(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
US-China decoupling: a reality check
by David P. Goldman
14/04/2020
ความคิดในเรื่องทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯหย่าร้างแยกขาดจากเศรษฐกิจจีน กำลังมีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดผู้คนจำนวนมากในอเมริกา แต่ลองขบคิดพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี เรื่องนี้กลับจะบ่อนทำลายผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาเอง ไอเดียที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างปุบปับฉับพลัน ในเรื่องการทำให้เศรษฐกิจอเมริกันและเศรษฐกิจจีนหย่าร้างแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิงนั้น ไม่ใช่เป็นนโยบาย หากแต่เป็นการแสดงความโมโหโทโสเท่านั้น
ผมเคยเป็นผู้เรียกร้องให้หย่าร้างแยกขาด (decoupler) จากจีน ตั้งแต่ก่อนที่เรื่องการหย่าร้างแยกขาด (decoupling) นี้จะกลายเป็นเรื่องเท่เรื่องสุดคูล ผมเรียกร้องสนับสนุนการให้เศรษฐกิจสหรัฐฯหย่าร้างแยกขาดจากจีนแบบมีการคัดสรร (selective decoupling) ตลอระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยเสนอเหตุผลว่าสหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องพึ่งตนเองให้ได้อย่างสัมบูรณ์ในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ เป็นต้นว่า อิเล็กทรอนิกส์กลาโหม (defense electronics) แต่สิ่งเหล่านี้จะมีขึ้นมาได้นั้น ดร.เฮนรี เครสเซล (Dr Henry Kressel) กับ ผม ได้เสนอเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในหน้าความเห็นของวอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wsj.com/articles/america-can-invent-the-next-high-tech-jobs-1479776168) ว่า จำเป็นที่จะต้องมีความพยายามในระดับชาติอันใหญ่โตมโหฬารเพื่อนำเอาการผลิตชิปคอมพิวเตอร์กลับคืนมายังดินแดนของสหรัฐฯ เราทั้งสองเขียนเอาไว้ว่า: “สำหรับเทคโนโลยีกลาโหมที่อ่อนไหวแล้ว วอชิงตันยังควรที่จะบังคับใช้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับคอนเทนต์ของสหรัฐฯ (US content) อย่างเข้มงวดกวดขัน ระบบการทหารของเพนตากอนจำนวนมากทีเดียวต้องพึ่งพาอาศัยพวกส่วนประกอบที่อิมพอร์ตจากต่างประเทศ นี่เป็นเรื่องน่าห่วงแม้เมื่อพิจารณาด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น กฎเกณฑ์ด้านการจัดซื้อจัดหาควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดเรียกร้องให้พวกส่วนประกอบสำคัญยิ่งยวดทั้งหลายจะต้องผลิตขึ้นในสหรัฐฯ”
อย่างไรก็ตาม ไอเดียที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างปุบปับฉับพลัน ในเรื่องการทำให้เศรษฐกิจอเมริกันและเศรษฐกิจจีนหย่าร้างแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิงนั้น ไม่ใช่เป็นนโยบาย หากแต่เป็นการแสดงความโมโหโทโสเท่านั้น
การพึ่งตนเองในสินค้าทางยุทธศาสตร์ทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องที่มีราคาแพง แต่ความมั่นคงแห่งชาติก็เหมือนๆ กับเรือยอชต์ของ เจพี มอร์แกน นั่นแหละ ถ้าคุณต้องถามว่ามันราคาเท่าไหร่ คุณก็ไม่สามารถจ่ายไหวหรอก อย่างไรก็ตาม การพึ่งตนเองในอุตสาหกรรมการผลิตทุกๆ อย่างนั้นเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไป การนำเข้าจากจีนในเวลานี้มีปริมาณคิดอย่างหยาบๆ เท่ากับราวหนึ่งในสี่ของผลผลิตทางอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯทั้งหมด และค่าใช้จ่ายเมื่อต้องผลิตทดแทนขึ้นมาภายในประเทศนั้นจะยิ่งมากมายมหาศาลกว่านั้นเยอะ เนื่องจากสหรัฐฯไม่ได้มีทักษะความชำนาญต่างๆ ที่จะเข้าแทนที่การผลิตจำนวนมากที่จีนทำอยู่
