ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังต้องร้อนระอุ เมื่อประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งผิดหวังจากมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ไม่ได้รับเงิน 5,000 บาท เดินทางไปร้องเรียนขอคำชี้แจง บางคนถึงกับร้องไห้ฟูมฟาย เป็นภาพที่น่าอนาถใจ
เงิน 5,000 บาทอาจไม่มากมายนัก แต่สำหรับประชาชนที่ยากจน มีรายได้น้อยอยู่แล้ว และถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติม ต้องตกงาน ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติ ไม่มีรายได้ เงินก้อนนี้มีความสำคัญมาก เพราะหมายถึงความอยู่รอดของครอบครัวในช่วงวิกฤต
ทุกคนที่ลงทะเบียนไว้ มีความหวังว่า จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้ไม่มีสิทธิกลับได้รับเงิน แต่ผู้ที่เดือดร้อนแสนสาหัส กลับไม่ผ่านการคัดกรองจากระบบคอมพิวเตอร์ จนเกิดความคับแค้น และระบายความคับแค้นในรูปแบบต่างๆ ทั้งร้องห่มร้องไห้ ทั้งเผาทำลายเครื่องมือทำมาหากิน ทั้งโวยวายรัฐบาล หรือยกขบวนมาร้องทุกข์กับกระทรวงการคลัง
จำนวนผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาผลกระทบ “โควิด” ล่าสุดมีจำนวนประมาณ 27 ล้านคน และคาดว่า จะมีผู้ผ่านการคัดกรองจำนวนประมาณ 9 ล้านราย โดยกระทรวงการคลังได้โอนเงินให้ผู้ที่ผ่านการคัดกรองไปแล้ว งวดแรกระหว่างวันที่8-10 เมษายนที่ผ่านมา จำนวน 1.68 ล้านราย และงวดสองระหว่างวันที่ 13-14 เมษายนที่ผ่านมาอีก 6 แสนราย
ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาประกอบด้วย แรงงาน ลูกจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งพ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิประกอบด้วย ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ผู้ได้รับสิทธิประกันสังคม และเกษตรกร หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เช่น นักเรียนหรือนักศึกษาที่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ รวมทั้งกลุ่มผู้ค้าทางออนไลน์
กลุ่มเกษตรกร แม้จะไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ก็มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากช่องทางอื่น ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ
โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” กำหนดเงื่อนไขของผู้ที่มีสิทธิขอรับเงินเยียวยาไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหา เพราะผู้ที่ควรได้สิทธิกลับไม่ได้สิทธิ ไม่ผ่านการคัดกรองจนเกิดการอาละวาดขึ้นมาเป็นจุดๆ และอาจเป็นชนวนของการลุกฮือประท้วงครั้งใหญ่ตามมา
เพราะมีคนจำนวนหลายล้านคน จะถูกทอดทิ้งจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”
การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อร้าย “โควิด” เป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งการอัดฉีดเงินจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือผลกระทบจากไวรัส รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่ได้ทำอะไรที่แปลกกว่าประเทศอื่น แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายจับตาคือ การใช้เงินเยียวยาตามมาตรการต่างๆ จะเป็นไปอย่างโปร่งใส ไร้ทุจริตหรือไม่
และประชาชนทุกกลุ่มจะได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึงหรือไม่
วิกฤต “โควิด” เกิดขึ้น ขณะที่สถานการณ์ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กำลังย่ำแย่ จนถึงขั้นอาจต้องปรับ ครม.แต่ปัญหา “โควิด” ทำให้ทุกฝ่ายทิ้งความสนใจทางการเมือง และหันมาให้ความสำคัญกับการรับมือ “โควิด”
จะถือ “โควิด” เป็นตัวช่วยให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์รอดพ้นจากวิกฤตชั่วคราวก็ได้ และถ้าสามารถแก้ปัญหาโควิดได้ดี กำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสเป็นที่น่าพอใจ คะแนนนิยม “ลุงตู่” อาจตีตื้นกลับขึ้นมาใหม่
แต่เงินเยียวยา 5,000 บาท กำลังตอกย้ำความเบื่อระอารัฐบาลลุงตู่ขึ้นมาใหม่ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” หลายล้านคนถูกตัดสิทธิ เนื่องจากระบบคัดกรองที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ
ความผิดพลาดในระบบคัดกรองโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ไม่ได้เกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ แต่เป็นความหละหลวมในการจัดวางฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง จนนำไปสู่ปัญหาใหญ่ ถูกประชาชนประท้วงกันทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของรัฐบาล ซึ่งทำท่าจะเก็บเกี่ยวคะแนนนิยมได้ดีจากวิกฤตโควิด
เงิน 5,000 บาทสำหรับคนที่ไม่มีเงินออม ไม่มีงาน ไม่มีช่องทางหารายได้ ถือเป็นเงินก้อนใหญ่ เพื่อช่วยคนนับสิบล้านคนที่ใช้ประทังชีวิตในอีก 6 เดือนข้างหน้า
โครงการเยียวยาผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แม้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปีหน้าพุ่งขึ้นเป็น 57% ขณะที่เพดานการก่อหนี้สาธารณะกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพีนั้น แต่เป็นโครงการที่จำเป็น
ขอเพียงอย่ามีนักการเมืองคนใดใจบาป หากินบนความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ ทุจริตชักหัวคิวกับเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
และโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” โดยเท่าเทียมและทั่วถึง
อย่าปล่อยให้ความล้มเหลวระบบคัดกรองของกระทรวงการคลัง ทำร้ายผู้ที่มีสิทธิได้รับเงิน 5,000 บาท เพื่อประทังชีวิตสู้ “โควิด” เท่านั้น