xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ย้ำ BSF ทางเลือกสุดท้ายช่วยสภาพคล่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.ย้ำ BSFเป็นทางเลือกสุดท้าย เงื่อนไขเข้ม ต้นทุนสูงกว่าการระดมทุนในตลาด เป็นเงินช่วยเหลือระยะสั้น ระบุครึ่งแรกปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่มี credit rating สูงกว่า A- ขึ้นไป ประมาณ 68% และเป็นกลุ่ม BBB+ ถึง BBB- ประมาณ 22%

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำกับกองทุน เปิดเผยว่า สถานการณ์การออกตราสารหนี้ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมาถือว่ายังมีระดับใกล้เคียงกับในเดือนก่อนๆ แต่ผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มี credit rating อยู่ในกลุ่ม A- ขึ้นไป ขณะที่กลุ่ม credit rating BBB+ ลงมามีการออกตราสารหนี้ลดลง เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมีความกังวลในฐานะการดำเนินงานของบางบริษัท ทำให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนได้เต็มจำนวน อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการประกาศมาตรการกองทุน BSF นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสะท้อนจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ซื้อขายในตลาดรองมีความผันผวนลดลง

ธปท. ประเมินเบื้องต้นความต้องการใช้เงินกองทุนจะไม่ได้สูงมาก เนื่องจากหลายบริษัทยังสามารถระดมทุนได้เอง ซึ่งหากระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ได้ไม่ครบทั้งจำนวน หลายบริษัทก็ยังมีช่องทางในการกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ กองทุน BSF จึงน่าจะเป็นช่องทางสุดท้าย (last resort) ที่บริษัทจะเลือก เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมจากกองทุน BSF จะสูงกว่าที่บริษัทจัดหาด้วยตัวเอง

สำหรับทิศทางการออกขายหุ้นกู้ของตลาด คาดว่าความต้องการในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภายใต้ความผันผวนจากเหตุการณ์ COVID-19 อาจส่งผลให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนจากตลาดนี้ได้เหมือนช่วงก่อนเหตุการณ์ COVID-19 แต่หากในอนาคตสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ คาดว่าสถานการณ์การระดมทุนจะปรับดีขึ้นตามลำดับ

กองทุน BSF จำนวน 4 แสนล้านบาท หากบริษัทใดออกหุ้นกู้ Rollover ได้ไม่ถึงครึ่ง แต่มูลค่าหุ้นกู้กลับสูงมากอาจกระทบตลาด ลักษณะนี้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกองทุน หากบริษัทไม่สามารถจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นได้อย่างน้อย 50% จะไม่สามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ได้ อย่างไรก็ดี บริษัทที่ยอดคงค้างตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนดสูง มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มี credit rating ดี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บริษัทในกลุ่มนี้ยังมีความสามารถระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ได้ อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นมักมีช่องทางในการจัดหาเงินทุนผ่านสถาบันการเงินอีกทางหนึ่ง

ส่วนปริมาณหุ้นกู้ที่จะครบ Rollover ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.หรือครึ่งแรกปีนี้ มีหุ้นกู้ครบกำหนดรวมกันประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่มี credit rating สูงกว่า A- ขึ้นไป ประมาณ 68% ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดทั้งหมด และเป็นกลุ่ม BBB+ ถึง BBB- ประมาณ 22% ซึ่ง ธปท. จะมีการติดตามสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้จะการ rollover ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 มียอดความช่วยเหลือตราสารหนี้ในส่วนแรก 1 ล้านล้านบาท ที่ให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยซื้อสินททรัพย์ คงค้างธุรกรรม Mutual Fund Liquidity Facility (MFLF) สุทธิ 56,047 ล้านบาท โดยมี ธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมกับ ธปท. 9 ราย และกองทุนที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 30 กองทุน ทั้ง ธปท. มีการประกาศยอดคงค้างธุรกรรม MFLF รายสัปดาห์โดยจะประกาศในวันทำการแรกของสัปดาห์ถัดไป

ธปท.ขอย้ำหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ
1) ต้องมีตราสารหนี้เดิมครบกำหนดและต้องการ rollover
2) ต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นให้ได้อย่างน้อย 50% ซึ่งประกอบด้วย
2.1) จะต้องออกหุ้นกู้ใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างน้อย 20% และ
2.2) จะต้องจัดหาเงินทุนจากสถาบันการเงินอย่างน้อย 20%
3) บริษัทจะต้องเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีและมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยได้รับการจัดอันดับ credit rating ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ซึ่งในกรณีที่ออกหุ้นกู้ 2,000 ล้านบาท เพื่อ rollover ที่ครบกำหนด 5,000 ล้านบาท จะถือว่าผ่านเงื่อนไขข้อ 2.1 เพียงข้อเดียว ซึ่งหากบริษัทสามารถผ่านเงื่อนไขข้ออื่นๆ ได้ครบถ้วน ก็จะเข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ได้

ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค.63 รวมทุกประเภทธุรกิจ ประมาณ 670,000 ล้านบาท แยกประเภทธุรกิจหลักๆ ได้ดังนี้ ธนาคารและสถาบันการเงิน 220,000 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ 115,000 ล้านบาท อาหาร 65,000 ล้านบาท และพลังงาน 59,000 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้แนวโน้มต้นทุนการออกหุ้นกู้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนบางกลุ่มอาจปรับลดลง เช่น กองทุนประกันสังคม เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการชดเชยการว่างงาน หรือประชาชนทั่วไปที่อาจมีรายได้ลดลง ส่งผลให้มีเงินออมลดลง

“การชดเชย 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นภายใต้การให้ความช่วยเหลือในวงเงิน 400,000 ล้านบาท ตามวิธีคำนวณจากข้อมูลในอดีต แต่หากความเสียหายเกินกว่า 40,000 ล้านบาท ธปท. จะเป็นผู้รับความเสียหายดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการ ธปท. จึงมีการกำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุนและมีกระบวนการรายงานความเสียหายให้คณะกรรมการทราบ”






กำลังโหลดความคิดเห็น