xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.เห็นพ้องคลายล็อกดาวน์-คุมการระบาดรอบ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการตลาดหุ้นไทยเห็นด้วยที่รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์แบบค่อยเป็นค่อยไป ชี้โจทย์สำคัญต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ยอมรับให้บริษัทจดทะเบียนยกเลิกหรือเลื่อนการจ่ายเงินปันผล เพื่อเก็บสภาพคล่องไว้อนาคต ขณะที่ตลาดหุ้นไทยสิ้นเดือนเมษายนฟื้นตัว 15.6% เป็นอันดับ 2 ในเอเชีย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์เฟส 2 เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและจำเป็น ซึ่งโจทย์สำคัญ คือ การเปิดกิจการแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้

“ตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่ปกติ ดังนั้น นักลงทุนต้องติดตามเหตุการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นและต้องติดตามดูว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่หรือไม่ ถ้าไม่มีจะเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับประเทศไทย” นายภากร กล่าว


ส่วนภาพรวมการซื้อขายหุ้นสิ้นเดือนเมษายน 2563 ตลาดหลักทรัพย์ไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม ซึ่งสอดคล้องต่อทิศทางของตลาดโลก โดยเดือนเมษายน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.6% จากสิ้นเดือนก่อนซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มทรัพยากร กลุ่มบริการ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากกว่า SET Index และพบว่าไตรมาสแรกปีนี้มีนักลงทุนบุคคลเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นสูงถึง 59,000 บัญชี เพราะนักลงทุนมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเหมาะสม เพราะต้นทุนปรับลงมา 30-40% เป็นต้นทุนที่ดี และบางภาคธุรกิจฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ราคาหุ้นบางตัวรีบาวนด์ขึ้นมาถึงระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 และความผันผวนก็ลดลงมาก ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรยังดีเป็นจุดที่นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากการลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณบริษัทจดทะเบียนใหม่เริ่มกลับมาดำเนินขั้นตอนเพื่อกระจายหุ้นต่อประชาชน (IPO) โดยคาดว่า IPO จะกลับมาในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ชัดเจน

ส่วนบริษัทจดทะเบียนบางแห่งที่เลื่อนการจ่ายเงินปันผลและมีปัญหาเรื่องการจ่ายคืนหุ้นกู้นั้น นายภากร กล่าวยอมรับว่าในภาวะที่เกิดวิกฤตบริษัทจดทะเบียนบางแห่งอาจหาสภาพคล่องได้ยาก เพราะธุรกิจที่เคยคาดว่าจะทำกำไรได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้บางบริษัทอาจยกเลิกหรือเลื่อนการจ่ายเงินปันผล เพื่อเก็บเงินดังกล่าวไว้เป็นสภาพคล่องในอนาคต ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท ส่วนบริษัทที่มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินต้น หรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ ทาง ตลท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าใจถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีการตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ขึ้นมา และมีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียน และบริษัทที่เกิดปัญหา

ส่วนการที่ ตลท.ปรับเกณฑ์การกำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (ซิลลิ่ง ฟลอร์) และช็อตเซล ที่จะหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น นายภากร กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ตลท.กำลังพิจารณาข้อดี และ ข้อเสียของมาตรการดังกล่าว และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วน เพราะหากจะต่ออายุการใช้งานมาตรการดังกล่าวต้องขออนุญาตจากทาง ก.ล.ต. เพราะ ก.ล.ต.อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ผิดปกติ แต่สถานการณ์หุ้นไทยปัจจุบันยังไม่ได้กลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ความผันผวนน้อยลง สิ่งสำคัญ คือ ต้องดูแลไม่ให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวนมากเกินไป และต้องดูความพร้อมของทุกภาคส่วน และพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งจะมีการประกาศก่อนวันที่ 30 มิถุนายนนี้

นายภากร ยังกล่าวถึงการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งเพิ่มขึ้น โดย 15-20% ของมูลค่าการซื้อขายมาจากโปรแกรมเทรดดิ้ง ซึ่ง ตลท.ต้องการเพิ่มนักลงทุนทุกประเภทไม่ใช่เฉพาะโปรแกรมเทรดดิ้ง แต่ถ้านักลงทุนรายย่อยต้องการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งสามารถพูดคุยกับทางบริษัทหลักทรัพย์ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น