(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Trump’s China policy at a cul-de-sac
by MK Bhadrakumar
02/06/2020
แผนอุบายที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตระเตรียมเอาไว้เพื่อโจมตีเล่นงานจีนในประเด็นต่างๆ มีอันพังครืนลงไปในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมต่อกับต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อภายในสหรัฐฯเอง กรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ก่อให้เกิดกระแสที่ใหญ่โตมโหฬารในการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวและการที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อย ขณะที่ด้านระหว่างประเทศนั้น ยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ก็แสดงตัวเปิดเผยชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายจีนของทรัมป์
ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ถือเป็นช่วง 7 วันหายนะที่เขย่าอเมริกาให้สั่นสะท้านกันจริงๆ เศษซากเสียหายหักพังบางส่วนยังอาจจะตกลงใส่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อีกด้วย ที่สำคัญที่สุดก็คือ คณะบริหารทรัมป์ต้องสูญเสียแผนอุบายที่ตระเตรียมเอาไว้ในเรื่องเกี่ยวกับจีน
การฆาตกรรมชายผิวดำ จอร์จ ฟลอยด์ อย่างน่าเศร้าสะเทือนใจที่เมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ในวันที่ 25 พฤษภาคม อันเป็นวันทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงของการเหยียดผิว และการพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานผู้คนที่มิใช่คนผิวขาวในเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าของตำรวจ มันคือสัญญาณแห่งการปะทุตัวขึ้นมาของชั้นดินซึ่งล้าหลังที่สุดและเป็นปฏิกิริยาต่อต้านความก้าวหน้าอย่างที่สุดในสังคมอเมริกัน ขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นการเปิดโปงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการกดขี่ทางชนชั้นซึ่งแอบแฝงอยู่ข้างใต้คำโกหกหลอกลวงของระบอบประธานาธิบดีของทรัมป์อีกด้วย
ทั้งนี้ เหยื่อแห่งการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นคนดำ, คนขาว, คนฮิสปานิก (ผู้คนที่พูดภาษาสเปน ซึ่งในสหรัฐฯส่วนใหญ่แล้วคือพวกที่อพยพมาจากละตินอเมริกา), หรือชาวอเมริกันพื้นเมืองก็ตามที ต่างก็เป็นคนยากจนและเป็นภาคส่วนของประชากรซึ่งอ่อนแอเปราะบางที่สุดด้วยกันทั้งนั้น
ในระดับระหว่างประเทศ มีการแสดงออกซึ่งความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน [1] ด้วยการประท้วงที่ปะทุขึ้นอย่างมากมายภายหลังการเข่นฆ่าจอร์จ ฟลอยด์ การชุมนุมเดินขบวนเกิดขึ้นทั้งในจัตุรัสทราฟัลการ์ ของกรุงลอนดอน และประตูแบรนเดนเบิร์ก ในกรุงเบอร์ลิน กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียก็ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ [2]
ยุโรปนั้นมีความรู้สึกแปลกแยกต่ออเมริกาของทรัมป์อยู่แล้ว และเวลานี้มีแต่จะหยั่งรากลึกลงไปอีก อันที่จริงช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมดังกล่าวนี้ มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างซึ่งยิ่งตอกย้ำให้เห็นความแตกแยกร้าวฉานซึ่งกำลังตั้งเค้าอยู่ภายในกลุ่มพันธมิตรสองฟากฝั่งแอตแลนติก
ทิศทางที่น่าสนใจซึ่งปรากฏขึ้นมา มีอยู่ 3 ทิศทางด้วยกัน