จีนขนส่งสมาร์ตโฟนมูลค่ารวม 70,000 ล้านดอลลาร์มายังสหรัฐฯเมื่อปี 2018 และยังคอมพิวเตอร์มูลค่าอีก 45,000 ล้านดอลลาร์ นี่คือสิ่งที่ ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของบริษัทแอปเปิล พูดเอาไว้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.inc.com/glenn-leibowitz/apple-ceo-tim-cook-this-is-number-1-reason-we-make-iphones-in-china-its-not-what-you-think.html) เกี่ยวกับเหตุผลที่ทำไม แอปเปิล ทำ ไอโฟน ในประเทศจีน: “จีนได้เคลื่อนเข้าไปสู่การผลิตทางอุตสาหกรรมระดับที่ก้าวหน้ามากๆ แล้ว ดังนั้นคุณจึงพบว่าในจีนนั้นเป็นแหล่งรวมแหล่งชุมนุมไปด้วยช่างฝีมือ (craftsman) ที่มีทักษะความชำนาญหลากหลายนานา รวมทั้งมีวิทยาการหุ่นยนต์ (robotics) ที่ประณีตซับซ้อน, และโลกแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ เจ้าแหล่งรวมแหล่งชุมนุมอย่างนี้ ซึ่งหาได้ยากมากๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน, เจ้าทักษะความชำนาญหลากหลายนานาอย่างนี้แหละ มีความสำคัญมากต่อธุรกิจของเรา เนื่องจากเป็นระดับความถูกต้องแม่นยำและระดับคุณภาพที่เราปรารถนาจะได้
“สิ่งซึ่งผู้คนส่วนใหญ่โฟกัสสนใจกันถ้าหากพวกเขาเป็นชาวต่างประเทศซึ่งกำลังเพิ่งมาถึงจีนก็คือ ขนาดของตลาด และเห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่ามันเป็นตลาดซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกในด้านต่างๆ มากมายเหลือเกิน แต่สำหรับเราแล้ว เสน่ห์ดึงดูดหมายเลขหนึ่งคือคุณภาพของผู้คน ... มันไม่ใช่สิ่งที่มีการออกแบบวางแผนเอาไว้ก่อนแล้วก็ส่งออกมา นั่นฟังดูแล้วเหมือนกับมันไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ เลย แท้ที่จริงแล้ว กระบวนการในทางวิศวกรรมและกระบวนการในการวิจัยและการพัฒนามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเราซึ่งเรียกร้องต้องการให้มีนวัตกรรมทั้งในตัวมันเองและจากตัวมันเอง ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังวิธีการในการทำมันออกมาอีกด้วย เนื่องจากเราต้องการทำสิ่งต่างๆ ออกมาในระดับเป็นร้อยๆ ล้าน และเราก็ต้องการคุณภาพในระดับความบกพร่องผิดพลาดเท่ากับศูนย์
คุกกล่าวต่อไปว่า: “ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เราทำนั้น เรียกร้องต้องการจริงๆ ให้พวกเครื่องมือที่จะใช้ทำมันก็ต้องมีความก้าวหน้า, รวมทั้งความถูกต้องแม่นยำที่คุณจะต้องมี, การใช้เครื่องมือและการทำงานกับวัสดุต่างๆ ที่เราทำอยู่นั้นคือระดับเทคโนโลยีสุดทันสมัย และทักษะความชำนาญในการใช้เครื่องมือตรงนี้ก็ต้องมีความลึกซึ้งมากๆ ในสหรัฐฯนั้นคุณสามารถที่จะจัดการพบปะหารือของพวกวิศวกรด้านเครื่องมือ แต่ผมไม่แน่ใจว่าเราจะได้คนมาจนเต็มห้อง ทว่าในจีนนั้นคุณสามารถหาคนมาได้จนเต็มสนามฟุตบอลได้หลายๆ สนาม”
สหรัฐฯไม่ได้มีพวกวิศวกรจำนวนมากเพียงพอที่จะใช้ในการทำสมาร์ตโฟน ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้มีวิศวกรมากเพียงพอสำหรับการขยายผลผลิตทางอุตสาหกรรมของสหรัฐเพิ่มเติมออกไปอย่างสำคัญใดๆ เลย ตัวเลข ณ ปี 2015 จีนมีวิศวกรที่สำเร็จการศึกษาจำนวนมากเป็น 6 เท่าตัวของสหรัฐฯ ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) นั่นเป็นตัวเลขเมื่อ 5 ปีที่แล้วนะครับ ในเวลาเดียวกัน ระบบมหาวิทยาลัยของจีน