xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกในการแก้ปัญหาทางการเมือง: บทพิสูจน์ปัญญาและศีลธรรมของรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แรงกดดันต่อรัฐบาลเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกสภาผู้แทนราษฎร ในสภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ส่วนภายนอกเกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจากนักเรียน นิสิตและนักศึกษาทั่วประเทศ สถานการณ์เช่นนี้คุกคามต่อสถานภาพของรัฐบาล และทำให้ต้องตัดสินใจเลือกกลยุทธ์เพื่อรับมือและแก้ปัญหาทางการเมือง

การตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ทางการเมืองแบบใด ขึ้นอยู่กับเป้าประสงค์ทางการเมือง การประเมินพลังและแนวโน้มของสถานการณ์ และผลที่คาดหวังของการใช้กลยุทธ์แต่ละอย่าง ดังนั้นการเลือกกลยุทธ์ใดจึงสะท้อนระดับปัญญาและศีลธรรมของรัฐบาลเอง

โดยพื้นฐาน คณะบุคคลที่เป็นรัฐบาลมีเป้าประสงค์เพื่อให้ตนเองดำรงอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พยายามกระทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ เป้าหมายหลักของการเป็นรัฐบาลจึงเป็นการรักษาอำนาจ แต่ประวัติศาสตร์การเมืองได้ให้บทเรียนแก่ผู้คนว่า การมุ่งรักษาอำนาจของผู้นำประเทศ แม้ว่าสามารถยืดอายุการมีอำนาจออกไประยะหนึ่ง แต่ต้องแลกกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศและประชาชน

ขณะเดียวกัน เราก็อาจมองเห็นว่า มีผู้บริหารของบางประเทศตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ทางการเมืองที่นำไปสู่การสร้างผลประโยชน์ประชาชาติ ยิ่งกว่าความคงอยู่ในอำนาจของตนเอง แต่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารประเทศแบบนั้นมีอยู่น้อยอย่างยิ่งในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม จากสภาพการเมืองแบบไทย ๆ ในยุคนี้ เมื่อรัฐบาลเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอก มีทางเลือกอย่างน้อย ๖ ประการเพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์ แต่ละทางเลือกต่างก็มีความเป็นไปได้ในการสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

ทางแรกคือ กลยุทธ์เฉยเมยต่อแรงกดดัน และหันเหความสนใจ การเลือกใช้กลยุทธ์นี้เกิดจากการที่รัฐบาลประเมินผลกระทบของแรงกดดันทางการเมืองต่ำ จึงไม่แก้ไข ไม่ตอบสนองใด ๆ ทั้งในทางบวกและทางลบต่อแรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้กลยุทธ์เบี่ยงความสนใจสาธารณะจากปัญหาทางการเมือง ไปสู่ปัญหาอื่นโดยใช้วิธีการ “การรุกเชิงก้าวร้าว” ด้วยการนำนโยบายและมาตรการแบบประชานิยม ภายใต้ข้ออ้างการบรรเทาความเดือดร้อน เพื่อซื้อใจประชาชนบางกลุ่มให้นิยมรัฐบาลต่อไป และคาดหวังว่ากระแสการต่อต้านรัฐบาลจะลดลง

แต่จุดอ่อนของกลยุทธ์คือ แม้ว่าอาจส่งผลให้แรงกดดันทางการเมืองลดลงบ้าง แต่ก็เป็นเพียงการระงับชั่วคราวเท่านั้น เพราะรากเหง้าแห่งปัญหาที่สร้างพลังกดดันทางการเมืองยังดำรงอยู่ และก็มีความเป็นไปได้ว่า จะกลับทำให้ประชาชนมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหาทางการเมือง การเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มแรงกดดันจึงมีมากยิ่งขึ้น และสะสมจนอาจทำให้รัฐบาลเข้าสู่ภาวะวิกฤติความชอบธรรมได้

ทางเลือกที่สองคือกลยุทธ์การตอบโต้ ซึ่งมี ๒ เป้าหมายที่เชื่อมโยงกัน อย่างแรกคือเพื่อบั่นทอนและทำลายพลังของกลุ่มที่ถูกประเมินว่าเป็นภัยคุกคาม อย่างที่สองคือเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอด เมื่อปลอดจากแรงกดดันแล้ว หากใช้ยุทธศาสตร์นี้ก็แปลว่า รัฐบาลประเมินว่า ฝ่ายค้านและนักศึกษาประชาชนที่ออกขับไล่รัฐบาลคือปรปักษ์ที่ต้องขจัดให้สิ้นไป และมองว่าพลังการคุกคามสามารถสร้างผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ

