ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ถ้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติไม่อนุมัติขยายเวลาการไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 1,960 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ บริษัท พรีเชียสชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL จะเป็นอีกบริษัทจดทะเบียนที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้
PSL แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนหุ้นเปิดการซื้อขาย ระบุถึงการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ PSL206 A วงเงิน 1,960 ล้านบาท เพื่อขอมติ เลื่อนการไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่นนี้ออกไปอีก 18 เดือน หรือเลื่อนการไถ่ถอนไปเป็นวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยจะจ่ายอัตราดอกเบี้ย 6.50% ต่อปี จากเดิมจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 5% ต่อปี
การขอขยายเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นทันที โดยหลังแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์วันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา นักลงทุนพากันเทขายหุ้น จนราคารูดลงติดฟลอร์ โดยปิดที่ 3.28 บาท ลดลง 0.56 บาท หรือลดลง 14.58%
แผนการไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่นนี้ PSL ได้เตรียมแผนไว้แล้ว โดยกำลังจะออกหุ้นกู้ใหม่ เพื่อระดมเงินไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม หรือ ROLL OVER วงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท อันดับเครดิตหุ้นกู้ BBB- อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.85% ต่อปี ซึ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว และจะขายระหว่างวันที่ 16-19 มีนาคมที่ผ่านมา
แต่วิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องพับแผนการขายหุ้นกู้ เพราะประเมินแล้วว่า สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย หุ้นกู้รุ่นใหม่คงไม่ได้รับความสนใจแน่ การขอขยายเวลาชำระหนี้หุ้นกู้ เป็นภาพสะท้อนถึงสภาพคล่องทางการเงินของ PSL จนนักลงทุนเกิดความกังวลและพากันเทขายหุ้น แม้ว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นจะกระเตื้องขึ้นมาปิดที่ 3.20 บาทก็ตาม แต่อาจเป็นเพียงการดีดตัวในระยะสั้น
เพราะนอกเหนือความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ หรือ DEFALT แล้ว ผลประกอบการบริษัทยังย่ำแย่ และราคาหุ้นเพิ่งสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบหลายปีที่ 2.38 บาท/หุ้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา
ปี 2559 PSL ขาดทุนสุทธิ 2,664.90 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 129.48 ล้านบาท ปี 2561 กำไรสุทธิ 456.20 ล้านบาท และปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 228.49 ล้านบาท
สถานการณ์หุ้นกู้ปั่นป่วนตั้งแต่ต้นปี โดยกองทุนตราสารหนี้ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด ถูกถล่มขายหน่วยลงทุน จนไม่สามารถขายตราสารหนี้และนำเงินรับซื้อคืนหน่วยลงทุนได้ทัน และต้องปิด 4 กองทุนตราสารหนี้ ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการด่วนเพื่อดับวิกฤตตราสารหนี้
รวมทั้งการจัดตั้งออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นกู้ออกใหม่เพื่อระดมเงินไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม โดยจะเป็นหุ้นกู้ระดับอินเวสเมนต์เกรด หรือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป
การที่ PSL ไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามกำหนด และสามารถ ROLL OVER ได้ จะตอกย้ำถึงภาวะซบเซาของตลาดหุ้นกู้ ซึ่งจะทำให้บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่ใกล้ครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ อาจเผชิญปัญหาเดียวกับ PSL โดยเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ เสี่ยงที่หุ้นจะถูกเทขายอีกระลอก นอกเหนือจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์และหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว
นักลงทุนต้องทำการบ้านกันเพิ่มเติมแล้ว บริษัทไหนออกหุ้นกู้เยอะ และใกล้ครบกำหนดไถ่ถอน ระวังตัวกันไว้หน่อย เพราะอาจเจอผลกระทบเหมือน PSL ได้
ดีไม่ดีอาจต้องเผ่นจากบริษัทจดทะเบียนที่มีหุ้นกู้ใกล้ครบกำหนดไถ่ถอนก่อน