xs
xsm
sm
md
lg

'ทรัมป์'กำลังทุ่มเดินพันหมดหน้าตัก ในการใช้'ทางเลือกแบบระเบิดนิวเคลียร์' สกัด'หัวเว่ย'เป็นเจ้าเทคโนโลยี 5จี

เผยแพร่:   โดย: เดวิด โกลด์แมน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Trump bets the farm on Huawei equipment ban
by David Goldman
18/05/2020

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ หันมาใช้สิ่งที่เรียกกันว่า “ทางเลือกแบบระเบิดนิวเคลียร์” เพื่อสกัดยับยั้งไม่ให้ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมของจีน เดินหน้าเป็นผู้นำการติดตั้งและใช้งานบรอดแบนด์ไร้สาย 5จี

หลังจากพยายามรณรงค์เป็นเวลา 2 ปีแต่ประสบความล้มเหลวในการหยุดยั้ง หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ของจีน ไม่ให้กลายเป็นผู้นำของโลกในการนำเอาบรอดแบนด์ไร้สาย 5 จีออกมาใช้งาน คณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศหันมาใช้ทางเลือกที่เรียกกันว่า ทางเลือกแห่งการทำลายล้างแบบระเบิดนิวเคลียร์ (nuclear option) อันได้แก่ การประกาศใช้อำนาจเข้าควบคุมการจำหน่ายชิปคอมพิวเตอร์ซึ่งผลิตขึ้นโดยอาศัยอุปกรณ์ของสหรัฐฯ ไม่ว่ามันจะทำขึ้นมาที่แห่งใดในโลกก็ตามที (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.commerce.gov/news/press-releases/2020/05/commerce-addresses-huaweis-efforts-undermine-entity-list-restricts)

เนื่องจากพวกบริษัทสหรัฐฯในซิลิคอนแวลลีย์ อย่างเช่น แลม (LAM) และ แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials) เป็นผู้ที่ขายอุปกรณ์ทำชิประดับไฮเอนด์ ให้แก่เหล่ายักษ์ใหญ่ผู้ผลิตนอกสหรัฐฯซึ่งกำลังปั๊มชิปออกมาให้ตามที่หัวเว่ยออกแบบสั่งทำ ด้วยเหตุนี้กฎระเบียบใหม่ที่สหรัฐฯประกาศออกมาบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ (15 พ.ค.) ที่แล้ว (โดยที่มีระยะเวลาผ่อนผัน 120 วัน) จึงมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ถึงขึ้นอาจปิดประตูไม่ให้หัวเว่ยสามารถเข้าถึงพวกชิป “ท็อปออฟเดอะไลน์” ที่บริษัทออกแบบและสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตเฉกเช่น ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์ป (Taiwan Semiconductor Manufacturing Corp ใช้อักษรย่อว่า TSMC) ได้อีกต่อไป

คำสั่งห้ามนี้อาจไม่เพียงครอบคลุมแค่พวกชิปไฮเอนด์ที่หัวเว่ยซื้อจากพวกโรงงานผลิตไต้หวัน เพื่อนำมาใช้ในสมาร์ตโฟนรุ่นไฮเอนด์และเครื่องเซิร์ฟเวอร์รุ่นไฮเอนด์ของบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพวกเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งใช้ในอุปกรณ์คลื่นความถี่วิทยุ ที่เป็นตัวให้พลังแก่สถานีฐานระบบ 5จี ของหัวเว่ยอีกด้วย

นี่จึงหมายความว่า มาตรการนี้อาจจะเป็นการถ่วงรั้งไม่ให้จีนสามารถเปิดใช้ระบบ 5จี ภายในประเทศที่มูลค่าราวๆ 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งยังทำให้การสร้างเครือข่าย 5จี ของหัวเว่ยในที่ต่างๆ ทั่วโลกต้องหยุดชะงักลงอีกด้วย ทั้งนี้ตามความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้หลายราย

ก่อนหน้านี้ในปีนี้ คณะบริหารทรัมป์ได้มีการเสนอและถกเถียงกันเกี่ยวกับแผนการจำนวนหนึ่งที่จะนำมาใช้แข่งขันกับหัวเว่ย เป็นต้นว่า วิธีการสร้างเครือข่าย 5 จี แบบ “5 จี เสมือน” (virtual 5G) ซึ่งมุ่งใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวนำ แทนที่ฮาร์ดแวร์ซึ่งหัวเว่ยก้าวหน้าไปไกลแล้ว หรืออีกทางเลือกหนึ่งที่มีการพูดกัน คือการที่สหรัฐฯเข้าซื้อบริษัทอีริคสัน ของสวีเดน โดยที่บริษัทนี้กำลังเป็นผู้สร้างเครือข่าย 5จี รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอยู่ในเวลานี้

อีริคสันในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 28,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อบวกค่าธรรมเนียมในการเข้าซื้อเข้าครอบครองกิจการ และใส่งบด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มให้อีกราว 15,000 ล้านดอลลาร์ นั่นก็คือด้วยเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯก็จะมีบริษัทแชมเปี้ยนแห่งชาติที่จะใช้แข่งขันกับหัวเว่ย ขณะที่สงครามเทคโนโลยีอาจจะทำให้สหรัฐฯต้องเสียเงินเสียทองมากมายกว่าจำนวนนี้หลายเท่าตัว

ถ้าหากจีนตอบโต้เอาคืนด้วยการสั่งให้พวกบริษัทเทคสหรัฐฯต้องปิดกิจการถอนตัวออกไปจากตลาดจีน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือการค้าทางเทคโนโลยีข้ามแปซิฟิกเป็นอันพังครืน เพิ่มความเลวร้ายให้แก่การทรุดตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯซึ่งกำลังอยู่ในระดับเลวร้ายสุดๆ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาอยู่แล้ว

ทั้งสองฝ่ายต่างมีหวังจะต้องเจ็บปวดได้รับความเสียหาย บางทีอาจถึงขั้นสาหัสทีเดียว ข้อพิพาทนี้ยังมีศักยภาพที่จะบานปลายขยายตัวเข้าสู่สงครามการค้าแบบเต็มขั้นไม่มีเบรค ซึ่งจะผลักดันให้โลกดำดิ่งลงสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (depression)

มองกันถึงระยะกลาง จีนจะสร้างตัวทดแทนต่างๆ เพื่อใช้แทนอุปกรณ์ทำชิปของสหรัฐฯขึ้นมา เวลานี้จีนเป็นผู้ซื้อเซมิคอนดักเตอร์เกือบๆ 60% ของทั่วโลก และการสูญเสียตลาดจีนจะทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อเมริกันกลายเป็นอัมพาต

ตอนที่สหรัฐฯสั่งพวกบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์อเมริกันหยุดขายชิปให้ แซดทีอี (ZTE) บริษัทอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับ 2 ของจีนในเดือนเมษายน 2018 บริษัทแห่งนั้นถึงขั้นต้องหยุดดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเดือนธันวาคม 2018 หัวเว่ยก็ได้ออกแบบชิปเซ็ตที่จะใช้กับสมาร์ตโฟนของบริษัทเองขึ้นมา ซึ่งมีความสามารถทัดเทียมกับชิปเซ็ตที่ผลิตโดยบริษัทชิปอเมริกันอย่างควอลคอมม์

TSMC เป็นผู้ผลิตชิปเหล่านั้นให้หัวเว่ย และนี่แหละคือสิ่งที่กฎระเบียบใหม่ของสหรัฐฯคุกคามต้องการสกัดกั้น

กฎระเบียบใหม่ของสหรัฐฯนี้ กำลังผลักดันให้โลกเดินหน้าเข้าสู่ดินแดนที่ยังไม่เคยมีการสำรวจกันมาก่อน เซมิคอนดักเตอร์หรือชิป เป็นตัวผลักดันทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมเป็นแบบดิจิตอล โดยที่การออกแบบและการผลิตชิปเหล่านี้ในปัจจุบันเป็นกระบวนการที่ผสมผสานเทคโนโลยีจากบริษัทกิจการเป็นพันๆ หมื่นๆ แห่งในประเทศต่างๆ หลายสิบประเทศ

เวลานี้สิ่งที่กำลังเฝ้าจับตามองกันอยู่ ได้แก่ ปักกิ่งจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรต่อความเคลื่อนไหวเล่นงานหัวเว่ยคราวนี้ โดยที่ดูเหมือนว่าจีนกำลังพิจารณามาตรการตอบโต้ซึ่งพุ่งเป้าไปยังบริษัทอเมริกันอย่าง แอปเปิล, ควอลคอมม์, โบอิ้ง, และซิสโก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำของจีน รับมือได้ไม่ดีเลยในระยะเริ่มแรกที่เกิดโรคระบาดคราวนี้ และได้รับความเสียหายในรูปของการเสื่อมเสียศักดิ์ศรีเกียรติภูมิมากพอดู เขาไม่สามารถที่จะทนแบกรับการถูกหมิ่นหยามจากสหรัฐฯได้อีก และจะต้องตอบโต้คิดบัญชีอย่างสาสม

