xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” ซื้อยังไง ซื้อที่ไหน ไม่ต้องไปธนาคารได้ไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รวมข้อมูลซื้อพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” อายุพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปี วงเงิน 5 หมื่นล้าน ซื้อขั้นต่ำ 1,000 สูงสุด 2 ล้าน ช่วงนี้ผู้สูงอายุได้ซื้อก่อน ประชาชนทั่วไปซื้อได้ 21 พ.ค.นี้ ผ่าน 5 ธนาคาร มีบางธนาคารไม่ต้องไปสาขา จองซื้อออนไลน์ รอรับสมุดพันธบัตรทางไปรษณีย์ 15 วันทำการ

กระทรวงการคลัง ออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบ แก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

จุดเด่นของพันธบัตรรุ่นดังกล่าว นอกจากสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของประชาชนรายย่อยแล้ว ยังเป็นการเยียวยาให้กลุ่มประชาชนที่เสียภาษีให้กับรัฐบาล ให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี ในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได รุ่นอายุ 5 ปี เฉลี่ยร้อยละ 2.40 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี เฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี ดังนี้

รหัสพันธบัตร SBST255A อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได 5 ปี

ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.00 ต่อปี
ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.25 ต่อปี
ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.50 ต่อปี
ปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.00 ต่อปี

(อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ 2.40 ต่อปี) ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2568

รหัสพันธบัตร SBST305A อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได 10 ปี

ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.50 ต่อปี
ปีที่ 4-8 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.00 ต่อปี
ปีที่ 9 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.50 ต่อปี
ปีที่ 10 อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4.00 ต่อปี

(อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ 3.00 ต่อปี) ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2573

สำหรับการจ่ายดอกเบี้ย จะจ่ายทุกวันที่ 14 พฤษภาคม และ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี จนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนดไถ่ถอน โดยจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563

ซื้อพันธบัตรดีอย่างไร? ปกติแล้วกระทรวงการคลังจะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ในราวเดือนพฤษภาคม-กันยายน และพฤศจิกายน หรือธันวาคม-มีนาคม ของปีถัดไป เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เงินต้นอยู่ครบ เลือกลงทุนได้ทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว กระจายความเสี่ยง เพื่อบริหารพอร์ตการลงทุน

ที่สำคัญ ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคารทั่วไปเป็นประจำทุก 6 เดือน ทำให้สามารถคาดการณ์รายรับล่วงหน้าได้ ลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท และสามารถใช้เป็นหลักประกันแทน ทรัพย์สิน กับหน่วยงานราชการ และองค์กรของรัฐบาลได้
ส่วนการขายคืน/โอนสิทธิ์ได้สะดวก สามารถขายพันธบัตรออมทรัพย์ก่อนครบกำหนดอายุได้ที่ ธนาคารตัวแทนจำหน่ายทุกแห่ง และสามารถโอนกรรมสิทธิ์ และซื้อเก็บเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานได้

ใครจะซื้อได้บ้าง บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

ผู้ไม่มีสิทธิ์ซื้อ ประกอบด้วย ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยสถาบันการเงิน กองทุนรวม คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล บรรษัท สำนักงานประกันสังคม รัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้าน นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โรงพยาบาลเอกชน สถานศึกษาเอกชน และนิติบุคคลที่แสวงหากำไร

ซื้อได้ตอนไหน? การซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ “เราไม่ทิ้งกัน” จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 วันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 ผู้มีสิทธิ์ซื้อต้องมีอายุ 60 ปี (ผู้สูงอายุ) เกิดก่อนหรือภายในปี พ.ศ. 2503 ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท

ช่วงที่ 2 วันที่ 21-27 พฤษภาคม 2563 ประชาชนทั่วไป (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท

ช่วงที่ 3 วันที่ 28 พฤษภาคม-10 มิถุนายน 2563 ประชาชนทั่วไป (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) และผู้มีสิทธิซื้อ ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่จำกัดวงเงิน เปิดจำหน่ายจนกว่าจะจำหน่ายครบวงเงิน

ซื้อได้ที่ไหน? กระทรวงการคลังกำหนดช่องทางการจำหน่าย ได้แก่

1. จำหน่ายผ่านแอปพลิเคชัน BOND DIRECT ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดาวน์โหลดได้ที่ AppStore และ GooglePlay แล้วชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือชำระเงินได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT โดยลูกค้าใหม่สามารถรับสมุด Bond Book ที่สาขาธนาคารกรุงไทยที่ชำระเงิน ส่วนลูกค้าที่มีสมุด Bond Book อยู่แล้ว สามารถอัปเดตหลังการชำระเงินได้ทันที

2. ธนาคารกรุงไทย จองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา, ตู้ ATM, Krungthai NEXT และแอปพลิเคชัน BOND DIRECT โดยผู้ที่ซื้อผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT จะต้องลงทะเบียน หรือจองซื้อพันธบัตรแบบไร้ใบพันธบัตรผ่านเคาน์เตอร์ทุกรุ่นอย่างน้อย 1 ครั้งกับธนาคารก่อน จึงจะสามารถทำรายการผ่าน Krungthai NEXT ได้

3. ธนาคารกสิกรไทย สามารถจองซื้อผ่านสาขาธนาคารกสิกรไทย ช่องทาง ATM และช่องทางเว็บไซต์ K-My Invest (โดยไม่ต้องไปสาขาธนาคาร) ที่เว็บไซต์ kasikornbank.com/kmyinvest และชำระค่าจองซื้อผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS โดยผู้ซื้อจะต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องสมัครใช้งาน K PLUS เกินกว่า 3 วัน เบอร์โทรศัพท์ที่รับ OTP ต้องเป็นเบอร์ที่ผูกกับบริการ K PLUS เท่านั้น

การจองซื้อจะสำเร็จทันทีที่ชำระเงินโดยการหักบัญชีผ่านบริการ K PLUS โดยลูกค้าจะได้รับการแจ้งผลสำเร็จของการทำรายการจากธนาคาร และธนาคารจะส่งสมุดพันธบัตรทางไปรษณีย์ไม่เกิน 15 วันทำการจากวันที่จองซื้อ

4. ธนาคารกรุงเทพ จองซื้อได้ที่ธนาคารกรุงเทพทุกสาขา บัวหลวง เอ็มแบงกิ้ง, บัวหลวง ไอแบงกิ้ง และบัวหลวงเอทีเอ็ม โดยผู้ซื้อจะต้องลงทะเบียนก่อนการซื้อ ซึ่งธนาคารเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนเพื่อขอมีเลขที่ผู้ถือพันธบัตรได้ที่ธนาคารกรุงเทพทุกสาขา สำหรับลูกค้าที่เคยลงทะเบียนเพื่อซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง แบบไร้ใบตราสาร กับธนาคารกรุงเทพไว้แล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ สามารถใช้เลขที่ผู้ถือพันธบัตรเดิมซื้อพันธบัตรรุ่นนี้ได้

5. ธนาคารไทยพาณิชย์ จองซื้อพันธบัตรหรือขอเปิดบัญชีพันธบัตรได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา และผู้ที่มีเลขที่บัญชีพันธบัตรอยู่แล้ว สามารถซื้อพันธบัตรได้ที่แอปพลิเคชัน SCB Easy เมนู “การลงทุน” เลือก “ซื้อพันธบัตร” หรือ SCB EasyNet ผ่านเว็บไซต์ scbeasy.com เลือก “พันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร” และทำการจองซื้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น