ซึ่งอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยนักศึกษาระดับปริญญาเอก (doctoral candidates) ผู้ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอเมริกันจำนวนหลายหมื่นคน ได้วิ่งไล่มาจนอยู่ในระดับทัดเทียมกับพวกมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯในแวดวงวิชาการส่วนใหญ่ทางด้านสะเต็มศึกษา (STEM ย่อมาจาก Science Technology Engineering and Mathematics) นักศึกษาระดับปริญญาเอกของสหรัฐฯในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ จำนวน 4 ใน 5 ทีเดียวเป็นนักศึกษาต่างชาติ โดยในนี้กลุ่มซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดทิ้งห่างคนอื่นไกลทีเดียวคือนักศึกษาจีน และวิศวกรชาวจีนส่วนใหญ่ต่างเดินทางกลับบ้านเมื่อสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแล้ว เนื่องจากในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯนั้น มีนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยชาวอเมริกันเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่เลือกวิชาเอกด้านวิศวกรรม และไม่ได้มีตำแหน่งงานในคณะมากเพียงพอที่จะว่าจ้างพวกจบ PhD. ใหม่ๆ เหล่านี้
ขณะเดียวกัน รัสเซีย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในทางพฤตินัยของจีนในแวดวงอุตสาหกรรมไฮเทคหลายหลาก มีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเกือบเป็น 2 เท่าตัวของสหรัฐฯในปี 2015 พวกวิศวกรชาวรัสเซียมีคุณภาพสูงระดับชั้นหนึ่งทีเดียว อย่างที่พวกอิสราเอลต่างทราบกันเป็นอย่างดี การที่ชาวยิวรัสเซียพากันอพยพไปลงหลักปักฐานที่อิสราเอลเป็นจำนวนมากมาย ได้นำเอานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนประมาณ 150,000 คนไปยังอิสราเอล และเปลี่ยนประเทศเล็กๆ แห่งนั้นให้กลายเป็นอภิมหาอำนาจฉบับกระเป๋า จีนกับรัสเซียเมื่อรวมกันแล้วมีความได้เปรียบเหนือสหรัฐฯในระดับ 8 ต่อ 1 ในเรื่องจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์
สหรัฐฯสามารถที่จะฝึกอบรมพวกวิศวกรด้านเครื่องมือจนมากเพียงพอที่จะผลิตไอโฟนภายในดินแดนสหรัฐฯหรือไม่ และจะต้องใช้เวลาเท่าไรเราจึงจะสามารถทำเช่นนั้นได้ เหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบ ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลของสหรัฐฯมีจำนวนแค่เพียงปีละมากกว่า 30,000 คนเล็กน้อย ถ้าเรายังต้องสิ้นเปลืองผู้มีความรู้ความสามารถอันมีจำกัดของเราด้วยการให้เข้าไปทำการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภคแทนที่สินค้านำเข้าจากจีนแล้ว เราจะพ่ายแพ้ในการแข่งขันเพื่อยึดครองฐานะเหนือกว่าใครๆ ในการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) สหรัฐฯควรรวมศูนย์ไปที่การผลักดันให้เกิดการก้าวหน้าอย่างทะลุทะลวงในพวกเทคโนโลยีแนวหน้าใหม่ๆ (frontier technologies) ซึ่งจีนยังไม่ได้มีฐานะครอบงำ แทนที่จะพยายามวิ่งไล่ตามจีนในการผลิตพวกผลิตภัณฑ์ที่ดำรงคงอยู่ขึ้นมาแล้ว
ในเดือนมกราคมปีนี้ คณะบริหารทรัมป์ขอร้องให้ ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์เปอเรชั่น (Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation หรือ TSMC) เจ้าของโรงงานผลิตชิปก้าวหน้าที่สุดของโลก มาสร้างโรงงานขึ้นในสหรัฐฯ ปรากฏว่า TSMC ไม่ได้แสดงความสนใจในเรื่องนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Business/Technology/Exclusive-Washington-pressures-TSMC-to-make-chips-in-US) จุดที่น่าสนใจมากๆ ของเรื่องนี้ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า คณะบริหารทรัมป์ไม่ได้ขอร้อง อินเทล (Intel) หรือเจ้าของโรงงานผลิตชิปรายอื่นๆ ของสหรัฐฯให้กลับมาสร้างความสามารถผลิตขึ้นมา เพื่อแทนที่สิ่งที่เวลานี้เราต้องนำเข้าจากเอเชีย พวกบริษัทออกแบบชิปของสหรัฐฯนั้นสูญเสียความสนใจในธุรกิจการผลิตชิปที่ต้องเน้นหนักใช้เงินทุนสูงมาตั้งแต่เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว ทีเอสเอ็มซี และ ซัมซุงของเกาหลีใต้ เวลานี้คือผู้อยู่ในฐานะครอบงำการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งเป็นรุ่นที่ใหม่กว่าและมีประสิทธิผลมากกว่า เวลาเดียวกับที่ อินเทล ยังกำลังต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อวิ่งไล่ให้ทันเพื่อนในการผลิตชิประดับ “ท็อปออฟเดอะไลน์” (https://www.electronicdesign.com/industrial-automation/article/21807985/intel-to-introduce-chips-based-on-7nanometers-in-2021) พวกผู้ผลิตอเมริกันยังคงเป็นผู้จัดส่งอุปกรณ์การผลิตชิปในปริมาณสูงที่สุดของโลกก็จริง ทว่า เอเอสเอ็มแอล (ASML) บริษัทเนเธอร์แลนด์ คือผู้ครอบงำตลาดในเรื่องชิปใหม่ล่าสุด ส่วนแบ่งของอเมริกาในการขนส่งเซมิคอนดักเตอร์ของโลกได้ตกลงมาจากราวหนึ่งในสี่เมื่อปี 2015 จนเหลือเพียงแค่หนึ่งในสิบในปี 2020 และโรงงานที่ยังคงเหลืออยู่บนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯนั้นหลักๆ แล้วเป็นพวกโรงงานเก่าและพวกที่กำลังจะล้าสมัยตกรุ่นไปในไม่ช้าไม่นาน
มันไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรสำหรับการที่ ทีเอสเอ็มซี สงวนท่าทีในเรื่องการสร้างโรงงานขึ้นในสหรัฐฯ คณะบริหารทรัมป์นั้นกำลังพิจารณาที่จะสั่งห้ามการที่ ทีเอสเอ็มซี ส่งออกชิปไปให้หัวเว่ย ซึ่งเป็นตัวสร้างยอดขายประมาณ 10% ของยอดขายทั้งหมดของบรษัทชิปไต้หวันรายนี้ สืบเนื่องจาก ทีเอสเอ็มซี ใช้คอนเทนต์บางอย่างของอเมริกันในการทำชิป แน่นอนทีเดียว สหรัฐฯสามารถที่จะว่าจ้างพวกวิศวกรชาวไต้หวันมาสร้างโรงงานผลิตชิปของเราเองขึ้นมา แต่มันก็จะเกิดขึ้นมาสายเกินไปสำหรับการลงแข่งขัน ประมาณหนึ่งในสิบของพวกวิศวกรการผลิตของไต้หวันปัจจุบันกำลังทำงานอยู่ในแผ่นดินใหญ่จีนโดยได้รับเงินเดือนแพงขึ้นเป็นสองเท่าตัว ในความพยายามอย่างเร่งรัดของจีนที่จะสร้างความสามารถผลิตชิปของตนเองขึ้นมา ทั้งนี้ตามรายงานของ นิกเกอิ เอเชียน รีวิว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Business/Technology/Exclusive-Washington-pressures-TSMC-to-make-chips-in-US)
กระนั้นก็ตามที สหรัฐฯไม่ได้มีทางเลือกที่ฉลาดมีภูมิปัญญาใดๆ อื่นนอกเหนือจากการนำเอาโรงงานผลิตชิปกลับมายังแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ การสร้าง “ประตูหลัง” หรือการวาง “ระเบิดเวลา” เป็นสิ่งที่สามารถแอบทำขึ้นตรงไหนก็ได้ในท่ามกลางทรานซิสเตอร์ 20,000 ล้านตัวบนชิปคอมพิวเตอร์ขนาด 7 นาโนเมตร อย่างที่พวกนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เคยแสดงให้เห็นเมื่อปี 2016 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wired.com/2016/06/demonically-clever-backdoor-hides-inside-computer-chip/) ไม่มีหนทางวิธีการใดเลยที่จะรับประกันความปลอดภัยให้แก่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของฝ่ายทหารอเมริกัน นอกจากต้องผลิตส่วนประกอบต่างๆ ในโรงงานที่รับประกันด้านความปลอดภัยในสหรัฐฯเท่านั้น นี่จะทำให้ทรัพยากรต่างๆ ของเราตึงตัว และค่าใช้จ่ายอาจสูงขึ้นไปถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ พวกเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดูมีความหวังมีอนาคตไกลจำนวนหนึ่ง ยังคงอยู่ในขั้นเป็นตัวอ่อนในครรภ์ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้อย่างมโหฬารก็ได้ แทนที่จะกัดกรดตัวทรานซิสเตอร์บนแผ่นซิลิคอนโดยใช้แสง มันอาจมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างชิปขึ้นมาจากระดับโมเลกุลเลย โดยที่สิ้นเปลืองต้นทุนเพียงแค่ส่วนเสี้ยว