กลวิธีที่ใช้คือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) โดย การหาจุดอ่อน หรือจุดผิดพลาดของคู่แข่งมาขยายความทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ การสร้างข่าวปลอม (fake news) ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความเกลียดชัง ควบคู่ไปกับการวิจารณ์โจมตีอย่างเปิดเผยโดยคนในรัฐบาล กลไกเจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชนที่เป็นบริวาร

หนักเข้าคือการใช้มาตรการคุกคามด้วยการใช้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติอย่างเข้มข้น จับกุม ฟ้องร้อง และ/หรือ การใช้สมุนบริวารติดตาม และลอบทำร้ายผู้ไม่เห็นด้วย ใครที่คิดว่ารัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และเหล่าบริวารไม่ทำร้ายประชาชนที่ต่อต้าน เป็นคิดแบบไร้เดียงสา เพราะหากกลับไปดูบทเรียนในอดีต หรือแม้กระทั่งที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่การหากรัฐบาลใช้กลยุทธ์นี้หรือหลับตาข้างหนึ่งและส่งสัญญาณให้บรรดาเหล่าสมุนบริวารใช้ สิ่งที่ตามมาคือจะทำให้ความขัดแย้งเข้มข้นมากขึ้น ความรุนแรงแผ่กระจายไปทั่วสังคม และวิกฤติการณ์ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น และมักจะจบลงด้วยทางใดทางหนึ่งเสมอ ทางแรก คือ การรัฐประหาร ทำลายล้างผู้ต่อต้าน สถาปนา “รัฐศาสตราธิปไตยเผด็จการเบ็ดเสร็จ” ขึ้นมา เช่น การรัฐประหารเมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หรือไม่ก็จบลงด้วยการล่มสลายของรัฐบาลอำนาจนิยมเอง และมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเสรีประชาธิไตยมากขึ้น ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕

ทางเลือกที่สาม กลยุทธ์ปรับตัว ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดแรงกดดันและรักษาความอยู่รอด กลยุทธ์นี้ใช้เมื่อรัฐบาลยอมรับความจริงว่าตนเองมีปัญหา และไม่ได้มองว่าฝ่ายค้านและประชาชนเป็นศัตรูที่ต้องขจัดออกไป ดังนั้นเมื่อมีแรงกดดันทางการเมืองเกิดขึ้น จึงตัดสินใจปรับตัวเพื่อรับมือ กลวิธีการปรับตัวคือ การปรับคณะรัฐมนตรี โดยให้กลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงอื้อฉาว มีกลิ่นคาวทั้งตัว หรือ คนที่ไร้ฝีมือ ออกจากตำแหน่ง เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้น

ข้อดีของกลยุทธ์นี้คือ ทำให้รัฐบาลสามารถรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิมให้ดำรงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และกลุ่มต่อต้านบางส่วนอาจยอมรับการปรับตัว และลดแรงกดดันลง แต่ข้อเสียคือ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแตกแยกกันภายในรัฐบาลจากการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้เสถียรภาพสั่นคลอนได้ แต่สิ่งที่พึงตระหนักคือ วิธีการนี้เป็นเพียงการแก้อาการของปัญหา ไม่ใช่การแก้สาเหตุปัญหา ดังนั้นพลังการต่อต้านรัฐบาลและวิกฤติซ่อนเร้นจึงยังดำรงอยู่ รอวันเวลาปะทุขึ้นมา

ทางเลือกที่สี่ กลยุทธ์ถอยหนี อันได้แก่การลาออก เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลประเมินว่าแรงกดดันมีสูง จนไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ รวมทั้งมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสใหม่แก่ประเทศ มากกว่าการหวงแหนอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า การเลือกลาออกเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในแวดวงการเมืองไทย ครั้งล่าสุดเมื่อตอนที่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีลาออกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐ หรือ ๒๓ ปีที่แล้ว