การที่วอชิงตันใช้อำนาจบังคับในแบบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือการขายผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยอุปกรณ์ของอเมริกันเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนเลย ระหว่างช่วงสงครามเย็น พวกบริษัทต่างประเทศที่ซื้อเทคโนโลยีอเมริกันต้องให้คำรับประกันเอาไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนแล้วว่า ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาทำขึ้นจะต้องไม่ถูกขายไปให้แก่สหภาพโซเวียตและพันธมิตรของมอสโก

สำหรับในกรณีที่เกิดขึ้นปัจจุบันนี้ TSMC และผู้ผลิตชิปรายอื่นๆ ซื้อหาอุปกรณ์อเมริกันไปทำผลิตภัณฑ์ให้แก่หัวเว่ยและบริษัทจีนรายอื่นๆ กระทั่งหัวเว่ยเวลานี้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง โดยแซงหน้า แอปเปิล ไปเรียบร้อยแล้ว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะต้องวุ่นวายอลหม่านกันยกใหญ่ ในการโยกย้ายเอาส่วนประกอบอเมริกันจำนวนมากออกไปจากห่วงโซ่การผลิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ยังไม่เคยปรากฏตัวอย่างมาก่อนเลยเช่นเดียวกันสำหรับการที่สหรัฐฯพยายามหยุดยั้งการนำเอาเทคโนโลยีสำคัญๆ ออกมาใช้งาน –ในกรณีนี้คือ บรอดแบนด์ 5จี-- แทนที่จะเข้าเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาใช้งานเสียเองเลย ถ้าหากหัวเว่ยเจออุปสรรคจากกฎระเบียบใหม่ของสหรัฐฯ จนไม่สามารถได้รับซัปพลายอุปกรณ์ความถี่วิทยุจากไต้หวันแล้ว บริษัทก็จะไม่สามารถกระทำตามข้อตกลงที่ไปเซ็นไว้ในการสร้างสถานีฐานให้ได้ 500,000 แห่ง

มีความเป็นไปได้ที่แผนการของหัวเว่ยในการนำเอา 5จี ออกมาใช้งานในยุโรป จะต้องเลื่อนช้าออกไป 1 ปีหรือกว่านั้น เป็นการให้เวลาแก่วอชิงตันเพิ่มมากขึ้นในการขบคิดหาทางเลือกอื่นๆ มาต่อสู้ กระนั้นก็ยังมีความเป็นไปได้เหมือนกันว่า ความเคลื่อนไหวของวอชิงตันจะทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯกลายเป็นคนแปลกประหลาดเข้าหมู่เข้าพวกไม่ได้ ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของโลกพากันค้นหาทางเลือกอื่นๆ มาใช้แทนที่เทคโนโลยีของสหรัฐฯ

วอชิงตันจึงกำลังเล่นพนันแบบวางเดิมพันกันหมดหน้าตัก ด้วยความคาดหวังว่าจีนและหุ้นส่วนต่างๆ ของแดนมังกรจะไม่สามารถค้นหาหนทางแก้ปัญหาได้ทันเวลา แต่ถ้าพวกเขาเกิดสามารถทำได้ กฎระเบียบใหม่นี้ก็จะกลายเป็นเสียงเปล่งไชโยโห่ร้องครั้งสุดท้ายในฐานะที่เป็นมหาอำนาจด้านเทคของอเมริกา หากเป็นเมื่อสัก 10 ปีก่อน จีนคงจะได้แต่นิ่งอึ้งบูดบึ้งทำอะไรไม่เป็น ทว่าในระหว่าง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาพวกมหาวิทยาลัยจีนได้เติบใหญ่เพาะกล้ามบนเส้นทางขึ้นสู่ระดับเวิลด์คลาส ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญมากประการหนึ่งที่ต้องขอบคุณก็คือ การที่มีคนจีนซึ่งได้ดีกรีปริญญาเอกติดตัวมาจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน พากันเดินทางกลับบ้านจำนวนเป็นพันๆ หมื่นๆ คน

