xs
xsm
sm
md
lg

ไขข้อข้องใจ “งบกลาง” หายไปไหน? ในช่วงวิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นักการเงิน” แจงงบกลางที่ใช้เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ในปีงบ 63 มีเพียง 9.6 หมื่นล้าน หลายฝ่ายหนุนโยกงบ 10% จากกระทรวงต่างๆ หรือออก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อแก้ปัญหา ด้าน “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ” แนะอัดงบ 1 ล้านล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ ชดเชยความเสียหายช่วง เม.ย.-มิ.ย. ขณะที่ “ผศ.ดร.สมชาย” ชี้ หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของ GDP

ภาพที่บุคลากรทางการแพทย์ของไทยซึ่งเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับไวรัสร้ายโควิด-19 แต่กลับขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ กระทั่งหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ ต้องมานั่งประดิษฐ์อุปกรณ์ป้องกันกันตามมีตามเกิด จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใดรัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณมาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์จำเป็นดังกล่าว ยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลอาจจำเป็นต้อง “กู้เงิน” เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เนื่องจากขณะนี้ “งบกลาง” เหลือน้อยมาก ก็ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน
เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาเมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อีกทั้งงบกลางนั้นเป็นงบที่สำรองไว้เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และในปีงบประมาณ 2563 นั้น ได้ตั้งงบกลางไว้สูงถึง 520,000 ล้านบาท จึงเกิดคำถามตามมาว่า “งบกลางหายไปไหน?” ซึ่งนับเป็นคำถามที่สร้างแรงกระเพื่อมให้รัฐบาลไม่น้อยทีดียว

ล่าสุด นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ออกมาระบุว่า งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในปี 2563 ขณะนี้มีรายจ่ายที่ผูกพันไว้ใกล้ครบ 96,000 ล้านบาทแล้ว ก็ยิ่งสร้างความงวยงงสับสนไปกันใหญ่ว่าเหตุใดตัวเลขงบกลางที่ปรากฏต่อสาธารณะเมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนถึง 520,000 ล้านบาท จึงกลายเป็น 96,000 ล้านบาทไปได้


น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน ที่จับตาเรื่องการใช้จ่ายงบกลางของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า หากดูจากข้อมูลของสำนักงบประมาณจะพบว่า งบกลางในปีงบประมาณรายจ่าย 2563 มีอยู่ทั้งสิ้น 518,770,918,000 บาท หรือเกือบ 520,000 ล้านบาท แต่งบดังกล่าวจะถูกกันไว้เป็น “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” เพียง 96,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการตั้งงบเพื่อรองรับ “กรณีที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิด” แต่ยังไม่รู้ตัวเลขว่าในปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายตามจริงเท่าไหร่ เช่น ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการซึ่งไม่ทราบว่าปีนี้ข้าราชการจะป่วยกี่คน ต้องใช้เงินเท่าไหร่ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีข้าราชการลาออกกี่คน (ดูเอกสารงบประมาณประกอบ)

ส่วนงบกลางที่นำมาใช้จ่ายได้ในกรณีวิกฤตโควิด-19 จะอยู่ในส่วนของ “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น” วงเงินรวม 96,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ครม.อนุมัติการใช้งบส่วนของการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินไปแล้ว 94,029 ล้านบาท โดยเป็นงบเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 ประมาณ 91,000 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ) เท่ากับว่าเงินสำรองส่วนนี้ใกล้หมดเต็มทีแล้ว ซึ่งงบที่ใช้ในการเยียวยาแรงงานนอกระบบคนละ 5,000 บาท/เดือน ก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย

“ปัญหาคือ ในการจัดสรรงบเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น รัฐบาลไม่ได้มีการวางแผนอย่างรอบด้านจึงทำให้ไม่สามารถสกัดการแพร่ระบาดของโรคได้ โดยจะเห็นได้ว่ามาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบ รายละ 5 พันบาท/เดือนนั้น ออกมาหลังจากมีการประกาศล็อกดาวน์ และแรงงานดังกล่าวเดินทางกลับต่างจังหวัดเพราะคิดว่าไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในเมืองในขณะที่ไม่มีรายได้ ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปในต่างจังหวัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าเสียดายมาก หากรัฐบาลออกมาตรการให้เงินเยียวยาก่อนที่จะประกาศล็อกดาวน์ น่าจะทำให้ประชาชนหยุดการเคลื่อนที่และสามารถคัดกรองผู้ป่วยออกจากระบบเพื่อหยุดการแพร่เชื้อได้” น.ส.สฤณีกล่าว