สำหรับกรณีรัฐบาลประยุทธ์ หากเลือกใช้วิธีการลาออก แรงกดดันต่อรัฐบาลก็หมดไป แต่แรงกดดันต่อชนชั้นทางอำนาจ เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการเมืองแบบอำนาจนิยม ไปสู่เสรีประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่ ส่วนพัฒนาการของการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มพลังทางสังคมจะเป็นไปทิศทางใด ขึ้นอยู่กับการจัดการปัญหาของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา หากรัฐบาลใหม่ยังคงดำเนินแนวนโยบายรักษาสถานภาพเชิงอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมและกลุ่มทุนผูกขาดแบบเดิมโดยไม่ปรับเปลี่ยนแก้ไข ความขัดแย้งและวิกฤติก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป แต่หากรัฐบาลใหม่ตัดสินใจและขับเคลื่อนปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ความเสี่ยงของความขัดแย้งทางการเมืองก็จะลดลง

ทางเลือกที่ห้า กลยุทธ์ยุบสภา และสู้ใหม่ในสนามเลือกตั้ง การยุบสภาทำให้รัฐบาลสิ้นสภาพ แต่ก็สามารถรักษาการและมีอำนาจต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง การยุบสภาหาได้ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองหมดไป เพียงแต่เป็นการเคลื่อนย้ายเวทีของความขัดแย้ง โดยเคลื่อนตัวจากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ไปสู่สนามการเลือกตั้ง กระนั้นก็ตาม การเลือกตั้งก็เป็นแหล่งสร้างความหวังและโอกาสใหม่ ๆ แม้ว่าจะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม

เป็นความจริงที่ว่า การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่สร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วและดุลย์อำนาจทางการเมือง ในแง่มุมนี้จึงทำให้ชนชั้นนำอำนาจนิยมเกิดความหวาดวิตกขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า คนหนุ่มสาวจะใช้สนามการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสร้างเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ภายใต้แบบแผนโครงสร้างอำนาจและรัฐธรรมนูญแบบเดิม แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ ก็หาได้แก้ปมปัญหาทางการเมืองแต่อย่างใด ดังนั้นความขัดแย้งและวิกฤติซ่อนเร้นก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปเช่นเดียวกัน

ทางเลือกที่หก กลยุทธ์ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทางเลือกนี้คือ การสนับสนุนและขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมทั้งฉบับ มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่ที่ผนึกรวมทุกกลุ่มในสังคมให้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน แก้ปัญหาการเมืองแบบเก่าที่มีเพียงกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและนายทุนผูกขาดเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอำนาจทางการเมือง ขณะที่กีดกันการมีส่วนร่วมและตัดทอนอำนาจประชาชน

แต่การตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ พลเอกประยุทธ์และชนชั้นนำทางอำนาจที่หนุนหลังเขาจะต้องเกิดปัญญาแห่งการรู้แจ้งว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และตระหนักว่า หากโครงสร้างอำนาจการเมืองยังเป็นแบบเดิม จะนำประเทศไปสู่วิกฤติ และทำลายอนาคตของคนรุ่นใหม่ เมื่อพวกเขาตระหนักรู้และปัญญาเกิดแล้ว ก็จะตัดสินใจยอมสียสละอำนาจและผลประโยชน์ที่ได้จากโครงสร้างการเมืองในปัจจุบัน และเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ขึ้นมา

ผลดีของทางเลือกนี้คือ ทำให้คนรุ่นใหม่และประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาการปกครองประเทศ ความขัดแย้งทางการเมืองจะลดลง พลังแห่งการคัดค้านต่อต้านจะกลายเป็นพลังแห่งการร่วมมือสร้างสรรค์ และหากผลลัพธ์ของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีความสมดุลย์ของโครงสร้างอำนาจระหว่างกลุ่มพลังต่าง ๆในสังคม เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอำนาจอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ก็จะเป็นที่ยอมรับของคนทุกฝ่าย ระดับความเข้มข้นของความขัดแย้งก็เจือจางลง และโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงก็น้อยลงตามไปด้วย

จึงได้แต่หวังว่า รัฐบาลมีปัญญาและสำนึกแห่งความเสียสละเพียงพอที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยยึดกุมเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์แห่งประชาชาติและสันติภาพแห่งสังคมเป็นที่ตั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น