายยิ่งกว่า ในสมัยที่อยู่ใต้การปกครองแบบอาณานิคมของสหราชอาณาจักร รัฐบาลส่วนกลางของจีนยินยอมให้พวกผู้ประท้วงแสดงทัศนะความคิดเห็นของพวกเขา, โบกธงต่างชาติกันปลิวไสว แถมยังเรียกร้องฝ่ายตะวันตกให้ช่วยเหลือพวกเขาในการโค่นล้มรัฐบาลจีนและรัฐบาลฮ่องกงอีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม เมื่อตอนอยู่ภายใต้การปกครองแบบอาณานิคมของสหราชอาณาจักรนั้น การประท้วงในฮ่องกงต้องเผชิญกับการปราบปรามด้วยกำลังตลอดจนมาตรการรุนแรงแข็งกร้าวอื่นๆ ในปี 1922 รัฐบาลของอาณานิคมแห่งนี้ได้ออกข้อบัญญัติกฎระเบียบฉุกเฉิน (Emergency Regulations Ordinance) มาบังคับใช้ ซึ่งเปิดทางให้รัฐบาลอาณานิคมใช้กำลัง, สั่งระงับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, และบังคับใช้มาตรการรุนแรงแข็งกร้าวอื่นๆ เพื่อปราบปรามการสไตรค์นัดหยุดงานเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงของพวกลูกเรือชาวจีน
รัฐบาลอาณานิคมฮ่องกงได้ใช้อำนาจตามข้อบัญญัติฉบับนี้อีกครั้งระหว่างเกิดการจลาจลต่อต้านการปกครองของสหราชอาณาจักรในปี 1967 โดยมีการสั่งปิดสิ่งพิมพ์และโรงเรียน “ฝ่ายซ้าย” ขณะที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้าสลายที่มั่นต่างๆ ของบรรดาผู้ประท้วงและจับกุมพวกผู้นำ
ยิ่งไปกว่านั้น ฮ่องกงยังอยู่ในฐานะเป็นดินแดนที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลส่งให้แก่สหราชอาณาจักรอีกด้วย โดยสิ่งที่ฝ่ายเจ้าอาณานิคมกระทำคือการริบที่ดินของคนท้องถิ่นไปหมดแล้วจึงปล่อยกลับออกมาให้พวกเขาเช่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรกระทั่งปล้นชิงทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของฮ่องกงเป็นจำนวน 10,0000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการตั้งกฎเกณฑ์อนุมัติให้พวกบริษัทสหราชอาณาจักรเท่านั้นจึงจะมีสิทธิสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ของฮ่องกงที่เกาะลันเตา (Lantau Island) (ท่าอากาศยานแห่งนั้นก็คือ ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงในปัจจุบัน -ผู้แปล) ตรงกันข้าม ปักกิ่งกลับลงทุนอย่างมากมายในเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ รวมทั้งส่งนักท่องเที่ยวจำนวนหลายล้านคนมาฮ่องกง เพื่อเพิ่มพูนและประคับประคองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของนครแห่งนี้
จริงๆ แล้ว สหราชอาณาจักรไม่ได้ต้องการส่งมอบฮ่องกงกลับคืนให้แก่จีน ซึ่งนี่เองอธิบายได้ว่าทำไม มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในตอนนั้น จึงกล่าวย้ำอยู่เรื่อยให้ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนต้องเคารพปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่างๆ ที่ทำเอาไว้ในยุคจีนเป็นฝ่ายปราชัยในการทำสงครามฝิ่น (Opium War) กับฝ่ายตะวันตก ทรัพย์สมบัติความมั่นคั่งที่นครแห่งนี้ประเคนให้แก่สหราชอาณาจักรนั้นเป็นผลประโยชน์ผลกำไรงามๆ เกินกว่าที่จะตัดใจทิ้งไปได้ง่ายๆ
บางทีอาจจะเป็นด้วยเหตุผลข้อนี้เอง สหราชอาณาจักรจึงอาจจะจงใจบ่มเพาะฟูมฟักให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และสังคมในเขตบริหารพิเศษนี้ขึ้นมา โดยในทศวรรษ 1980 รัฐบาลอาณานิคมได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในฮ่องกง โดยมุ่งโฟกัสเน้นหนักที่ประวัติศาสตร์, ค่านิยมและวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักรหรือของโลกตะวันตก ซึ่งกำลังเปลี่ยนให้ประชาชนของฮ่องกง 1 ชั่วอายุคนเต็มๆ กลายเป็น “ผู้นิยมชมชอบความเป็นอังกฤษ” (Anglophiles) พวกเขาถูกล้างสมองให้เชื่อว่าทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่เป็นอังกฤษที่เป็นสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็น เผ่าพันธุ์, วัฒนธรรม, ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เหนือกว่าของจีนทั้งสิ้น
การศึกษาแบบปลูกฝังให้มีฉันทาคตินิยมชมชื่นตะวันตกเช่นนี้เอง ทำให้ชาวจีนฮ่องกงบางคนเกิดความเชื่อความหลงในทางผิดๆ ไม่เพียงแต่มีความคิดว่าพวกเขานั้นเหนือกว่าพี่น้องในแผ่นดินใหญ่ของพวกเขาเท่านั้น แต่กระทั่งปฏิเสธไม่ยอมรับว่าพวกเขาก็อยู่ในเผ่าพันธุ์ชาวจีน
อาการหลงผิดเห็นว่าตนเองเหนือกว่านี่แหละ ทำให้คนจำนวนมากในฮ่องกงรู้สึกโกรธเกรี้ยวไม่พอใจการปกครองของจีน บางทีอาจจะด้วยความคิดที่ว่ามันทำให้พวกเขาต่ำต้อยลงหากต้องอยู่ในการปกครองของคนแผ่นดินใหญ่ ด้วยความสำนึกเช่นนี้ จึงน่าจะยุติธรรมที่จะชี้ด้วยว่า ชาวฮ่องกงบางคนนั้นมีความปรารถนาที่จะทำให้พวกเขาเองกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ด้วยความนิยมชมชื่นการปกครองของต่างชาติ
พิจารณาจากสิ่งที่พวกเขาเคยกระทำมาในอดีต รัฐบาลสหราชอาณาจักรสมควรที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบสำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกงทุกวันนี้ ด้วยเหตุผลข้อนี้เอง การที่สหราชอาณาจักรแสดงท่าทีจะอนุญาตให้ชาวฮ่องกง 3 ล้านคนที่ถือหนังสือเดินทาง BNO พร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวของพวกเขามีสิทธิที่จะพำนักอาศัยในสหราชอาณาจักร ย่อมถือได้ว่าเป็นสิ่งถูกต้องสมควรแล้วที่จะกระทำเช่นนั้น นอกจากนั้นแล้ว ชาวฮ่องกงจำนวนมากยังเป็นผู้ที่ทำงานหนักและมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นการมีพวกเขาอยู่ในสหราชอาณาจักรอาจจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่น่าสังเวชของประเทศนั้นให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น สหราชอาณาจักรไม่น่าที่จะเดินหน้าดำเนินการจริงๆ ตามการแสดงท่าทีของพวกเขาหรอก
เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer