xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นเด่นรับรัฐคลายล็อค สภาพัฒน์ ฯ หั่นจีดีพีกดเศรษฐกิจถอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์คาดจันทร์นี้สภาพัฒน์ประกาศจีดีพี ไตรมาสแรกหดตัว 5.5% แถมอาจติดลบยาวไปถึงไตรมาส 2 กดเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย ลุ้นไตรมาส 3 ฟื้น หลังรัฐคลายล็อคดาวน์ พร้อมจับตา กนง. หั่นดอกเบี้ยอีก 0.25% หนุน SET Index มองหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการคลายล็อคเฟส 2 สดใสหลายตัว CRC, MBK, CPN, SF, HMPRO, DOHOME, MC, RSP, COM7 และ JMART หุ้นกลุ่มร้านอาหารอย่าง AU, M, ZEN และ MINT หุ้นในกลุ่มบริการสปา

แม้ว่าโรคระบาดไวรัสโควิด-19 จะยังไม่หยุดนิ่ง และทุกประเทศทั่วโลกรายงานตัวเลขคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้าง แล้วแต่สภาพของการป้องกันและมาตรการของแต่ละแห่ง และสำหรับไทยแล้วนั้น นับได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ตัวเลขสะสมของผู้ติดเชื้อลดลง มีผู้ที่รักษาหายมากขึ้น มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือและการเสียสละของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ,คุณภาพบุคลากรสาธารณสุขไทย ,ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งของไทย ,สภาพอากาศร้อนทำให้การระบาดของโรคไม่รุนแรงเช่นประเทศในแถบเมืองหนาว แม้ว่ายังไม่มีวัคซีนรักษาโรคระบาดนี้ แต่ความร่วมมือและการป้องกันตนเอง การตระหนักถึงพิษร้ายของโรคดังกล่าว ทำให้คนไทยดูแลและป้องกันตัวเองการติดเชื้อที่เคยระบาดหนักจึงคลี่คลายลง

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการป้องกันขั้นเฉียบขาดของรัฐ ทำให้มีคนตกงานสูง และตัวเลขจีดีพีอาจติดลบ ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าหลายปัจจัยถาโถมมาก่อนหน้า ยิ่งไวรัสโควิด-19 ระบาดยิ่งเพิ่มให้บั่นทอนเศรษฐกิจและการลงทุนถ้วนหน้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ใน วันจันทร์ที่ 18 พ.ค. 63 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะร่วมกันแถลง ตัวเลขตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของปี 63 โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามผลการประเมินของทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว น่าจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่โดยเบื้องต้นตัวเลขทางเศรษฐกิจจะติดลบแน่นอน

ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 63 จะพลิกกลับมาดีขึ้นได้หรือไม่นั้น ยังจะต้องรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 เป็นหลัก เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเนื่องอย่างแน่นอน โดยพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุได้เกิดขึ้นแล้ว และมีคนได้รับผลกระทบจากการตกงาน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามเข้าดูแลกันอยู่

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พิจารณาผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) มีมติผ่อนปรนกิจกรรมกลุ่มสีเขียว ที่มีความเสี่ยงแพร่ระบาดระดับปานกลาง แต่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมสูง ได้แก่ ผ่อนปรนให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ในอาคารสำนักงาน โรงอาหาร หรือศูนย์อาหารภายในหน่วยงาน โดยเปิดให้ซื้อและนำกลับไปบริโภคที่อื่น หรือหากให้บริการในสถานที่นั้นต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานป้องกันโรคและยังห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

ส่วนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ กำหนดเวลาเปิดทำการ 10.00-20.00 น. ส่วนการควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่ ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม เพราะรู้พื้นที่การรองรับของตัวเอง ทั้งนี้ ร้านค้า ในห้างฯที่เปิดได้ อาทิ ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องครัวที่จำเป็น ร้านเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง อุปกรณ์กีฬา ร้านทอง เครื่องประดับ ร้านซักอบรีด ร้านประดับยนต์ ร้านล้างรถยนต์ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทประกันภัย ประกันชีวิต คลินิกเวชกรรม สถานทันตกรรม ร้านเสริมสวยตัดแต่งผม อนุญาตเฉพาะตัด สระ ซอยแต่งผม ร้านทำเล็บ ร้านอาหาร ภัตตาคาร ฟู้ดคอร์ทและศูนย์อาหาร ในห้าง นอกจากนั้น ในส่วนร้านค้าปลีก และค้าส่งขนาดใหญ่เปิดให้บริการได้ เช่น ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ร้านเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ รวมถึงตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ โดยต้องดำเนินมาตรการดูแล ควบคุมทางเข้า-ออก วัดอุณหภูมิ รวมถึงเว้นระยะห่าง

ส่วนกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย หรือการดูแลสุขภาพอนุญาตให้เปิดแต่มีการจำกัดจำนวนคนและสระว่ายน้ำสาธารณะทั้งกลางแจ้งและในร่ม ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามเลนการว่าย เป็นต้น สำหรับเวลาเคอร์ฟิวส์นั้นได้ปรับเวลาจาก 22.00 -04.00 น. เป็นเวลา 23.00-04.00 น. และมาตรการงดหรือชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดยังคงอยู่ ทั้งนี้ มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ตามที่ประชุมมีมตินั้นเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 17 พฤษภาคมนี้


มองกลุ่มค้าปลีก-ห้าง รับอานิสงส์



บล.เอเซียพลัส หรือASP เปิดเผยถึง 2 ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้ โดยวันจันทร์ที่ 18 พ.ค.63 ให้น้ำหนัก สภาพัฒน์ฯ รายงานตัวเลข GDP งวดไตรมาสแรกปี 63 ซึ่งคาดจะพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกที่ ติดลบ 5.5% จากไตรมาสก่อน และ ติดลบ 7% จากปีก่อน (Consensus คาดเฉลี่ย ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อน และลดลง 3.8% จากปีก่อน นอกจากนี้หากมองไปในไตรมาส 2 ปี63 คาดจะเป็นงวดที่ GDP จะติดลบมากที่สุด และน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี ทั้งนี้หาก GDP ไทยหดตัวต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส ในทางทฎษฎีจะถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย (Technical Recession) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยไทยจะค่อยๆดีขึ้นในงวดไตรมาส 3 เป็นต้นไป หลังจากรัฐบาลเริ่มทยอย Re-open ธุรกิจ

บล.เอเซียพลัส ยังระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 พ.ค.63 ยังคาดว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบนี้อีก 0.25% มาอยู่ที่ 0.5%(ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) สะท้อนจากผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ใน Bloomberg ราว 70% ที่คาดจะปรับลงในรอบนี้อีก 30% คาดยังคงอัตราดอกเบี้ยที่เดิม โดย ASPS คาดในช่วงที่เหลือของปีนี้มีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ลง เนื่องจาก Net Interest Rate กว้างมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ เดือนล่าสุด ติดลบ 3% และในช่วงที่เหลือของปีเงินเฟ้อคาดจะยังติดลบต่อ

ทั้งนี้ ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและมีโอกาสปรับลดลงดังกล่าว ตามกลไกถือว่าส่งผลดีต่อตลาดหุ้น เนื่องจากดอกเบี้ยฯลดลงทุกๆ 0.25% จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยซื้อขายบน P/E ที่สูงขึ้น 0.79 เท่า ถือการเปิด Upside ของดัชนี SET index ราวๆ 57 จุด

ขณะที่ ล่าสุดการผ่อนคลายธุรกิจรอบที่ 2 ดังกล่าว ASPS คาดว่าจะดีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจที่สามารถกลับมาดําเนินการได้ อาทิ ห้างสรรพสินค้า, ร้านค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นที่ เกี่ยวข้องดังนี้คือ กลุ่มศูนย์การค้า เช่น CPN(FV@B66) คาดได้ Sentiment เชิงบวกจากการกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้า เนื่องจากมีการปิดห้างสรรพสินค้าต่อเนื่องในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายให้ห้างกลับมาดําเนินธุรกิจดังกล่าว คาดห้างสรรพสินค้าต้องมีการให้ส่วนลดค่าเช่าแก่ผู้เช่าต่อเนื่อง แม้รายได้ค่าเช่า บริการฟื้นตัวขึ้นในครึ่งหลังปี 63 เทียบกับครึ่งแรกปี 63 แต่ยังไม่กลับสู่ระดับปกติ ส่วนกลุ่มค้าปลีก ASPS ประเมินร้านค้าปลีกที่ปิดสาขาในช่วงก่อนหน้า เริ่มกลับมาเปิดสาขาได้แล้วราว 50% ของสาขาทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นสาขาต่างจังหวัดและส่วนที่เหลือจะกลับมาเปิดได้ในวันที่ 1 7 พ.ค. 2563 การเข้าลงทุนจึงเน้นในกลุ่มที่ได้ประโยชน์กลับมาเปิดสาขาสูง เช่น COM7 (FV@B23.5) และ DOHOME (FV@B7.9)

เตือนระวังกลุ่มท่องเที่ยว โลจิสติกส์และการบิน "


นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 5% โดยในครึ่งปีแรกอาจจะได้เห็นตัวเลขการติดลบถึง 2 หลัก ซึ่งหนักสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ และค่อยๆฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แต่จะเป็นเพียงแค่การกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่พึ่งพิงอยู่มากพอสมควรจะยังไม่กลับมา และเป็นสมมติฐานที่ประเทศไทยไม่มีการระบาดระลอก 2

"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังแค่การกระเตื้องบ้างเท่านั้น ไม่ใช่ฟื้นตัวกลับไปเป็นแบบช่วงก่อนมีโควิด เพราะกิจกรรมต่างๆก็ทำได้แค่ในประเทศกันเองเป็นหลัก ส่วนเศรษฐกิจปีหน้าก็ยังประเมินได้ยาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆก็คือ การคิดค้นวัคซีนซึ่งก็คาดว่าจะคงอีก 1-2 ปี ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกกลับมาเหมือนเดิม"

สำหรับ มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยพยุงเศรษฐกิจมหภาคและเข้ามาช่วยตลาดตราสารหนี้รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทนั้น ตัวหลักๆน่าจะเป็นส่วนของมาตรการทางการคลังที่จะเยียวยาให้ประชาชนในวงกว้าง ขณะที่มาตรการทางการเงินก็จะเป็นส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ปล่อยกู้ซอฟต์โลนให้กับธุรกิจ และมาตรการพยุงตลาดตราสารหนี้ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องมีการระดมทุนเพิ่ม ซึ่งก็สามารถทำได้ เพราะสภาพคล่องในระบบก็มียังมีเป็นจำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการระดมทุนของภาครัฐ เพียงแต่ต้องดูช่วงจังหวะเนื่องจากภาคธุรกิจเอกชนเองก็เริ่มที่จะออกตราสารหนี้ระดมทุนบ้างแล้วเช่นกัน

นางสาวณัฐพรกล่าวอีกว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 20 พ.ค.ที่จะถึงนี้นั้น คาดว่ากนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เหลือ 0.50% เพื่อเป็นการลดภาระให้กับธุรกิจ แต่ถ้าจะประเมินว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปถึงระดับ 0% หรือติดลบนั้นมองว่า ประเทศไทยสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น ซึ่งในส่วนของนโยบายการเงินนั้นหากทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆประสิทธิภาพก็ยิ่งจะลดลง และหากอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยติดลบประชากรของไทยที่พึ่งพาดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ค่อนข้างมากก็จะกลายเป็นอีกประเด็นปัญหา ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ย กนง.น่าจะยังคงอยู่ในแดนบวกแต่บวกไม่มากไปจนกว่าภาคเศรษฐกิจจริงจะฟื้นตัวซึ่งคงจะกินเวลาเป็น 1-2 ปี

