“ธนวรรธน์” ชี้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินจำเป็นในภาวะวิกฤตโควิด-19 เหตุความเสียหายจากโควิด-19 สูงเกิน 1 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณปี 63 ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ “บล.เอเซียพลัส” ระบุ พ.ร.ก.เงินกู้ใม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายมีไม่เพียงพอ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 200,000 ล้านบาทนั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะตัวเลขประเมินความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้คาดว่าอาจจะสูงเกิน 1 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณปี 63 ที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการนำมาใช้ แม้หลายส่วนเสนอให้ดึงงบประมาณลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมาใช้ในส่วนกลางก็ตาม แต่หากดูจากตัวเลขจะมีเพียงประมาณ 450,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งอาจไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้เมื่อ พ.ร.ก.ออกมาแล้วจะมีการกู้ผ่านหรือไม่ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่าวิกฤตและมีความต่างจากตอนเกิดวิกฤตที่ผ่านมา เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งที่ความเสียหายเกิดขึ้นภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เกิดขึ้นจากนอกประเทศเป็นหลัก แต่วิกฤตขณะนี้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงทำได้ยากกว่าช่วงที่ผ่านมา ขณะที่มาตรการของภาครัฐ ที่รวมถึงการแจกเงิน 5,000 บาท และมาตรการลดดอกเบี้ย พักชำระเงินกู้จากแบงก์ชาติ และสถาบันการเงินต่างๆ ที่ออกมาขณะนี้เป็นเพียงการช่วยประคองเท่านั้น ยังไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า การที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.เงินกู้ใม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาทในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายมีไม่เพียงพอ ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง และมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปี 2563 หดตัวที่ 5.3% ดังนั้นจึงต้องมีเม็ดเงินเข้ามาช่วยในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นไปได้
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นรับมาตรการที่ธนาคารกลางหลายๆ แห่งออกมาตการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อัดฉีดคิวอีแบบไม่จำกัดวงเงินจนกว่าตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งการที่สภาคองเกรสผ่านงบประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวล
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีความผันผวนสูงจากตัวเลขการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรปซึ่งมีสัดส่วนจีดีพีโลกถึง 50% ขณะที่ไทยคาดว่าการแพร่ระบาดจะพีกในช่วงเดือมีนาคม-เมษายน ทำให้คาดว่าจีดีพีไทยครึ่งปีแรกมีโอกาสติดลบมากกว่า 10% และดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังคงเป็นตัวเลขติดลบ และทั้งปีมีแนวโน้มที่อาจติดลบมากกว่า 5.3% ซึ่งเป็นตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินไว้ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นกินเวลาไปถึงเดือนพฤษภาคม
“แม้ขณะนี้หุ้นหลายตัวราคาถูกลงแต่ยังไม่ใช่เวลาไล่ซื้อหุ้น เพราะช่วงนี้ตลาดยังมีความผันผวนรุนแรง หรือหากมีสภาพคล่องเพียงพออาจมองที่หุ้นกลุ่มปลอดภัยที่งบดุลแข็งแรง และมีปันผล 4-5% เช่น INTUCH, ADVANC, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน DIF และ BAM เป็นต้น” นายพิชัยกล่าว