xs
xsm
sm
md
lg

ปลิงเกาะผู้ใหญ่! “เด็ก ปชป.” นามสกุลดังแฉยับ 8 อดีต ปชป.ชิงออกตาม “กรณ์” ดีแต่สุมหัว เห่าสร้างปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พายุ เนื่องจำนงค์” อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี ปชป. แฉยับ 8 อดีตผู้สมัคร ส.ส.ที่ประกาศลาออกตาม “กรณ์” ดีแต่สุมหัว เห่า สร้างปัญหาในอีสาน.. “ปลิงเกาะผู้ใหญ่”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (24 ม.ค. 63) นายพายุ เนื่องจำนงค์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ พายุ เนื่องจำนงค์ | Payu Nerngchamnong
@payunerng

ระบุว่า “ดีแต่สุมหัว..ดีแต่เห่า..กับพวกสร้างปัญหาในภาคอีสานอยู่ตลอดเวลา แล้วทำตัวเป็นปลิงเกาะผู้ใหญ่ที่สังคมการเมืองยอมรับ ใช้สถานะการชิงลาออกตาม เพื่อพยามสร้างอิมเมจ/สร้างโปรไฟล์ตัวเอง โดยใช้พรรคประชาธิปัตย์เป็นขั้นบันไดไว้เหยียบ แบบนี้ไม่ต้องมาขอบคุณพรรคเราหรอกพ่อคนรุ่นใหม่ #ลิงหลอกเจ้า”

ทั้งนี้ โพสต์ของนายพายุมีขึ้นภายหลังกระแสข่าวว่ากลุ่ม 8 อดีตผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสานของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทยอยยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไปร่วมทำงานการเมืองกับนายนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศลาออกไปก่อนหน้านี้แล้ว และเตรียมที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่

ที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 63 มีข่าวว่าอดีตผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ ภาคอีสาน มายื่นใบลาออกจากพรรคเพิ่มอีก 8 คน คือ (1. นายปรีชญา ฉ่ำมณี อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี เขต 7 (2. นายบุญสอน สามัคคี อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี เขต 5 (3. นายบุญรักษา พรมวัง อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 5 (4. นายประธาน สุทธิคีรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 4 (5.นายปฏิณญา วิเชฏฐพงษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น เขต 2 (6. นายภูมิบดี วิเชฏฐพงษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 (7. นางกมลวรรณ มณีศรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.มหาสารคาม เขต 3 (8. นายอดุลย์วิชญเดช ติยะบุตร อดีตผู้สมัคร ส.ส.เลย เขต 3

สำหรับการลาออกครั้งนี้ นายอรรถวิชช์ยอมรับว่า “มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.อีสาน พรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาพูดคุยหารือจริง แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการตั้งพรรคใหม่ ผมเรียกว่า รวมพลคนมีของทั้งหลายมาอยู่ในพรรค โดยเย็นนี้จะมีอีกกลุ่มเข้ามาหารือด้วย ยืนยันว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่ได้มีความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 63 นายบุญรักษา พรมวัง อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 สกลนคร พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ก่อนอื่นกระผมต้องขอขอบพระคุณสำหรับโอกาส และประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับจากบ้านหลังนี้ ที่ชื่อ “ประชาธิปัตย์” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กราบขอบพระคุณผู้ใหญ่ทุกท่านที่ให้ความเมตตาในตัวผม ทำให้มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ฝัน ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจ เพื่อจะได้มีโอกาสได้ทำงานเพื่อสังคม เพราะนั่นคือเป้าหมายหลักในการก้าวเข้าสู่ถนนสายการเมืองของผม

ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 62 ผมมีโอกาสร่วมงานกับท่านกรณ์ จาติกวณิช ในฐานะผู้ช่วย ส.ส.ของท่าน ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจที่แน่วแน่ และวิธีการทำงานที่แตกต่างของคุณกรณ์ที่อยากพัฒนาบ้านเมือง ก้าวข้ามความขัดแย้งทุกรูปแบบ มุ่งสู่เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ การนำพาประเทศชาติไปสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ทำงานการเมืองในแนวแบบปฏิบัตินิยม เอางานเป็นที่ตั้ง

ดังจะเห็นได้ว่าคุณกรณ์ท่านไม่เคยทะเลาะกับใคร การอภิปรายในสภามุ่งเน้นการแก้ปัญหาปากท้อง และรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และการแก้ไขเศรษฐกิจเป็นหลัก (ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน) โดยการเมืองที่คุณกรณ์อยากจะทำคือการเมืองแบบ “ปฏิบัตินิยม” คือ เน้นการปฏิบัติ ปฏิบัติและปฏิบัติจริงๆ

โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้ คุณกรณ์ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองที่จะผลักดันวิธีการทำงานในแบบของคุณกรณ์ คือ การเมืองแบบ "ปฏิบัตินิยม" จึงทำให้ผมและเพื่อนอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 3 ท่าน ในฐานะผู้ช่วย ส.ส.กรณ์ จึงมีความเห็นตรงกันว่า พวกเราจะช่วยท่านปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ให้สำเร็จดังปณิธานที่ท่านตั้งใจซึ่งเราสัมผัสได้

วันนี้ถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ยากลำบากเหลือเกิน แต่เพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งใจไว้และเชื่อว่าเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต่อส่วนรวมเท่าที่เราจะทำได้

วันนี้ผมจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเดินตามความฝันของเด็กบ้านนอกคนนี้ต่อไป”

นี่เอง ที่ทำให้นายพายุ เนื่องจำนงค์ โพสต์เหน็บ “ไม่ต้องมาขอบคุณพรรคเราหรอกพ่อคนรุ่นใหม่”

ภาพจากเฟซบุ๊ก บุญรักษา พรมวัง
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ซึ่งเคยเป็นแกนนำระดับสูงของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน โพสต์เอาไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อวันที่15 ม.ค. 63 หลังจาก “กรณ์” ประกาศลาออกจากพรรค หัวข้อ “เมื่อกรณ์ลาออกจากพรรคฯ...ไปอีกคน”

เนื้อหาระบุว่า “ข่าวตั้งแต่เมื่อคืน เรื่องคุณกรณ์ลาออกจากพรรคฯ ในงานเลี้ยงปีใหม่ของเพื่อน ส.ส.ในพรรคฯ กับคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ซึ่งผมพลาดไม่ได้ไป เนื่องจากมีอาการไข้ จริงๆ ผมเคยคุยกับกรณ์หลายครั้งก่อนหน้านี้ เรื่องการเมืองในพรรคฯ รู้ว่าในใจของกรณ์ รู้ว่าเขาถูกลดบทบาท และไม่ได้รับโอกาสจากพรรคฯ แต่กรณ์เป็นสุภาพบุรุษมากพอที่จะไม่ยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น

แต่ในการคุยกัน กรณ์เป็นคนที่มองไปข้างหน้า เขามองว่าการเมืองเปลี่ยน พรรคการเมืองต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิดและการทำงาน เขาพยายามเสนอแนวคิดหลายอย่างในที่ประชุมพรรค แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากผู้รับผิดชอบ

ซ้ำยังมีเสียงเหน็บแนมจากบางส่วนที่อยู่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ แต่ดูเหมือนกรณ์จะขำๆ มากกว่า

ในสภาฯ กรณ์มักจะชี้ให้ดูว่าสภาเปลี่ยน จากการอภิปรายแบบเดิมมาเป็นแบบที่ทำงานเชิงลึกเป็นทีมเวิร์ก นำเสนอเป็นระบบ อย่างพรรคอนาคตใหม่ทำ เขากังวลว่า พรรคการเมืองที่คิดว่าอยู่ในจุดที่ดีแล้วและไม่ปรับเปลี่ยนอะไร จะล้าหลังและถูกดิสรัปต์ไปในที่สุด

กรณ์มีข้อกังวลและแนวคิดที่ก้าวหน้าหลายเรื่องที่อยากทำ แต่ไม่มีโอกาสและอาจคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือสร้างเอง ผมพยายามบอกเขาว่าทำไมไม่ร่วมมือกัน เปลี่ยนจากภายในล่ะ เขาหัวเราะและไม่ตอบ แต่ผมเห็นแววตาที่มุ่งมั่นของกรณ์

ข่าวเรื่องกรณ์จะลาออกจากพรรค รับรู้กันหลายคนใน ปชป. แต่ความเป็นเพื่อนทำให้หลายคนพยายามบอกเขาว่า รอเวลาสักหน่อย เผื่ออะไรๆ จะดีขึ้น คนที่พยายามทัดทานการลาออก จริงๆ ก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าเขาหรอก แต่อยากให้รวมกลุ่มเป็นเพื่อนกัน (เพราะมีหลายคนที่รู้สึกเหมือนกัน)

เมื่อคืน วันที่พยายามยืดกันโดยคนที่เชื่อว่ากรณ์เป็นความหวังให้พรรคได้ ก็ถึงวันที่เขาตัดสินใจลาออกเพื่อเดินในหนทางที่เชื่อว่าดีกว่า ไม่น่าเชื่อว่า ปฏิกิริยาต่อการลาออกของคนนอกพรรค กลับแรงกว่าคนในพรรค ในแง่ที่ว่า ตัดสินใจถูกแล้ว ในขณะที่พรรคท่องว่าการเข้าออกของคนเป็นเรื่องปกติ

เพราะคนระดับอดีตแกนนำพรรค เคยลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค เคยทำงานให้พรรคด้านสร้างคนรุ่นใหม่ เคยเป็นถึงอดีต รมว.คลังของพรรค ลาออกจากพรรค ขณะเป็น ส.ส. มันปกติตรงไหน

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ (สาลีรัฐวิภาค) หรือคุณหมอวรงค์ (เดชกิจวิกรม) ที่ทั้ง 2 คน เคยทำงานให้พรรคอย่างมากมาตลอด ลาออก ผมว่า มันก็ไม่ปกตินะครับ

ความจริงมีคนที่ลาออกจากพรรคเงียบๆ แต่ไม่เป็นข่าวอีกหลายคน

ผมว่า มันสะท้อนปัญหาการบริหารภายในพรรคแน่นอน แต่หากคนมีอำนาจยังคิดกันแค่ว่ามันเป็นเรื่องปกติ ต้องรับรู้ด้วยครับว่า สมาชิกและคนที่สนับสนุนพรรคหลายคน รู้สึกท้อถอย และสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อการลาออกของคนระดับแกนนำพรรค

เราจะเยียวยาความรู้สึกกันอย่างไร เราจะเดินต่อกันไปอย่างไร

แต่เอาเถอะ นั่นคือเรื่องในพรรค ที่ต้องว่ากันต่อไป

ผมว่าประเทศของเราต้องการนักการเมืองที่มีทั้งแนวคิดที่ดีและความตั้งใจเพื่อบ้านเมือง และผมเชื่อว่าประชาชน พร้อมจะให้โอกาส กรณ์ จาติกวณิช กับแนวคิดดีดีของเขาในอนาคต

เมื่อตัดสินใจเดินหน้า อย่าติดกับดักความอาลัยในที่เดิม ทำให้ดีที่สุด เดินให้สุด เพื่อนกรณ์”...

แน่นอน, โพสต์ของ “สาทิตย์” แม้เหมือนกับเป็นการอวยส่งทางเท่านั้นก็ตาม ทว่าบางแง่มุมก็สะท้อนปัญหาภายในพรรค ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ จนทำให้เลือดไหลไม่หยุดอยู่ในวันนี้ด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ ในสายตาของคนนอก จับตาพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่หลังแพ้เลือกตั้งทั่วไป 24 มี.ค. 62 มาอย่างยับเยิน เพราะการประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จนสุดท้าย “อภิสิทธิ์” ก็ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค

แน่นอน, การตัดสินใจไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ของ “อภิสิทธิ์” ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ที่ถือว่า มีความขัดแย้งอยู่แล้ว และที่ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ก็เห็นจะเป็น ส.ส.และอดีตส.ส.ใกล้ชิด “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มาแต่ต้น

จากนั้นก็มาถึงการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลของ พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่ นั่นคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่กระชับพื้นที่อำนาจได้เฉพาะสาย “จุรินทร์-ชวน” เท่านั้น

โดย “ชวน” เคยออกปากยอมรับว่า ตำแหน่งทางการเมืองในภาวะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เข้ามาน้อย ตำแหน่งทางการเมืองที่ต่อรองได้ก็น้อยตามไปด้วย จึงไม่เพียงพอต่อคนที่มีความรู้ความสามารถในพรรคประชาธิปัตย์ และก็เป็นสาเหตุให้มีคนลาออก

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่า และไม่ได้มีการพูดถึงมากนักก็คือ การจัดสรรตำแหน่งเป็นธรรมหรือไม่ หรืออยู่ที่ว่าเป็นคนของใคร จึงจะมีบทบาทและมีอำนาจหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องมีการทบทวนกันอย่างจริงจัง

อย่าลืมว่า แม้แต่โพสต์ของนายพายุ เนื่องจำนงค์ ที่ออกมาแฉ 8 อดีตผู้สมัคร ส.ส.ภาคอีสานดังกล่าว ก็จะมองข้ามไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะนี่คือเรื่องเล็กที่สะท้อนเรื่องใหญ่ได้อย่างชัดเจนอีกเรื่องหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น