ทศวรรษกว่าที่ผ่านมา เราพูดถึงกระแสโลกาภิวัตน์ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้โลกถูกย่อส่วนให้เล็ก และคนทั้งโลกถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เวลาและสถานที่ (time & space) ถูกกระชับพื้นที่เข้าด้วยกันในทุกพื้นที่ทั่วโลก เราตื่นเต้นกันมากว่านี่คือโลกไร้พรมแดน
ผมจำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนกระแสโลกาภิวัตน์บานสะพรั่ง นักรัฐศาสตร์พูดถึงเรื่องการลอดรัฐก็คืออำนาจรัฐจะถดถอยลง และการไม่มีพรมแดนอีกต่อไป ตอนนั้นผมก็สงสัยว่าจริงหรือที่แต่ละชาติจะให้เส้นพรมแดนกลายเป็นอธิปไตยบางๆกระทั่งเลือนหายไป แต่คำตอบต่อมาก็คือ กระแสชาตินิยมก่อตัวขึ้นเกือบทุกประเทศ และปัจจุบันเราเรียกกันว่าเป็นยุคที่ประชาธิปไตยถดถอย เกิดอำนาจรัฐสวิงขวามากขึ้นในหลายประเทศ
กระแสโลกไร้พรมแดนในยุคนั้นยังก่อให้เกิดกระแสการค้าเสรี แต่ปัจจุบันโลกต่อสู้กันด้วยกำแพงการค้า กำแพงภาษี และก้าวข้ามองค์กรโลกด้วยการเจรจาทวิภาคี จนองค์กรของโลกกลายเป็นเสือกระดาษ
สิบกว่าปีมานี้คือการเติบใหญ่ของทุนนิยมแบบสังคมนิยมของประเทศจีน ที่ท้าทายทุนนิยมเสรีนิยมแบบตะวันตก ทำให้ประเทศจีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก เมืองหลายเมืองในจีนกลายเป็นมหานครที่รุกหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่นิวยอร์กกลายเป็นเมืองที่ซอมซ่อ และคนจีนเป็นคนที่จับจ่ายใช้สอยเพื่อเลี้ยงดูโลกใบนี้
ทุกวันนี้เทคโนโลยีจีนก้าวไกลทุกด้านทั้ง AI และอวกาศ เป็นชาติแรกที่ใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์แบบ จากอดีตที่เป็นชาติแรกที่ใช้เงินธนบัตร ถามว่ามีคนจีนอึดอัดกับสังคมนิยมไหม ผมคิดว่าคงจะมีแต่น้อยมาก และในฐานะที่ผมเคยใช้ชีวิตในจีน 1 ปีเต็ม ก็ไม่เห็นข้อจำกัดเรื่องเสรีภาพในชีวิตประจำวันเลย ผมและคนจีนสามารถไปเที่ยวเธค ผับ บาร์กินดื่มได้อย่างเสรี ถ้าจะมีที่หนักหนาก็คือ ปากเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั่นแหละ
ถามว่าผลพวงการเจริญรุกหน้าของประเทศจีนเป็นผลจากโลกาภิวัตน์หรือไม่ ผมว่าใช่ เพราะจีนได้กลายเป็นโรงงานของโลก และมีกำลังซื้อและตลาดผู้บริโภคมหาศาลในประเทศของตัวเอง ถ้าจีนปิดตัวเองเมื่อไหร่โลกทั้งโลกก็คงจะสะเทือน ราวกับเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว
จากผลของโลกาภิวัตน์ หลวงพ่อท่านหนึ่งเพิ่งกล่าวกับผมเมื่อไม่นานมานี้ว่า วันนี้เราเหมือนมีหูทิพย์ตาทิพย์ เพราะไม่ว่าเกิดเรื่องที่ไหนเราก็ได้ยินและเห็นภาพเหมือนกัน
ในช่วงที่คำว่า โลกาภิวัตน์เข้ามาแพร่หลายในสังคมไทยเมื่อสิบกว่าปีนั้น นักวิชาการคนแรกๆ ที่หยิบเรื่องนี้มาขยายความอย่างกว้างขวางก็คือ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้ล่วงลับ จำได้ว่า หลังจากนั้นไม่นานก็มีคำหนึ่งที่ฮิตไล่มาก็คือ ทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) คนที่เอาคำนี้มาขยายความและเผยแพร่ก็คือ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์
มีคำอธิบายคำว่า ทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงลักษณะพฤติกรรมของระบบพลวัต (คือ ระบบที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนแปลงตามเวลาที่เปลี่ยนไป) โดยลักษณะการเปลี่ยนแปลงของระบบที่เรียกว่าเคออสนี้ จะมีลักษณะที่ปั่นป่วนจนดูคล้ายว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นแบบสุ่มหรือไร้ระเบียบ (random/stochastic) แต่จริงๆ แล้ว ระบบเคออสนี้เป็นระบบแบบไม่สุ่ม หรือระบบที่มีระเบียบ (deterministic)
ปรากฏการณ์ของทฤษฎีความอลวนนั้น เกิดคำหนึ่งที่อธิบายได้เห็นภาพมากก็คือ “ผีเสื้อขยับปีก” หรือ “butterfly effect” ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่หนึ่งอาจส่งผลกระเทือนไปอีกซีกโลกหนึ่งอย่างเหนือจะคาดเดา
