ผู้จัดการรายวัน360-"สมคิด"หารือนายกรัฐมนตรี เตรียมความพร้อมในการออกมาตรการชุดที่ 3 เพื่อเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ชงโยกเงินงบประมาณ 10% จากทุกหน่วยงาน และออกพ.ร.ก.กู้เงิน "อุตตม" เผยมาตรการชุด 3 มีขนาดใหญ่กว่า 2 มาตรการแรก ครอบคลุมกลุ่มคนในต่างจังหวัด ระบบการเงิน ตลาดทุน ผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก ยันรัฐบาลไม่ถังแตก ไม่กู้ไอเอ็มเอฟ ส่วนยอดลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5 พันบาท ทะลุ 20 ล้านคนแล้ว ชง ครม. ขออนุมัติวงเงินเพิ่ม หากงบ 4.5 หมื่นล้านบาทที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ แย้มการจ่ายเงินอาจเกิน 7 วัน หลังต้องตรวจสอบเข้ม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อหารือการเตรียมความพร้อมในการออกมาตรการชุดที่ 3 เพื่อดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า นายกฯ เห็นด้วยกับมาตรการชุดที่ 3 และหลังจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรวบรวมรายละเอียดและเสนอให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอย่างเร็วที่สุด
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการชุดใหญ่และใช้ทั้งงบประมาณและเงินกู้ ซึ่งในส่วนแรกจะให้ทุกหน่วยงานตัดงบประมาณปี 2563 ส่วนของตัวเอง 10% และออกเป็นพ.ร.บ.โอนงบประมาณ ส่วนอีกก้อนจะออกเป็นพ.ร.ก.กู้เงิน มาดำเนินการ ซึ่งจะช่วยเหลือทั้งประชาชน ผู้ประกอบการเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้
สำหรับมาตรการที่จะออกมาครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็นการเข้าไปดูแลผลกระทบของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างพอเพียง ส่วนที่สอง คือ การเข้าไปดูแลภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเน้นไปที่ตัวคนที่เดินทางกลับบ้าน กลับภูมินำเนาในช่วงนี้ ส่วนมากจะเข้าไปอยู่ในภาคเกษตรเป็นหลัก ดังนั้น จะมีมาตรการออกไปดูแลกลุ่มนี้ให้สามารถมีกิจกรรมสร้างงานสร้างรายได้ภายในท้องถิ่น ส่วนสุดท้าย คือ มาตรการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบตลาดเงินและตลาดทุน
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวงการคลังกำลังทำงานเพื่อกำหนดชุดมาตรการชุดที่ 3 ที่ครอบคลุมทั้งในเรื่อง1.การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 2.การดูแลระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบ จากรายได้ที่ขาดหายไป และเข้าถึงแหล่อเงินทุนได้ยากขึ้น โดยจะเน้นการพิจารณามาตรการที่ยึดโยงไปในมิติของพื้นที่ตามต่างจังหวัด เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งแรงงานที่เคยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากการถูกปิดกิจการ จึงต้องเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด รวมถึงแรงงานที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น มาตรการชุดที่ 3 จะลงไปดูแลในส่วนนี้ด้วย และเพื่อความต่อเนื่อง ชุดมาตการจึงต้องเข้าไปช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจรากฐานด้วย
นอกจากนี้ มาตรการที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาอยู่ในปัจจุบัน จะมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญไม่แพ้กันอีกประการ คือ การเข้าดูแลระบบการเงิน เรื่องทุน เรื่องสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ เรื่องระบบการลงทุนในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ ดังนั้น มาตรการชุดที่ 3 จะมีความครอบคลุมและยึดโยง มีขนาดที่เหมาะสม และจำเป็นสำหรับการดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบ
"ขนาดของมาตรการชุดที่ 3 จะมีขนาดที่ใหญ่กว่ามาตรการที่กระทรวงการคลังได้ออกไปแล้วทั้ง 2 ชุดแรกรวมกัน โดยมาตรการชุดที่ 1 มีขนาด 4.5 แสนล้านบาท และมาตรการชุดที่ 2 มีขนาด 4.5 หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการชุดที่ 3 จะต้องใช้งบประมาณเป็นเท่าใด นายอุตตมกล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของชุดมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย""นายอุตตมกล่าว
นายอุตตมกล่าวว่า กระทรวงการคลังจะได้ทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมากมายในการจัดทำมาตรการไปแล้วก่อนหน้านี้ 2 ชุด และจำเป็นต้องออกมาตรการชุดที่ 3 โดยกระทรวงการคลังขอยืนยันว่าจะไม่ถังแตกอย่างแน่นอน ขณะที่สำนักงบประมาณจะมีการดูแลเรื่องการจัดสรรงบประมาณในอนาคตอย่างรอบคอบรัดกุม แต่จะไม่กู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เนื่องจากกระทรวงการคลังสามารถจัดทำงบประมาณ และมีเงินอีกส่วนที่จะนำมาใช้เสริมกันได้
นอกจากนี้ ขอให้มั่นใจว่าฐานะการคลังของไทยเข้มแข็ง และจะรักษากรอบวินัยการเงินการคลังไว้ไม่เกิน 60% ได้แน่นอน ส่วนจะโยกงบประมาณจากหน่วยงานอื่นมาใช้รองรับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดขแงโควิด-19 หรือการออก พ.ร.ก.กู้เงิน หรือไม่นั้น สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาทุกทางเลือกที่เหมาะสม
ส่วนกรณีที่สายการบินของไทยเตรียมขอกระทรวงการคลังพิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) วงเงิน 16,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นายอุตตม กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินให้แล้ว ส่วนมาตรการอื่น เช่น การเสริมสภาพคล่อง ซึ่งปัจจุบันมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาท ภาคการบิน ภาคธุรกิจท่องเที่ยว สามารถจะมาใช้ได้ โดยปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่เข้าไปเสริม
ด้านการประเมินถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 ซึ่ง ธปท. ได้ปรับลดไปแล้วก่อนหน้านี้ในระดับที่ติดลบ 5.3% นั้น มองว่า ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะจบลงเมื่อใด สิ่งที่ ธปท.ประเมินเป็นตัวเลขที่สะท้อนว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องจริงและมีความรุนแรง และตนก็เชื่อว่าโควิด-19 จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
นายอุตตม กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วทั้งสิ้น 19.8 ล้านคน
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้คลังเตรียมงบประมาณใช้ในโครงการ 45,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ 9 ล้านคน หากมีผู้ผ่านคุณสมบัติเกินกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 3 ล้านคน กระทรวงการคลังก็ได้เตรียมของบประมาณเพิ่มเติมจาก ครม. ซึ่งยอมรับว่าตัวเลขลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเดิมไม่ได้รวมในส่วนของลูกจ้างประกันสังคมตามมาตรา 39-40 ไว้ ซึ่งมีอยู่กว่า 6 ล้านราย แต่ในจำนวนนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการคัดกรองคุณสมบัติกันอย่างเข้มงวด ซึ่งอาจจะทำให้ขั้นตอนการเยียวยาอาจจะนานกว่ากำหนดเดิมที่กำหนดไว้ 7 วัน
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ณ เวลา 15.00 น. มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยาโควิด19 ผ่านเว็ปไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.comทะลุ 20 ล้านคนแล้ว คิดเป็นวงเงินที่ขอรวมกว่า 3 แสนล้านบาท (เม.ย.-มิ.ย.) โดยกระทรวงการคลังยืนยันว่ายังเปิดรับลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่ปิดลงทะเบียนแต่อย่างใด