ศักยภาพด้านเทคโนโลยีของอเมริกันกำลังอยู่ในสภาพข้างในกลวงโบ๋ แม้กระทั่งในบรรดาปริมณฑลซึ่งเราเชื่อว่าตัวเราเองเลิศล้ำยอดเยี่ยม ตัวอย่างเช่น วิทยาการสารสนเทศ (information science) แอปเปิล กับ กูเกิล ประกาศเมื่อกลางเดือนเมษายนว่า แอปป์ของสมาร์ตโฟนแอปป์หนึ่งจะออกมาในพฤษภาคม ซึ่งสามารถแจ้งให้ยูสเซอร์ทราบว่าพวกเขากำลังติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือเปล่า แต่ว่า อาลีเพย์ (Alipay) และ เทนเซนต์ (Tencent) มีแอปป์แบบนี้ให้บริการตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนของเกาหลีใต้และของอิสราเอลมีแอปป์คล้ายๆ กันออกมาให้ใช้ได้เมื่อต้นเดือนมีนาคม อิสราเอลนั้นได้ใช้ระบบติดตามพวกผู้ก่อการร้ายของ “ชิน เบธ” (Shin Beth) หน่วยตำรวจรักษาความมั่นคงที่น่าเกรงขามของตน มาประยุกต์เพื่อแกะรอยพวกผู้ที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโคโรนา ทั้งกลุ่มที่เป็นพาหะนำเชื้อจริงๆ และทั้งผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นพาหะ ขณะที่จีนหยิบยืมเอาศักยภาพความสามารถอันซับซ้อนลึกซึ้งในการสอดแนมเฝ้าระวังของตนมารวมประสานเข้ากับผลการตรวจทดสอบไวรัสโคโรนา ณ สถานที่ต่างๆ ตลอดจนผลการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชนจำนวนหลายร้อยล้านคน
ในข้อเขียนซึ่งเผยแพร่อยู่ใน “ดิ อเมริกัน อินเทอเรสต์” (The American Interest อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.the-american-interest.com/2020/04/08/the-long-hard-road-to-decoupling-from-china/) แอนดรูว์ มิชตา (Andrew Michta) แห่ง ศูนย์จอร์จ มาร์แชลล์ เพื่อยุโรปศึกษา (George Marshall Center for European Studies) เสนอ “หนทางอันยากลำบากยาวไกลสำหรับการหย่าร้างแยกขาด” (long hard road to de-coupling) แล้วก็หันมาเสนอสิ่งต่อไปนี้: “เราจำเป็นต้องทำการลงทุนกันใหม่อีกครั้งอย่างใหญ่โตมโหฬารในหลักสูตรวิชาด้าน STEM ในระดับโรงเรียนมัธยมปลายของเรา และในหลักสูตรวิชาทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ของเรา เพื่อเป็นการเพิ่มขยายแหล่งรวมแหล่งชุมนุมที่อาจมองหาแรงงานและฝ่ายบริหารจัดการ ให้แก่พวกบริษัทของเราที่จะกลับจากต่างแดนมาตั้งอยู่ในดินแดนสหรัฐฯอีกคำรบหนึ่ง ขณะเดียวกันนั้น มันก็จะต้องมีความพยายามอย่างสอดคล้องประสานกันจากรัฐสภา, กระทรวงศึกษาธิการ, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนบรรดาศิษย์เก่าที่จะบริจาคเงินทองความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อฟื้นฟูสถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยทังหลายให้กลับคืนไปสู่ตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสมสำหรับการสอนและการเรียนรู้ เป็นตำแหน่งแห่งที่ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อหลายทศวรรษก่อนได้เคยผลิตชนชั้นนักวิชาชีพและนักบริหารจัดการระดับยอดเยี่ยมที่สุดในโลก” นี่แหละคือสิ่งที่อเมริกาเรียกร้องต้องการ ทว่าระยะเวลาที่จะต้องทุ่มเทกันก่อนจะมีผลลัพธ์ออกมาจะต้องยาวนานเป็นชั่วอายุคนทีเดียว
อุปสรรคเครื่องกีดขวางต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้าช่างใหญ่โตน่าเกรงขามนัก อย่างที่ เอดเวิร์ด โดเฮอร์ตี (Edward Dougherty) ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทกซัส เอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University) เขียนเอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อปีที่แล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2018/12/the-american-crisis-in-science-and-engineering/) ว่า “คณิตศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับวิศวกรรมสมัยใหม่นี้ ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วตลอดช่วงทศวรรษ 1950 และเคยเป็นวิชาบังคับสำหรับพวกนักศึกษาวิศวะระดับหลังปริญญาตรีที่เรียนในหลักสูตรชั้นดีทั้งหลาย แต่การบังคับดังกล่าวนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วในมหาวิทยาลัยอเมริกันส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันพวกวิศวกรจึงต้องตกอยู่ในอาการงุ่มง่ามและพยายามที่จะหาโซลูชั่นด้วยการเคาะคอมพิวเตอร์ไปเรื่อย ตรงกันข้าม ในอิหร่านพวกนักศึกษาถูกบังคับให้ต้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่จำเป็นกันตั้งแต่ในระดับปริญญาตรี ในฐานะที่เป็นประเทศ เราจึงเหมือนกับได้ขบคิดไตร่ตรองกันเอาไว้ก่อนแล้ว และตัดสินใจว่าเด็กๆ ของเราควรที่จะได้รับการศึกษาที่ต่ำชั้นกว่าเด็กๆ ชาวอิหร่าน และเด็กๆ ชาวจีน” ถ้าหากสิ่งที่จีนกำลังทำอยู่ กลายเป็การกระตุ้นยั่วยุเราให้ต้องนำเอาวัฒนธรรมแห่งความรู้ความสามารถมาบรรจุเอาไว้ในสถาบันการศึกษาของเรา และมีการให้รางวัลแก่ผลสำเร็จอันแท้จริงแทนที่จะเป็นแค่การปลูกฝังการถือศักดิ์ศรีของตนเองแล้ว นั่นก็จะกลายเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่เราอย่างใหญ่หลวงยิ่งกว่าพันธมิตรใดๆ ของเราไม่ว่ารายไหนไม่ว่าในระยะเวลาใดในประวัติศาสตร์ของเราทีเดียว
การที่อเมริกาและยุโรปมีทัศนะความคิดเห็นที่แตกแยกไปคนละทางในเรื่องเกี่ยวกับจีนก็เป็นเรื่องที่สมควรหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ในการสอบค้นทบทวนว่าสื่อสิ่งพิมพ์ของเยอรมันพูดถึงเรื่องการหย่าร้างแยกขาดจากกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนว่าอย่างไรกันบ้างในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมพบว่าไม่มีอะไรนอกจากบทวิจารณ์ซึ่งออกมาในทางที่ว่ามันเป็นความคิดที่เลว อย่างที่ผมรายงานเอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 3 เมษายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/04/covid-19-focus-on-what-china-did-right-not-wrong/) พวกบริษัทยารายใหญ่ของยุโรปต่างกำลังเข้าแถวรอที่จะเข้าร่วมทุนกับ เทนเซนต์, หัวเว่ย, และพวกบริษัทไอทีรายใหญ่อื่นๆ ของจีน เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอันร่ำรวยกว้างขวางของจีน ในทัศนะของฝ่ายยุโรปแล้ว ความผิดพลาดอย่างซุ่มซ่ามของจีนในช่วงต้นๆ ในเรื่องการรายงานการระบาดของไวรัสโคโรนา เป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจน้อยกว่าการที่จีนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อควบคุมการระบาด รวมทั้งการนำเอาแอปพลิเคชั่นด้านปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับฐานข้อมูลที่ใหญ่โตกว้างขวางของจีน
