"สุวัจน์" ประเมินปี 63 รัฐบาลสามารถดูแลเสถียรภาพทางการเมืองได้ จับตา 2 ด่านสำคัญ "ผ่านงบฯ63 - ศึกซักฟอก" ส่วนด้านเศรษฐกิจ ก็จะกระเตื้องขึ้น หลังงบฯปี 63-64 ออกมาแบบสองเด้ง กว่า 6 ล้านล้านบาท แต่ต้องระวังเรื่องค่าเงินบาท และหนี้สาธารณะ ส่วนเรื่องแก้รธน. แนะเปิดเวทีฟังเสียงทุกฝ่าย เชื่อ ส.ว.ไม่ขวาง ถ้าทำเพื่อชาติอยู่รอด - เศรษฐกิจดี
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา และมองการเมืองในปี 2563 ว่า ที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีแรกของรัฐบาล ซึ่งมีเสียงปริ่มน้ำ ก็กังวลกันว่ารัฐบาลจะอยู่ในลักษณะใด แต่รัฐบาลก็สามารถประคับประคองสถานการณ์ทางการเมืองท่ามกลางเสถียรภาพเสียงปริ่มน้ำผ่านมาได้ แสดงให้เห็นว่าภายในพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีความเป็นปึกแผ่น ไม่มีปัญหาอะไรที่ไปกระทบความไม่เข้าใจกันในระดับรุนแรง และจากบรรยากาศช่วงโค้งสุดท้าย ที่ได้พบปะกันในแกนนำ และระหว่างส.ส.ด้วยกัน ก็ได้แสดงออกถึงความชัดเจนว่าเสถียรภาพของรัฐบาลยังบริหารจัดการได้
ส่วนในปีหน้า 2563 หากรัฐบาลสามารถบริหารจัดการเสถียรภาพทางการเมืองได้เหมือนที่ผ่านมา เรื่องเสถียรภาพ จากเสียงปริ่มน้ำก็จะไม่เป็นภาระหนัก เพราะรัฐบาลเข้าใจถึงวิธีการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ปีหน้า ก็จะมีเรื่องงบประมาณ ที่เป็นเรื่องสำคัญ หรือจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็น่าจะผ่านได้ เหมือนการรักษาจัดการเสถียรภาพทางการเมืองเสียงปริ่มน้ำ
"ผมคิดว่าเมื่อเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องบริหารจัดการได้แล้ว แต่ยังต้องบริหารเรื่องเศรษฐกิจ ก็เหมือนปั้นยักษ์ทีละตัว ปีหน้าก็น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องสู้เรื่องเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำงานหนักเรื่องเศรษฐกิจ"
นายสุวัจน์ กล่าวว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไม่สดใสนัก เพราะต้องเจอทั้งสถานการณ์การค้าโลกที่ถดถอย จากปัญหาสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน หรือ การถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ EU ก็ทำให้ไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น การส่งออกที่ปีนี้คาดการณ์ น่าจะติดลบ 2% จากปี 61 ที่โต 6% หรือการท่องเที่ยว แม้ว่าจะยังดีอยู่แต่ก็ต่ำกว่าเป้าหมาย หรือ จีดีพี ไม่ถึง 3% ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเราไปผูกกับเศรษฐกิจโลก ในปี 2563 จึงน่าจะเป็นปีที่เราทุ่มเทสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ปีหน้า IMF ก็ประเมินมาแล้วว่า คงจะดีขึ้น อย่างปีที่ผ่านมาจีดีพีเศรษฐกิจโลก อยู่ที่ 3.1 ปีหน้าก็น่าจะโตขึ้นเป็น 3.3-3.4 และปัญหากระทบกระทั่งการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน คาดว่าช่วงมกราคม อาจจะบรรลุข้อตกลงของเฟสหนึ่ง ของการยุติสงครามการค้า หากเป็นเช่นนั้นปัญหาเศรษฐกิจโลกจะเบาลง
ส่วนเศรษฐกิจไทย ตนเห็นว่าก็น่าจะกระเตื้องขึ้นตามสภาพของเศรษฐกิจโลก โดยหากปัญหาการค้าสหรัฐฯ-จีนดีขึ้น กำลังซื้อก็น่าจะดีขึ้นแล้วปัญหาการส่งออกของเรา ที่เคยติดลบ ก็น่าจะกลับมามีแรงบวก 2-3% และปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวจีนหายไป หรือลดลงไป ก็น่าจะกลับคืนมาในสภาพที่ดีกว่าเดิมด้วย
สำหรับเรื่องค่าเงินบาทของไทยนั้น ขณะนี้ก็แข็งค่าถึงที่สุดแล้ว 6-7% เป็นอันดับหนึ่งในเอเชียเลย ดังนั้น ในปีหน้าค่าเงินบาทของไทยก็ไม่น่าจะแข็งค่าขึ้นอีกแล้ว ปัญหาผลกระทบเรื่องการส่งออกจากค่าเงินบาทแข็งตัว ก็คงไม่รุนแรงกว่านี้แล้ว
ทั้งนี้ หากงบประมาณปี 63 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท สามารถประกาศใช้ได้ในเดือน ก.พ.63 ก็จะทำให้มีการลงทุนภาครัฐสูงขึ้น 5-6% ขณะที่งบประมาณนี้ ที่จริงควรจะประกาศใช้ก่อน 30 ก.ย. 62 แต่เมื่อประกาศได้ล่าช้า ช่วงเวลาก็จะมาใกล้เคียงกับงบฯ ปี 64 ที่จะออกต่อไป ดังนั้นปีหน้า จึงเหมือนกับมี งบประมาณ 2 เด้ง มารวมกันเป็นเงินกว่า 6 ล้านล้านบาท ก็ถือว่าเป็นก้อนเงินมหาศาล ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แล้วทำให้เกิดการลงทุนภาครัฐมากขึ้น มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แล้วภาคเอกชนจะอยู่ในสภาวะลงทุนตาม เหมือนช่วงมีมาตรการ ชิมช้อปใช้ หรือการส่งเสริม Street food ในการท่องเที่ยว หรือการท่องเที่ยวเมืองรอง ที่ตนเห็นว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วในการกระตุ้นการบริโภค ขณะที่หากรัฐบาลสามารถพยุงเสถียรภาพทางการเมืองได้ ก็จะทำให้มีพละกำลังในการที่จะเข้าไปทำงานด้านเศรษฐกิจให้ดีกว่าปีนี้
"ข้อที่ควรระมัดระวังเรื่องเศรษฐกิจ คือ 1. เราต้องดูแลเสถียรภาพของเงินบาทให้เหมาะสมที่ส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยให้มีมาตรการดูแลที่เป็นสากล 2. เราต้องดูแลเรื่องหนี้สาธารณะ ที่ขณะนี้ระดับหนี้เราอยู่อันดับที่ 2 ในเอเชียซึ่งถือว่าสูงมาก ดังนั้น ต้องดูแลภาคเกษตร ,SMEซึ่งถ้าเราดูแลตลาดการส่งออกได้เพิ่ม ดูแลค่าเงินให้เหมาะสม ดูแลหนี้สาธารณะไม่ให้สูง ดูแลเรื่องการรีแทรนนิ่งแรงงาน และการจ้างงาน การปรับโครงสร้างด้านการแข่งขันของประเทศให้มีต้นทุนการผลิตให้ต่ำ ขณะที่ทั่วโลกก็กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์เรื่องเขตการค้าต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเราต้องติดตามให้ทัน ซึ่งเศรษฐกิจที่ประชาชนกังวล มองว่าปีหน้าจะดีกว่าจากผลเศรษฐกิจโลกและมาตรการที่รัฐบาลเราได้ทำ"
ส่วนกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำงานไม่เป็นเอกภาพนั้น นายสุวัจน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ถ้าโครงสร้างดี แล้วเศรษฐกิจโลกดีขึ้น รัฐบาลสามารถกระชับพื้นที่การทำงาน ให้มีความเป็นทีมเวิร์กมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เป็นบวก
"เป็นเรื่องของลิ้นกับฟัน แต่ที่ผ่านมาผมดูมาตลอด ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล ยังไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาต่อด้านความมั่นคงทางการเมืองมากนัก ยังสามารถบริหารจัดการได้อยู่ ถึงแม้ว่าจะปริ่มน้ำบ้าง แม้อาจจะแพ้ในบางเรื่อง แต่ในเรื่องที่สำคัญก็ยังโอเค ที่สำคัญจะต้องรอดู 2 ด่าน คืองบประมาณ กับ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าสามารถผ่าน 2 ด่านนี้ได้ก็แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์บริหารจัดการเสถียรภาพทางการเมืองท่ามกลางเสียงปริ่มน้ำถือว่าสอบผ่าน" นายสุวัจน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าปัญหาภายในรัฐบาลเอง หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน จะน่าเป็นห่วงมากกว่ากัน นายสุวัจน์ กล่าวว่า ในกลุ่มของพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้เท่าที่ดูยังไม่มีอะไรที่เป็นปัญหามากนัก มีเพียงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ดังนั้นเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองยังถือว่าบริหารจัดการได้
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ก็มีการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ กมธ.ชุดนี้ยังไม่ใช่ชุดแก้ไข เป็นกมธ.เพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขว่า หลังจากใช้รธน.แล้ว ปัญหาของรธน.ฉบับนี้ คืออะไร ในมุมเศรษฐกิจ คืออะไร ในมุมการเลือกตั้ง คืออะไร ในมุมการเมือง คืออะไร การจัดตั้งรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน ในมุมนั้นมุมนี้ คืออะไร เพื่อรวบรวมมาแล้วคิดว่าอะไรที่ควรแก้ หรืออะไรที่ไม่ควรแก้ ลำดับความสำคัญแก้ก่อน แก้หลัง วิธีการแก้จะเป็นอย่างไร น่าจะออกมาในแนวนี้ ส่วนเนื้อหาว่าจะแก้เรื่องไหนอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับกมธ.
ส่วนถึงที่สุดแล้วจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่นั้น นายสุวัจน์ กล่าวว่า ถ้าศึกษามาแล้ว ทุกคนเห็นด้วย ก็เชื่อว่าต้องไปแนวนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรายอมรับหรือไม่ ถ้าทุกคนเห็นว่านี่เป็นปัญหาของประเทศ และจำเป็น เพื่อความอยู่รอด เพื่อความเรียบร้อยของประเทศ ทุกอย่างก็ต้องว่ากันไปตามรธน. เมื่อเห็นตรงกัน ก็ว่ากันไปตามนั้น มีอุปสรรคอะไรก็ช่วยแก้ไขเป็นเสต็ปไป เพราะปัญหามีไว้ให้แก้อยู่แล้ว ส่วนที่ว่าส.ว.จะยอมรับและสนับสนุนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการยอมรับ หากชี้ให้ ส.ว.เห็นว่า จำเป็น ถ้าแก้ไขอันนี้แล้วประเทศชาติจะดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น เชื่อว่า ส.ว. ทุกคนต่างรับฟังข้อเท็จจริง และเหตุผลที่กมธ. จะนำเสนอ เชื่อว่าทั้ง ส.ส.และส.ว. ทุกคนต่างมีอารมณ์ในความเป็นตัวแทนของประชาชนเหมือนกัน ดังนั้น จะคิดจะตัดสินใจอะไร เชื่อว่าทุกคนย่อมมองประเทศชาติเป็นหลัก