"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในครั้งนี้ กำหนดกลุ่มเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการอภิปรายไว้อย่างน่าสนใจ กลุ่มที่ถูกอภิปรายเป็น “หัวใจ” ของรัฐบาล ทว่ามี “ความเปราะบาง” ทางการเมืองมากที่สุด ลิ่มที่ฝ่ายค้านทิ่มลงไปจึงสร้างรอยร้าวเกิดขึ้นและขยายไปทั่วพรรคพลังประชารัฐ และย่อมกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลตามมาในไม่ช้า
การเคลื่อนไหวของกลุ่มฝักฝ่ายภายในพรรคพลังประชารัฐเพื่อตรวจสอบสรรพกำลังและกระชับการจัดตั้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมองการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นผ่านสื่อสาธารณะ เราพอจะมองเห็นเค้าโครงรูปร่างของฝักฝ่ายหลัก ๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐปรากฎชัดขึ้น ฝ่ายแรกคือ เครือข่ายประยุทธ์ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงบทบาทนำในเชิงสัญลักษณ์ และมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแกนหลักขับเคลื่อนเชื่อมโยงกับฝักฝ่ายอื่น ๆ
บุคคลในเครือข่ายประยุทธ์เป็นเป้าหมายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจหกคน สี่ในหกคนได้แก่พลเอกประยุทธ์ เอง นายวิษณุ เครืองาม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายดอน ปรมัตถ์วินัย บุคคลเหล่านี้ไม่มีฐานมวลชนภายในพรรค หรือไม่มี ส.ส.สายตรงที่เป็นกองกำลังของตนเอง แต่ด้วยแรงส่งจากพลังอำนาจเดิมที่ตกค้างของ คสช. และความนิยมจากประชาชนบางส่วน ซึ่งแม้จะลดลงอย่างมาก แต่ก็ยังหลงเหลืออยู่บ้างของพลเอกประยุทธ์ คอยค้ำจุนให้ดำรงสถานภาพอยู่ได้
แต่พลังของการค้ำจุนสถานภาพนับวันยิ่งอ่อนแอลงไป เมื่อเผชิญแรงกดดันจากสังคมในเรื่อง การหมดความเชื่อถือในฝีมือการแก้ปัญหาของประเทศ ความเสื่อมศรัทธาในการทำหน้าที่ทางกฎหมาย และความสงสัยเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มทุนผูกขาด เครือญาติและพวกพ้อง
ส่วนอีกสองคนที่อยู่ในเครือข่ายนี้ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายธรรมนัส พรหมเผ่า ทั้งสองคนมี ส.ส.ในสังกัดตนเองจำนวนหนึ่ง ท่วงทำนองการจัดการงานการเมืองของทั้งคู่เป็นแบบดั้งเดิม นั่นคืออาศัยเครือข่ายสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับการใช้ทรัพยากร (ในวงการการเมืองปัจจุบันใช้คำว่า “กล้วย” ซึ่งผู้ริเริ่มใช้คือนายธรรมนัส เป็นสัญลักษณ์แทนทรัพยากรที่มีค่า) เป็นกาวในการเชื่อมโยงและระดมส.ส.เข้ามาอยู่ในสังกัด (ตัวเลขประมาณการณ์ล่าสุดอยู่ระหว่าง ๔๐-๕๐ คน)
บุคคลทั้งสองมีภาพลักษณ์ไม่ดีนักในสายตาของสาธารณะ คนแรกยังมีปมของการยืมนาฬิกาเพื่อนติดอยู่ ส่วนคนที่สองมีปมเรื่องคดียาเสพติดและการติดคุกที่ประเทศออสเตรเลียคอยตามหลอกหลอน แต่ด้วยการมีบุคลิกแบบเน้นความสัมพันธ์ จึงทำให้มีพวกพ้องอยู่ไม่น้อยรอบข้าง และด้วยความพยายามชูภาพสร้างผลงานและเก็บอารมณ์ยามอยู่หน้าสื่อสาธารณะ จึงทำให้ดูไม่แย่เกินไปในสายตาสาธารณะ หากเปรียบเทียบกับส.ส.บางคนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ผู้คนในสังคมเอือมระอาอย่างมาก
ประเมินกันว่าในการอภิปรายครั้งนี้ นายธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเป้าหมายที่มีความเปราะบางมากที่สุด และอาจได้รับคะแนนไว้วางใจต่ำสุดในการลงมติ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็ย่อมกระทบต่อสถานภาพการเป็นรัฐมนตรีของนายธรรมนัส หลังจากจบการอภิปราย แต่ดูเหมือนว่านายธรรมนัส กำลังจัดทัพในการรับมือกับแรงกดดัน ด้วยการระดมสรรพกำลังแสดงออกมาให้พลเอกประวิตร ได้รับรู้ เสมือนเป็นนัยว่า หากเขาถูกปรับออกจากตำแหน่งหลังการอภิปราย รัฐบาลประยุทธ์อาจต้องประสบกับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งได้
กลุ่มฝักฝ่ายที่สองในพรรคนี้คือ กลุ่มเครือข่ายนายสมคิด แกนหลักของเครือข่ายมีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดนายสมคิด คือนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค อีกส่วนหนึ่งคือกลุ่ม ส.ส.ที่เคยอยู่พรรคเพื่อไทยมาก่อนและเคยทำงานร่วมกับนายสมคิด ในอดีต ซึ่งรู้จักกันนาม กลุ่มสามมิตร อันได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายอนุชา นาคาศัย
