"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
รัฐบาลประยุทธ์กำลังเผชิญกับพายุแห่งปัญหาโหมกระหน่ำจากทั่วทุกสารทิศ จนไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไรดี ทุกอย่างดูซับซ้อนเชื่อมโยงกันอย่างยุ่งเหยิง และล้วนแต่มีพลังคุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง สิ่งที่พยายามทำอะไรบางอย่างลงไปเพื่อแก้ไขปัญหา ก็เป็นเพียงการประคับประคองสถานการณ์ และนำมาปลอบประโลมใจตนเองว่า อย่างน้อยก็ได้ทำอะไรบางอย่างลงไปบ้าง แม้ว่าเป็นความพยายามที่ดูสิ้นหวังก็ตาม
ปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง ภาพปรากฏชัดประจักษ์แก่คนส่วนใหญ่คือ รัฐบาลประยุทธ์ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอย่างสิ้นเชิง และเป็นการล้มเหลวแบบซ้ำซากต่อเนื่อง อันเห็นได้จากความเหลื่อมล้ำระหว่างตระกูลของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่สิบตระกูล ที่ครอบครองความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของประเทศมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กับตระกูลสามัญชนคนธรรมดาหลายสิบล้านคนที่ความยากจนกดทับหนักหน่วงขึ้นทุกวัน ตามระยะเวลาการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์
ภาพความจริงสะท้อนภาพความจริงของการมี “เกาะแห่งความมั่งคั่ง ในทะเลแห่งความยากจน” อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นทุกวัน ในสภาพปัจจุบันคือ เกาะแห่งความมั่งคั่ง หดตัวลงในแนวระนาบ แต่ขยายตัวในแนวดิ่ง นั่นหมายถึง จำนวนตระกูลที่ครอบครองความมั่งคั่งลดลง แต่จำนวนมูลค่าของความมั่งคั่งกลับเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับทะเลแห่งความยากจน จำนวนคนที่ตกในทะเลแห่งความยากขึ้นมากขึ้น แต่มูลค่าของความมั่งคั่งโดยรวมกลับลดลง
นโยบายเศรษฐกิจที่คิดและขับเคลื่อนออกมา ไม่มีนโยบายใดเลยที่ส่งอิทธิพลให้โครงสร้างของความเหลื่อมล้ำสั่นคลอน กลับยิ่งไปเสริมความแข็งแกร่งแก่โครงสร้างดังกล่าวเสียอีก ดัง “นโยบายชิม ช็อป ใช้” จุดหมายปลายทางการไหลเวียนของกระแสเงินตรา ที่รัฐบาลทุ่มลงไปนับหมื่นล้าน ท้ายที่สุดก็ลงไปสู่คลังมหาสมบัติของตระกูลทุนผูกขาดเพียงไม่กี่ตระกูล ส่วนประชาชนก็ทำหน้าที่เหมือนสายพานลำเลียงเงินให้แก่ตระกูลเหล่านั้น และสัมผัสกับความสุขชั่วครู่ยามขณะที่ใช้อำนาจซื้อ หลังจากนั้นก็ตกอยู่ในความทุกข์นิรันดร์ต่อไป
ยิ่งเมื่อเผชิญหน้ากับการคุกคามจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ปราการด่านสุดท้ายที่ปกป้องประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้หมดลมหายใจอย่างการท่องเที่ยวก็ประสบกับความหายนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้คนจำนวนมหาศาลนับล้านคน ในหลากหลายธุรกิจที่อยู่ในระบบการท่องเที่ยวตกอยู่ในภาวะชะงักงัน รายได้และความมั่งคั่งหายวับไปในพริบตา ความยากลำบากคืบคลานมาถึง และตรึงผู้คนให้ติดอยู่ในทะเลแห่งความยากจน
เพียงรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคร้าย รัฐบาลก็หัวหมุนจับต้นชนปลายแทบไม่ถูกอยู่แล้ว ไหนเลยจะมีสมาธิคิดค้นหาแนวทางที่ทรงประสิทธิภาพในการตั้งรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโรคร้ายนี้ได้ไหว
ยิ่งดูจากฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจที่ผ่านมาแล้ว ที่แม้แต่ไม่มีสถานการณ์ใดมาคุกคาม ก็ยังล้มเหลว ดังนั้นคงไม่อาจคาดหวังได้ว่า รัฐบาลจะผลิตนโยบายเพื่อบรรเทาความเสียหายของการท่องเที่ยว รวมทั้งหาแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนมีงานทำและสร้างรายได้ เพื่อทดแทนการท่องเที่ยวในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคร้าย ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าจะกินเวลายาวนานหลายเดือน
