“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
แม้ผมจะไม่อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่เมื่อมีข่าวออกมาทำนองว่า บางคนได้เงินบางคนไม่ได้ ถ้าแค่นั้นอาจจะเป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐคงไม่สามารถจ่ายเงิน 5,000 บาทได้กับทุกคนเพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ มีข่าวว่า บางคนไม่ควรได้แต่ได้รับ และบางคนควรได้แต่ไม่ได้รับ ก็เกิดคำถามขึ้นในใจอย่างมาก
รัฐบาลออกข่าวว่ามีเป้าหมายว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท ประมาณ 9 ล้านคน แต่มีผู้ลงทะเบียนมากถึง 21 ล้านกว่าคน ทำให้ต้องมีคนพลาดหวังมากกว่าคนที่จะได้รับเงิน ตอนแรกมีข่าวว่า การคัดกรองเป็นการคัดกรองโดย AI ( artificial intelligence)หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็ยังสงสัยว่า รัฐบาลมีเครื่องมือนี้จริงๆหรือ
ผมพยายามไปค้นดูว่า การกรอกข้อความในเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันนั้นต้องการข้อมูลอะไรบ้าง พบว่านอกจากข้อมูลวันเดือนปีเกิดเลขบัตรประชาชนที่อยู่ที่ติดต่อได้อาชีพอะไรรายได้ต่อเดือนแล้ว ข้อมูลในการประกอบอาชีพ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19อย่างไร เช่น ธุรกิจปิดชั่วคราว ถูกพักงานเลิกจ้าง หรือรายได้ลดลง มีนายจ้าง ไม่นายจ้าง ถ้าไม่มีนายจ้างประกอบอาชีพอิสระประกอบอาชีพอะไร
จากนั้นก็ไปรอวัดดวงว่าจะได้รับเงินหรือไม่
ต่อมา คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเบื้องหลังของผู้สร้างเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า “คำนิยามว่า AI มันกว้างมาก เมื่อก่อนเป็นการนิยามว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีแทนคน แต่ในตอนนี้มันพัฒนาไปไกลถึงการทำ Machine Learning หรือ Deep Learning แล้ว แต่ในกรณีเราไม่ทิ้งกัน ทางทีมไม่สามารถใช้ Machine Learning หรือ Deep Learning ได้ เพราะต้องใช้ข้อมูลมหาศาล จึงใช้ AI แบบขั้นพื้นฐาน อีกทั้งจาการที่คนอาจจะคาดหวังเมื่อได้ยินคำว่า AI ซึ่งจะต้องฉลาดมาก แต่ในกรณีนี้ทางทีมไม่ได้ให้ AI นั้นคิดเอง ต้องมีคนกำหนดและป้อนข้อมูลให้ คือการใช้ AI แบบเบสิก”
สรุปคือ เราไม่ได้ใช้ความเป็นเลิศของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในคัดกรองแต่อย่างใด พูดง่ายๆ ก็คือ ใครที่กรอกข้อความได้ตรงกับอาชีพที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะได้รับนั่นเอง และจำนวนนี้ก็ยากที่จะตรวจสอบว่า ข้อมูลที่กรอกนั้นจริงหรือเท็จ เพียงแต่ถ้าตอบตรงกับที่กำหนดเอาไว้ก็ได้รับเงินไป
ก่อนหน้านั้นมีข่าวจากกระทรวงการคลังสำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา มีดังนี้ เป็นผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน ไม่เป็นผู้มีสถานะนักเรียนหรือนักศึกษา ณ วันลงทะเบียน ไม่เป็น ข้าราชการ อาชีพเกษตรกรรม หรือไม่ทำงาน เป็นลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอิสระในธุรกิจที่ถูกสั่งปิด อาทิ ผับ/บาร์, ร้านทำผม, นวด, สปา, ขายของในตลาดที่ถูกสั่งปิด หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ คือ วินมอเตอร์ไซค์, แท็กซี่, ธุรกิจท่องเที่ยว, ไกด์, มัคคุเทศก์
โดยมีการให้ข้อมูลไว้เลยว่า สำหรับ 4 กลุ่มอาชีพ ที่รัฐมีข้อมูลและตรวจสอบได้เร็ว มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา มีดังนี้
แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ มัคคุเทศก์ ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล
กรณีผู้ค้าสลากกินแบ่งก็มีคำถามนะครับว่า รัฐบาลไม่ได้งดการออกสลากยาวนาน แต่มีการงดไป 2 งวดซึ่งเป็นการร้องขอของผู้ค้าเอง ทำไมถึงมีสิทธิ์ได้เงินช่วยเหลือยาวนานถึง 3-6 เดือน
เมื่อพิจารณาแล้วผมว่ามันมีปัญหามากโดยระบบของมัน เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้จริง และไม่รู้ว่าคนที่ได้รับนั้นเป็นคนที่เดือดร้อนจริงๆ หรือไม่ ถ้าจริงก็ดีไป หรือประกอบอาชีพที่คลังกำหนดไว้จริงหรือไม่เพราะไม่มีฐานข้อมูลสำหรับตรวจสอบ ซึ่งถ้าไม่จริงเงินก็รั่วไหล และเมื่อรัฐบาลกำหนดไว้ว่าจะจ่ายให้จำนวนกี่คนคนที่ควรได้ก็จะไม่ได้รับ
รวมทั้งไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่า การตรวจสอบข้อมูลของคนที่ได้รับกับไม่ได้รับนั้นมีความเที่ยงธรรมหรือไม่ เพราะมีคนบอกว่า เขาไม่ได้รับแต่เพื่อนที่มีอาชีพเดียวกันได้รับอย่างนี้เป็นต้น แถมบางคนเล่าว่า ไม่รู้ระบบคัดกรองอย่างไร แต่เขาไม่ได้รับโดยระบบอ้างว่าเป็นเกษตรกรทั้งที่ไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องนั้นไปเลย กลายเป็นเหมือนกับการเสี่ยงดวง
ที่สำคัญการยื่นขอเงินแบบนี้ทำให้คนที่เข้าไปถึงระบบอินเตอร์เน็ตไม่มีความรู้ไม่สามารถยื่นของเงินได้ คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน คนที่หาเช้ากินค่ำ เช่น หาบเร่ แผงลอย เด็กขายพวงมาลัย คนเก็บของเก่าขาย ฯลฯ เป็นลูกจ้างแรงงานก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เช่น ร้านวัสดุก่อสร้างปิดหมด หรืองานที่ต้องทำกลางคืนก็ติดเคอร์ฟิวเป็นต้น คนเหล่านี้กลับไม่มีโอกาสได้รับเงินเยียวยา
ทั้งที่รัฐควรจะมีมาตรการอื่นที่ช่วยคนเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตสามารถเข้าถึงโอกาสเพื่ออุดรูรั่วแต่กลับไม่ได้ทำเลย
ดร.สมชัย จิตสุชน จากทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการแจกเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ว่า วิธีการแจกเงินของรัฐบาลมีปัญหามาก เพราะบางอาชีพได้เงิน บางอาชีพไม่ได้เงิน ขณะที่การนำระบบ AI มาใช้ในการคัดกรองว่าใครควรได้รับเงินเยียวยาก็พบว่ามีปัญหามาก ทำให้คนที่เดือนร้อนจริงๆและสมควรได้รับเงินเยียวยาต้องตกหล่นไป ดังนั้น จึงไม่ควรใช้อาชีพเป็นเกณฑ์คัดกรอง แต่ใช้เกณฑ์ของการถือครองที่ดินและทรัพย์สินจะมีความเหมาะสมกว่า
ดร.สมชัย ชี้แนะว่า ควรใช้วิธีคัดกรองแบบเดียวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ ใช้ข้อมูลการถือครองที่ดิน บ้าน รถยนต์ และบัญชีเงินฝาก แล้วแยกคนรวยหรือคนที่อยู่ในครอบครัวที่รวยออก หรือหากรัฐบาลจะใช้เกณฑ์ว่าใครที่มีบ้านและที่ดินเกิน 3 ล้านบาท จะไม่ได้เงินเยียวยา ก็จะทำให้มีคนที่ได้เงินเยียวยา 8-9 ล้านคนตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้
รัฐบาลต้องตอบคำถามให้ชัดว่า ทำไมการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทนั้นจึงเกิดปัญหา รัฐบาลมีความมั่นใจแค่ไหนว่า การแจกเงินตามวิธีการที่ออกแบบมาจะเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและคนที่ควรจะได้รับจะได้รับกันอย่างทั่วหน้า ไม่ใช่คนที่มีทักษะในการกรอกข้อมูล เพราะรู้ว่าคนจำนวนมากรัฐบาลยากที่จะตรวจสอบได้อย่างจริงจัง
และต้องตอบให้คนที่ลงทะเบียนอีก 10 กว่าล้านคนใน 21ล้านคนให้เขาหายสงสัยว่า ทำไมเขาไม่ควรได้รับ
นอกจากนั้นแล้วผมก็สงสัยนะครับว่า เมื่อคนที่รัฐตั้งเป้าไว้ 9 ล้านคนนั้นเป็นคนละฐานกับคนที่ลงทะเบียนไว้ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านคัดกรองแล้ว 11.4 ล้านคนแล้ว คนที่เป็นคนจนจริงๆ ที่ได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐไปซื้อของเดือนละ 200-300 บาท ซึ่งเป็นคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเหล่านี้รัฐจะช่วยเหลือเขาอย่างไร หรือมองว่า เขาเคยชินกันความยากจนและได้เงิน 200-300 บาทจากรัฐซึ่งน้อยกว่ามากอยู่แล้ว
เพราะคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน 11.4 ล้านคนที่อยู่ในบัญชีสวัสดิการแห่งรัฐนั้น น่าจะเดือดร้อนกว่าคน 9 ล้านคนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างมาก ผมไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่ควรช่วยเหลือกลุ่มคนที่ตั้งเป้าไว้ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน 9 ล้านคนนะครับ แต่ตั้งคำถามถึงคนอีก 11.4 ล้านคนด้วยว่าเราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ยังไม่ได้ยินมาตรการที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เลย เพราะได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโรคโควิด-19เช่นเดียวกัน
ส่วนคนกลุ่มที่อยู่ข้างบนของกลุ่มคนที่รัฐจะแจก 9 ล้านคนคือนายจ้าง ผู้ประกอบการและกลุ่มทุน รัฐมีมาตรการออกมาที่จะช่วยเหลืออยู่แล้วทั้งการให้สินเชื่อ และมาตรการทางภาษี รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มทุนในการออก “พระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน” วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยว่าทำไมต้องอุ้มตราสารหนี้เอกชน แต่เท่าที่ฟังหลายฝ่ายผมก็คิดว่ามันจำเป็น ถ้าระบบการเงินพังมันก็กระเทือนไปหมด
สะท้อนว่าคนระดับกลางล่างไปถึงกลุ่มบนสุดนั้นรัฐได้มีมาตรการออกมาช่วยเหลือแล้ว แต่คนที่ยากจนอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนก็เป็นเรื่องที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมไปตามลำพัง และยิ่งจะตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้ดิ่งลึกลงไปอีก
ผมไม่ได้ติดใจที่รัฐจะช่วยผู้ประกอบการและกลุ่มทุนนะครับ เพราะถ้ากลุ่มเหล่านี้อยู่ไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบลงมาถึงคนละกลางลงล่างอย่างเป็นวงกว้าง และมีผู้ห่วงว่า หลังจากวิกฤตโควิดผ่านพ้นไปแล้วจะมีผู้ตกงานจำนวนมาก โดยดร.สมชัย ชี้ว่า หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลากยาวไปอีก 6 เดือนถึง 1 ปี มีความเป็นไปว่าสัดส่วนคนจนในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 28.4% ของประชากรทั้งหมด จากปี 2561 ที่มีสัดส่วนคนจน 9.9% หรือมีจำนวนคนจนเพิ่มเป็น 18.9 ล้านคน จากปี 2561 ที่มีจำนวน 6.68 ล้านคน
**คำถามว่ารัฐบาลเตรียมรับมือกับคนจนที่เพิ่มขึ้นอย่างไร ถ้าคนเกือบ 1 ใน 3ของประเทศอยู่ใต้เส้นความยากจน**
ยอมรับว่าโจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาล ถ้าเราจะเอาแบบบางประเทศที่แจกเงินกันอย่างทั่วถึงทุกครัวเรือนก็มีคำถามว่า จะเอาเงินมาจากไหน เราไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวย แต่คิดว่า คงไม่มีใครเรียกร้องจากรัฐบาลขนาดนั้นเพราะคนส่วนใหญ่ล้วนเข้าใจถึงสถานะของประเทศเราดี
แต่รัฐบาลก็ควรตอบคำถามให้ได้ว่ามาตรการเยียวยาที่ออกนั้น ได้ช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึงจริงๆ และยุติธรรมต่อทุกฝ่ายแล้วหรือยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan