ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองจีดีพีครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 อาจติดลบถึง 2 หลัก และทั้งปี -5% คาด กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมพุธหน้าอีก 0.25% ขณะที่ บลจ.กสิกรไทยสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในการเสวนาร่วมหัวข้อ "หุ้นกู้ไทยไปต่อได้หรือไม่ในสถานการณ์ COVID-19" ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 5% โดยในครึ่งปีแรกอาจจะได้เห็นตัวเลขการติดลบถึง 2 หลัก ซึ่งหนักสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แต่จะเป็นเพียงแค่การกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่พึ่งพิงอยู่มากพอสมควรจะยังไม่กลับมา และเป็นสมมติฐานที่ประเทศไทยไม่มีการระบาดระลอก 2
"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังแค่การกระเตื้องบ้างเท่านั้น ไม่ใช่ฟื้นตัวกลับไปเป็นแบบช่วงก่อนมีโควิด-19 เพราะกิจกรรมต่างๆ ก็ทำได้แค่ในประเทศกันเองเป็นหลัก ส่วนเศรษฐกิจปีหน้าก็ยังประเมินได้ยาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ คือ การคิดค้นวัคซีนซึ่งก็คาดว่าจะคงอีก 1-2 ปี ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกกลับมาเหมือนเดิม"
สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยพยุงเศรษฐกิจมหภาคและเข้ามาช่วยตลาดตราสารหนี้รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทนั้น ตัวหลักๆ น่าจะเป็นส่วนของมาตรการทางการคลังที่จะเยียวยาให้ประชาชนในวงกว้าง ขณะที่มาตรการทางการเงินก็จะเป็นส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปล่อยกู้ซอฟต์โลนให้แก่ธุรกิจ และมาตรการพยุงตลาดตราสารหนี้ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องมีการระดมทุนเพิ่ม ซึ่งสามารถทำได้ เพราะสภาพคล่องในระบบมียังมีเป็นจำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการระดมทุนของภาครัฐ เพียงแต่ต้องดูช่วงจังหวะเนื่องจากภาคธุรกิจเอกชนเองเริ่มที่จะออกตราสารหนี้ระดมทุนบ้างแล้วเช่นกัน
น.ส.ณัฐพร กล่าวอีกว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 พ.ค.ที่จะถึงนี้นั้น คาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เหลือ 0.50% เพื่อเป็นการลดภาระให้แก่ธุรกิจ แต่ถ้าจะประเมินว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปถึงระดับ 0% หรือติดลบนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทยสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น ซึ่งในส่วนของนโยบายการเงินนั้นหากทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆประสิทธิภาพยิ่งจะลดลง และหากอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยติดลบประชากรของเราพึ่งพาดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ค่อนข้างมากก็จะกลายเป็นอีกประเด็นปัญหา ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ย กนง.น่าจะยังคงอยู่ในแดนบวกแต่บวกไม่มากไปจนกว่าภาคเศรษฐกิจจริงจะฟื้นตัวซึ่งคงจะกินเวลาเป็น 1-2 ปี
ส่วนค่าเงินบาทนั้น ในช่วงไตรมาส 2 นี้ น่าจะเป็นช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าที่สุดของปี ซึ่งมองไว้ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด และครึ่งปีหลังจะกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย โดยคาดการณ์สิ้นปีที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ของตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ได้มีการเทขายออกมาในช่วงเดือน 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนที่กว้างขึ้น แสดงให้เห็นว่าความกังวลในเครดิตของบริษัทเอกชน จึงมีการเทขายตราสารหนี้ออกมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่หลังจากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือมา ทำให้ส่วนต่างดังกล่าวเริ่มลดลง และเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่ภาคเอกชนมีหลายบริษัทใหญ่ๆ ออกมาระดมทุนแล้ว รวมถึงพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และยังมีอีกหลายบริษัทที่เตรียมจะออกตราสารมาระดมทุนอีก ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีของนักลงทุนต่อไป
"เมื่อเดือนมีนาคมมีการขายพวกตราสารระยะ 3-12 เดือนและ12 เดือนขึ้นไปออกมาประมาณ 4 แสนล้าน มาเข้าตลาดระยะสั้น 9 หมื่นล้าน ไปเข้าเงินฝากแบงก์บ้าง อื่นๆ บ้าง เดือนเมษายนก็ยังมีขาย แต่เดือนนี้ครึ่งเดือนที่ผ่านมาเริ่มนิ่งมีเน็ตเป็นบวกแล้ว การเคลื่อนไหวเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ นักลงทุนเริ่มเข้าใจแล้ว เพราะเรื่องสเปรดที่กว้างขึ้นนั้นไม่น่ากลัวเป็นเรื่องชั่วคราวที่เกิดจากความตื่นตระหนก แต่หากเป็นเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องดูมากกว่า ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ต้องระวังก็คือ ท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจด้านโลจิสติกส์ กลุ่มการบิน ประมาณนี้"