xs
xsm
sm
md
lg

แห่ซื้อพันธบัตรวันแรก2.5หมื่นล. คลังปิดระบบ“เราไม่ทิ้งกัน”คืนนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” สุดฮอต “ผอ.สบน.” เผยขายวันแรก 2.5 หมื่นล้านบ.จากวงเงิน 5 หมื่นล้านบ. ขอประเมินความต้องการ ปชช.อีกครั้งก่อนจะพิจารณาเปิดขายรุ่นต่อไปหรือไม่ “ก.คลัง” ปิดระบบรับข้อมูลมาตราการเยียวยา 5 พัน เที่ยงคืนวันนี้

วานนี้ (14 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศกระทรวงการคลัง เปิดให้จองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท เพื่อระดมทุนบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่ามีประชาชนทยอยมาจองซื้ออย่างคึกคัก โดยกำหนดช่วงแรกตั้งแต่วันที่ 14- 20 พ.ค.63 ให้สิทธิผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปก่อน ส่วนวันที่ 21-27 พ.ค.จะจำหน่ายให้ประชาชนรายย่อยซื้อได้ก่อน แบบจำกัดวงเงิน 2 ล้านบาท/คน/ธนาคาร และวันที่ 28 พ.ค.-10 มิ.ย.จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซื้อได้แบบไม่จำกัดวงเงิน

โดย นางแพตริเซีย มงคงวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงความคืบหน้าหลังการเปิดขายพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทวันแรกในวันที่ 14 พ.ค.63 เวลา 08.30 น. ว่า มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งได้รับสิทธิสั่งซื้อได้ก่อนเป็นกลุ่มแรกนั้น ได้เข้าซื้อพันธบัตรดังกล่าวนี้แล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สบน. จะประเมินความต้องการก่อนพิจารณาเปิดขายพันธบัตรฯ ในรุ่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม สบน. ได้เคยประเมินว่า พันธบัตรเราไม่ทิ้งกัน 50,000 ล้านบาทนั้น จะได้รับความสนใจจนากประชาชน เนื่องจาก สบน. ให้ผลตอบแทนการถือครองพันธบัตรในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร โดยรุ่นอายุ 5 ปีนั้น กำหนดอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ 2.40% ต่อปี ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี กำหนดอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ 3.00% ต่อปี นอกจากนี้ สบน. ยังไม่กำหนดเงื่อนไขจำกัดวงเงินการซื้อต่อรุ่นด้วย

ทั้งนี้ ระยะเวลาการจำหน่ายพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันโดยรวมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.-10 มิ.ย.63 และผู้ซื้อพันธบัตรฯ สามารถชำระเงินผ่าน Mobile Application และเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย รวมถึง ATM/Counter/Internet Banking/Mobile Application ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเราไม่ทิ้งกัน มอบเงินเยียวยา 5 พันบาทต่อเดือนให้แก่อาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือนว่า ล่าสุดมีผู้ผ่านเกณฑ์แล้ว 14.5 ล้านราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองตั้งแต่รอบแรกจำนวน 4.4 ล้านราย กลุ่มที่ขอข้อมูลประกอบอาชีพเพิ่มเติมและผ่านเกณฑ์จำนวน 5.3 ล้านราย และกลุ่มที่ขอทบทวนสิทธิและผ่านเกณฑ์จำนวน 4.7 ล้านราย กระทรวงการคลังจะดำเนินการโอนเงินเยียวยาให้ผู้ผ่านเกณฑ์ในสัปดาห์นี้ได้ประมาณ 14.2 ล้านราย และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3 แสนรายจะนำไปรวมกับจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันจากกลุ่มขอข้อมูลประกอบอาชีพเพิ่มเติมและกลุ่มที่ขอทบทวนสิทธิ โดยสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า

“ตามที่กระทรวงการคลังได้เคยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วว่า การรับเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง (กรมประชาสัมพันธ์) จะเปิดให้บริการในวันที่ 15 พ.ค.63 เป็นวันสุดท้าย กระทรวงการคลังได้พิจารณาจัดเตรียมช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ได้ลงทะเบียนไว้และยังประสงค์ที่จะร้องเรียนเกี่ยวกับการขอรับสิทธิตามมาตราการเยียวยา รวมถึงผู้ที่ได้รับข้อความว่าผ่านเกณฑ์แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาสามารถติดต่อสาขาของธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย เพื่อร้องเรียน ขอคำแนะนำ หรือเพื่อผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 18 – 29 พ.ค.63 ส่วนในต่างจังหวัด ท่านสามารถร้องเรียนการช่วยเหลือเยียวยา ได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทยทุกจังหวัด” นายลวรณ กล่าว

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ยังแจ้งเตือนไปยังกลุ่มที่ได้รับ SMS ขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติมจำนวนประมาณ 6.5 ล้านราย แต่ยังไม่มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประมาณ 4 แสนราย ขอให้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิจากมาตรการทางเวบไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยด่วน เนื่องจากกระทรวงการคลังจะปิดระบบการขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติมในวันที่ 15 พ.ค.63 เวลา 24.00 น.

ทางด้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) แจ้งว่า ได้เตรียมเปิดให้เกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท ตรวจสอบผลการโอนเงินได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.นี้ เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป โดยมีกำหนดโอนเงินให้เกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์กลุ่มแรกวันละ 1 ล้านราย จากเกษตรกรกลุ่มแรกที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์รับเงินเยียวยาล่าสุดมีจำนวน 6.77 ล้านคน จากข้อมูลเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบความซ้ำซ้อนทั้งหมด 8.3 ล้านคน ที่ปรากฎว่ามีจำนวน 1.5 ล้านคนที่ตรวจสอบแล้วไม่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5 พันบาทจากมาตรการเราไม่ทิ้งกันไปแล้ว หรือบางคนเป็นข้าราชการบำนาญ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่ได้รับสิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกร


กำลังโหลดความคิดเห็น