xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองเรื่องโควิด-19: ภาวะฉุกเฉินกับภาวะผู้นำ (๒)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในที่สุดรัฐบาลไทยโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ เพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด ภาวะฉุกเฉินเป็นมาตรการรวบอำนาจหรือรวมศูนย์อำนาจของรัฐมนตรีทั้งมวลอย่างมาไว้ที่นายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว เพื่อให้มีเอกภาพในการใช้อำนาจสำหรับการจัดการกับสถานการณ์วิกฤต

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในอดีตมีสาเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง เริ่มแรกในพ.ศ.๒๕๔๘ ใช้เพื่อจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถัดมาพ.ศ.๒๕๔๙ รัฐบาลทักษิณประกาศเพื่อหวังต่อสู้กับคณะรัฐประหาร ถัดมาปี ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓ รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศใช้หลายครั้งเพื่อจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง และในปี ๒๕๕๗ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ประกาศใช้เพื่อจัดการกับการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

หากพิจารณาประสิทธิผลของการนำมาตรการต่าง ๆ ที่ประกาศออกมาเพื่อจัดการกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงมีสิ่งที่น่าสนใจบางประการ กรณีแรกความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลไทยประกาศและต่ออายุภาวะฉุกเฉินหลายครั้งและดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา ในช่วงแรกของมีการประกาศใช้ดูเหมือนว่าประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถลดความรุนแรงของเหตุการณ์ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับสร้างปัญหาอื่นตามมาอีกหลายประการ

ต่อมาภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายต่อหลายครั้ง สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายในทางดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ในเบื้องต้นจึงอนุมานได้ว่าประสิทธิผลของการใช้อำนาจเข้มข้นตามภาวะฉุกเฉินอย่างเดียวมีค่อนข้างต่ำ แต่ต้องมีการใช้มาตรการเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะฉุกเฉินมาเสริมจึงค่อยทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นบ้าง

ส่วนการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงคือ การประกาศโดยรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จุดจบของผู้ประกาศทั้งคู่เหมือนกันคือการหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพียงไม่กี่วันหลังประกาศ กรณีรัฐบาลทักษิณ มีเจตนาใช้อำนาจตามภาวะฉุกเฉิน เพื่อต่อสู้กับการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้ไป กรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการกองทัพ เข้าไปจัดการกับผู้ชุมนุม กปปส. แต่ปรากฎว่าอำนาจของนายกรัฐมนตรีตามที่เขียนในกฎหมายกับความสามารถในการใช้จริงแตกต่างกัน กลไกรัฐในช่วงนั้นดูเหมือนไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาลอีกต่อไป อำนาจตามสถานการณ์ฉุกเฉินจึงไร้ความหมาย และจบลงด้วยการที่ผู้ประกาศถูกยึดอำนาจโดยการรัฐประหารแทน

สองกรณีนี้บ่งบอกให้เราทราบว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีมีแนวโน้มล้มเหลว หากกลไกรัฐ โดยเฉพาะกองทัพไม่ยอมรับการใช้อำนาจนั้น และหันมาใช้พลังอำนาจจากการครอบครองอาวุธในมือจัดการกับผู้ใช้อำนาจนั้นแทน

ส่วนกรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ปรากฎว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย นั่นคือสามารถสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงได้ตามที่ปรารถนา และนายอภิสิทธิ์ ก็ยังสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ผลพวงจากการใช้มาตรการเข้มข้นในการแก้ปัญหาครั้งนั้นได้ทิ้งบาดแผลแก่สังคมไทยอยู่พอสมควร แลมิได้ทำให้ความขัดแย้งทางสังคมที่เป็นสาเหตุของการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินหมดไปอย่างใด ต้องใช้เวลานับสิบปีจึงทำให้รอยแผลให้จางลงไปบ้าง

การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ประสบความสำเร็จในครั้งนั้น มีปัจจัยที่สำคัญคือ การได้รับการสนับสนุนจากผู้นำกองทัพ มีการใช้กำลังพล อาวุธ และยุทธวิธีของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิผลในการจัดการกับการชุมนุม แต่หลังจากนั้นไม่นาน นายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง จนต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน

เห็นว่าชะตากรรมของผู้ประกาศภาวะฉุกเฉินนั้นมีความคล้ายคลึงกันยิ่งนัก นั่นคือ การหลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายในเวลาไม่นานหลังการประกาศใช้อำนาจดังกล่าว

สำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้ของพลเอกประยุทธ์นั้น สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจากอดีตคือ สาเหตุของวิกฤติจนนำไปสู่การประกาศเป็นเรื่องการเมืองที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ในครั้งนี้เกิดจากสองสาเหตุผสมกันคือทางสาธารณสุขกับทางการเมือง หรือเป็นส่วนผสมของเชื้อโรคกับการกระทำของมนุษย์นั่นเอง

ในส่วนของเชื้อโรค หรือเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ติดต่อได้ง่าย ระยะฟักตัว ๑๔ วัน ใช้เวลานานในการรักษาให้ปลอดเชื้อ และมีความรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิดเป็นไปอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายแก่สังคมมนุษย์สูงยิ่ง เพียงตั้งแต่ตนเดือนมกราคม ๒๕๖๓ ที่มีการรู้จักเชื้อโรคนี้จนถึงวันที่ ๒๕ มีนาคมปีเดียวกัน มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกถึง ๔๒๑,๗๙๒ คน ใน ๑๖๙ ประเทศ มีผู้เสียชีวิต ๑๘,๘๘๓ คน อัตราการเสียชีวิตร้อยละ ๔.๓๖ ส่วนประเทศไทยผู้ป่วยสะสมจนถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม มีจำนวน ๑,๐๔๕ คน และเสียชีวิต ๔ คน

