xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตของระบอบอำนาจนิยม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

กระแสความรู้สึกหมดหวังสูญสิ้นความเชื่อถือต่อรัฐบาลประยุทธ์แพร่กระจายในหมู่ประชาชนเร็วกว่าอัตราการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยิ่งนัก สัญญาณที่บ่งชี้ได้ดีคือ ผู้สนับสนุนและปกป้องรัฐบาลอย่างแข็งขันลดลงอย่างเห็นได้ชัด บางคนเลือกใช้ความเงียบและเฝ้ามอง บางคนออกมาบ่นดัง ๆ สู่สาธารณะ และจำนวนไม่น้อยเริ่มวิจารณ์ ภาวะแบบนี้สะท้อนว่า ระบอบอำนาจนิยมกำลังเดินไปสู่จุดจบในไม่ช้า

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตความเชื่อถือต่อระบอบอำนาจนิยมมีหลายประการ และยิ่งมีมากขึ้นตามระยะเวลาการบริหารประเทศ กระแสวิกฤตความเชื่อถือต่อระบอบอำนาจนิยม มิใช่เกิดขึ้นต่อรัฐบาลอำนาจนิยมเท่านั้น หากแต่ยังเกิดขึ้นกับสถาบันอำนาจนิยมอื่น ๆ ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และระบบยุติธรรมด้วย

สำหรับปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลอย่างมากต่อวิกฤตของรัฐบาลอำนาจนิยมคือ ความไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในระดับโครงสร้างระดับครัวเรือน และระดับบุคคล อันนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มอาชีพลดลง คนตกงานและว่างงานเพิ่มขึ้น และท้ายที่สุดคนจนก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและเมื่อต้องประสบกับภัยพิบัติที่เกิดจากโรคโควิด 19 อัตราการเดินเข้าสู่ภาวะหายนะทางเศรษฐกิจก็เร็วขึ้นและเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

ความไร้ฝีมือขาดความสามารถสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน เมื่อรัฐบาลอำนาจนิยมพยายามเสนอมาตรการแจกเงินแก่ประชาชนคนละ 2,000 บาท จำนวน 14 ล้านคน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่กลับถูกต่อต้านจากคนจำนวนมากที่สำคัญคือ การต่อต้านจากผู้ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลอย่างแข็งขันมาก่อน จนต้องยกเลิกมาตรการนี้ไป และไปใช้มาตรการอื่นที่มีผู้เสนอมา แต่ก็ดูเหมือนไม่อาจหยุดยั้งกระแสความตกต่ำของความเชื่อถือได้ กลับยิ่งทำให้เห็นถึงความไร้สามารถอย่างแท้จริงในการคิดและความสามารถของรัฐบาลเอง จนคำกล่าวที่ว่า “ผู้นำโง่ เราตายกันหมด” กลายเป็นประโยคที่แพร่กระจายในหมู่ประชาชนวงกว้าง

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงแรกดูเหมือนว่าประเทศไทยสามารถรับมือได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่ประชาชนหาได้คิดว่าเกิดจากความสามารถของรัฐบาลแต่อย่างใด ประชาชนเห็นว่าคณะบุคคลและองค์การที่มีความสามารถในการลดและชะลอปัญหาได้คือ คณะแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศไทย รวมทั้งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอื่น ๆ ด้วย ประโยคที่แพร่หลายในสื่อสาธารณะทั้งหลายที่ว่า “เชื่อในบุคลากรสาธารณสุข แต่ไม่เชื่อรัฐบาล” สะท้อนความคิดของประชาชนต่อเรื่องนี้เป็นอย่างดี

สถานการณ์ของรัฐบาลยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเมื่อ หน้ากากอนามัยอันเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อป้องกันตนเองจากโรคร้ายของประชาชนเกิดการขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น จนรัฐบาลต้องใช้มาตรการที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ฉลาดแม้แต่น้อย นั่นคือการขายหน้ากากราคาถูกและให้ประชาชนไปซื้อบริเวณทำเนียบรัฐบาล ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกลับแจกฟรีแก่ประชาชน การปฏิบัติที่ขัดแย้งกันเองเช่นนี้สะท้อนความล้มเหลวอีกอย่างหนึ่งในการจัดการกับปัญหาของรัฐบาลอำนาจนิยม และต่อมารัฐบาลก็ต้องหยุดจำหน่ายและหันมาแจกจ่ายฟรีแก่ประชาชน กระนั้นก็ตามการที่ให้ผู้คนมาซื้อหรือมารับแจกบริเวณเดียวกัน ก็ผิดหลักการควบคุมโรคระบาด เพราะเมื่อคนมาอยู่รวมกันหมู่มาก โอกาสที่จะติดเชื้อก็มีมากไปด้วย นี่แหละคือผลของระบอบอำนาจนิยมที่ชอบทำอะไรแบบรวมศูนย์อำนาจ

