xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองและสังคมหลังโคโรนาไวรัส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

นอกเหนือจากประเด็นภาวะผู้นำ และมาตรการในการจัดการกับวิกฤติโคโรนาไวรัสที่มีการวิเคราะห์อภิปรายกันอย่างกว้างขวางแล้ว ประเด็นโลกหลังโควิดก็เป็นที่สนใจจากบรรดานักวิเคราะห์ไม่น้อยทีเดียวทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมของมนุษย์

 ในทางการเมืองระหว่างประเทศมีการประเมินกันว่าโคโรนาไวรัสกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางภูมิรัฐศาสตร์ มหาอำนาจลำดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกากลายมาเป็น “ผู้ป่วยลำดับหนึ่งของโลก” เมื่อมิอาจจัดการการแพร่ระบาดภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้จำนวนผู้ป่วยทะยานสูงขึ้นมากเป็นลำดับหนึ่งในโลก และจนถึงเวลานี้ก็ยังขยายตัวในอัตราที่สูงยิ่ง การมีสถานภาพเป็น “ผู้ป่วยแห่งอเมริกาเหนือ” ย่อมไม่อาจแสดงบทบาทเป็นผู้นำโลกในการหยุดยั้งวิกฤติครั้งนี้ได้ 

  ขณะที่จีน แม้ว่าในช่วงแรกต้องเผชิญกับปัญหาอย่างหนักหน่วง ทว่า ด้วยสมรรถนะของผู้นำ มาตรการที่ใช้มีประสิทธิผล มีความสามารถใช้พลังและการสร้างสรรค์ของเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความมีวินัยของประชาชน ทำให้ประเทศจีนสามารถจัดการวิฤติได้สำเร็จ หยุดยั้งการแพร่ระบาดได้อย่างเด็ดขาด และกำลังแสดงบทบาทเป็นผู้นำโลกในการจัดการกับปัญหา จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศจีนจะมีอิทธิพลต่อการเมืองโลกมากกว่าสหรัฐอเมริกา 

ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางสังคม ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานแก้ปัญหาวิกฤติ จะทำให้ประเทศจีนกลายมาเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีในหลายสาขา ซึ่งยิ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบทบาทของประเทศจีนในเวทีการเมืองโลกมากยิ่งขึ้น ภายหลังวิกฤติโคโรนาไวรัสยุติลง

 ประเด็นที่สองมีการมองกันว่ากระแสชาตินิยมจะสูงขึ้น ความหมายของกระแสชาตินิยมที่ว่านี้คือ แต่ละประเทศต่างเอาตัวรอดเฉพาะตนเอง โดยไม่ใส่ใจหรือให้ความสำคัญน้อยต่อประเทศอื่น ๆ ซึ่งปรากฎการณ์แบบนี้พบได้ในประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ดังกรณีประเทศอิตาลี ซึ่งประสบปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง และร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกด้วยกัน แต่ดูเหมือนได้รับการตอบสนองไม่มากนัก กลับกลายเป็นว่าความช่วยเหลือหลักมาจากประเทศจีน และจีนก็ยังส่งความช่วยเหลือไปอีกหลายประเทศ เฉกเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในเอเชีย ในแง่มุมนี้ย่อมบ่งบอกว่า กระแสชาตินิยมแบบเอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียวนั้น มีสูงขึ้นจริงในกลุ่มประเทศตะวันตก แต่กระแสการช่วยเหลือเพื่อนมนุษยด้วยกันโดยมิได้รังเกียจเดียดฉันท์เรื่องความเป็นชาติก็หาได้จืดจางลงแต่อย่างใด ดังที่หลายประเทศในทวีปเอเชียได้แสดงให้เห็นแล้ว 

กระแสชาตินิยมเกิดการขับเคลื่อนจากความกลัวและขาดความมั่นคงเป็นหลัก มีความเป็นไปได้ว่า กระแสชาตินิยมมีแนวโน้มสูงขึ้นหากคนในชาตินั้นตกอยู่ภายใต้ความกลัวและมีความไม่แน่นอนในชีวิตสูง ในประวัติศาสตร์ ผลสืบเนื่องของกระแสชาตินิยมคือ ความขัดแย้งระหว่างชาติและสงคราม ดังที่เคยเกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้สิ้นสุดลงนั้น มีการอุบัติขึ้นของไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งทำให้ผู้คนในยุโรปเสียชีวิตนับล้านคน เรียกได้ว่า การล้มตายจากการฆ่าฟันกันเองของมนุษย์ยังไม่ยุติ ก็ต้องเผชิญกับการล้มตายที่เกิดจากเชื้อไวรัสซ้ำเข้าไปอีก

ความหวาดกลัวและความไม่มั่นคงในชีวิตแพร่ระบาดไปทั่วทั้งยุโรป ส่งผลให้ลัทธิชาตินิยม อำนาจนิยม และเชื้อชาตินิยมขยายตัวตามไปด้วย และจบลงด้วยการเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ในศตวรรษที่ ๒๑ ผู้คนในสังคมโลกที่มีสติและภูมิปัญญาเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ มากกว่าเมื่อศตวรรษก่อน เพราะอย่างน้อยพวกเขาได้ศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ และล่วงรู้ผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่ผิดพลาดในอดีต ดังนั้นหากมีผู้นำการเมืองที่ไร้สติและขาดปัญญาตัดสินใจแบบสุ่มเสี่ยง เสียงท้วงติงจากสติและปัญญาของสาธารณะก็จะกังวาลขึ้น และย่อมมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองให้เหมาะสมและถูกต้องมากขึ้น เพื่อธำรงรักษาความอยู่รอดของมนุษยชาติในระยะยาว

 ประการที่สาม มีความกังวลว่าระบอบรวมศูนย์อำนาจจะได้รับความนิยม และผู้นำทางการเมืองที่ใช้อำนาจรวมศูนย์ในช่วงวิกฤติจะฉวยโอกาสไม่ยอมปล่อยอำนาจในมือ ในภาวะวิกฤติ การรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจเพื่อสร้างเอกภาพของทิศทางการแก้ปัญหามีความจำเป็น และผู้คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้ในช่วงเวลาหนึ่ง 

แต่หากผู้นำทางการเมืองฉวยโอกาสรวมศูนย์อำนาจอย่างต่อเนื่องหลังผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว ก็เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ และกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะมีความแตกต่างกันมากในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนต่อผู้นำประเทศระหว่างสถานการณ์ปกติกับภาวะวิกฤติ

ในสถานการณ์วิกฤติผู้คนยินยอมสละเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต แต่ในสถานการณ์ปกติการนำเหตุผลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยมาอ้างนั้นย่อมขาดความชอบธรรม และหากผู้นำประเทศใด ที่คิดและทำเช่นนั้นก็เหมือนกับการขุดหลุมฝังศพให้ตนเอง

สำหรับทางเศรษฐกิจ วิกฤติโคโรนาไวรัสครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างชัดเจน เพราะระบบนี้ถูกขับเคลื่อนจากการบริโภควัตถุมากขึ้นไปเรื่อย ๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจถึงที่สุดแล้วเกิดขึ้นจากการสร้างวัตถุ การเสพความสำราญ และการบริโภคที่ล้นเกินทุกมิติของมนุษย์ เมื่อต้องลดหรือหยุดการสร้าง การเสพ และการบริโภค ระบบทุนนิยมก็สั่นสะเทือนและไร้เสถียรภาพทันที และทำให้มนุษย์ทราบว่า อะไรคือความจำเป็นที่แท้จริงของการดำรงชีวิต และอะไรคือสิ่งฟุ่มเฟือย

มีความเป็นไปได้ว่า โคโรนาไวรัสทำให้เกิดการปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะเกิดความตระหนักร่วมกันว่าโครงสร้างแบบเดิมมีความเปราะบางและอ่อนแอต่อการรับมือกับวิกฤติโรคระบาดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคบริการ ตลาดทุน การเงิน พลังงาน บันเทิง และการท่องเที่ยว และรูปแบบการทำงานในองค์การที่ผู้คนมาอยู่ร่วมกันมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานแบบองค์การเสมือนจริง ที่ทำงานในบ้านพักของตนเองผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้น

ขณะเดียวกันผลสืบเนื่องด้านบวกต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจากการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลดการใช้น้ำมัน และลดการเดินทางของมนุษย์ลง ก็เป็นหลักฐานที่ต้องหันมาทบทวนทิศทางการพัฒนาโลกกันใหม่ และข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาที่ “ลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ” ก็อาจมีน้ำหนักมากขึ้น และนี่อาจเป็นคุณูปการของโคโรนาไวรัสต่อคนในรุ่นอนาคตก็เป็นได้

ในทางสังคม โคโรนาไวรัสทำให้ผู้คนเกือบทั้งหมดในสังคมต้องปรับตัว เปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเกิดจากทั้งการบังคับด้วยกฎหมายและการตระหนักรู้ด้วยตนเองของประชาชน ทำให้การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบซึ่งหน้าไม่ว่าจะเป็นการไปมาหาสู่ การพบปะพูดคุย การสังสรรค์ งานเลี้ยง งานประเพณี อบายมุข และกีฬาต่าง ๆ ลดลง ความระมัดระวัง ระแวงคนแปลกหน้ามีมากขึ้น และทำให้ผู้คนอยู่กับตนเองและครอบครัวมากขึ้น

ขณะเดียวกันเราก็เห็นความร่วมมือช่วยเหลือระหว่างผู้คน บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันก็มีมากขึ้น แม้ว่าจะมีคนฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มากนัก และสำหรับสังคมไทย การตาย บาดเจ็บ และพิการจากอุบัติเหตุทางบกก็ลดลงด้วย อันเป็นผลมาจากการลดการเดินทาง ลดการดื่มสุราและลดกิจกรรมบันเทิงนั่นเอง

การแพร่ระบาดและพลานุภาพในการทำลายล้างของโคโรนาไวรัสในครั้งนี้ บ่งบอกให้เราทราบอีกครั้งว่า อารยธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาบนพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ การแข่งขัน การเอาตัวรอด และมุ่งแต่ตอบสนองประโยชน์ส่วนตัว โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ยั้งคิดนั้นเป็นสิ่งที่มีความเปราะบาง ไร้เสถียรภาพ และขาดความยั่งยืน

 ผมคิดว่า บทเรียนในครั้งนี้จะทำให้มนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่กระทำผิดพลาดซ้ำรอยบรรพบุรุษเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และไม่นำพาโลกดำดิ่งลงไปสู่ความหายนะมากกว่านี้ ผมประเมินในเชิงบวกว่าโลกหลังโควิด 19 จะเป็นโลกที่มีความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกันระหว่างมนุษยชาติมากยิ่งขึ้น เป็นโลกที่ไม่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจจนลืมชีวิตและสุขภาพของประชาชน เป็นโลกที่ผู้นำแบบอำนาจนิยมไม่มีที่ยืนทางการเมือง เป็นโลกที่สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปัญหาสังคมลดลง และเป็นโลกที่ประชาชนในแต่ละสังคมช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกันมากขึ้น 


กำลังโหลดความคิดเห็น