xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตรัฐบาลประยุทธ์ กับทางเลือกของประชาธิปัตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

จากสถานการณ์เรือปริ่มน้ำในช่วงแรกของการตั้งรัฐบาลกลายมาเป็นเรือไม่ปริ่มน้ำเพราะเหตุยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ทำให้อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งหนีมาซบพรรคฝั่งรัฐบาล แล้วอดีต ส.ส.อนาคตใหม่อีก 11 คนซึ่งเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อต้องพ้นจากสภาพ ส.ส.มียอด ส.ส.ทั้งสภาเหลือไม่ถึง 500 คน

ทำให้จำนวนที่นั่ง ส.ส.ของฝั่งรัฐบาลพ้นครึ่งมามาก สถานการณ์แบบนี้ดูเหมือนว่า เรือของรัฐบาลจะวิ่งฉิวติดลมบนไปแล้ว แต่เอาเข้าจริงเรือลำนี้ยังมีรอยรั่วปริร้าวอีกจำนวนมาก ทั้งปัญหาจากพรรคร่วมรัฐบาลและปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐเองที่มีหลายกลุ่มก๊วนการเมืองที่เริ่มทำให้เรือมีรอยปริร้าว

ถามว่าสถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องเหนือคาดเดาหรือไม่ คำตอบคือไม่เลย จำได้ว่า ตอนที่มีการรณรงค์เลือกตั้งนั้น แคมเปญสำคัญที่ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็คือ ลุงตู่เป็นนายกฯ ทำให้บ้านเมืองสงบ ซึ่งเป็นการวัดผลจากการที่ลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงรัฐประหารซึ่งกดสถานการณ์ไว้ด้วยทอปบูทและปากกระบอกปืนนั่นเอง และหลายคนรวมทั้งผมเองก็เคยเขียนบทความไว้ว่า หากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งสถานการณ์จะเปลี่ยนไป เพราะเป็นรัฐบาลผสมไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการเต็มไป ผมจึงไม่เชื่อเรื่อง “ความสงบจบที่ลุงตู่” ตั้งแต่แรก

จากความวุ่นวายของการเมืองและปัญหาในรัฐบาล สุดท้ายวันนี้ก็ได้ยินแต่คนบ่นว่า เลือกตั้งแล้วทำไมมันวุ่นวายอย่างนี้ บางคนถึงกับมีจิตใจไพล่ไปทางอกุศลอีกว่า อย่างนี้รัฐประหารเสียดีกว่า ซึ่งไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เพราะในการรัฐประหารของ คสช.ครั้งล่าสุดนั้นมันมีเหตุผลความจำเป็นของมันที่บ้านเมืองกำลังกลายเป็นกลียุค เป็นรัฐล้มเหลว ทำให้ทหารไม่มีทางออก สังคมส่วนหนึ่งจึงยอมรับได้ แต่ตอนนี้มันไม่มีแรงจูงใจที่จะอ้างให้สมเหตุสมผลกับการรัฐประหารได้เลย

ถ้ารัฐประหารในสถานการณ์ที่ไม่มีคนจำนวนหนึ่งหนุนเนื่องและไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอก็จะถูกต่อต้านจากประชาชนที่เขาไม่ยอมรับอำนาจของเผด็จการทหาร และพูดกันตามจริงเรามองไม่เห็นผู้นำทหารปัจจุบันที่มีวิสัยทัศน์สติปัญญาพอที่จะแก้ปัญหาประเทศได้เลย และมันจะซ้ำรอยห้าปีของรัฐประหารที่คนส่วนใหญ่เขาเห็นแล้วว่าสูญเปล่าไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาเพื่อดับวิกฤตของประเทศอย่างแท้จริง เอาแต่เตรียมการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ตัวเองได้ประโยชน์และตั้งพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจเท่านั้นเอง

แต่อำนาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์แม้จะได้อำนาจรัฐมาโดยง่าย แต่การแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นปัญหาภายในพรรครัฐบาลเองก็เกิดขึ้นมากมาย เราก็เห็นได้จากการเปิดฉากถล่มกันเองหลายครั้งของส.ส.ในพรรคที่มาจากต่างมุ้งกัน และล่าสุดก็เป็น นายสิระ เจนนาคะ กับนายไผ่ ลิกค์ ที่เป็นปีกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อันมาจากปัญหาหน้ากากอนามัย