อย่างไรก็ดี เนื่องจากวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณอีกมากในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว น.ส.สฤณีจึงเสนอว่า นอกจากเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินดังกล่าวแล้ว รัฐบาลควรมีงบสำรองอีกก้อนหนึ่งสำหรับใช้ในการเยียวยาและแก้ไขปัญหานี้ซึ่งควรมีวงเงินไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสามารถใช้วิธีโยกงบประมาณจากหน่วยงานที่ไม่ได้มีภารกิจแก้ปัญหาโควิด-19 โดยตรง มาไว้ที่งบกลาง หรือกระทรวงสาธารณสุขตามความจำเป็น ซึ่งทำได้โดยผ่านการออกพระราชบัญญัติโอนย้ายงบประมาณ

“วิธีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ปีที่แล้วก็ทำ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาทนั้นมีงบประมาณส่วนที่ “ตัดไม่ได้เด็ดขาด” คือ เงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการตามกฎหมาย งบชำระหนี้ และภาระผูกพัน แต่จะมีเงินส่วนที่ยังพอจะโยกย้ายได้อยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุน 650,000 ล้านบาท ซึ่งต้องคงสัดส่วนที่ 20% ของงบประมาณตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และรายจ่ายประจำ 550,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้วราว 40% ของงบประมาณ ดังนั้นประมาณการคร่าวๆ งบที่ยังไม่ได้ใช้คือ 330,000 ล้านบาทจากทุกกระทรวง ในส่วนนี้บางกระทรวงอาจโยกงบมาได้มากน้อยแตกต่างกัน หากโยกได้ก็สามารถนำมาใช้ในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาโควิด-19” น.ส.สฤณีระบุ


ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับสำนักงบประมาณ โดยนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติงบกลางเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 เป็นระยะ แต่งบประมาณดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอ ทางสำนักงบประมาณจึงเสนอวิธีจัดหางบเพิ่มเติมไว้ 2 แนวทาง

แนวทางแรก คือ ให้กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่แนวทางนี้มีหลายประเด็นที่ต้องตีความ เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินได้หรือไม่ เนื่องจากมาตรา 140 กำหนดว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินจะทำได้เฉพาะรายจ่ายที่อนุญาตตามงบประมาณเท่านั้น ดังนั้นการออก พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งถือเป็นรายจ่ายฉุกเฉิน อาจไม่สามารถทำได้

สำนักงบประมาณจึงเสนอแนวทางที่ 2 ไว้เป็นแผนสำรอง โดยขอให้ ครม.เสนอออกกฎหมาย พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณจากส่วนราชการที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ทันมาไว้ที่งบกลางเพื่อใช้ในการเยียวยาและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของโควิด-19

“ปีที่ผ่านมาสำนักงบประมาณก็เคยเสนอให้รัฐบาลชุดที่แล้วใช้วิธีการนี้ เพราะทำได้รวดเร็ว ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ครม.ว่าจะเลือกแผนใดเพื่อเติมงบกลางที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19” นายเดชาภิวัฒน์ ระบุ

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า จากผลกระทบของวิกฤตโควิดครั้งนี้ รัฐบาลควรอัดงบก้อนใหญ่เข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก จากการประเมินพบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ (เม.ย.-มิ.ย. 2563) จะสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่า 1-1.5 ล้านล้านบาท เนื่องจากรายได้จากหลายภาคส่วนจะหายไป ไม่ว่าจะเป็น รายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะหายไป 3-4 แสนล้านบาท การลงทุนหายไป 5,000 ล้านบาท รวมทั้งการใช้จ่ายของภาคประชาชนที่หายไปจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจด้วย

“เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องอัดงบเพิ่มเข้าไปในระบบอีก 600,000-1,000,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะใช้วิธีตัดงบจากกระทรวงต่างๆ กระทรวงละ 10% อย่างที่หลายฝ่ายเสนอ หรือใช้วิธีออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อกู้เงิน ก็ได้” ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
ด้าน ผศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เห็นว่า การใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินมาตรการเพื่อเยียวยาและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของโควิด-19 ของรัฐบาลนั้นถือว่าเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น มาตรการด้านการเงิน เช่น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19, ให้พักเงินต้น ลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ, มาตรการภาษี เช่น เร่งคืนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ และมาตรการอื่นๆ เช่น ลดภาระค่าน้ำค่าไฟ

ส่วนแนวคิดในการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวิกฤตโควิดนนั้นสามารถทำได้โดยการกู้เงินจากทั้งภายในและต่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องกู้ไอเอ็มเอฟเนื่องจากไอเอ็มเอฟจะให้เงินกู้เฉพาะประเทศที่มีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีปัญหาดังกล่าว ยังถือว่าเป็นประเทศที่มีเครดิต และมีเสถียรภาพพอที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศได้

“รัฐบาลสามารถกู้เงินโดย ออกตราสารหนี้ในประเทศ หรือกู้เงินจากต่างประเทศก็ได้ แต่ทั้งนี้หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของ GDP” ผศ.ดร.สมชายระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น