ครั้นเมื่อไม่สามารถลดการขาดแคลนและการขึ้นของราคาของหน้ากากอนามัยได้ รัฐบาลก็ตัดสินใจเพิ่มระดับการรวมศูนย์อำนาจขึ้นไปอีกในการจัดการกับปัญหา โดยการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมและอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมการค้าภายใน ซึ่งควบคุมทั้งการผลิต ราคา และช่องทางการจำหน่าย แต่วิธีการแบบรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในที่สุดโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนต่างออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า ขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนัก และทำให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะเสี่ยงยิ่งขึ้น

เรียกได้ว่า อำนาจนิยมพาคนไปตายกันหมด

ทว่า ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อมีข่าวเรื่องการกักตุนหน้ากากอนามัยโดยกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลในรัฐบาลปรากฎสู่สาธารณะ ความรู้สึกโกรธของประชาชนเกิดขึ้นอย่างรุนแรง และขยายลุกลามไปสู่ตัวนายกรัฐมนตรี แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์กลุ่มหนึ่ง ก็มีกระแสของประโยคที่ว่า “ไม่อยากพายเรือให้โจรนั่ง” หลุดออกมาสู่สาธารณะ และมีกระแสเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวออกจากรัฐบาล

คำถามที่ว่า นายกรัฐมนตรีปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมตอนจัดตั้งรัฐบาลจึงไม่เลือกคนดีมีคุณธรรมเข้ามาบริหารประเทศ กลับเลือกคนที่สังคมกังขาในพฤติกรรม และในที่สุดกลุ่มคนเหล่านั้นก็แสดงพฤติกรรมตามที่ประชาชนตั้งข้อสงสัย กระนั้นก็ตามแม้จะมีเรื่องราวเกิดขึ้น แต่ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีกลับเฉยเมย ไม่แสดงภาวะผู้นำออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แม้แต่น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้วิกฤตศรัทธา ซึ่งเดิมก็มีอยู่แล้วระดับหนึ่ง ก็ยิ่งขยายทั้งในระดับกว้างและลึก แต่นี่คือสิ่งที่เราทำนายได้ เพราะผู้นำในระบอบอำนาจนิยมมีธรรมชาติในการปกป้องลูกน้องที่รับใช้ตนเอง มากกว่าปกป้องประชาชน

ทว่าภายใต้วิกฤตความน่าเชื่อถือในรัฐบาลอำนาจนิยม ก็มีคนบางกลุ่มในสังคมกลับใช้วิกฤตนี้สร้างกระแสและเรียกร้องการรัฐประหาร ซึ่งเป็นระบอบอำนาจนิยมอย่างเข็มข้น ฐานคิดของคนเหล่านี้คือ รัฐบาลปัจจุบันเป็นอำนาจนิยมแบบอ่อน จึงไม่อาจแก้ปัญหาได้ ต้องใช้ อำนาจนิยมแบบเข้มข้นอย่างการรัฐประหารจึงจะแก้ปัญหาประเทศได้

ความคิดแบบนี้ไม่เคยตายในสังคมไทย ทั้งที่ประวัติศาสตร์และความจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารหลายครั้ง แสดงให้เห็นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า คณะรัฐประหารแบบอำนาจนิยมเข้มข้นทุกคณะไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม กลับยิ่งทำให้ปัญหาของประเทศมีความซับซ้อน และรุนแรงยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือทำให้รอยแตกร้าวของสังคมขยายทั้งแนวกว้างและลึก

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบอกความจริงให้เราทราบว่า กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐประหารและรัฐบาลอำนาจนิยมแบบเข้มข้นก็คือ พวกพ้องของผู้ทำรัฐประหารเองและกลุ่มทุนผูกขาดที่สนับสนุนการรัฐประหารเท่านั้น แต่ประเทศชาติโดยรวมและประชาชนเกือบทั้งหมดคือผู้สูญเสียอย่างแท้จริง ดังนั้นผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารหรือสร้างกระแสการรัฐประหารขึ้นมา หากไม่ใช่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากคณะรัฐประหารโดยตรง ก็คงมีสติปัญญาที่ตื้นเขินในการศึกษาวิเคราะห์การเมืองไทย หรือไม่ก็เป็นกลุ่มที่ไร้เดียงสาทางการเมือง ที่พอมีสังคมออนไลน์ก็แสดงทัศนะแบบแคบสั้นออกมาโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ก็อาจมีปัญหาทางจิตบางอย่างที่ไม่สามารถจำแนกว่าอะไรคือโลกความจริง และอะไรคือโลกแห่งความฝันได้

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มเหล่านี้บางคนอาจมีความฉลาดปราดเปรื่องในเรื่องเฉพาะทางที่ตนเองร่ำเรียนมาและเชี่ยวชาญสูง แต่ปัญญาญาณในการมองภาพรวมของสังคมการเมืองกลับผิวเผินอย่างยิ่ง อาจเป็นเพราะถูกม่านอคติบางอย่างบดบังปัญญา หรือไม่ก็ความคิดยังจมปลักอยู่กับอดีตอันแสนหวานเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ที่ประเทศไทยยังมีรถยนต์ใช้เพียงไม่กี่คัน มีถนนไม่กี่สาย โรงเรียนไม่กี่แห่ง และมีอาชีพไม่กี่อย่างเท่านั้น

ผู้นำคณะรัฐประหารที่เข้ามาบริหารประเทศนั้นถูกหล่อมหลอมจากองค์การแบบอำนาจนิยมเข้มข้นภายใต้วินัยเหล็ก ทำให้มีกรอบคิดทางสังคมการมืองคับแคบ มีค่านิยมแบบอำนาจนิยม มีท่วงทำนองการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ รังเกียจการกระจายอำนาจ มีแนวโน้มปิดกั้นเสรีภาพ ปิดปากประชาชน หวาดกลัวต่อความคิดที่แตกต่างจากตนเอง ไร้วิสัยทัศน์ในการมองอนาคต ครุ่นคิดแต่ความรุ่งเรืองของอดีต พยายามนำอดีตมาสร้างเป็นอนาคต หรือสร้างอนาคตให้เหมือนอดีต อันเป็นวงจรย้อนกลับ มีความเด็ดขาดเข้มงวดต่อประชาชนผู้ไร้อำนาจที่ไม่ใช่พวกพ้องของตนเอง แต่ปล่อยปละละเลยตนเองและเกรงใจพวกพ้อง จนบ้านเมืองไร้มาตรฐานในการปกครองและการบังคับใช้กฎหมาย

ผู้นำอำนาจนิยมเช่นนี้ไม่ปรีชาญาณ ปัญญาญาณ สมรรถนะ และความมุ่งมั่นเพียงพอในการรับมือกับพลวัตและความซับซ้อนของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในศตวรรษที่ 21 ได้อีกต่อไป สังคมใดที่มีคณะรัฐบาลแบบอำนาจนิยม ไฟแห่งความหวังในการดำรงชีวิตอย่างผาสุขของผู้คนมอดลง และจะดับสนิทไปในไม่ช้า หากสังคมใด ยังมีผู้นำและผู้บริหารแบบอำนาจนิยมอยู่ต่อไป “ราตรีนิรันดร์” จะแผ่เข้ามาครอบคลุมสังคมนั้นในไม่ช้า

เส้นทางการหลุดพ้นจากวิบากกรรมของประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคาดหวังให้ผู้นำอำนาจนิยมเปลี่ยนแปลงตนเอง หรือ คาดหวังให้มีผู้นำอำนาจนิยมคนใหม่ขึ้นมาจากการรัฐประหาร เพราะนั่นเป็นเรื่องสิ้นคิดและสร้างความหายนะของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในเวลานี้ ระบอบอำนาจนิยมกำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ เพราะพิสูจน์แล้วว่าไร้สมรรถนะอย่างสิ้นเชิงในการรับมือ แก้ปัญหา และหาลู่ทางการพัฒนาของประเทศ ส่วนการดิ้นรนและขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นจากระบอบอำนาจนิยมอันมืดมิดได้ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในหลากหลายสังคมได้พิสูจน์แล้วว่า ล้วนมาจากประชาชนคนธรรมดาเกือบทั้งสิ้น และผมคิดว่าประเทศไทยก็คงไม่มีข้อยกเว้น


กำลังโหลดความคิดเห็น