ปัญหาที่สะท้อนมาจากนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า “ผมติดอยู่ในโผถูกปรับออกด้วยเหตุผล(ตามข่าว) อยู่ 3 ข้อ คือ 1. ผมขาลอยในพรรคไม่ได้เป็นส.ส.และไม่ได้จ่ายเงินให้พรรค 2. ผมไม่มีฐานเสียงส.สในมือ และ 3 ผมไม่เข้าพรรคและไม่มีพวกในพรรค วันนี้ผมขอใช้พื้นที่เพจของผมแสดงความเห็นส่วนตัวในฐานะที่ผมถูกทั้งคนในพรรคและสื่อพาดพิงอยู่เสมอครับ”ซึ่งเป็นการสะท้อนรอยร้าวที่ปริออกมาสู่ภายนอกจากเหตุผลที่มีหลายมุ้งหลายก๊วนอยู่ในพรรค”

เราทราบมาแต่แรกแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐมีเป้าหมายกวาดต้อน ส.ส.ให้ได้มากที่สุด โดยไม่สนที่มาที่ไปหรืออุดมการณ์ความคิดของคนที่จะมาร่วมพรรค สมาชิกของพรรคเพื่อไทยจำนวนมากจึงถูกกวาดต้อนเข้าพรรค ส.ส.บางคนบอกว่า ไม่ย้ายเข้ามาก็ไม่ได้ เพราะทหารไปเฝ้าหน้าบ้านทุกวัน สิ่งเหล่านี้มีเป้าหมายสำคัญก็เพื่อให้รัฐบาล คสช.สามารถสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งได้ พร้อมไปกับการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อพวกเราตามที่แกนนำพรรคออกมากล่าวต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยนั่นแหละ

เพราะ คสช.เป็นฝ่ายที่แต่งตั้ง ส.ว.จำนวน 250 คนเข้ามาในสภาบนแล้วรัฐธรรมนูญก็เขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ได้ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งทำให้ฝ่ายพลังประชารัฐได้เปรียบ เพราะแค่รวบรวมส.ส.ให้ได้มากกว่า 126 คน เมื่อรวมกับ ส.ว.250 คนก็มีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสองสภาไปแล้ว

อันนี้เองที่เป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหว เพราะเป็นกติกาที่เอาเปรียบพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม แม้พรรคเพื่อไทยจะยังมีที่นั่งเป็นที่หนึ่งในสภาผู้แทนก็ไม่สามารถชิงตั้งรัฐบาลได้ เพราะรวบรวมยังไงก็ไม่มีเสียงเกินครึ่งของสองสภาคือ 376 คนได้เลย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวหลังยุบพรรคอนาคตใหม่นั้นก็ไม่ใช่จะไม่มีความชอบธรรมเสียทีเดียว และทำท่าว่าจะจุดติดเสียด้วย เพียงแต่ตอนนี้รัฐบาลมีโควิด-19ช่วยเอาไว้เท่านั้นเอง

แต่ถ้าสถานการณ์โควิด-19 เบาบางลงเมื่อไหร่เชื่อได้เลยว่า การชุมนุมจะกลับมาแน่ และความสงบก็จะจบลงที่ลุงตู่จริงๆ

สถานการณ์ของรัฐบาลที่ต้องอาศัยพรรคร่วมหลายพรรคนั้น แตกต่างจากสถานการณ์ของการเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารแน่ๆ โดยเฉพาะพรรคร่วมอย่างประชาธิปัตย์นั้น ก็มีปัญหาความแตกแยกภายในจากการเห็นด้วยว่าควรร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลมาแต่ต้น เมื่อเรือของรัฐบาลมีรอยร้าวก็เป็นโอกาสของฝ่ายที่ต้องการไม่ให้เข้าร่วมรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง

ต้องยอมรับว่าหากย้อนไปก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็เคยมีเสียงเตือนพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนหน้านี้แล้วว่าการไปพายเรือให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจนั่งนั้นอาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะขัดกับอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรค แม้ตอนแรกสถานการณ์จะบีบให้ประชาธิปัตย์จำเป็นต้องเข้าร่วมไม่มีทางเลือกไปมากกว่านี้ แต่ตอนนี้ก็น่าจะเป็นจังหวะที่พรรคจะโดดออกมา

ว่าไปแล้วการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์นั้นไม่มีผลดีอะไรเลย เพราะเท่ากับกินน้ำใต้ศอกของพรรคพลังประชารัฐตลอดไป ถามจริงๆ นะครับว่า ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์มองเห็นโอกาสในการพลิกฟื้นสถานการณ์ไหม ผมเชื่อว่า คนในพรรคก็ยังคิดไม่ได้เลยว่าจะฟื้นคืนมาอย่างไร และมีโอกาสสูงมากที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะตกต่ำลงมากกว่านี้ โอกาสในกทม.หมดไปแล้ว โอกาสในภาคใต้ซึ่งเป็นที่มั่นของพรรคก็อาจจะหดหายลงอีกถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผมเองก็นึกไม่ออกนะครับว่า ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่พรรคประชาธิปัตย์จะหาเสียงด้วยการชูประเด็นอะไร ให้คนเลือกพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาล คนเขาก็อาจจะไม่เชื่ออีกเพราะรอบที่แล้วหาเสียงว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ที่นั่งกลับมาเท่านี้ สุดท้ายก็เข้ามาสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ หรือครั้งต่อไปจำเป็นต้องหาเสียงชูพล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องนึกถึงพรรครวมพลังประชาชาติของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีคนเลือกน้อยมาก

จุดขายของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีเหลือแล้วจริงๆ

ยิ่งวันนี้มีปัญหาจากสถานการณ์หน้ากากอนามัยก็เห็นได้ชัดว่าการบริหารของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่รับผิดชอบกระทรวงพาณิชย์นั้น บริหารได้แย่มาก ในขณะที่บอกว่า หน้ากากอนามัยไม่ขาดตลาด แต่ในสภาพความเป็นจริงประชาชนไม่สามารถหาซื้อได้เลย และคนส่วนใหญ่เขาก็ต้องมองย้อนกลับไปที่ประสิทธิภาพของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์นั่นเองว่าไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็น่าจะรู้ว่าถึงวันนี้พรรคมีแต่จะสาละวันเตี้ยลง แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคเก่าแก่ที่มีคนผูกพันกับพรรคจำนวนมาก แต่ปัจจุบันคนเหล่านั้นล้มหายตายจากไปเยอะแล้ว และหลายคนก็โบกมือทิ้งพรรคไป เพราะเบื่อหน่ายกับการบริหารของพรรคที่ไร้ประสิทธิภาพและสะท้อนว่าทำงานไม่เป็นเมื่อได้เข้าไปบริหารชาติบ้านเมือง เป็นพรรคที่เดินตามร่องของระบบราชการและถูกกำกับโดยข้าราชการเท่านั้นเอง และไม่ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ในการบริหารที่โดดเด่นออกมาเลย

ที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์ลืมเงื่อนไขสำคัญของการร่วมรัฐบาลไปแล้วเช่นนั้นหรือ ข้อเรียกร้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ไหม เพราะการแก้รัฐธรรมนูญน่าจะเป็นทางออกที่แท้จริง ยังสอดคล้องกับการออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่กำลังเป็นชนวนสั่นคลอนรัฐบาลได้ถ้าสถานการณ์โควิด-19จบลง

ต้องยอมรับความจริงว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวพรรคร่วมรัฐบาลก็มีเสียงไม่เกินครึ่งทางออกเดียวที่รัฐบาลจะไปต่อได้คือดึงพรรคเพื่อไทยเข้ามาร่วม หรือไม่ก็ยุบสภาแล้วใช้ความได้เปรียบจากก็ให้ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีแต่ก็ไม่ง่ายที่จะสามารถรวบรวมเสียเกินครึ่งได้อยู่ดี แถมถ้าเลือกตั้งในสถานการณ์แบบนี้คะแนนสงสารของพรรคก้าวไกลที่รับลูกพรรคอนาคตใหม่อาจจะมีเสียงมาอย่างท้วมท้นถึงตอนนั้นสถานการณ์ของรัฐบาลก็จะหนักกว่าเดิม

ต้องยอมรับว่าวิกฤตของปัญหาบ้านเมืองในวันนี้ก็คือรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นธรรม ทำให้การแข่งขันเลือกตั้งนั้นอยู่บนกติกาที่ไม่เท่าเทียมกัน และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหว ทางออกสำคัญวันนี้ที่จะดับวิกฤตของบ้านเมืองก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง อย่างน้อยก็ต้องยกเลิกบทเฉพาะกาลออกไปเสีย

ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช้สถานการณ์นี้ในการแก้ไขวิกฤตของชาติและเรียกศรัทธาของพรรคคืนมานั่นคือหยิบเอาเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคขึ้นมาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต่อรอง ไม่เช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะถอนตัวจากรัฐบาล

หรือคิดว่าพอใจกับสถานการณ์กินน้ำใต้ศอกแบบนี้มีความสุขกันดีอยู่แล้วสำหรับคนอยู่ในอำนาจ แม้พรรคของตัวเองจะสาละวันเตี้ยลงก็ตาม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น