ทรัมป์ดูเหมือนคาดคำนวณเอาไว้อย่างระมัดระวัง ในเรื่องจังหวะเวลาที่เขาออกมาประกาศแผนริเริ่มเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตของกลุ่มจี 7 แบบพบปะเจอหน้ากันในกรุงวอชิงตันระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายนนี้ โดยมุ่งหวังที่จะโอ่อวดให้เห็นกันว่าพร้อมแล้วที่จะก้าวข้ามมองให้เลยพ้นไปจากโรคระบาดโควิด-19 แต่ปรากฏว่าแผนการของเขากลับมีอันหล่นกระแทกพื้นพังยับเยิน เนื่องจากขาดความสนใจกระตือรือร้นจากพวกชาติพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ
แมร์เคิลประกาศจุดยืน
เรื่องนี้ถูกแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนน่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ จากการที่นายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ตัดสินใจประกาศไม่รับคำเชื้อเชิญของทรัมป์ โดยหยิบยกเหตุผลอันชวนให้เกิดความรู้สึกย้อนแย้งว่า เธอยังต้องยุ่งวุ่นวายอยู่กับการควบคุมโรคระบาดให้อยู่หมัด
แต่ความไม่เห็นพ้องกับทรัมป์ของแมร์เคิล[3] ยังไปไกลยังลงลึกยิ่งกว่านั้นเสียอีก เธอตั้งข้อสังเกตอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ถ้าหากมีการประชุมซัมมิต จี7 ขึ้นมาไม่ว่าในรูปแบบใดๆ “ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอคอนเฟอเรนซ์หรืออย่างอื่นใดก็ตามที ดิฉันก็จะต่อสู้เพื่อ ‘แนวทางพหุภาคีนิยม’ อย่างแน่นอน นี่เป็นสิ่งที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งใน จี7 และในจี20”
เมื่อรู้สึกได้ว่าความเป็นผู้นำของเขาถูกท้าทายอย่างสาหัสร้ายแรงเสียแล้วในโลกตะวันตก ทรัมป์จึงรีบปรับเปลี่ยนทิศทาง โดยหันไปเสนอว่า กลุ่มจี7 ซึ่งประกอบด้วยพวกประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ได้กลายเป็นสิ่งที่ “ล้าสมัยมากๆ” ไปเสียแล้ว ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ และควรที่จะปรับแปลงให้กลายเป็น “จี 10 หรือ 11 เพื่อต่อสู้กับ จี 1” [4]
นั่นก็คือว่า ทรัมป์ต้องการให้มีการขยายวง จี7 –โดยนำเอารัสเซีย, อินเดีย, ออสเตรเลีย, และเกาหลีใต้เข้ามาด้วย—และกลุ่มที่ปฏิรูปใหม่ดังกล่าวนี้จะสามัคคีกันต่อต้านเล่นงานจีน
ความคิดอันบรรเจิดที่ปรากฏขึ้นมาอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นความเพ้อฝันที่เป็นไปไม่ได้ และมีแต่จะสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้นให้แก่การทูตและความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ สมาชิกที่เหลืออีก 6 ชาติของ จี7 –ได้แก่สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, แคนาดา, และญี่ปุ่น—ยังคงข้องใจสงสัยในเรื่องที่จะรวมเอารัสเซียเข้ามาอีก หลังจากที่แดนหมีขาวถูกขับไสออกไปเมื่อปี 2014 จากกรณีเข้ายึดและผนึกดินแดนแหลมไครเมีย
นอกจากนั้นแล้ว ยุโรปต้องการที่จะทราบเสียก่อนเป็นอันดับแรกว่า ทรัมป์จะทำอะไรกับฐานะความเป็นผู้นำของอเมริกันในระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันไม่ใช่เพียงแค่ว่าพวกชาติสมาชิกอื่นๆ ของ จี7 รู้สึกรำคาญตะหงิดๆ จากข้อเสนอตามอำเภอใจฝ่ายเดียวในเรื่องการขยายวงอย่างเป็นทางการของทรัมป์เท่านั้น แต่พวกยุโรปยังตัดสินใจแน่วแน่เสียแล้วด้วยว่า พวกเขาต้องการที่จะธำรงรักษาความร่วมมือกับจีนเอาไว้ต่อไป
ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และรัสเซีย ก็เช่นกัน ต่างมีผลประโยชน์อยู่ในการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคโดยที่มีจีนเข้ามาร่วมด้วย และต่างต้องการให้การบูรณาการนี้หยั่งลึกมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก
ความแตกแยกร้าวฉานภายในกลุ่มชาติตะวันตกในเรื่องความสัมพันธ์กับจีนนั้น ได้รับการตอกย้ำโดยแมร์เคิลในข้อสังเกตต่างๆ ที่เธอพูดเอาไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเธอยืนยันว่าเหล่าประเทศยุโรปมี “ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์อันใหญ่หลวง” ในการมีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับจีน ถึงแม้ขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแข็งขันเพื่อให้ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนแบบที่มีความเท่าเทียมกับแดนมังกร
ในคำปราศรัยสำคัญที่เธอไปกล่าวกับมูลนิธิคอนรัด-อเดนาวร์ สติฟตุง (Konrad-Adenauer Stiftung) กลุ่มคลังสมองซึ่งมีความผูกพันกับพรรคคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน ของเธอ ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมคราวนี้ แมร์เคิลบอกว่าจีนจะกลายเป็นเรื่องมีลำดับความสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่ง เมื่อรัฐบาลของเธอเข้ารับมอบตำแหน่งเป็นประธานของสหภาพยุโรปตามวาระหมุนเวียน 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้
ก้าวเดินที่ขาดการไตร่ตรอง
แมร์เคิลย้ำว่า “เราชาวยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องรับรองความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของจีน ในการประกาศอ้างฐานะความเป็นผู้นำรายหนึ่งในโครงสร้างของสถาปัตยกรรมระหว่างประเทศซึ่งดำรงอยู่ในปัจจุบัน” เธอกล่าวต่อไปว่า แม้กระทั่งพวกรัฐบาลชาติยุโรปจะมองการยืนกรานแข็งกร้าวของจีนด้วยสายตาวิพากษ์สงสัยก็ตามที แต่เธอก็จะยังมีจุดมุ่งหมายที่จะธำรุงรักษาการสนทนา “อย่างวิพากษ์สงสัยและอย่างสร้างสรรค์” กับปักกิ่งเอาไว้
แมร์เคิลเน้นถึงจุดมุ่งหมายของเธอที่จะบรรลุข้อตกลงการลงทุนกับจีนให้สำเร็จเสร็จสิ้น ตลอดจนการแสวงหาพื้นที่ร่วมกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความท้าทายต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขระดับโลก ข้อสังเกตเหล่านี้ของแมร์เคิลคือการดับความวาดหวังของทรัมป์ที่จะใช้ จี7 –หรือสิ่งที่เวลานี้เขาเรียกว่า จี10 หรือ จี11 --เพื่อสร้างกลุ่มพันธมิตรขึ้นมากดดันบีบคั้นจีน
พูดง่ายๆ ก็คือ การประกาศตามอำเภอใจฝ่ายเดียวเกี่ยวกับการขยาย จี7 นั้น ถูกรับรู้ถูกเข้าใจกันในยุโรป ว่าเป็นเพียงการต่อเนื่องของก้าวเดินที่ขาดการไตร่ตรองของเขาในตลอดระยะเวลา 3 ปีแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ซึ่งกลายเป็นการบ่อนทำลายระเบียบโลกแบบพหุภาคีที่อิงอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งพวกประธานาธิบดีอเมริกันจากทั้งสองพรรคได้สู่อุตสาหะพยายามสร้างขึ้นมาตลอดช่วงเวลากว่า 70 ปี
พฤติการณ์แบบท้าตีท้าต่อยครั้งหลังสุดของทรัมป์ที่ประกาศเจตนารมณ์ของเขาในการนำสหรัฐฯถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก ก็ทำให้ อูร์ซูลา ฟอน เดอ เลย์เอน (Ursula von der Leyen) ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และ โจเซป บอร์เรลล์ (Josep Borrell) ผู้แทนใหญ่ฝ่ายกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง/ รองประธาน (High Representative for Foreign Affairs and Security Policy/Vice-President) ของคณะกรรมาธิการยุโรป ต้องออกคำแถลงแสดงความไม่เห็นด้วยเมื่อวันเสาร์ (30 พ.ค.)
คำแถลงฉบับนี้ [5] มีเนื้อหาตำหนิวิจารณ์ทรัมป์อย่างเปิดเผย: “ขณะที่โลกยังคงกำลังต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 อย่างต่อเนื่องอยู่นี้ ภารกิจหลักสำหรับทุกๆ ฝ่ายก็คือต้องพยายามรักษาชีวิตให้ได้มากที่สุด ต้องพยายามควบคุมและบรรเทาความรุนแรงของโรคระบาดใหญ่นี้ จากแง่มุมดังกล่าวนี้ สหภาพยุโรปจึงจะยังคงให้การสนับสนุน WHO ต่อไป อีกทั้งได้จัดหาเงินทุนเพิ่มเติมให้แล้ว”
อียูยังรบเร้าทรัมป์ให้เปลี่ยนใจ: “การกระทำต่างๆ ที่เป็นการทำให้ผลลัพธ์ระดับระหว่างประเทศต้องอ่อนแอลงไปคือสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยง จากบริบทนี้เราจึงรบเร้าสหรัฐฯให้พิจารณาทบทวนการตัดสินที่ได้ประกาศออกมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง”
ในทำนองเดียวกัน ขณะที่อียูมีความเห็นขัดแย้งกับจีนเมื่อเร็วๆ นี้ในเรื่องที่ปักกิ่งจะออกกฎหมายความมั่นคงออกมาบังคับใช้กับฮ่องกง แต่ทั้งบรัสเซลส์และเมืองหลวงสำคัญๆ ของยุโรปต่างพากันวางตนเองให้ห่างออกมาจากคำพูดรุนแรงที่วอชิงตันใช้มาโจมตีเล่นงานปักกิ่ง ลงท้ายแล้วสหรัฐฯจำต้องยอมพอใจอยู่เพียงแค่การได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งกับพวกก๊วนประเทศแองโกล-แซกซอนด้วยกัน ในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ในฮ่องกง [6]
สำหรับอียูนั้น พวกเขาหันมาออกคำแถลงสั้นๆ ว่าด้วยฮ่องกงฉบับหนึ่งของตนเอง [7] ในนั้นขณะที่แสดง “ความกังวลอย่างยิ่งต่อก้าวเดินต่างๆ ที่ฝ่ายจีนใช้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม” โดยที่อียูประมาณการว่า จากความเคลื่อนไหวนี้ ปักกิ่ง “สร้างความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการบ่อนทำลายอย่างร้ายแรงต่อหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ และต่อการปกครองตนเองในระดับสูงของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง”
แต่คำแถลงนี้ก็สรุปด้วยข้อความว่า “ความสัมพันธ์ที่อียูมีอยู่กับจีนนั้น วางอยู่บนความเคารพและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การตัดสินใจคราวนี้ทำให้เกิดคำถามข้อสงสัยมากขึ้นไปอีกเกี่ยวกับความตั้งใจของจีนที่จะยึดมั่นกระทำตามพันธะผูกพันระหว่างประเทศต่างๆ ของตน เราจะหยิบยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นมาหารือในการสนทนาที่เรากำลังกระทำอย่างต่อเนื่องกับจีน”
ความแตกร้าวที่ทำให้อ่อนแอ
บทสรุปที่ปรากฏให้เห็นในเวลานี้ก็คือ การที่ทรัมป์คอยแต่ทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียวในเรื่องเกี่ยวกับ จี7 และความแตกร้าวที่บาดลึกมากขึ้นทุกทีซึ่งเขากำลังสร้างขึ้นมาระหว่างสหรัฐฯกับพวกชาติพันธมิตรนาโต้ของตน ในที่สุดแล้วอาจจะพิสูจน์ให้เห็นว่ากลายเป็นตัวทอนกำลังของอเมริกาอย่างล้ำลึก
การทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ทว่าสำหรับคราวนี้ การแตกแยกกันจริงๆ กำลังก่อตัวพัฒนาขึ้นมา การกระทำต่างๆ ของทรัมป์กำลังเรียกร้องให้ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามัคคีขั้นพื้นฐานของฝ่ายตะวันตก ซึ่งได้เคยเป็นคุณสมบัติอันมั่นคงประการหนึ่งของการเมืองโลกเรื่อยมานับตั้งแต่สงครามเย็นเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1940
สหรัฐฯซึ่งพยายามรักษาฐานะความเป็นเจ้าเหนือคนอื่นในระดับทั่วโลกเอาไว้ให้ดำรงคงอยู่ไปตลอดกาล ยังคงกำลังเดินไปบนเส้นทางของช่วง 7 ทศวรรษที่ผ่านมาในอดีต ด้วยสายตาที่ได้รับการฝึกฝนมาในเรื่องการสร้าง “ภาพศัตรู” ซึ่งได้ช่วยก่อให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจ สำหรับพันธมิตรฝ่ายทหารกับฝ่ายอุตสาหกรรม (military-industrial complex) ของตน แล้วจากนั้นมันก็กลายเป็นเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงความใฝ่ฝันในเรื่องศตวรรษใหม่ของชาวอเมริกัน (New American Century)
เนื้อหาสาระของความฝันนี้แทบไม่ได้งอกเงยออกมาจากความเป็นจริงเลย ความสนใจความกังวลห่วงใยของพวกชาติพันธมิตรรายหลักๆ ของสหรัฐฯ กำลังเบี่ยงเบนแตกต่างออกไปเรื่อยๆ จากความสนใจความกังวลห่วงใยของอเมริกา
ไม่มีใครเอาด้วย
ดังนั้น เรื่องประเภทการหย่าร้างแยกขาด (decoupling) จากจีนซึ่งทรัมป์พยายามผลักดันเรียกร้อง ในฝ่ายตะวันตกจึงไม่ได้มีใครเอาด้วยเลย โดยที่สำหรับชาติตะวันตกอื่นๆ แล้วความคิดเห็นกระแสหลักนั้นยึดมั่นอยู่กับความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับทั่วโลก ความคิดเห็นส่วนใหญ่ในโลกเวลานี้มีอยู่ว่า สังคมทั้งหลายซึ่งสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่อย่างประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้แก่สังคมซึ่งสามารถที่จะทำงานร่วมกันในระดับข้ามประเทศและข้ามภูมิภาค เพื่อช่วยเหลือเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของพวกเขาฟื้นตัวขึ้นมาได้
เมื่อประยุกต์เข้ามาอยู่ในบริบทของโรคระบาดโควิด-19 เฉพาะหน้านี้ ซึ่งกำลังก่อให้เกิดเงาดำทะมึนของความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ในท่ามกลางความหวาดกลัวอันซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ ที่ว่าเงาดำทะมึนของโรคระบาดใหญ่นี้อาจจะทอดตัวส่งผลกระทบต่อไปอีกอย่างยาวนาน มันจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่แล้วที่การฟื้นตัวซึ่งนำโดยชาติเอเชียกำลังมีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดความสนใจ ตลอดช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา สมาคมอาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนไปแล้ว โดยเข้ามาแทนที่สหภาพยุโรป
การค้าระหว่างจีนกับพวกประเทศอาเซียนแตะระดับ 85,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ถึงแม้การค้าที่ทำกับคู่ค้ารายอื่นๆ ต่างอยู่ในแนวโน้มขาลงเนื่องจากผลของโรคระบาด และเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดมีความหวังก่อตัวขึ้นมาว่า ห่วงโซอุปทานต่างๆ จะสามารถหวนคืนชีพขึ้นมาใหม่อย่างช้าๆ
จีนกับชาติเอเชียเหล่านี้ต่างมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในลัทธิพหุภาคีนิยมและการร่วมมือกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถช่วยได้ในเวลาซึ่งประชาคมโลกจำเป็นต้องรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ผลก็คือ โลกาภิวัตน์กำลังบังเกิดคุณสมบัติใหม่ๆ ของ “ภูมิภาคาภิวัตน์” (regionalization) ขึ้นมา นี่ก็เป็นสิ่งที่แมร์เคิลคิดนึกอยู่ในใจในคำปราศรัยที่เบอร์ลินของเธอเมื่อวันที่ 27 พฤษภคมที่ผ่านมา