ผมคิดถึงคำสองคำนี้คือโลกาภิวัตน์และความอลวนเพราะผมคิดว่า มันเห็นภาพชัดจากสถานการณ์โรคระบาดที่กำลังคุกคามโลกอยู่ในเวลานี้ว่า มันสะท้อนปรากฏการณ์ทั้งสองนั่นเอง
กระแสโควิดที่เริ่มระบาดในจีนและแพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วก็เป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมโยง time&space ให้กระชับสั้นขึ้น มันเดินทางข้ามประเทศข้ามทวีปไปอย่างรวดเร็ว และท้าทายมนุษย์ด้วยกฎวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของชาร์ลส์ ดาร์วิน ซึ่งเป็นกระบวนการคัดสรรโดยธรรมชาติ คนแข็งแรงเท่านั้นที่อยู่รอด
ขณะเดียวกันมันส่งผลสะเทือนจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งได้อย่างเหนือการควบคุมคาดเดา และสร้างความอลวนและปั่นป่วนแบบสะเทือนโลกใบนี้ทั้งโลกที่ต้องทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็นและไม่มีเซลล์สมอง
แต่เผด็จการแบบจีนตั้งรับกับกระแสถั่งโถมของไวรัสได้อย่างเข้มแข็ง แม้การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและลามไปเหมือนไฟไหม้ทุ่ง ในขณะที่ตะวันตกยังหยิ่งผยองดูดาย ส่วนไทยแม้จะเป็นชาติแรกในโลกที่รับไวรัสส่งออกจากจีนระบบสาธารณสุขของไทยก็รับมือได้อย่างแข็งขัน
ในส่วนของชาติเราเองนั้นต้องชื่นชมและให้กำลังใจบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานอย่างแข็งขัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกเขาคือวีรบุรุษของชาติ และบุคลากรสาธารณสุขทั่วโลกก็คือ วีรบุรุษของโลก
แต่แทนที่ไวรัสซึ่งเกิดขึ้นก่อนในจีนมีเวลามากพอที่จะทำให้ตะวันตกตระหนักและเตรียมรับมือ เพราะช่องว่างเรื่อง time & space ที่กระชับขึ้น และรู้ว่าโรคมันสามารถเดินทางได้ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ปรากฏว่าตะวันตกไม่ได้ตั้งรับเลย และเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมากกว่าชาติอื่นในเอเชียที่นอกเหนือจากจีน
และโควิดโลกาภิวัตน์ที่ออกนอกวงรอบของจีนจากตะวันออกย้อนกลับไปตะวันตกนี้เอง ที่อาจให้โควิดเป็นการระบาดใหญ่ที่สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของตะวันตก ถ้าเทียบกับการระบาดใหญ่ของโลกในอดีตเพราะวันนั้นโลกยังมืดมิดด้านข้อมูลข่าวสารและยากเกินกว่าจะรับมือเช่นวันนี้
วันนี้โลกทั้งโลกกำลังประสบภาวะกับความอลวนต้องรับมือกับศัตรูที่มองไม่เห็น และแฝงอยู่รอบตัวของเรา แน่นอนสุดท้ายมนุษย์ที่มีเซลล์สมองมากกว่าจะต้องชนะเมื่อเราสามารถคิดค้นยารักษาโรคได้ และคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันได้ แม้ว่าจะต้องสังเวยชีวิตมนุษย์ในระหว่างยังไม่ค้นพบทางป้องกันจำนวนมากในขณะนี้ก็ตาม
ไม่ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกเท่าไหร่ไม่กี่เดือนจากนี้หรือเป็นปี แม้จะรับมือกับมันได้ในที่สุด แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์เราก็ต้องหันมาทบทวนว่า เราจะอยู่กับมันอย่างไร และทำตัวอย่างไรที่จะต้องไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์ในการบริโภคที่นำมาสู่ไวรัสโควิด-19 ที่สั่นสะเทือนโลกแบบนี้อีก
มันสะท้อนว่า ไม่ว่ามนุษย์จะมีเทคโนโลยีที่ก้าวไกลแค่ไหน ศัตรูที่มองไม่เห็นก็ยังซุ่มซ่อนอยู่ที่จะโจมตีเราด้วยประสิทธิภาพที่อาจคาดไม่ถึง ไวรัสโควิด-19 อาจไม่ใช่ไวรัสที่รุนแรงที่สุด แต่มีไวรัสตัวอื่นอีกหลายพันชนิดเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้เคยค้นพบและบันทึกไว้
และนับจากการรอดพ้นจากมหันตภัยครั้งนี้ เซลล์สมองที่มากมายของมนุษย์จะต้องค้นพบให้ได้ว่า เราจะอยู่ร่วมกับศัตรูที่มองไม่เห็นและไร้เซลล์สมองนี้ได้อย่างไร
ขอให้ทุกคนโชคดีและอยู่รอดปลอดภัยในกระแสโลกาภิวัตน์ และความอลวนจากไวรัสครั้งนี้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan