xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งบฉุกเฉินเกลี้ยง? เกลี่ยงบประจำ 10% เข็น พ.ร.ก. กู้เงิน 2 แสนล้าน เดินหน้าฝ่าวิกฤตไวรัสฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเดินหน้ากู้สู้ศึกไวรัสโควิด-19 เพราะ “งบฉุกเฉิน” เกือบแสนล้านดึงมาใช้เกลี้ยงแล้ว ขณะที่ “งบกลาง” 5 แสนกว่าล้าน ที่มีเสียงถามไถ่ทำไมหมดไวแท้เมื่อเช็กลิสต์ก็มีรายการจ่ายเอาไว้ชัดเจน อีกทางหนึ่งซึ่งรัฐบาลเตรียมไว้คือ “เกลี่ยงงบจากทุกกระทรวง 10%” เอามาสู้วิกฤต

ทั้งเงินกู้ ทั้งเงินจากการเกลี่ยงบ คาดว่าน่าจะพอรับมือกับการออกมาตรการเยียวยา ระยะที่ 3 และ 4 ยาวไปถึงกลางปีนี้ ที่กะว่าต้องใช้เงินอีกไม่น้อยกว่า 4 แสนล้าน เป็นอย่างต่ำ ตามกรอบคิดแก้ไขปัญหาเยียวยาเฉพาะหน้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มให้มากที่สุด และสร้างงานสร้างอาชีพเมื่อวิกฤตผ่านพ้น

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษเต็มคณะ ที่ทำเนียบรัฐบาลแบบไม่ผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2563 เพื่อพิจารณา 2 เรื่องใหญ่ คือ มาตรการเยียวยาและการหาแหล่งเงิน คงไม่หนีไปจากกรอบที่ “รองฯสมคิด” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ “ขุนคลัง” นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมการล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้แล้ว

โดยมาตรการชุดใหญ่ระยะที่ 3 และ 4 ที่จะเยียวยาระบบเศรษฐกิจไทยใน 3 ส่วนหลัก คือ ผู้ที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภาคเกษตร และสร้างเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุนนั้น “รองฯสมคิด” บอกว่าจะใช้ทั้งงบประมาณและเงินกู้ โดยส่วนแรกจะให้ทุกกระทรวงตัดงบประมาณปี 2563 ออกมา 10% และออกเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณ มาไว้เป็นงบกลางให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี สำหรับใช้แก้ปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะ ส่วนอีกก้อนจะออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน มาดำเนินการ ซึ่งต้องทำให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้

สำหรับการกู้เงิน คงเป็นการกู้ภายในประเทศ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องไปกู้ไอเอ็มเอฟหรือต่างประเทศ อย่างที่ รองฯสมคิด ว่าไว้ “ขณะนี้เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศถึง 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินตราของเราไม่ได้ไหลออกนอกประเทศ เงินบัญชีเดินสะพัดสูงมาก ดอกเบี้ยต่ำ จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินไอเอ็มเอฟ เราสามารถดูแลตัวเองได้สบายๆ ... หากมีความจำเป็นต้องกู้สามารถกู้เงินในประเทศได้”

ตามแผนการ รองฯสมคิด ระบุว่า กระทรวงการคลัง ได้เตรียมแผนการเรื่องกู้เงินไว้เกือบเดือนแล้ว โดยมีแผนที่จะออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท สำหรับการเกลี่ยงบจากทุกกระทรวง 10% หรือ 3.2 แสนล้าน จากงบประมาณประจำปี 2563 รวม 3.2 ล้านล้านบาท น่าจะเป็นงบก้อนใหญ่สำหรับมาตรการชุดใหญ่เพียงพอที่จะเอาอยู่

“ขุนคลัง” ก็บอกว่า กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาชุดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 คาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่ามาตรการชุดที่ 1 และชุดที่ 2 หรือมากกว่า 400,000 ล้านบาท ผ่านนโยบายและมาตรการที่ยึดโยงไปทุกพื้นที่เพื่อดูแลทั้งประชาชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะกลุ่มเหล่านี้ปัจจุบันรายได้หายไป ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น

สำหรับการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน และการเกลี่ยงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19 นั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) บอกชัดว่า กรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขอให้มีการเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ เพราะตามอำนาจรัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และบังคับใช้ได้ แต่เมื่อสภาฯ เปิดสมัยประชุม ช่วงเดือนพฤษภาคม รัฐบาลต้องแจ้งต่อสภาฯ ให้รับทราบ ซึ่งรวมถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้ช่วงวันที่ 26 มีนาคมด้วย โดยต้องทำเป็นวาระแรก ไม่ชักช้า

ในการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินรอบนี้ มีเอกชนส่งเสียงหนุน โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ธนาคารทิสโก้ ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ทั้งหมด เช่น พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ โดยรัฐบาลยังมีพื้นที่สำหรับกู้เงินเพิ่มเติมราว 2.42 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน และยังอยู่ภายใต้เกณฑ์กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

อย่างที่ “ขุนคลัง” ขอให้มั่นใจว่าฐานะการคลังของไทยเข้มแข็ง และจะรักษากรอบวินัยการเงินการคลังไว้ไม่เกิน 60% ได้แน่นอน

นั่นหมายถึงว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะจะต้องไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP - Gross Domestic Product) หรือจีดีพี ซึ่งเวลานี้ ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตามที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สรุปสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2562 มีจำนวน 6,960,625 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.07 % ของจีดีพี

แบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,720,353.81 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 901,865.96 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ ที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 329,004.22 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 9,411.48 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนเม.ย.2562 จำนวน 6,960,625.47 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 6,733,028.96 ล้านบาท หรือ 96.73 % และหนี้ต่างประเทศ 227,596.51 ล้านบาท หรือ 3.27 % ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และส่วนใหญ่ 86% เป็นหนี้ระยะยาว ฐานะการคลังจึงถือว่ามั่นคง สอดคล้องตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไว้ที่ 60%

และในระยะปานกลาง 5 ปี คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ใต้เพดานที่ไม่เกิน 60% โดยในปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 43.3% ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 44.5% ปี 2564 อยู่ที่ 46% ปี 2565 อยู่ที่ 47.9% ปี 2566 อยู่ที่อยู่ที่ 48.5% แต่ต้องไม่ลืมว่า คาดการณ์นี้อยู่ภายใต้สมมติฐาน GDP ขยายตัว 4%

สรุปคือ กู้ได้หายห่วง แม้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจของทั้งโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระเทือนมาถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น แต่ถ้าจะกู้ก็ยังพอไหวอยู่

ส่วนที่ถามไถ่กันมากมายว่างบกลางเยอะแยะไปไหมหมดทำไมไม่เอามาใช้ แม้แต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังเรียกร้องให้รัฐบาลดึงเอางบกลางมาใช้สู้วิกฤตไวรัสฯ ระบาดด้วยนั้น ประเด็นนี้เว็บไซต์ ThaiPublica เจาะลึกตามหางบกลาง งบฉุกเฉิน สู้วิกฤตโควิด-19 สรุปรวมความได้ว่า “งบกลาง” ซึ่งหมายถึง งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐนำไปใช้จ่ายนอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับตามปกติ รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะเรื่อง

ในปีงบประมาณ 2563 มีทั้งหมด 11 รายการ วงเงินรวม 518,000.92 ล้านบาท อยู่ในความดูแลของกรมบัญชีกลางมี 7 รายการ วงเงินรวม 418,771 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 3,000 ล้านบาท 2) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 71,200 ล้านบาท 3) เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,940 ล้านบาท 4) เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 265,716 ล้านบาท 5) เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 10,465 ล้านบาท6) เงินสมทบลูกจ้างประจำ 670 ล้านบาท 7) เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ 62,780 ล้านบาท

ส่วนงบกลางส่วนที่เหลืออีก 100,000 ล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมี 4 รายการ ได้แก่ 8) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท 9) ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,500 ล้านบาท 10) เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท 11) เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท

“งบกลาง” ในส่วนของ “งบสำรองจ่ายฉุกเฉิน” 96,000 ล้านบาท นี่แหละ ที่เอามาใช้ได้ และรัฐบาลเร่งอนุมัติเกลี้ยงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเยียวยาและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกือบ 80,000 ล้านบาท และภัยแล้งอีกกว่า 8,300 ล้านบาท โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสฯ แบ่งเป็น มาตรการดูแลและเยียวยาชุดที่ 1 วงเงิน 27,500 ล้านบาท มาตรการฯชุดที่ 2 วงเงิน 45,000 ล้านบาท มาตรการบรรเทาผลกระทบโควิดและภัยแล้ง 17,310 ล้านบาท โครงการเตรียมความพร้อมป้องกันโควิด 1,233 ล้านบาท และค่าวัสดุอุปกรณ์จัดทำหน้ากากอนามัย 225 ล้านบาท

ส่วน “งบกลาง” ที่นอกเหนือจากงบฉุกเฉินนั้น สรุปภาพรวมการเบิกจ่ายจากงบกลางช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 518,771 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 229,287 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 289,484 ล้านบาท หรือ 55.80% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร

ในงบกลางค้างท่ออยู่เกือบ 3 แสนล้านนี้ มีส่วนของงบฉุกเฉินที่จะต้องนำไปเยียวยาและป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมอยู่ด้วย ซึ่งอีกไม่นานคงล้างท่อกันแบบรัวๆ แน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น