อุตสาหกรรมเทคของจีนในเวลานี้มีทั้งความกว้างขวางและความล้ำลึกที่สามารถเข้าโจมตีแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในแง่มุมต่างๆ ทั้งหมดได้ ตลอดช่วงเวลาที่เกิดสงครามเทค จีน-อเมริกัน ซึ่งกำลังบานปลายขยายตัวออกไปทุกทีนั้น ฝ่ายจีนได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการตอบโต้กลับด้วยอัตราความเร็วซึ่งฉับไวยิ่งกว่าที่วอชิงตันตลอดจนฉันทามติของอุตสาหกรรมนี้คาดหมายกัน

ความเสี่ยงจึงมีอยู่ว่า สหรัฐฯอาจจะถึงขั้นสูญเสียเพชรประดับมงกุฎ –นั่นคือความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ นี่คือเหตุผลที่ทำไมคณะบริหารทรัมป์จึงได้ลังเลอยู่นานก่อนหน้านี้ ในเรื่องการประกาศห้ามฝ่ายที่สามซึ่งใช้อุปกรณ์อเมริกัน ส่งออกชิปให้แก่บริษัทจีน

เมื่อปลายปี 2019 ด้วยการรบเร้าของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทำเนียบขาวได้เคยปฏิเสธไม่ใช้ทางเลือกระเบิดนิวเคลียร์ หลังจากที่พวกบริษัทออกแบบชิปไฮเทคของอเมริกาต่างเตือนว่า การตอบโต้เอาคืนจากฝ่ายจีนจะทำให้พวกเขาต้องถอยกรูดถอนตัวออกไปจากตลาดเอเชีย ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของทำเนียบเนียบขาว แลร์รี คุดโลว์ (Larry Kudlow) บอกกับ วอลล์สตรีทเจอร์นัล เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ว่า “เราไม่ต้องการที่จะทำให้พวกบริษัทยิ่งใหญ่ของเราต้องถอยต้องสูญเสียธุรกิจ”

ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ทวีตในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ว่า “สหรัฐฯไม่สามารถ & ก็จะไม่ กลายเป็นสถานที่ยากลำบากสำหรับการตกลงในเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ของการที่ประเทศทั้งหลายจะมาซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา รวมทั้งจะไม่มีการใช้ข้อแก้ตัวเรื่องความมั่นคงแห่งชาติอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทำให้บริษัทของเราจะถูกบังคับให้ต้องถอยออกไป เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้”

แต่แล้วทรัมป์ก็เปลี่ยนความคิด ภายหลังประณามจีนในเรื่องโรคระบาดไวรัสโคโรนา ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาด้านการค้าของเขา ประกาศในสัปดาห์ที่แล้วว่า “เรากำลังทำสงครามกับจีน” และกล่าวหาจีนว่าจงใจส่งผู้โดยสารที่ติดเชื้อขึ้นเที่ยวบินระหว่างประเทศจากเมืองอู่ฮั่น เพื่อแพร่กระจายเชื้อไวรัส

การที่วอชิงตันมีจุดยืนในทางเป็นศัตรูกับจีนเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ ผู้สังเกตการณ์บางรายมองว่าเป็นถ้อยคำโวหารในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ทรัมป์นั้นไม่ใช่ว่าต้องโยนลูกระเบิดเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ จึงจะได้คะแนนโหวตหรอก

ยังมีแรงจูงใจอีกประการหนึ่งซึ่งดูจะเป็นลางร้ายมากกว่าด้วย กล่าวคือ อเมริกันกำลังประสบกับปัญหาจีดีพีจะต้องตกฮวบในช่วงปี 2020 บางทีอาจจะถึง 10% ขณะที่การฟื้นตัวก็มีความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง ในเวลาที่อเมริกากำลังเปิดกิจกรรมทางธุรกิจขึ้นมาใหม่อย่างช้าๆ โดยที่ไม่มีมาตรการด้านการตรวจเทสต์หาเชื้อ หรือการการติดตามหาผู้ติดต่อสัมผัสโรคอย่างกว้างขวางมารองรับ

พวกเศรษฐกิจต่างๆ ในเอเชีย –ซึ่งสามารถควบคุมโรคระบาดกันเอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว –กำลังหวนกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และการค้าภายในเอเชียด้วยกันก็กำลังเฟืองฟู (ดูเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง Who’s decoupling from whom? ใน https://asiatimes.com/2020/05/whos-decoupling-from-whom/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว เรื่อง ข้อมูลชี้ว่า ศก.จีนกับชาติเอเชียกำลังรวมตัวเข้าด้วยกันมากขึ้น ถึงแม้วอชิงตันตั้งท่า ‘หย่าร้าง’ จากปักกิ่ง ใน https://mgronline.com/around/detail/9630000051291)

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ไมค์ เอสเปอร์ส (Mike Espers) กล่าวเตือนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมว่า จีนจะใช้โรคระบาดใหญ่คราวนี้ไปในการขยายอำนาจอิทธิพลของตนในยุโรป “ในฐานะที่เป็นหนทางหนึ่งสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่งยวดและในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง (ของสหรัฐฯ) ในระยะยาว”

หัวเว่ยกำลังเสนอแอปพลิเคชั่นทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพออกมาเป็นชุดใหญ่ โดยมีทั้ง การตรวจวินิจฉัยโรค, โทรเวชกรรม (telemedicine), และการวิจัยทางเภสัชกรรม ในฐานะที่เป็นสิ่งที่กระจายแยกย่อยจากผลิตภัณฑ์ 5จี เรือธงของบริษัท ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีนเป็นตัวแสดงบทบาทสำคัญตัวหนึ่งในการปราบปรามยับยั้งโรคระบาดครั้งนี้ และแดนมังกรก็ตั้งความหวังจะเป็นผู้นำในด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ความสำเร็จของจีนในการนำเอาปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้เพื่อการควบคุมโรคระบาดนั้น เป็นจุดขายที่มีความสำคัญมาก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/04/covid-19-focus-on-what-china-did-right-not-wrong/)

แต่เวลาเดียวกันนั้น จีนก็มีการเล่นที่ผิดพลาดอย่างย่ำแย่ในสิ่งซึ่งควรจะทำให้ตนเองได้แต้ม สำหรับข้อกล่าวหาของนาวาร์โรที่ว่าจีนจงใจแพร่โรคระบาดนั้นเป็นเพียงคำพูดไร้สาระที่มุ่งทำให้เกิดความแสบร้อนเท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ก็ยังไม่ได้แสดงหลักฐานให้เห็นเสียทีในเรื่องที่ว่า โควิด-19 มาจากห้องแล็บไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น ตามที่เขาตั้งข้อกล่าวหาอย่างเอะอะมะเทิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทว่าจีนได้หลีกเลี่ยงไม่ยอมพูดความจริงอยู่หลายสัปดาห์ทีเดียวก่อนที่จะยอมรับว่ากำลังเกิดโรคระบาดขึ้นมาแล้ว –ถึงแม้มีเสียงเตือนจากพวกนักไวรัสวิทยาชั้นนำของฝ่ายตะวันตกตั้งแต่ตอนต้นๆ ของเดือนมกราคมว่า โลกเราอาจจะกำลังเจอกับโรคระบาดใหญ่ที่แพร่ลามไปทั่วพิภพ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sciencemag.org/news/2020/01/world-alert-potential-spread-new-sars-virus-found-china)

พวกนักวิทยาศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกมีภาพที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับความเสี่ยงนี้ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ทว่านอกจากข้อยกเว้นไม่กี่รายแล้ว ต่างกลับประสบความล้มเหลวในการโน้มน้าวชักชวนรัฐบาลของพวกตนให้ลงมือดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในอีกด้านหนึ่ง ความพยายามอย่างอืดอาดของปักกิ่งในการซื้ออิทธิพลโดยอาศัยสิ่งที่เรียกกันว่า “การทูตหน้ากากอนามัย” (face-mask diplomacy) ก็สร้างความรำคาญให้แก่พวกประเทศตะวันตกซึ่งให้ความเห็นอกเห็นใจจีนมากที่สุด

วอชิงตันวาดหวังว่าการที่จีนต้องสูญเสียหน้าตาจากโรคระบาด จะทำให้ตนเองเดินหน้าเข้าบังคับควบคุมเรื่องเทคโนโลยีได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้น

แต่การตอบโต้เล่นงานจีนด้วยการสั่งห้ามขายชิปแบบใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเช่นนี้ ถือเป็นการตอบโต้ที่มีความเสี่ยงสูงมาก แลม, แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์, และบริษัทอเมริกันที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ทำชิปรายอื่นๆ เป็นผู้มีฐานะครอบงำตลาดในปัจจุบัน ถึงแม้ เอเอสเอ็มแอล (ASML) ของเนเธอร์แลนด์ มีฐานะเป็นผู้ผูกขาดเรื่อง extreme ultraviolet lithography (EUV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ในการทำพวกชิปที่มีความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์สูงสุด

เมื่อปลายปีที่แล้ว สหรัฐฯพยายามเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้สกัดกั้นการขายเครื่องจักรEUV เครื่องหนึ่งแก่จีน ปีที่แล้ว บัณฑิตยสถานทางวิทยาศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Sciences) ออกมาประกาศว่าได้พัฒนาเครื่องจักร EUV ของตนเองได้สำเร็จ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.tbcoer.com/en/new/new-43-290.html) ถึงแม้มันยังอยู่ในระดับห่างไกลจากการนำเอามาใช้เพื่อการผลิตขนาดใหญ่ได้จริงๆ ถ้าหากจีนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้ของตนและทุ่มเททรัพยากรให้ในระดับเดียวกันกับที่สหรัฐฯเคยให้แก่ “โครงการแมตฮัตตัน” (Manhattan Project โครงการทำอาวุธนิวเคลียร์) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว จีนก็อาจจะสามารถพัฒนาสิ่งทดแทนต่างๆ ออกมาอย่างรวดเร็วกว่าที่สหรัฐฯคาดหมายไว้

ตามความเห็นของ ดร.แฮนเดล โจนส์ (Dr Handel Jones) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส สแตรเตจีส์ (International Business Strategies) บริษัทที่ปรึกษาด้านเซมิคอนดักเตอร์รายสำคัญ “การปิดกั้นไม่ให้ (TSMC และผู้ผลิตชิปรายอื่นๆ) ขาย (ชิปขนาด) 5 นาโนเมตร และ 7 นาโนเมตร ให้แก่หัวเว่ย” นั้น “จะมีผลกระทบอย่างใหญ่โตต่อความสามารถของหัวเว่ยในการรักษาความสามารถในการแข่งขันในด้านสมาร์ตโฟน

การปิดกั้น (การขายชิปใช้ใน) อุปกรณ์ความถี่วิทยุและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้แก่หัวเว่ย จะทำให้การสร้าง 5จี ในจีนต้องหยุดชะงักลง แต่นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ (ปักกิ่ง)ไม่สามารถอดทนอดกลั้นได้ แม้กระทั่งการเปลี่ยนไปออกแบบ (ชิป เพื่อให้) เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp บริษัทผู้ผลิตชิปของจีนแผ่นดินใหญ่) เป็นผู้ผลิตชิป ในระดับ 14 นาโนเมตร ก็จะยังจะต้องใช้เวลาราว 1 ปี”

“มันจึงเป็นสถานการณ์ที่ทั้งร้ายแรงมากและวูบวาบไร้ความแน่นอนเป็นอย่างมาก” ดร.โจนส์กล่าวต่อ “(กฎระเบียบใหม่นี้) มีการให้ระยะเวลาผ่อนผัน 120 วัน ซึ่งเป็นที่วาดหวังกันว่าจะมีการประนีประนอมกันเกิดขึ้นมาได้”

เวลาเดียวกัน จีนก็กำลังพิจารณาว่าตนเองจะดำเนินการตอบโต้แก้เผ็ดอย่างไรได้บ้าง หากพิจารณาจากหลักการของทฤษฎีเกมระดับเบื้องต้น บ่งบอกว่าทางฝ่ายจีนจะตอบโต้ในแบบมุ่งให้บังเกิดผลสูงสุด นั่นคือต้องเป็นการตอบโต้ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุดในเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังอยู่ในสภาพอ่อนแอลงอยู่แล้ว

ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษของทางการจีนเขียนเอาไว้ในฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม ดังนี้: “นักวิเคราะห์ทางอุตสาหกรรมบางรายเชื่อว่า การตอบโต้เล่นงานใส่พวกบริษัทสหรัฐฯอย่างเช่น ควอลคอมม์ และ แอปเปิล อาจเร่งรัดให้บริษัทเหล่านี้ไปล็อบบี้คัดค้านการใช้มาตรการจำกัดดังกล่าวเหล่านี้ ในเมื่อผลประโยชน์ของบริษัทพวกนี้ ในตลาดจีนนั้นมีความสำคัญสำหรับการประคับประคองให้อัตราการเติบโตขยายตัวของพวกตนดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น รายรับทั้งหมดของควอลคอมม์นั้น 65% ได้มาจากในจีน ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อมวลชนในเดือนสิงหาคม 2019”
กำลังโหลดความคิดเห็น