ส่วนค่าเงินบาทนั้น ในช่วงไตรมาส 2 นี้ น่าจะเป็นช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าที่สุดของปี ซึ่งมองไว้ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด และครึ่งปีหลังจะกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย โดยคาดการณ์สิ้นปีที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ของตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ได้มีการเทขายออกมาในช่วงเดือน 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนที่กว้างขึ้น แสดงให้เห็นว่าความกังวลในเครดิตของบริษัทเอกชน จึงมีการเทขายตราสารหนี้ออกมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่หลังจากภาครัฐก็ออกมาตรการช่วยเหลือมา ทำให้ส่วนต่างดังกล่าวเริ่มลดลง และเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่ภาคเอกชนก็มีหลายบริษัทใหญ่ๆออกมาระดมทุนแล้ว รวมถึงพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และยังมีอีกหลายบริษัทที่เตรียมจะออกตราสารมาระดมทุนอีก ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีของนักลงทุนต่อไป


"เมื่อเดือนมีนาคมมีการขายพวกตราสารระยะ 3-12 เดือนและ 12 เดือนขึ้นไปออกมาประมาณ 4 แสนล้าน มาเข้าตลาดระยะสั้น 9 หมื่นล้าน ไปเข้าเงินฝากแบงก์บ้าง อื่นๆ เดือนเมษายนก็ยังมีขาย แต่เดือนนี้ครึ่งเดือนที่ผ่านมาเริ่มนิ่งมีเน็ตเป็นบวกแล้ว การเคลื่อนไหวเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ นักลงทุนเริ่มเข้าใจแล้ว เพราะเรื่องสเปรดที่กว้างขึ้นนั้นไม่น่ากลัวเป็นเรื่องชั่วคราวที่เกิดจากความตื่นตระหนก แต่หากเป็นเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องดูมากกว่า ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ต้องระวังก็คือ ท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจด้านโลจิสติกส์ กลุ่มการบิน "


ชี้ ห้าง-โมเดิร์นเทรด-ร้านอาหารคึก


นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก หรือ GBS เปิดเผยว่า จากปัจจัยบวกดังกล่าว ทำให้แนวโน้มการลงทุนเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยมองกรอบดัชนีเคลื่อนไหวในระดับ 1,260-1,310 จุด พร้อมแนะนำให้จับตาตัวแปรหลักที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนเมษายน และสัปดาห์นี้มีปัจจัยที่ติดตามคือความกังวลสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศกลับมาระบาดซ้ำหลังจากผ่อนคลายล็อกดาวน์ รวมถึงสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐทวีตข้อความโจมตีจีนเรื่องโควิด-19 ด รวมถึงการประกาศตัวเลขจีดีพีของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ในวันนี้ (18 พ.ค.)

อีกทั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 พ.ค. คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ด้านกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากคลายล็อกดาวน์ เช่น ร้านอาหาร ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ประเมินแนวรับสัปดาห์นี้ที่ระดับ 1,250 จุดแนวต้านที่ 1,300 จุด

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย GBS กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ว่า หากมีการปลดล็อกมาตรการ lockdown เฟส 2 จะมีหุ้นที่จะได้รับผลประโยชน์ จากปัจจัยดังกล่าว โดยแนะนำดักทางการลงทุนในหุ้น 16 ตัว ได้แก่ หุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรด อาทิ CRC, MBK, CPN, SF, HMPRO, DOHOME, MC, RSP, COM7 และ JMART หุ้นกลุ่มร้านอาหาร เช่น AU, M, ZEN และ MINT และหุ้นในกลุ่มบริการสปา เช่น SPA

ขณะที่ราคาทองคำ ทางฝ่ายวิจัยประเมินว่า ราคาทองคำยังผัน ผวนในกรอบ 1,680-1,730 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หรือคิดเป็น 25,430-26,270 บาทต่อบาททองคำ แนะนำให้ใช้กลยุทธ์ลงซื้อ ขึ้นขาย โดยคาดว่าทองคำปรับตัวขึ้นได้จำกัด เนื่อง จากเงินทุนเริ่มไหลกลับเข้าสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดหุ้น หลังสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน เริ่มคลี่คลาย หลังทั้งสองประเทศหันมาเจรจาอีกครั้ง นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มควบคุมได้ ส่งผลให้นักลงทุนคลายกังวลและเข้าถือสิน- ทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น



ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (แฟ้มภาพ)

วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล. โกลเบล็ก (GBS)


กำลังโหลดความคิดเห็น