(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Who’s decoupling from whom?
by David P. Goldman
11/05/2020
ขณะที่สหรัฐฯกำลังประเมินทบทวนความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับจีน โดยมีแนวโน้มที่ต้องการให้เศรษฐกิจอเมริกันและเศรษฐกิจแดนมังกร “หย่าร้างแยกขาดจากกัน” แต่ตัวเลขการส่งออกของจีนกลับแสดงให้เห็นว่าการบูรณาการในระดับภูมิภาคกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
มูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคมของจีนเพิ่มสูงขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ผิดไปมากจากที่พวกนักวิเคราะห์ทำนายเอาไว้ซึ่งระบุว่าจะลดต่ำลง 12% ทั้งนี้การส่งออกไปยังเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปรากฏว่าเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง คือตัวที่ทำให้ตัวเลขนี้ดีขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง
ข้อมูลของเดือนมีนาคมนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าการบูรณาการทางเศรษฐกิจของเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยหากแยกการค้าในเอเชียออกเป็นส่วนๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าส่วนที่ใหญ่กว่าคือการค้าซึ่งกระทำกับชาติเอเชียด้วยกันเอง
ขณะที่อเมริกาขบคิดพิจารณาที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีนนั้น ดูเหมือนว่าเอเชียต่างหากที่กำลังหย่าร้างแยกขาดจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ที่สงครามเทคระหว่างสหรัฐฯ-จีนเริ่มต้นขึ้นมาในเดือนเมษายน 2018 ด้วยการที่วอชิงตันออกคำสั่งห้ามการส่งออกชิปให้แก่บริษัทแซดทีอี คอร์เปอเรชั่น (ZTE Corporation) ของจีน “กระบวนการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากอเมริกัน” (de-Americanization of supply chains) ก็ได้กลายเป็นคำศัพท์ยอดนิยมในวงการอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ไต้หวัน, เวียดนาม, ไทย, และอินโดนีเซีย ซื้อผลิตภัณฑ์ของจีนในเดือนเมษายน 2020 เพิ่มขึ้นประมาณ 50% จากที่พวกเขาซื้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับตัวเลขของญี่ปุ่นและเกาหลีก็แสดงให้เห็นว่าซื้อเพิ่มขึ้น 20% ขณะที่การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯนั้นสูงขึ้นมาเหมือนกันเมื่อวัดกันปีต่อปี ทว่าจากระดับฐานปี 2019 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ
ทางด้านการนำเข้าของจีนจากเอเชียก็สูงขึ้นอย่างพรวดพราดเช่นกัน
การเพิ่มขึ้นอย่างโลดลิ่วในการค้าระหว่างเอเชียด้วยกัน อาจจะเป็นภาพสะท้อนถึงการเริ่มสตาร์ทขึ้นมาใหม่ของบรรดาเศรษฐกิจในเอเชีย ทั้งนี้ด้วยผลรวมของการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวาง, การติดตามเฝ้าระวังด้วยระบบดิจิตอล, และความเป็นหนึ่งเดียวกันทางสังคม ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ในระดับไม่ถึง 10 คนต่อประชากร 1 ล้านคนในประเทศและดินแดนส่วนใหญ่ของเอเชีย เปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตเป็นเรือนร้อยในสหรัฐฯและในชาติจำนวนมากของยุโรป ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิตของจีนส่วนใหญ่เวลานี้อยู่ในระดับใช้ความสามารถผลิตกันสูงกว่า 90% การเปิดห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาใหม่อีกครั้งคือคำอธิบายว่าทำไมทั้งยอดนำเข้าและยอดส่งออกจึงพุ่งลิ่วกันทั้งคู่ ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูล 2 ทางที่แข็งแกร่งนี้ยังเพิ่มความโดดเด่นให้แก่การบูรณาการกันที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเศรษฐกิจสำคัญๆ ของเอเชีย
อย่างไรก็ดี ห่วงโซ่อุปทานที่มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายออกมาจากสหรัฐฯ บางทีอาจจะมีส่วนอยู่บ้างเช่นกันสำหรับการกระโจนลิ่วในการค้าของเอเชีย เวลานี้ญี่ปุ่นลำเลียงเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีนมากกว่าที่ขนส่งไปยังสหรัฐฯ ถึงแม้จวบจนถึงปี 2014 ญี่ปุ่นยังขายเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่สหรัฐฯเป็น 3 เท่าตัวของที่ขายให้จีนอยู่เลย
