xs
xsm
sm
md
lg

คลังออกบอนด์เราไม่ทิ้งกัน 5 หมื่นล้าน เริ่มเปิดให้จองวันที่ 14 พ.ค.-10 มิ.ย.63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"คลัง" เริ่มขายบอนด์เราไม่ทิ้งกัน อายุ 5 ปี และ 10 ปี วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาทในวันที่ 14 พ.ค.-10 มิ.ย.63 เพื่อใช้เป็นทุนจ่ายเงินเยียวยาผู้มีอาชีพอิสระและเกษตรกร ระบุ กำหนดเงื่อนไขจ่ายดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยบอนด์รุ่น 5 ปีจะมีผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 2.40% ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 3.00% พร้อมยังแบ่งการขายออกเป็น 3 ช่วง ซึ่งในช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค.63 สบน. ให้สิทธิบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกำหนดวงเงินซื้อต่ำสุดที่ 1,000 บาท และสูงสุดที่ 2 ล้านบาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งที่จะเข้าซื้อ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แบบไร้ใบตราสาร (Scripless) วงเงินไม่เกิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได รุ่นอายุ 5 ปี เฉลี่ยร้อยละ 2.40 และรุ่นอายุ 10 ปี เฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี โดยจะเริ่มจำหน่ายได้ในวันที่ 14 พ.ค.63 เวลา 08.30 น.

สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบ และแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น จะมีการกู้เงินจากธนาคารต่างๆ โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 1.2 แสนล้านบาท รวมการออกพันธบัตรรอบนี้อีก 5 หมื่นล้านบาท จะทำให้กระทรวงหารคลังมีเงินรวม 1.7 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายเงินเยียวยาให้แก่กลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระและกลุ่มเกษตรกร โดยหลังจากนี้ กระทรวงการคลังจะกู้เงินตามความจำเป็นในการใช้เงิน

ส่วนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายของรัฐบาลซึ่งจะสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของประชาชนรายย่อย และเป็นการเยียวยาให้กลุ่มประชาชนที่เสียภาษีให้แก่รัฐบาลให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ

ด้าน นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดในการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ว่า จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยสัปดาห์ที่ 1 กระทรวงการคลังจะทำการจำหน่ายให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

ส่วนสัปดาห์ที่ 2 จะจำหน่ายให้แก่ประชาชนรายย่อยซื้อได้ก่อน แบบจำกัดวงเงิน 2 ล้านบาทต่อคนต่อธนาคาร และสัปดาห์ที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.63 เป็นต้นไป เปิดให้ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร สามารถเข้าซื้อพันธบัตรได้แบบไม่จำกัดวงเงินผ่าน BOND DIRECT Application และช่องทางของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์


โดยระยะเวลาการจำหน่ายพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.-10 มิ.ย.63 และผู้ซื้อพันธบัตรสามารถชำระเงินผ่าน Mobile Application และเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย รวมถึง ATM/Counter/Internet Banking/Mobile Application ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง

สำหรับเงื่อนไขการให้อัตราผลตอบแทนแบบขั้นบันไดแก่ผู้ถือพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันสำหรับรุ่นอายุ 5 ปี กำหนดจ่ายผลตอบแทนในปีที่ 1 ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยในปีที่ 2-3 จะจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25 ต่อปี ขณะที่ปีที่ 4 จ่ายอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี และปีที่ 5 จะจ่ายอัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยของพันธบัตรฯ รุ่นอายุ 5 ปีจะอยู่ที่ร้อยละ 2.40 ต่อปี

ส่วนเงื่อนไขของผลตอบแทนการถือพันธบัตรฯ รุ่นอายุ 10 ปีนั้น ในปีที่ 1-3 กระทรวงการคลังจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยในปีที่ 4-8 กำหนดจ่ายอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.00 ต่อปี ส่วนปีที่ 9 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี และปีที่ 10 กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 4.00 ต่อปี ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยของพันธบัตรฯ รุ่นดังกล่าวนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี

นอกจากนี้ สบน. ยังได้กำหนดเงื่อนไขวันที่จัดจำหน่าย คุณสมบัติของผู้มีสิทธิซื้อพันธบัตร และวงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูงในการสั่งซื้อพันธบัตรเราไม่ทิ้งกัน ดังนี้ ช่วงที่ 1 ในวันที่ 14-20 พ.ค.2563 ซึ่งกำหนดวงเงินรวมการขายพันธบัตร 50,000 ล้านบาทนั้น สบน. จะให้สิทธิแก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยกำหนดวงเงินซื้อต่ำสุดที่ 1,000 บาท และสูงสุดที่ 2,000,000 บาท ทั้งนี้ ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้าซื้อ

ส่วนการจำหน่ายพันธบัตรในช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 21-27 พ.ค.63 นั้น สบน. ได้กำหนดให้สิทธิแก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยโดยวงเงินในการจำหน่ายพันธบัตรจะเป็นวงเงินที่เหลือจากการจัดจำหน่ายในช่วงที่ 1 พร้อมทั้งยังกำหนดวงเงินการซื้อขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ที่ 1,000 บาท และ 2,000,000 บาท ตามลำดับ

สำหรับการจัดจำหน่ายในช่วงที่ 3 ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-10 มิ.ย.63 สบน. ได้ให้สิทธิการเข้าซื้อแก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร โดยวงเงินจำหน่ายพันธบัตรจะเป็นวงเงินที่เหลือจากช่วงที่ 2 และกำหนดมูลค่าการซื้อต่ำสุดที่ 1,000 บาทสำหรับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่จำกัดมูลค่าการซื้อพันธบัตรสำหรับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ได้แก่ สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

ผู้อำนวยการ สบน. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีจ่ายผลตอบแทนการถือบัตรดอกเบี้ยนั้น จะเริ่มนับในวันทำการถัดไป (วันที่ 10 มิ.ย.63 ไม่รับชำระด้วยเช็ค) โดยการจ่ายดอกเบี้ยจะดำเนินปีละ 2 ครั้ง คือในวันที่ 14 พ.ย. และวันที่ 14 พ.ค.ของทุกปี และกำหนดวันครบอายุไถ่ถอนวันที่ 14 พ.ค.68 และ 14 พ.ค.73

นางแพตริเซีย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สบน. ได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมต่อสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร รวมถึงการใช้งาน BOND DIRECT Application จาก สบน. ซึ่งผู้ลงทุนจะสามารถเข้าถึงพันธบัตรออมทรัพย์ได้อย่างสะดวกสบายผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเลือกไปชำระเงินที่สาขาธนาคารหรือผ่าน Krungthai NEXT ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น