สำหรับเรื่อง ฝุ่นพิษ ที่มาเป็นประจำรายปี จนปัจจุบันมีผู้เรียกฤดูนี้ในประเทศไทยว่าเป็น “ฤดูฝุ่นพิษ” แทน ฤดูหนาว ไปแล้ว อันที่จริงประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว เริ่มเป็นหนักก็ในรัฐบาลประยุทธ์ ๑ และ ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ ๒ จนเราอาจเรียกได้ว่าเป็น “รัฐบาลฝุ่นพิษ” ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าบรรดาผู้มีอำนาจรัฐทั้งหลายมิได้ตระหนักถึงภัยพิบัตินี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาแก้ปัญหาแบบขอไปที ใช้มาตรการแบบขายของเด็กเล่น และปล่อยให้ประชาชนจมอยู่ในทะเลหมอกของฝุ่นพิษตามยถากรรมเป็นเวลาหลายเดือน จวบจนฝุ่นพิษหายไปเองตามธรรมชาติของฤดูกาล
เมื่อฝุ่นพิษหายไปเรื่องก็เงียบลง รัฐบาลก็ไม่ขยับอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการกำหนดนโยบายที่มีพลังในการไปแก้สาเหตุของการสร้างฝุ่นพิษอย่างเป็นระบบ รู้ทั้งรู้ว่า สาเหตุหลักของฝุ่นพิษมาจากการใช้เชื้อเพลิงของรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในภาคเกษตร
แต่เราก็ไม่เห็นนโยบายและมาตรการเชิงโครงสร้างเพื่อแก้สาเหตุเหล่านั้นแม้แต่น้อย เช่น มาตรการทางภาษีที่จูงใจ เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถบรรทุกอย่างจริงจัง ไม่เห็นเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าในการขับเคลื่อนมาตรการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดแทนรถเมล์ที่ยังใช้น้ำมันอยู่ในปัจจุบัน ไม่เห็นการเพิ่มมาตรการควบคุมโรงงานให้เข้มงวดมากขึ้นในการขจัดควันพิษ ไม่เห็นมาตรการทดแทนหรือทางเลือกแทนการเผาในภาคการเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อย่างเช่น การส่งเสริมและสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมให้มีการแปรรูปซังข้าว หรือ ข้าวโพด ให้เป็นสินค้าแทนการเผาทำลาย เป็นต้น ที่เห็นอยู่คือ การพยายามใช้มาตรการลงโทษแก่ผู้เผา ซึ่งทำได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น และยากที่จะประสบความสำเร็จ
กล่าวได้ว่า ยิ่งรัฐบาลประยุทธ์อยู่นานเท่าไร แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยก็ยิ่งเผชิญกับความหายนะมากขึ้น เพราะรัฐบาลขาดความสามารถในการคิดค้นนโยบายที่มีประสิทธิผล อันเป็นผลมาจาก รอบข้างมีแต่พวกพ้อง พวกประจบสอพลอ และพวกฉวยโอกาสเกาะกินเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ไม่สามารถระดมผู้มีความรู้ความสามารถมาร่วมในการแก้ปัญหาได้ เมื่อภาพลักษณ์ฉายออกมาในเชิงลบ และความน่าเชื่อถือหมดสิ้นไป ผู้คนส่วนใหญ่ที่มีปัญญาและคุณธรรมก็ปฏิเสธในการเข้าร่วมสังฆกรรมรัฐบาล
หากดูในเรื่องความกล้าหาญในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับกลุ่มธุรกิจผูกขาดและชนชั้นนำทางอำนาจ ก็ยิ่งเห็นชัดว่า รัฐบาลประยุทธ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่แสดงความกล้าหาญใด ๆ ให้เห็นแม้แต่น้อยในการลงมือกระทำเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ไม่มีนโยบายหรือมาตรการใดที่กระทบต่อสถานภาพและความมั่งคั่งของกลุ่มเหล่านี้แม้แต่น้อย แต่กลับมีนโยบายและยุทธศาสตร์หลายอย่างทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้กลุ่มนี้มีอำนาจและความมั่งคั่งยิ่งขึ้นไปอีก กรณีกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คือตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ขณะที่นโยบายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนยากจน และนโยบายกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น เงียบหายไปดุจคลื่นกระทบฝั่ง
ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ เป็นประเทศไทยที่ถูกถมทับด้วยปัญหานานัปประการ ปัญหาเก่าก็แก้ไม่ได้ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นตามมา หนทางข้างหน้า หากพลเอกประยุทธ์และพรรคพวกของเขายังบริหารประเทศต่อไป ประชาชนก็คงต้องเผชิญกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนความหวังที่จะเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ก็ยังริบหรี่ ไม่เห็นแสงสว่างใดในปลายอุโมงค์แม้แต่น้อยนิด