ยอดนำเข้าของจีนที่พุ่งลิ่ว ส่วนน้อยๆ ส่วนหนึ่งสามารถอธิบายด้วยเหตุผลที่ว่า จีนกำลังกวาดเก็บรวบรวมเซมิคอนดักเตอร์เอาไว้ในสต็อก เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันภัยเผื่อว่าอเมริกันจะตัดสินใจใช้ “ทางเลือกระเบิดนิวเคลียร์” (nuclear option) มาเล่นงาน “หัวเว่ย” ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมของจีน อันได้แก่ สหรัฐฯอาจจะสั่งห้ามบริษัทต่างชาติทั้งหลายไม่ให้ขายชิปคอมพิวเตอร์ให้แก่หัวเว่ย ถ้าหากพวกเขาใช้อุปกรณ์ส่วนประกอบของอเมริกันในการผลิตชิปเหล่านั้น ในทางทฤษฎีแล้วข้อห้ามเช่นนี้จะขัดขวางทำให้ บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์เปอเรชั่น (Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation หรือ TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ไม่อาจขายสินค้าให้หัวเว่ย โดยที่ปัจจุบัน หัวเว่ยเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ TSMC ชิปที่ TSMC ขายให้หัวเว่ยคิดเป็นประมาณ 13% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัทไต้หวันรายนี้ ทางด้าน ไฮซิลิคอน (HiSilicon) บริษัทออกแบบชิปที่เป็นกิจการในเครือหัวเว่ย เวลานี้ติดอันดับอยู่ในกลุ่มท็อป 10 ผู้ผลิตชิปของโลกไปแล้ว และยอดขายภายในประเทศของบริษัทนี้ในไตรมาสแรกพุ่งแซงเลยยอดขายของควอลคอมม์ (Qualcomm บริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติอเมริกัน) แต่ ไฮซิลิคอนนั้นยังไม่สามารถที่จะตั้งโรงงานผลิตชิปของตนเองได้ ขณะที่ความสามารถผลิตทางด้านการทำชิปภายในดินแดนของจีนเอง ยังคงไม่สามารถสร้างชิประดับ “ท็อปออฟเดอะไลน์” มาให้หัวเว่ย เพื่อใช้บรรจุเข้าไปในสมาร์ตโฟนรุ่นไฮเอนด์ และเซิร์ฟเวอร์ระดับสุดยอดของหัวเว่ย
พวกบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯได้พยายามชักชวนโน้มน้าวคณะบริหารทรัมป์ อย่าได้พยายามขัดขวางหัวเว่ยในการเข้าถึงชิปไต้หวันและชิปต่างประเทศอื่นๆ โดยหยิบยกเหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวจะเพียงแค่ชะลอทว่าไม่สามารถป้องกันจีนไม่ให้บรรลุระดับการพี่งตนเองในด้านนี้ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น พวกบริษัทอเมริกันจะต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีน –อย่างที่ ควอลคอมม์ และ เอ็นวีเดีย (Nvdia) ได้สูญเสียให้ ไฮซิลิคอน ไปเรียบร้อยแล้ว— ขณะที่พวกบริษัทอื่นๆ ของโลกจะพากันเร่งรีบเปลี่ยนแปลงถอนเอาคอนเทนต์อเมริกันออกไปจากห่วงโซ่อุปทานนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นี่จะเป็นการดำเนินการที่ยากลำบากและสิ้นค่าใช้จ่ายสูง อย่างที่มูลนิธิฮินริช (Hinrich Foundation) ระบุเอาไว้ในรายงานฉบับเดือนมกราคม 2020 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://research.hinrichfoundation.com/hubfs/Capri%2520Report%2520-%2520Jan%25202020/Hinrich%2520Foundation%2520report%2520-%2520US-China%2520tech%2520war%2520and%2520semiconductors%2520-%2520March%25206%25202020_compressed.pdf)
รายงานชิ้นนี้ของมูลนิธิฮินริช บอกว่า “ความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับพวกกฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เหี้ยมโหดทารุณมากยิ่งขึ้นไปอีกของสหรัฐฯ รวมไปถึงพวกกฎหมายที่ตกอยู่ใต้การควบคุมดูแลของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control หรือ OFAC) –โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังคงเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศสำคัญที่สุดอย่างไม่มีสกุลอื่นใดมาเทียบเคียงได้— ย่อมหมายความว่าแม้กระทั่งธุรกรรมทางการเงินอย่างสามัญธรรมดาเพียงรายการเดียวซึ่งทำกับหน่วยงานหรือบุคคลที่ถูกสหรัฐฯหมายหัวขึ้นบัญชีดำเอาไว้ (restricted entity) ก็อาจเป็นเหตุให้ (บริษัทซึ่งทำธุรกรรมดังกล่าว) ถูกสั่งห้าม (ทำธุรกรรมกับสหรัฐฯ) ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการทำลายความสัมพันธ์ทางธุรกิจไปอย่างหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง หัวเว่ยและพวกบริษัทเทคจีนรายอื่นๆ ต่างกำลังมองหาหนทาง (หรือประวิงเวลาของพวกตนเอาไว้ จนกว่าจะสามารถ) ที่จะหย่าร้างแยกขาดออกจากห่วงโซ่อุปทานที่สหรัฐฯมีอิทธิพลอยู่ ในการทำเช่นนี้ พวกบริษัทจีนจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งผูกพันธมิตรกับพวกบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ใช่อเมริกัน”