ปัจจัยทางสังคมที่ทำให้เชื้อโควิดระบาดอย่างรวดเร็วคือการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดทางสังคม ลักษณะสังคมที่ผู้คนจำนวนมากนิยมชุมนุมร่วมกันเพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี กีฬา และบันเทิง การระบาดโรคมีแนวโน้มเป็นไปอย่างรุนแรงและกว้างขวาง อย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศอิหร่าน และประเทศมาเลเซีย การแพร่ระบาดครั้งใหญ่เกิดจากการที่ผู้คนทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน ส่วนประเทศไทย การระบาดโรคครั้งใหญ่เกิดจากสนามมวย และกิจกรรมแสวงหาความบันเทิงในผับบาร์

ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลที่ทำให้เชื้อโรคระบาดอย่างรุนแรงและขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ บุคคลที่มีอุปนิสัยรักสนุก ชื่นชอบการใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน แสวงหาความสำราญ มีนิสัยอวดดี ขาดความตระหนักถึงภยันตราย และไร้วินัย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ประเทศอิตาลี สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในยุโรปที่ประชาชนมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง และรวมทั้งประเทศไทยด้วย

และปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือ ภาวะผู้นำของผู้บริหารประเทศ ประเทศใดก็ตามที่ผู้นำมีภาวะผู้นำสูง กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าประเทศนั้นจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยมเผด็จการก็ตาม ก็จะทำให้การจัดการปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล สามารถยับยั้งและยุติการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศไต้หวัน ประเทศสิงคโปร์และประเทศญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่ผู้นำมีภาวะผู้นำบกพร่อง ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้ารับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ตามมา หรือตัดสินใจกลับไปกลับมาดุจไม้หลักปักขี้เลน มักทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ประเทศอิตาลี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สเปน และประเทศไทย เป็นต้น

การแก้ปัญหาวิกฤติโควิดในประเทศไทยเป็นตัวอย่างชัดเจนถึงการไร้ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี ที่เห็นชัดคือ การขาดญาณทัศน์หรือพลังของสติปัญญาในการอนุมานข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อการคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้อง แต่ที่แย่กว่านั้นคือ การไม่เชื่อญาณทัศน์ของบรรดานายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายในช่วงแรก ๆ ที่ออกมาเตือนแล้ว ทำให้การกำหนดมาตรการเป็นไปอย่างงุ่มง่าม ละล้าละลัง จนทำให้อัตราการเพิ่มของโรค ซึ่งอยู่ในระดับต่ำติดต่อกันมาหลายสัปดาห์ในช่วงแรก พุ่งทะยานสูงลิ่วในกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไป โชคดีว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน หากเป็นเมืองหนาวที่เชื้อโรคมีชีวิตอยู่ได้นาน ชะตากรรมของประเทศไทยในปัจจุบันก็ไม่แตกต่างจากประเทศยุโรปในหลายประเทศแต่อย่างใด

นอกจากขาดญานทัศน์แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการขาดบารมีในการทำให้รัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงที่เป็นผู้ได้บังคับบัญชาเกรงใจ ไม่สามารถทำให้บรรดารัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน และทุ่มเทการทำงานอย่างเสียสละเพื่อแก้ปัญหา สิ่งที่สังคมเห็นและรับรู้ผ่านสื่อมวลชนคือ ความเละเทะของการแก้ปัญหา การไม่ร่วมมือ ความขัดแย้ง ความไร้ประสิทธิภาพ มีการกักตุนสินค้าที่จำเป็น การเห็นแก่ตัวกลัวตาย และการแสวงหาประโยชน์ ส่วนบุคคลากรของรัฐที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน อันเกิดจากทำงานอย่างจริงจังและเสียสละ ส่วนใหญ่คือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลัก

ผลลัพธ์ของการประกาศภาวะฉุกเฉิกซึ่งสามารถใช้อำนาจได้อย่างเข้มข้น ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้นำประเทศ หากผู้นำมีญาณทัศน์สูงส่ง วิสัยทัศน์กว้างไกล เปี่ยมด้วยบารมีและความมุ่งมั่น ก็จะทำให้มีโอกาสนำพาประเทศฝ่าวิกฤติไปได้โดยเร็ว และสูญเสียน้อย

แต่ในทางที่สอง ถ้าหากว่าผู้นำปราศจากญาณทัศน์ ไร้ภาวะการนำ วิสัยทัศน์แคบสั้น ขาดบารมีโดดเดี่ยวพึ่งแต่อำนาจที่เป็นทางการ และการตัดสินใจโลเล ละล้าละลัง ไม่เด็ดขาด ประเทศมีแนวโน้มประสบกับวิกฤติที่ยืดเยื้อยาวนาน และกว่าจะสิ้นสุดลง ความสูญเสียก็คงเกิดขึ้นเหลือคณานับ และในกรณีนี้บางทีการเปลี่ยนม้ากลางศึกก็อาจจำเป็นต้องเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น