อันที่จริง คำแถลงของทรัมป์ว่าด้วย “การปฏิบัติการเพื่อคัดค้านจีน” (Actions Against China) [8] เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ได้ส่อแสดงให้เห็นอยู่เหมือนกันว่า เขามีความตระหนักในบางระดับว่า สหรัฐฯกำลังเหนื่อยเปล่าในการพยายามสร้างภาพให้จีนกลายเป็นปีศาจร้ายขึ้นมาในคราวนี้ ทรัมป์นั้นดูแข็งกร้าวหนักแน่นมากในทางวาจา ทว่าบางทีมันก็อาจจะเป็นเพียงแค่เครื่องอำพรางที่บอบบางเต็มที คำแถลงครั้งนี้ของทรัมป์แจกแจงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่กับจีนออกมายาวเป็นหางว่าว ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับเป็นคำแถลงที่มุ่ง “เข่นฆ่าจีน” ให้จงได้ยังไงยังงั้น แต่เมื่อมองกันในภาพรวมแล้ว มันกลับไม่ได้มีการปะติดปะต่อให้กลายเป็นยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องต้องกันชุดหนึ่งขึ้นมาแต่อย่างใด
ทรัมป์บอกว่า สหรัฐฯกำลังศึกษาว่าจะทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับบริษัทจีนซึ่งไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ, สหรัฐฯจะจำกัดจำนวนนักศึกษาหลังปริญญาตรีชาวจีนและนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่มาศึกษาในศูนย์กลางการเรียนรู้และการค้นคว้าวิจัยต่างๆ ของอเมริกัน, การปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษต่อฮ่องกงจะถูกยกเลิก, พวกเจ้าหน้าที่จีนซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันในสถานการณ์ฮ่องกงอาจจะถูกแซงก์ชั่น, และสหรัฐฯกำลังยกเลิกสมาชิกภาพของตนในองค์การการค้าโลก
แต่ที่น่าประหลาดก็คือ ตลาดหุ้นทั้งหลายของสหรัฐฯพากันพุ่งขึ้นมาภายหลังการแถลงของทรัมป์คราวนี้ มันดูเหมือนกับว่าพวกนักลงทุนรู้สึกโล่งอกเมื่อเห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่ทรัมป์สรุปออกมาเหล่านี้ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเท่ากับที่เคยคาดคิดกันเอาไว้ และแน่นอนทีเดียวจากถ้อยคำภาษาที่เขาใช้ก็ยังทำให้เกิดช่องว่างไม่แน่นอนในเรื่องกำหนดเวลาและเรื่องการปฏิบัติจริงๆ ขึ้นมาอีกด้วย
จุดสำคัญที่สุดก็คือ ในคำแถลงคราวนี้ของเขาทรัมป์ไม่ได้พูดอะไรสักคำเกี่ยวกับชะตากรรมของข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน สันนิษฐานกันว่ามันยังคงเป็นงานที่ดำเนินคืบหน้าต่อไปเรื่อยๆ รวมทั้งทรัมป์มีความสำนึกเป็นอันดีว่าการค้ากับจีนอาจกลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังโควิดของสหรัฐฯ
บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน [9] ใช้ชื่อเรื่องที่ขบขันแกมเหน็บแน่นว่า “งี่เง่าหรือไม่ก็ตาม แต่ทรัมป์เหนียวแน่นกับเฟส 1 ของดีลการค้าจีน” (‘Lemon’ or not, Trump is stuck with Phase 1 of the China trade deal.)
เชิงอรรถ
[1] https://www.washingtonpost.com/nation/2020/06/01/george-floyd-protests-live-updates/
[2] https://www.mid.ru/en_GB/foreign_policy/news/-/asset_publisher/cKNonkJE02Bw/content/id/4143459
[3] http://www.xinhuanet.com/english/2020-05/30/c_139101033.htm
[4] https://www.theguardian.com/world/2020/may/31/donald-trump-postpones-g7-summit-and-signals-wider-attendance-list-in-future
[5] https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/statement_20_983
[6] https://www.state.gov/joint-statement-on-hong-kong/
[7] https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2020/05/29/declaration-of-the-high-representative-on-behalf-of-the-european-union-on-hong-kong/
[8] https://www.whitehouse.gov/briefings-statements/remarks-president-trump-actions-china/
[9] https://in.reuters.com/article/us-usa-trade-china-analysis/lemon-or-not-trump-is-stuck-with-phase-1-china-trade-deal-idINKBN238219
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย