xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตหลังโควิด-19 กับบทเรียนที่เชื้อโรคสอนมนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

สถานการณ์ภายใต้การทำสงครามกับเชื้อโรคของคนทั้งโลกทุกวันนี้นั้น น่าจะคิดเหมือนกันว่าทำอย่างไรให้ประชาชนปลอดภัยจากเชื้อโรคร้ายให้มากที่สุด ส่วนผลพวงจากสงครามที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ค่อยๆหามาตรการแก้ไขไป

 ไม่มีใครสนใจหรอกครับว่าปีนี้เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นไปเท่าไหร่ กระทั่งไม่สนใจหรอกว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะติดลบไปเท่าไหร่ เพราะครั้งนี้เป็นศึกท้าทายวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ผู้พิชิตโลกที่สำคัญที่สุด 

เศรษฐกิจต่อให้ล้มไปกี่ครั้งก็ฟื้นกลับมาได้ในวันหนึ่ง แต่ชีวิตของมนุษย์แม้ทุกคนจะมีอายุขัยและต้องตายดับไปทั้งสิ้น แต่ในวันที่ยังป้องกันได้ว่าเราไม่ควรจะจากไปจากพิษภัยที่คาดไม่ถึงหรือจากไปในเวลาอันควร เราก็ต้องหาทางปกป้องชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเสียก่อน

แม้ว่า เราเคยเจอกับภัยพิบัติของเชื้อโรคมาแล้วในอดีตเคยเสียชีวิตเป็นล้านๆ คน แต่ไม่ใช่ในยุคที่วิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์เจริญถึงขีดสุดเช่นทุกวันนี้ มันจึงเปรียบเทียบไม่ได้ว่า อดีตและปัจจุบันนั้นแตกต่างกันอย่างไร

ต้องชื่นชมรัฐบาลไทยว่า แม้จะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ก็ตั้งมั่นรับมือกับสถานการณ์ได้ดีในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราเป็นประเทศแรกที่นำเข้าไวรัสโคโรน่าจากจีน จนถึงตอนนี้ก็ยังต้องถือว่าเรายังรับมือได้ดี แม้ว่าจะเกิดความผิดพลาดเป็น super spreader จากเหตุการณ์ที่สนามมวยลุมพินี จนวันนี้ไต่ระดับขึ้นจำนวน 2,000 กว่าคนก็ตาม

 และเห็นได้ชัดเจนว่า เราอยู่รอดด้วยฝีมือของบรรดาเทคโนแครต ความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ไม่ใช่ฝีมือของนักการเมือง 

แล้วยังเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของคนทุกฝ่ายในชาติ ทำให้เราไปไม่ถึงฉากอันน่ากลัวของ worst case ที่อาจารย์หมอคาดการณ์ไว้อย่างน่ากลัว อาจจะมีอยู่บ้างที่ผมเห็นพวกที่เรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตยพยายามจะหาจุดเล็กจุดน้อยมาเพื่อสร้างวาทกรรมโจมตีทางการเมือง

แม้ว่าไปแล้วนักการเมืองจะพากันสงบปากคำอยู่มากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต่างฝ่ายต่างพยายามแสดงสปิริตเพื่อช่วยเหลือชาติบ้านเมืองเพื่อให้รอดพ้นจากวิบัติภัยครั้งนี้ แต่ก็ยังมีบางคนอยู่บ้างที่พยายามด้อยค่าและริดรอนความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่ร่วมใจกันแก้ปัญหาลง แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไรกลายเป็นพวกราเท้าในน้ำที่ต่ำกว่าปรสิตไป

เพราะภาวะแบบนี้ควรจะเป็นภาวะที่ร่วมแรงร่วมใจกันมากกว่า เพราะนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ไวรัสตัวนี้ก็ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน แม้จะมีข่าวคราวว่ามีการค้นพบในห้องทดลองเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม แต่ไม่มีใครรู้ถึงพิษสงของมันว่า จะลุกลามและคร่าชีวิตมนุษย์ในยุคนี้ได้มากมายขนาดนี้

ผมเชื่อว่าในห้วงที่การระบาดยังจำกัดวงอยู่ในประเทศจีนช่วงปลายเดือนธันวาคมต่อเดือนมกราคม คงไม่มีใครคิดสักมากน้อยว่าจะกลายเป็นเหตุการณ์ที่ลุกลามและสร้างความวิบัติไปทั่วโลกอย่างเช่นทุกวันนี้ เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่า เหตุการณ์นี้จะสิ้นลงและจำกัดวงอยู่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่สุดท้ายความหายนะก็เกิดขึ้นกับทั่วโลก ไม่ว่าในประเทศประชาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเผด็จการ

แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นองคาพยพมือไม้ของรัฐบาลของเราอาจจะลองผิดลองถูก อาจทำอะไรไม่ได้ดีถึงขีดสุด อาจมีข้อบกพร่องในการรับมือกับไวรัสอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ช่วงเวลาฉกฉวยเอาความบกพร่องนั้นมาทำร้ายกัน เพราะสถานการณ์เช่นนี้มันเป็นยิ่งกว่าสงครามที่ต้องร่วมมือร่วมใจคนในชาติเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

น่าชื่นชมด้วยซ้ำว่า แม้จะต้องรับมือกับเชื้อโรคและสร้างความเข้มแข็งในมาตรการด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องหาทางออกด้านเศรษฐกิจและปากท้องให้กับคนในชาติที่ประสบกับความเดือดร้อนที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ แน่นอนว่า คนที่ได้รับความเดือดร้อนมากก็คือ คนหาเช้ากินค่ำที่ไม่มีเงินเหลือเก็บเหลือใช้

 จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่า แม้ว่าคนไทยมีบัญชีเงินฝากธนาคารทุกประเภทรวมกัน มากถึง 99,388,151 บัญชี คิดเป็นเงินกว่า 12 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มากกว่า 88 ล้านบัญชี อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกจำนวนเงินฝากของบัญชีออมทรัพย์แล้วจะพบว่า มีถึง 77 ล้านบัญชี หรือกว่า 88% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมด ที่มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ขณะที่ยอดเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท มีเพียง 9 แสนกว่าบัญชี หรือคิดเป็น 1% ของบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้นเอง 

นี่เป็นภาพของความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย แม้อาจจะจำแนกแยกแยะว่าในบัญชีทั้งหมดนั้นเป็นของคนไทยกี่คน และบางคนอาจจะมีหลายบัญชี แต่การที่ 88 %ของบัญชีทั้งหมดมีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาทนั้นก็พอจะอนุมานได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ถ้าอย่างนั้นลองคิดต่อสิครับว่า ถ้าไม่สามารถทำงานได้คนไทยส่วนใหญ่จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้นานเกิน 3 เดือนไหม

ถ้าเรายังต้องอยู่ในภาวะกักตัวอย่างทุกวันนี้อีกสัก6เดือนมีคนที่จะรอด แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ ออกมา แม้ว่าจะแจกเงินให้คนละ 5,000 บาท 3 เดือนแล้วขยายเป็น 6 เดือน แต่รัฐบาลก็มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนที่เป็นลูกจ้างนอกประกันสังคมประมาณ 9 ล้านคนเท่านั้น แล้วคนอีกจำนวนมากที่อยู่นอกเหนือจากนี้แต่ไม่มีเงินเก็บพอที่จะดำรงชีพได้อยู่เล่าจะใช้ชีวิตอย่างไร

หรือแม้คนที่ได้รับเงิน 5,000 บาท อาจจะพอทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นคนที่บ้านเช่าข้าวซื้อมีลูกเล็กเด็กแดงที่จะต้องเลี้ยงดูก็น่าจะเป็นภาวะที่หนักอึ้งเช่นเดียวกัน แม้จะพูดได้ว่ายังดีกว่าที่รัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรช่วยเหลือออกมาเลยก็ตาม

นอกจากนั้นรัฐบาลยังต้องอุ้มชูกลุ่มนายทุนโรงงานเจ้าของกิจการด้วย เพราะถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ล้มละลายไปตามสภาวะ เมื่อสภาพปกติกลับมาคนเหล่านี้ก็หมดเรี่ยวแรงการจ้างงานเพื่อให้คนกลับมามีงานทำก็จะไม่เกิดขึ้น เท่าที่ทราบหลายโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งมีออเดอร์จากต่างประเทศ พอภาวะหยุดชะงักงันก็ตายกันหมด เพราะสินค้าที่ผลิตไว้แล้วก็ส่งไปไม่ได้เพราะการขนส่งหยุดหมด แต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่

 ดังนั้นผมไม่ได้กังวลหรือติฉินหรอกถ้ารัฐบาลจะอุ้มชูผู้ประกอบการด้วย เพราะมันเป็นวงจรที่เกี่ยวพันกัน แน่นอนมีกลุ่มทุนใหญ่จำนวนหนึ่งที่ไม่เดือดร้อน แต่เราต้องทราบนะครับว่า คนเหล่านั้นอยู่บนยอดไม่ถึง 1 %ของสังคมไทยเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่ก็พวกตระกูลเศรษฐีที่ติดอันดับโลกนั่นแหละ และพวกเขาอาจได้ประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้ด้วยซ้ำไป 

ผมคิดว่าคงจะทราบกันนะครับว่า ปัจจุบันเรามีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก เพราะในปี 2562 ที่ผ่านมาไทยเลื่อนอันดับเป็นประเทศที่ “มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ1ของโลก” คน 1% ของประเทศนี้ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 66.9% และ คน 99% ถือครองทรัพย์สินเพียง 33.1% อันดับ 2 รัสเซีย 57.1 % อันดับ 3 ตุรกี 54.1 % อันดับ 4 อินเดีย 51.5%

แต่เราก็พอเห็นบ้างนะครับว่าในวิกฤตครั้งนี้มีตระกูลไหนบ้างที่หยิบยื่นน้ำใจมาให้เพื่อนร่วมชาติบ้าง เราก็จดจำเอาไว้

ผมไม่คิดว่าสังคมไทยจะแล้งน้ำใจนะครับ เราเห็นว่าวิกฤตครั้งนี้คนไทยต่างช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์และระดมกันจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล แม้ว่าต้องยอมรับว่า การระดมทุนหาสินค้าในตลาดมืดนั้นยิ่งจะทำให้พ่อค้านายทุนที่กักตุนได้กำไรขึ้น และไม่ทำให้รัฐบาลที่ง่อยเปลี้ยกระตือรือร้นที่จะเข้ามาแก้ปัญหาก็ตาม เพราะว่าเราแยกแยะว่า ปัญหาอะไรที่สำคัญกว่านั่นเอง

แน่นอนว่าหลังวิกฤตของโควิด-19 ผ่านไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจะถูกปล่อยให้ผ่านไป แล้วเราก็หันมาสร้างปัญหาใหม่เพื่อจะขัดแย้งกันอีก เมื่อถึงเวลาวิกฤตครั้งใหม่ ปัญหาเดิมๆก็จะหมุนวนมาอีก นั่นเป็นเรื่องที่เราจะต้องว่ากัน แต่ก็ยังแอบหวังว่าวิกฤตครั้งนี้น่าจะให้บทเรียนแก่เผ่าพันธุ์มนุษย์ของเราเยอะกว่าทุกครั้ง และอาจจะเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของโลกและความคิดของมนุษย์ในระดับสำคัญก็ได้

บอกตรงๆ ว่าผมพอจะมองสังคมไทยด้วยความหวังอยู่บ้าง แม้จะมองเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่เราเชื่อว่าดีที่สุดในโลกนั้นมีปัญหาในตัวระบบ เพราะประชาธิปไตยไม่สามารถผลิตผู้ปกครองที่มาปกครองเราที่มีความสามารถและมีคุณธรรมด้วยกันได้ มันเป็นเพียงเครื่องชี้วัดของฝ่ายเสียงข้างมากเท่านั้นเอง แต่เราก็ยังไม่มีระบอบไหนที่ดีกว่านี้ที่มีความเท่าเทียมกันและสร้างตัวเลือกที่ดีให้กับเราได้

 ถ้าผมจะแอบหวังเกินเลยอยู่บ้าง ก็หวังจะเห็นประชาชนเปลี่ยนวิธีเลือกนักการเมืองเข้ามาใช้อำนาจแทนเรา ออกจากระบบอุปถัมภ์พรรคพวกเพื่อนพ้องหรือการชักจูงของหัวคะแนน ออกจากความเคยชิน มาเลือกคนที่เราคิดว่าเขามีความรู้ความสามารถที่เขาจะใช้อำนาจแทนเราแล้วนำพาเราและประเทศชาติไปรอดได้ จากการเห็นผลลัพธ์ของนักการเมืองในวันนี้ 

ผมคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้นั่นแหละที่จะพาเราออกจากความขัดแย้ง จากวงจรอุบาทว์ทางการเมืองได้ ทุกวันนี้เราเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่ไร้สมรรถภาพ เขาสร้างให้เราเกิดความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายเพื่อจะช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกัน แต่ถึงเวลาเขาก็พาเราไปรอดไม่ได้ แล้วสุดท้ายเผด็จการก็เข้ามาฉกฉวยโอกาสครั้งแล้วครั้งเล่า

แม้เราต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งครั้งที่ผ่านมานั้นไม่มีทางออก และทหารจะต้องเข้ามาก่อนที่เราจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวก็ตาม แต่เมื่อเขามาแล้วความสามารถและสมรรถภาพที่จะนำพาเราเป็นอย่างไรนั้นเราก็เห็นกันอยู่แล้วในวันนี้

 หวังว่าไวรัสโควิด-19 จะเป็นบทเรียนของเราที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิด และทัศนคติของเราทั้งในการใช้ชีวิตส่วนตัว เพื่อบ้านเมืองที่รักยิ่งของเรา 

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น