xs
xsm
sm
md
lg

แจกเพิ่มอีก6ล้านคน เม.ย.ประเดิมก้อนแรก4.5หมื่นล. ลงทะเบียนทะลุ22ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ครม.เห็นชอบทบทวนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก ชุด 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้ว พร้อมกับขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิ เพิ่มจากเดิมเพียง 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน เปิดกว้างให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิด้วย เตรียมเงินงบประมาณสำรองก้อนโตจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท ประเดิมจ่ายก้อนแรกทันทีเดือน เม.ย.นี้ ขณะที่ยอดลงทะเบียนขอรับสิทธิ ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ทะลุ 22 ล้านรายแล้ว คลังขอเวลาตรวจสอบข้อมูล คาดใช้เวลา 7 วัน รู้ตัวเลขผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือแน่นอน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ทบทวนมติครม. เกี่ยวกับมาตรการดูแล และเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 28 -30 มี.ค.63 เวลา 07.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบสิทธิทั้งสิ้น 18.8 ล้านคน จึงได้มีการประเมินว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีเพิ่มกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้ง ตาม มาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนตาม ม.39 ม.40 ซึ่งมีประมาณ 5 ล้านคน ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ... ที่ครม.เห็นชอบไว้ จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตนตาม ม.33 บางส่วนที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม แต่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 70,676 คน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกันตนตาม ม. 33 กลุ่มอื่น ๆ นั้น กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

ในการนี้ ก.คลัง พิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอทบทวนมติครม. เกี่ยวกับมาตรการชดเชยรายได้ฯ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ดังนี้

1.1 ขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากเดิม 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน

1.2 เพื่อให้สามารถชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทั่วถึง และทันท่วงที ก.คลัง ขอนำงบฯ ปี 63 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 มาใช้ในการชดเชยรายได้ครั้งแรก ในเดือนเม.ย.63 ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ ไปพลางก่อน

1.3 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ โดยให้กรมสรรพากร เสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครม. พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการชดเชยรายได้ฯ เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ตามบทบัญญัติใน มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (ประกาศคณะกรรมการฯ) เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 โดยก.คลัง ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว

2. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โครงการสินเชื่อฯ ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้โครงการสินเชื่อฯ ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.20 ต่อปี ซึ่งธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. มีต้นทุนผันแปร อยู่ที่ร้อยละ 2.56 และ 2.90 ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนเงิน อยู่ที่ร้อยละ 1.56 และร้อยละ 1.90 ตามลำดับ และค่าใช้จ่ายในการกันเงินสำรองอย่างน้อยธนาคารละร้อยละ 1.00 ของสินเชื่อที่อนุมัติ

ดังนั้น ก.คลังพิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอทบทวนมติครม. เกี่ยวกับโครงการสินเชื่อฯ เพื่อให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตามที่กล่าวข้างต้น โดยไม่กระทบต่อฐานะ และผลการดำเนินงาน

การดำเนินโครงการสินเชื่อฯ เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามบทบัญญัติใน มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 โดย ก.คลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอ ตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว

การดำเนินมาตรการดังกล่าวยังเข้าข่ายตามบทบัญญัติใน มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการมาตรการดังกล่าว และกระทรวงการคลังในฐานะผู้เสนอเรื่องดังกล่าว ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อครม. ตามบทบัญญัติในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว

ประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ได้กำหนดอัตรายอดคงค้าง รวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละสามสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยก.คลัง ขอเรียนว่า ณ สิ้นวันที่ 24 มี.ค.63 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตาม มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มียอดคงค้างจำนวน 893,826.812 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 27.93 ของงบ ปี63 (วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท) ซึ่งหากรวมภาระทางการคลัง ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอครม. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2562/63 (เพิ่มเติม) ของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 682.86 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.02 ของจำนวนเงินงบปี 63 และโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 10,236.50 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.32 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะส่งผลให้ยอดคงค้างทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 904,746.172 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 28.27 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ดังนั้น หากมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.05 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 906,346.172 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 28.32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้

นายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยอดลงทะเบียนรับอาชีพอิสระรับเงิน เยียวยา 5 พันบาท ต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือนรวม 1.5 หมื่นบาท ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 31 มีนาคม การลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 21.7 ล้านคน กระทรวงการคลังไม่ปิดการลงทะเบียนคาดว่าน่าจะถึง 22 ล้านคน โดยตัวเลขที่ขอครม.ไว้เมื่อวันที่ 24 มี.ค.กำหนดไว้ 3 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทแต่ขณะนี้ตัวเลขสูงขึ้น ดังนั้นหากผ่านเกณฑ์มากกกว่านี้จะใช้เงินที่มีอยู่จ่ายให้ผู้ผ่านเกณฑ์ในเดือนแรก 9 ล้านคนไปก่อน โดยล่าสุดครม.เมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีมติเรื่องนี้ออกมาแล้ว

กระทรวงการคลังขอเวลาในการตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนทั้งหมดอีกครั้ง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 วันหลังจากนั้นทราบตัวเลขผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น