นี่ทำให้เกิดคำถามอันยุ่งยากน่าวิตกขึ้นมา กล่าวคือ ถ้าอเมริกาต้องพยายามที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีนกันจริงๆ แล้ว พวกพันธมิตรของอเมริกาจะมีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร? พวกพันธมิตรของอเมริกาส่วนใหญ่ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับความเรียกร้องต้องการอย่างเร่งด่วนของคณะบริหารทรัมป์ที่จะให้กีดกันหัวเว่ยไม่ให้เข้าร่วมการจัดทำเครือข่าย 5จี ใหม่ของพวกชาติพันธมิตรเหล่านี้ อย่างที่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ข้างต้น พวกบริษัทยาของยุโรปมองการจัดการกับไวรัสโคโรนาของจีน ไม่ใช่ในแง่มุมที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์อันชั่วร้ายพยายามปกปิดหลอกลวง แต่เน้นไปที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งพวกเขาวาดหวังที่จะเข้าไปลงทุน ถ้าหากโลกเกิดมีการแตกแยกเป็นเสี่ยงเกิดมีการแบ่งออกเป็นเขตเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมา ยูเรเชียทั้งหมดอาจจะลงเอยด้วยการรวมอยู่ในเขตๆ หนึ่งซึ่งมีจีนเป็นผู้ครอบงำ และยืนเผชิญหน้าต่อสู้กับอเมริกาเหนือและญี่ปุ่น
อันที่จริงสภาพเช่นนี้บังเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้วในบางระดับ หัวเว่ยกลายเป็นผู้นำของโลกในด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทว่าจ้างลูกจ้างพนักงานชาวต่างประเทศ 50,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป และส่วนใหญ่เกี่ยวข้องอยู่ในเรื่องการวิจัยและการพัฒนาขั้นพื้นฐาน เราไม่จำเป็นต้องนำเอาพวกทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์ที่ล้าสมัยมาปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่หรอก ก็สามารถมองเห็นได้อยู่ดีว่า ยูเรเชียที่นำโดยจีนนั้น จะมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าสหรัฐฯหลายเท่าตัว ทั้งในด้านทุนมนุษย์และในด้านเงินทุนทางกายภาพ
แน่นอนทีเดียวว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเลย หรือจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว อย่างที่ผมเขียนเอาไว้ที่ “ลอว์ แอนด์ ลิเบอร์ตี” (Law and Liberty) ในการถกเถียงกันว่าด้วยอนาคตขององค์การนาโต้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://lawliberty.org/forum/repurpose-it-or-it-dies/) “ถ้าหากสหรัฐฯย้ำยืนยันบทบาทความเป็นผู้นำของตนในเทคโนโลยีแนวหน้าใหม่ๆ (frontier technologies) พวกหุ้นส่วนนาโต้ของเราก็จะเข้าแถวเพื่อเข้าร่วมในความพยายามดังกล่าวนี้ ถ้าหากการทะลุทะลวงในเทคโนโลยีการทหาร ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับพลเรือนในแบบที่ส่งผลสะเทือนถึงขั้นเป็นการเปลี่ยนเกมกันเลย” สหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องมีความริเริ่มใหม่ๆ ชุดหนึ่งแบบ “โครงการแมนฮัตตัน” (Manhattan Project -ชื่อรหัสลับของโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Manhattan_Project -ผู้แปล) โดยมุ่งโฟกัสไปที่เรื่อง การคำนวณเชิงควอนตัม (quantum computing), เทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถแตกตัวออกมาจากบรอดแบนด์ไร้สาย (technological spinoffs of mobile broadband), การป้องกันขีปนาวุธความเร็วสูงยิ่งเจเนอเรชั่นใหม่ (defense against the new generation of hypervelocity missiles), เทคโนโลยีการทำชิป (chip-making technology), และเทคโนโลยีระดับเปลี่ยนเกมอย่างอื่นๆ ความโปรดปรานชื่นชอบเรื่องนวัตกรรมของอเมริกาจะยังคงทรงพลังเพียงพอหรือไม่ที่จะทดชดเชยกับตัวเลขจำนวนวิศวกรที่จีนกับรัสเซียมีอยู่ นี่ยังเป็นสิ่งที่จะต้องติดตามเฝ้าชมกันต่อไป ในฐานะที่ผมเป็นชาวอเมริกัน ผมย่อมรังเกียจที่จะต้องเป็นผู้แพ้จากการที่ถูกกำหนดเอาไว้ให้เป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่ต้น
เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องจดจำกันไว้ว่า ประดิษฐกรรมแต่ละอย่างในยุคดิจิตอล ตั้งแต่ไมโครชิป ไปจนถึงเลเซอร์สารกึ่งตัวนำ (semiconductor laser), ไปจนถึงการใช้ภาพเป็นตัวประสานกับยูสเซอร์ (graphic user interface), ไปจนถึงไดโอดเปล่งแสง (light-emitting diodes), ไปจนถึงจอภาพพลาสมา (plasma displays), และไปจนถึงตัวอินเทอร์เน็ตเอง ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นขึ้นจากการที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯมอบสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแก่แล็บปฏิบัติการแห่งหนึ่งในบรรดาแล็บปฏิบัติการยิ่งใหญ่ในภาคบริษัทเอกชน และเทคโนโลยีเหล่านี้แต่ละอย่างล้วนแล้วแต่ถูกค้นพบขึ้นมาในเวลาที่ใครบางคนกำลังพยายามที่จะทำสิ่งอื่นๆ กันทั้งนั้นอย่างไม่มีข้อยกเว้นเลย ตัวอย่างเช่น เลเซอร์สารกึ่งตัวนำซึ่งเป็นรากฐานของเครือข่ายการสื่อสารด้วยแสง เริ่มต้นขึ้นจากการที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯมอบสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแก่ แล็บอาร์ซีเอ (RCA Labs) ให้หาวิธีในการทำให้สนามรบส่องสว่างในเวลากลางคืน สหรัฐฯประดิษฐ์ยุคดิจิตอลขึ้นมา ไม่ใช่เพราะสหรัฐฯตั้งใจที่จะทำเช่นนั้นมาตั้งแต่ต้น แต่เพราะสหรัฐฯได้พัฒนาการวิจัยพื้นฐานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก โดยที่การค้นพบเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างกว้างขวางเลยล้ำออกไปจากความคาดหมายดั้งเดิมของโครงการซึ่งให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานเหล่านี้
อเมริกามีชัยชนะในสงครามเย็น เนื่องมาจากความเต็มอกเต็มใจของเราที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยรู้ไม่เคยทราบมาก่อน ขณะที่จีนมีจุดอ่อนอยู่ตรงที่กองทัพวิศวกรอันใหญ่โตมโหฬารของพวกเขานั้นถูกใส่บังเหียนติดอยู่กับโครงการเฉพาะเจาะจงต่างๆ โดยถูกกำหนดเป้าหมายเอาไว้อย่างแน่นอนตายตัว ความได้เปรียบของอเมริกาเมื่ออยู่ในจุดสูงสุดของความองอาจกล้าหาญของเราก็คือความสามารถของเราในการมองหาสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดไม่เคยคาดหมายกันเอาไว้ก่อน สหรัฐฯจะประสบความสำเร็จเมื่อสหรัฐฯมองไปข้างหน้าสู่นวัตกรรมต่างๆ ของเจเนอเรชั่นถัดไป มันไม่มีความหมายอะไรเลยที่จะมัวพูดถึงการฟื้นฟู “ความสามารถผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ได้สูญหายไป” อุตสาหกรรมการผลิตนั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจนจำกันไม่ได้เลยในอีก 20 ปีข้างหน้า ขณะที่การสื่อสารโทรคมนาคม 5จี ที่มีเวลาหน่วงต่ำ (low-latency) จะเปิดทางให้พวกหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสามารถประดิษฐ์โซลูชั่นทางการผลิตใหม่ๆ ขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ขณะที่การพิมพ์ด้วยระบบ 3 มิติ ก็ทำให้ชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตกลายเป็นชิ้นส่วนในท้องถิ่นไปหมด
ในอีก 1 เจเนอเรชั่นข้างหน้านับจากนี้ โลกจะดูแตกต่างออกไปอย่างมากๆ คำถามอยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้นำโลกที่ว่านี้