เครือข่ายสมคิดไม่มีผู้ใดถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งได้สร้างความสงสัยแก่สังคมไม่น้อย และต่อมากลุ่มนี้ก็ได้มีการจัดประชุมพบปะกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นและแสดงพลังให้ปรากฎ อันเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขามีพลังในการค้ำยันรัฐบาล อันเป็นหลักประกันว่าหลังการอภิปราย แกนนำของกลุ่มจะยังคงไม่ถูกปรับออกจากการเป็นรัฐมนตรี ทว่ารอยแยกความเป็นฝักฝ่ายภายในพรรคพลังประชารัฐก็เผยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน
ฝักฝ่ายอีกกลุ่มคือ กลุ่มเครือข่ายนักการเมืองเก่า ซึ่งแกนนำประกอบด้วย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายสุชาติ ชมกลิ่น ประธานส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กลุ่มนี้เป็นนักการเมืองระดับจังหวัดที่เคยเป็นส.ส.เก่า และสังกัดพรรคการเมืองมาหลายพรรคแล้วก่อนเข้ามาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ บางคนพลาดตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างเฉียดฉิว แต่ก็ได้รับตำแหน่งที่เชื่อมโยงกับงานสภาผู้แทนราษฎรและส.ส. ในช่วงที่ผ่านมาพวกเขาใช้ตำแหน่งแสดงบทบาทขยายเครือข่ายและอิทธิพลภายในพรรค จนทำให้มีส.ส.เข้ามาร่วมในเครือข่ายไม่น้อย กลุ่มนี้พยายามช่วงชิงและขยายบทบาทนำภายในพรรค และนั่นนำไปสู่ความขัดแย้งกับกลุ่มนายธรรมนัส
ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงไม่กี่วัน กลุ่มนี้สามารถระดมส.ส.ได้ถึง ๘๐ คน พบปะแสดงพลัง การมีส.ส.จำนวนมากขนาดนี้เป็นฐาน ก็ย่อมสามารถนำไปใช้ในการต่อรองตำแหน่งในรัฐบาลได้มายากนัก หากมีการปรับรัฐมนตรีเกิดขึ้น ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
การปรับคณะรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในการเมืองไทย โดยพื้นฐานแล้ว รัฐมนตรีที่ถูกปรับออกมักเป็นบุคคลที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายชำแหละด้วยข้อมูลหลักฐานแน่นหนา จนทำให้ผู้นั้นประสบวิกฤติความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง ดังนั้นหากผู้นำรัฐบาลยังให้บุคคลที่ชื่อเสียงอื้อฉาวดำรงตำแหน่งต่อไป ก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล การตัดสินใจปรับบุคคลดังกล่าวให้พ้นจากตำแหน่งจึงเป็นทางเลือกที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้
รัฐบาลใดก็ตาม เมื่อมีการปรับรัฐมนตรี การแย่งชิงตำแหน่งอย่างเข้มข้นก็จะเกิดขึ้น อันที่จริงสิ่งเป็นธรรมชาติของนักการเมืองไทย ที่อำนาจและตำแหน่งคือความปรารถนาสูงสุดในชีวิต เกมการแย่งชิงอำนาจเป็นเกมที่มีผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ชนะย่อมยินดีกับสิ่งที่ตนเองได้รับ ส่วนผู้แพ้มีทางเลือกหลายอย่าง บางคนก็หลบไปเลียแผลและรอโอกาสใหม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าในบางกรณี ผู้แพ้อาจจะเลือกล้มกระดานไปเลย ประเภท “ถ้าข้าไม่ได้ เอ็งก็อย่าได้เลย” เรื่องแบบนี้มีให้เห็นบ่อยในสังคมไทย
ความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายและการแย่งชิงตำแหน่งกันในพรรคพลังประชารัฐเป็นภาพที่ตอกย้ำให้เห็นว่า พรรคการเมืองใดที่รวมตัวด้วยผลประโยชน์และเหตุผลทางการเมืองเฉพาะหน้า ซึ่งมิได้จัดตั้งขึ้นด้วยการหลอมรวมทางอุดมการณ์แล้ว ความแตกแยกของพรรคก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูง เพราะแต่ละฝ่ายต่างพยายามแสวงหาผลประโยชน์เป็นหลัก ดังนั้นเมื่อตำแหน่งและผลประโยชน์มีอยู่จำกัด การเลื่อยขาเก้าอี้และขจัดฝ่ายตรงข้ามออกจากตำแหน่งจึงเกิดขึ้นเสมอ
พรรคการเมืองแบบนี้มักอยู่ได้ไม่นาน ไม่ต้องมีใครไปร้องเรียนว่าทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองหรือผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ช้าไม่นานก็ล่มสลายไปเอง พรรคแบบนี้แม้หายไปจากสนามการเมือง ก็ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรมากมาย ไม่มีอะไรต้องเสียดาย เพราะเพียงไม่นานบรรดานักลงทุนทางการเมืองก็จะระดมนักการเมืองเดิม ๆ มาร่วมจัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาอีก ก็เท่านั้นเอง